ดินแดนที่ห่างไกล ยังคงรอคอยนักเดินทางคนแล้วคนเล่าให้มาสัมผัสสิ่งอัศจรรย์ ที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างและซ่อนไว้ในพงไพร อันห่างไกลจากโลกภายนอก หนทางอันตรายแสนยาวไกล ราวกับเป็นการทดสอบ ผู้ที่ผ่านพ้นไปได้คือผู้ที่มีใจรักและแสวงหาธรรมชาติจริงๆ
อำเภออุ้มผางเป็นหนึ่งในแปดอำเภอของจังหวัดตาก ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวจังหวัด เป็นอำเภอที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ในพื้นที่ทั้งหมดนั้น มีที่ราบเพียง 3 % นอกนั้นมีลักษณะเป็นป่าเขา มีแนวพรมแดนติดกับสหภาพเมียนม่าที่ยาวถึง 180 กม.
แต่เดิมพื้นที่อำเภออุ้มผางเป็นถิ่นอาศัยของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง หรือ ที่บางคนเรียกว่า ปกาญอ ซึ่งแปลว่า ข้าคือคน ต่อมาเริ่มมีชาวไทยต่างถิ่นอพยพเข้ามา จนทำให็อุ้มผางเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น ทุกชีวิตดำเนินไปด้วยความสงบเรียบง่าย ท่ามกลางอ้อมกอดของขุนเขา ป่าไม้ สายน้ำจากห้วยเล็กๆ ทุกสารทิศเดินทางมารวมกัน กลายเป็นจุดกำเนิดต้นน้ำแม่กลอง ไหลลงไปหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ผ่านผืนป่าใหญ่ตะวันตก ทุ่งใหญ่นเรศวร และเข้าสู่ จ.กาญจนบุรี
จากการที่เป็นอำเภอห่างไกลจากตัวจังหวัด เส้นทางที่คดโค้งไปตามเหลี่ยมและสันเขา การเดินทางที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากจึงจะเข้าถึง ดูเหมือนจะเป็นกำแพงที่คอยรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรม ไม่ให้มลายสลายสิ้นไปก่อนเวลาอันควร
|
วันนี้ผมมีโอกาสไปเยือนอุ้มผางเป็นครั้งที่สาม หลายสิ่งหลายอย่างตลอดสองข้างทางยังคงมีเสน่ห์เหมือนเดิม จะต่างจากคราวก่อนๆ ก็เป็นเรื่องของยานพาหนะที่พาผมมาในครั้งนี้ สองครั้งก่อนผมใช้รถส่วนตัวเป็นรถกระบะ มาวันนี้ผมรู้สึกว่ารถผมค่อนข้างจะอายุมากเกินไปเสียแล้ว สำหรับเส้นทางที่สูงชันคดโค้งเหมือนขับอยู่บนหลังงู ระบบเครื่องยนต์และเบรคต้องทำงานอย่างหนักและแน่นอน |
รถยนต์จาก Budget จึงเป็นทางออกในการเดินทางอีกครั้ง Toyota Tiger ประสบการณ์บนท้องถนนยังไม่เกิน 30,000 กม. ถูกนำมาใช้ในงานนี้ 164 กม. และ 1,219 โค้ง 3 ชั่วโมง จากแม่สอด ถึงอุ้มผาง เป็นไปด้วยความราบรื่นสบายใจ หากเป็นคันเก่าของผมที่บ้านละก็... คงขับไปพะวงไปว่า จะไปหยุดโดยไม่อยากหยุด หรืออาจจะมีโอกาสร่วมมื้อค่ำกับเจ้าจ๋อโดยไม่ได้นัดมาล่วงหน้าก็เป็นได้ |
|
พี่หวัง ขณะล่องเรือยาง
|
ผมผ่านถนนลอยฟ้า และเข้าถึงอุ้มผางในช่วงบ่าย วันนี้ผมโชคดีเมื่อเดินทางมาถึงเมืองชายขอบ คือผมได้มีโอกาสได้รู้จักกับ พ.ต.ท.สมหวัง คำทอง หรือ พี่หวัง โดยบังเอิญ พี่หวัง เป็น ตชด. ที่มาประจำการอยู่อุ้มผางได้เกือบ 10 ปี จากการที่เป็นคนคุยเก่ง และมีน้ำใจโอบอ้อมอารี ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนกันอย่างญาติสนิท สองสามวันที่ผมได้อยู่ที่นี่ ไม่ทำให้ผมรู้สึกเงียบเหงาหรือน่าเบื่อเลย |
