จากข่าวดังเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 46 ที่ผ่านมา ถึงการค้นพบหลุมขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายปล่องภูเขาไฟ ลึกลงไปใต้พื้นพิภพนับร้อยเมตร กว่า 30 หลุม ในเขตพื้นที่บ้านกึ๊ดสามสิบ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าลีซอ และเป็นพื้นที่เป้าหมายการปราบปรามยาเสพติด ของ จ.แม่ฮ่องสอน
นับตั้งแต่ข่าวดังกล่าวนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป หมู่บ้านกึ๊ดสามสิบ ที่อยู่ห่างไกลต่อความเจริญ และการคมนาคม ได้กลับกลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว ที่นิยมชมชอบการท่องเที่ยวในรูปแบบผจญภัยกันเป็นอย่างมาก โดยต่างมุ่งหวังว่าอยากจะเดินทางไปพิสูจน์ให้เห็นกับตาว่า หลุมดังกล่าวที่กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณหมู่บ้านกึ๊ดสามสิบนั้น เป็นหลุมที่เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และจะมีความลึกขนาดไหน นอกจากนั้น แล้วยังเกิดคำถามต่ออีกว่า ในหมู่บ้านที่ห่างไกลต่อการคมนาคมนี้ จะยังมีอะไรอื่นที่น่าสนใจอยู่อีกบ้าง ?
วันนี้ทีมงานของเราจึงเร่งเดินทางไปเก็บภาพ และรายละเอียดมาให้ชมกัน ...
การเดินทางสู่หมู่บ้านกึ๊ดสามสิบ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ลำบากสักหน่อย แถมพ่วงท้ายมาด้วยเป็นหมู่บ้านเป้าหมายการปราบปรามยาเสพติด และเพิ่งจะมีการเข้ากวาดล้าง จนถึงขั้นปะทะกันไปหมาดๆ ซึ่งในวันที่ 28 พ.ย. 46 วันที่ทีมงานเดินทางไปถึง อ.ปางมะผ้า ก็บังเอิญได้ยินได้ฟังเจ้าหน้าที่ตำรวจวิทยุโต้ตอบกัน ถึงการปะทะกันอีกครั้งในบริเวณชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ข่าวล่าสุดนี้ทำให้พวกเราทั้งหมดที่กำลังมึนๆ งงๆ กับอาการเมาโค้งอยู่นั้น หายเป็นปลิดทิ้งในทันที แต่ก็ยังพออุ่นใจได้บ้างที่ทาง จ.แม่ฮ่องสอน โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กรุณาให้ความอนุเคราะห์แก่คณะเรา โดยท่านได้ผสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของ อ.ปางมะผ้า ไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะเรามาก่อนหน้าแล้ว
หมู่บ้านกึ๊ดสามสิบ ตั้งอยู่ห่างจาก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นระยะทาง 18 กม. ต้องใช้รถกระบะที่ขับเคลื่อน 4 ล้อ เดินทางเข้าไป ในฤดูฝนรถยนต์ไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้ ตลอดสองข้างทางมีสภาพเป็นป่าเขา นานๆ จึงจะพบหมู่บ้านของชาวเขาสักหมู่บ้านหนึ่ง
ประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า คณะเราได้มาถึงหมู่บ้านกึ๊ดสามสิบ ก็พบกับความประหลาดใจกับสิ่งแรกที่ได้เห็น คือ ทุ่งดอกบัวตองเหลืองอร่ามทั่วไปทั้งหมู่บ้าน !! ตั้งแต่ชายเขาด้านล่างอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านกึ๊ดสามสิบ เรื่อยไปจนถึงบนเขาซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้าน ของชาวเขาเผ่าลีซอ ทุ่งบัวตองแห่งนี้ ดูงดงามและยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่ดอยอูคอ อ.ขุนยวมเลย แต่ก็คงมีข้อด้อยอยู่ที่การเดินทางเข้ามาชมที่ค่อนข้างลำบาก ทั้งนี้ทางจังหวัดก็มีนโยบายเร่งพัฒนาให้หมู่บ้านแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของ จ.แม่ฮ่องสอน อีกหน่อยอาจจะเป็นปีหน้าเราคงไม่ต้องมุ่งไปที่ อ.ขุนยวม เพียงแห่งเดียวนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับชาว อ.ปางมะผ้า และนักท่องเที่ยวทุกคน