มาอุ้มผางทั้งทีถ้าไม่ได้เข้าทีลอซูก็คงเสียดายแย่ ในตอนแรกผมตั้งใจมาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ ที่มีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของตนเองไว้ เพื่อเป็นข้อมูลในการมานำเสนอต่อไป แต่แล้วผมก็ต้องตัดสินใจเดินทางเข้าทีลอซูอีกครั้ง โดยจะใช้เรือยางล่องสำรวจสายน้ำแม่กลอง ผ่านจุดท่องเที่ยวต่างๆ ไปจนถึงผาเลือด จากนั้นจะเดินทางต่อโดยรถยนต์ พี่หวังก็ยินดีที่จะเป็นไกด์พาเที่ยวให้ เพราะเนื่องจากเป็นวันหยุดพอดี
เช้าตรู่ที่ดอยหัวหมด
|
หลังอาหารเช้าจากร้านข้าวแกงในตลาดอุ้มผาง เราจัดเก็บสัมภาระ และเสบียงลงเรือยาง ล่องไปตามกระแสน้ำ พี่หวังได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของอำเภออุ้มผาง โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ดินแดนอันแสนไกลแห่งนี้กำลังค่อยๆ เปิดตัวอย่างระมัดระวังต่อการบุบสลายของทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่นักท่องเที่ยวทั่วไป |
พร้อมล่องแม่กลอง
|
ช่วงนี้ยังมีนักท่องเที่ยวมาไม่ขาด
|
กว่าจะเป็นสายน้ำแม่กลองที่ผมกำลังล่องอยู่นี้ ต้นน้ำนั้นเกิดจากลำห้วยหลายสายบนเทือกเขาสูงในท้องที่ตำบลโมโกร หลั่งไหลมารวมกันที่บ้านแม่กลองคี และมาบรรจบกับลำห้วยอุ้มผางผ่านอำเภออุ้มผาง สองฝั่งน้ำที่คดเคี้ยวประกอบไปด้วยแมกไม้ในป่าเบญจพรรณ บางจุดเป็นโตรกผาสูง ราวกับว่าเรากำลังไหลไปตามกระแสน้ำในร่องหินที่แตกระแหง สายน้ำแม่กลองในช่วงต้นๆ อย่างนี้ช่างใสสะอาดบริสุทธิ์เหลือเกิน |
ลำน้ำแม่กลองเมื่อยามสงบ
|
น้ำตกทีลอจ่อ
|
เราผ่านจุดท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น น้ำตกทีลอจ่อ เป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 80 เมตร ไหลจากหน้าผาที่สูงชันลงสู่ลำน้ำแม่กลอง บางช่วงแตกกระจายออกเป็นฝอยคล้ายสายฝนให้เราได้สัมผัสความสดชื่น บริเวณโดยรอบมีพืชประเภทเฟิร์นและมอส ขึ้นปกคลุมสวยงามแตกต่างไปจากน้ำตกอื่น |
น้ำตกทีลอจ่อ
|
บ่อน้ำร้อน เป็นจุดที่เราได้แวะพักกัน บริเวณนี้มีลำห้วยเล็กๆ ไหลมาบรรจบกับลำน้ำแม่กลอง ที่น่าแปลกคือน้ำในลำห้วยนั้นเป็นน้ำร้อน ที่ไม่มีกลิ่นกำมะถันเหมือนน้ำพุร้อนต่างๆ ในภาคเหนือ นับเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์จุดหนึ่ง |
ร้านค้าบริเวณน้ำพุร้อน
|
ลำต้นสีแดงของต้นซ่าน
|
ขณะเดินทางออกจากบ่อน้ำร้อนได้ไม่ไกลนัก พี่หวัง ได้ชี้ให้ผมดูต้นไม้แปลกต้นหนึ่ง... เป็นต้นไม้ที่สูงใหญ่ขึ้นอยู่ริมฝั่งทางซ้ายมือ ลำต้นสีแดงจัดจ้านเอียนเอียงไม่ยืดตรงนัก มีใบปกคลุมหนา พี่หวัง บอกว่า มันคือ ต้นซ่าน ลูกของมันสีเขียวขนาดใหญ่กว่ากำมือเล็กน้อย ว่ากันว่า หากผู้หญิงกินเข้าไป จะทำให้หน้าอกใหญ่ขึ้น (เรื่องนี้พี่หวังกระซิบว่า ไม่ขอรับประกันคุณภาพ เพียงแต่ได้ยินมาเลยมาเล่าต่อสู่กันฟังครับ) ผมยังเป็นห่วงว่า หากถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงบรรดาสตรีเหล็ก คงมาเก็บกันหมดป่าอุ้มผางแน่... ก็เป็นเรื่องขำๆ กันในป่าที่เงียบสงบ |
ลูกซ่านที่ว่ามีสรรพคุณนักหนา
|
บริเวณแก่งตะโค๊ะบิ
|
ถึง แก่งตะโค๊ะบิ ฟังชื่อแล้วเหมือนชื่อ ถ้ำตะโค๊ะบิ ที่เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของพรรคคอมมิวนิสต์ ในพื้นที่อุ้มผาง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2514 2525 ผมเองก็พึ่งทราบว่า ตะโค๊ะบิ นั้นแปลว่า มะม่วงแบน ลูกมะม่วงนี่แหละครับ แต่พันธุ์นี้ลูกของมันจะแบนๆ เสียดายที่ไม่เห็นลูกของมัน เลยไม่ได้ถ่ายภาพมาให้ดูเป็นตัวอย่าง |
ผ่านผาบ่อง ผาผึ้ง และมาขึ้นฝั่งที่ผาเลือด การล่องเรือยางบนลำน้ำแม่กลองในวันนี้สิ้นสุดลงด้วยเวลา 3 ชั่วโมงกว่า ผมได้แต่มองสายน้ำที่ไหลต่อไปหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในผืนป่าตะวันตก หนทางยังคงอีกยาวไกลนัก ยังคงมีอีกนับล้านชีวิตที่ยังคอยใช้ประโยชน์อยู่ |
ใกล้ถึงจุดหมาย
|
เราโยกเยกอยู่ในกระบะ 13 กม. หากเป็นถนนลาดยางเรียบๆ คงใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที แต่ที่นี่สายนี้ ผาเลือด - ทีลอซู เราใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง ไม่เคยมีข่าวว่า มีใครคิดพัฒนาเส้นทางสายนี้ให้ราบเรียบ เพื่อการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น
ทีลอซู สิ่งมหัศจรรย์ของเมืองชายขอบ
|
ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง การเดินทางที่ยากลำบากอย่างนี้กลับเป็นเสน่ห์ และเกราะป้องกันไม่ให้ทีลอซูบอบช้ำ ความสวยงามที่ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ดูแล้วไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย น่าภูมิใจนะครับ นี่ถ้าเขาพระวิหารไม่ไปเป็นของเขมรเสียก่อน เราคงมีสิ่งมหัศจรรย์เพิ่มขึ้นอีก |
ภาพนี้อันตรายไม่น่าเลียนแบบ |
ละอองแห่งความชุ่มชื่นบริสุทธิ์
|
จากการที่มีผู้สำรวจมาแล้วพอสรุปได้ว่า สายน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกทีลอซู นั้นมาจากลำห้วยกล้อท้อ ไหลตกจากช่องเขาขาดกลายเป็นน้ำตกทีลอซู ไหลไปรวมกับลำน้ำแม่จัน และรวมกับลำน้ำแม่กลองในตอนใต้ของบ้านปะละทะ เป็นการเดินทางของสายน้ำอีกสายหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกก่อนจะมาเป็นลำน้ำแม่กลอง |
ศิลปะธรรมชาติ
|
โดยส่วนตัวของผมแล้ว อำเภออุ้มผางมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมาย เป็นดินแดนที่ยังคงบริสุทธิ์ ผู้คนมีน้ำใจ วัฒนธรรมเก่าๆ ยังคงมีให้เห็น บ้านเรือนโบราณอายุนับร้อยปียังคงถูกรักษาไว้ และฟื้นฟูเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในแบบโฮมสเตย์ ผมขอชื่นชมชาวอุ้มผาง ที่ได้ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งมหัศจรรย์ ในเมืองชายขอบแดนประเทศแห่งนี้ให้คงอยู่สืบไป
โดย...นุ บางบ่อ 22/01/03
----------------------------------------------------------------------------
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในอำเภออุ้มผาง
|
พ.ศ.2432 |
ตำบลอุ้มผาง เป็นเมืองหน้าด่านชายแดน ขึ้นอยู่กับ จ.อุทัยธานี
|
พ.ศ.2441 |
ได้รับการยกฐานะจากตำบล เป็นอำเภอแม่กลอง
|
พ.ศ.2469 |
มีพระราชกฤษฎีกายุบอำเภอแม่กลอง ลงเป็นกิ่งอำเภอแม่กลอง และย้ายการปกครองจากจังหวัดอุทัยธานี ไปขึ้นอยู่กับจังหวัดกำแพงเพชร