ปล่องภูเขาไฟ ผมขอหยุดเรื่องทุ่งดอกบัวตอง ที่งดงามไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อน เพราะที่นี่ยังมีเรื่องสำคัญที่ผมดั้นด้นมาเพื่อถ่ายภาพมาให้ชมกัน นั่นคือ ปล่องภูเขาไฟกว่า 30 ปล่อง (จะเป็นปล่องภูเขาไฟ หรือ โพรงถ้ำ สันนิษฐานนี้ยังไม่มีใครพิสูจน์ ในที่นี้ผมขอเรียกตามผู้คนส่วนใหญ่ไปก่อน) ห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณประมาณ 200 เมตร ด้านทิศตะวันตกเป็นจุดที่ตั้งของปล่องภูเขาไฟ ปล่องแรกที่คณะของเราได้เดินทางเข้าไป ดูเหมือนจะเป็นปล่องที่เดินทางเข้าไปได้สะดวกที่สุด แม้จะต้องเดินลุยป่าสักหน่อย จากสภาพเส้นทางมีร่องรอยของชาวบ้านเดินมาก่อนบ้างแล้ว นายยอดชาย เปรมวชิระนนท์ อดีตสมาชิก อบต. ของหมู่บ้าน บอกกับคณะเราว่า ก่อนหน้านี้มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น 4 5 คน ได้เดินทางเข้ามา พร้อมอุปกรณ์การโรยตัวลงไป แต่ก็ลงไปได้ไม่ถึง 10 เมตร ก็ต้องรีบขึ้นมาเพราะรู้สึกว่าด้านล่างไม่มีอากาศหายใจ
การทำงานเก็บภาพในบริเวณนี้ ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เพราะบริเวณปาก หรือขอบปล่อง ยังไม่มีแนวป้องกันภัย การลื่นพลัดตกลงไปอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ปล่องแรก ที่อยู่ใกล้หมู่บ้านที่สุดนี้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เมตร หินที่ปากปล่องมีลักษณะคล้ายหินปูนตามถ้ำทั่วๆ ไป เมื่อมองลงไปตามผนังบางจุดมีลักษณะคล้ายหินงอกหินย้อย ชาวบ้านได้ทดลองโยนก้อนหินที่มีน้ำหนักประมาณ 1 กก. ลงไป ต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งจึงจะได้ยินเสียงหินก้อนก้อนนั้นกระทบ ซึ่งไม่แน่ใจว่ากระทบกับพื้น หรือส่วนหนึ่งส่วนใดในปล่องที่ลึกลงไปใต้พิภพนี้ จากทัศนคติของผมเอง หากโรยตัวลงไปนั้นสามารถกระทำได้ แต่การกลับขึ้นมานั้นเป็นเรื่องที่ยากมากทีเดียว ผมจึงหายแปลกใจว่าทำไมกลุ่มของชาวญี่ปุ่นจึงลงไปได้ไม่ลึกนัก
ถัดจากจุดแรก คณะของเราได้เดินต่อไปยัง จุดที่สอง จุดที่สองต้องเดินลงไปในหุบซึ่งมีลำห้วยเล็กเป็นสายน้ำไหลอยู่ และสองข้างทางเป็นป่าขึ้นปกคลุม บางครั้งต้องหมอบก้มเดินไป จุดนี้มีลักษณะเป็นหลืบหินที่แยกตัวออกเกิดเป็นโพรงลึกลงไป คือปากปล่องไม่เป็นลักษณะกลม แต่กลับเป็นลักวงลีแคบๆ หินที่ปากปล่องเป็นหินที่มีลักษณะเช่นเดียวกับจุดแรก
ชาวบ้านได้บอกกับคณะเราว่าในบริเวณหมู่บ้านกึ๊ดสามสิบนี้ จะมีปล่อง หรือโพรง ที่ลึกลงไปแบบนี้ 30 กว่าปล่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกว่าทำไมลักษณะคล้ายๆ กันนี้ถึงมาเกิดบริเวณเดียวกันนี้อย่างมากมาย
อีกบริเวณหนึ่งที่น่าสนใจ คือบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า ลานหินภูเขาไฟ ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีหินรูปร่างแปลกตาแต่ละก้อนมีความกว้าง 1 2 เมตร กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อมองจากระยะไกลก็จะเห็นถึงความงดงามแปลกตาไปอีกแบบ ชาวบ้านสันนิษฐานกันว่า หินเหล่านี้เกิดจากการระเบิดของของภูเขาไฟดังกล่าว
ปัจจุบบันทาง จ.แม่ฮ่องสอน มีแผนการพัฒนาหมู่บ้านกึ๊ดสามสิบ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชนในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ได้จากการเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ชาวบ้านกึ๊ดสามสิบ จะไม่ติดอยู่กับห้วงเหว (กึ๊ด ภาษาลีซอ แปลว่า เหว) ของยาเสพติดอีกต่อไป การพัฒนากำลังเริ่มต้นขึ้น หน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ ระดมกำลังเข้าพื้นที่เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ครูอาจารย์ปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ถึงแม้จะต้องสู้ท่ามกลางความขาดแคลน แต่ผมเชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะสำเร็จ ผ่านพ้นไปได้ ด้วยพลังของทุกคนที่จะร่วมแรงร่วมใจช่วยกันหยิบยื่นให้ในโอกาสต่อไป
|