|
พ.ศ.2499 |
ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอแม่กลอง ไปอยู่ที่บ้านอุ้มผาง (ปัจจุบัน) พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภออุ้มผาง
|
พ.ศ.2502 |
วันที่ 22 เมษายน มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นอำเภออุ้มผาง ขึ้นอยู่กับจังหวัดตาก
|
พ.ศ.2509 |
พตอ.วินิจ รัญเสวะ นักบินของ กก. ตชด. เขต 6 บินผ่านและพบน้ำตกทีลอซู เป็นคนแรก (แต่ก่อนหน้านั้นชาวกะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่แถบน้ำตก ได้รู้จักกันมาก่อนแล้ว)
|
พ.ศ.2514 |
พื้นที่อุ้มผางถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดง พรรคคอมมิวนิสต์ เริ่มทำการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตามพื้นที่รอบนอกของอำเภออุ้มผาง
|
พ.ศ.2515 |
บริษัทฟ้าสยาม เปิดบริการการเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ บินระหว่างอำเภอแม่สอด ไปอำเภออุ้มผาง โดยทำการบินทุกวันโดยสารได้เที่ยวละประมาณ 10 คน ค่าโดยสารคนละ 300 บาท เปิดได้ประมาณ 1 ปี ก็ต้องล้มเลิกไป เพราะขาดทุน
|
พ.ศ.2525 |
กลุ่มชาวม้ง โดยการนำของนายจางเฮ่อ (สหายมงคล) และกลุ่มกะเหรี่ยง โดยการนำของสหายปองหละ และนายขวัญชัย (สยาเล) รวบรวมมวลชนเข้ามาตั้งเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เป็นกลุ่มสุดท้าย ทำให้อุ้มผาง เป็นอำเภอที่ปลอดจากคอมมิวนิสต์ มาจนถึงปัจจุบัน
|
พ.ศ.2526 |
ถนนจากอำเภอแม่สอด สู่อำเภออุ้มผาง ได้ก่อสร้างเสร็จ ส่งผลให้อุ้มผางเปิดตัวเองสู่โลกภายนอกมากขึ้น
|
พ.ศ.2530 |
นายแพทย์บรรลือ กองไชย ชักชวนให้นิตยสารแมกซีนแค้มปิ้ง มาถ่ายทำสารคดีท่องเที่ยวน้ำตกทีลอซู ทำให้น้ำตกทีลอซู เริ่มเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และในปีนี้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่กลอง และป่าอุ้มผางให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
|
พ.ศ.2535 |
เกิดการก่อตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์อุ้มผาง โดยการรวมตัวของเอกชนที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว
|
พ.ศ.2541 |
วันที่ 30 มีนาคม อำเภออุ้มผาง ได้รับการประกาศชื่อ และรับรางวัล PATA GOLD AWARD 1998 ประเภท Ecotourism Travel Related Project ในงานประชุมประจำปี ของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเซีย แปซิฟิค ณ กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปินส์ วันที่ 1 3 พฤษจิกายน ชาวอุ้มผางได้ร่วมกันจัดงาน อเมซิ่งอุ้มผาง ขึ้นเป็นครั้งแรก
|
พ.ศ.2545 |
วันที่ 5 10 ธันวาคม ชาวอุ้มผางได้ร่วมกันจัดงาน มหกรรมแผ่นดินดอยลอยฟ้า ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 |
|
ผู้นำทาง : พ.ต.ท.สมหวัง คำทอง และ กองร้อยตำรวจตระเวณชายแดนที่ 347 ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ข้อมูลลำดับเหตุการณ์สำคัญ : อำเภออุ้มผาง
-----------------------------------------------------------------------