เที่ยวภูชมพันธุ์ไม้ ณ. อุทยานภูสอยดาว
นายบี...เรื่อง นายบี...ภาพ
ยามที่พิรุณโรยโปรยมา เป็นเวลาเริ่มของการเปิดอุทยานภูสอยดาว ที่ตั้งอยู่ในอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่ ติดพรมแดนไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ยอดภูสอยดาวมีระดับความสูงประมาณ 2,100 เมตร ส่วนลานสนสามใบมีระดับความสูง 1,633 เมตร เส้นทางเดินขึ้นภูเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้มากมายของป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างชื้น ที่นี่คุณจะได้สัมผัสไอดิน ไอหมอก ละอองฝน และลมหนาว ครบทุกรสชาติ
ลานสนสามใบภูสอยดาว ลานสนสามใบภูสอยดาว บริเวณโดยรอบเต็มไปด้วยต้นหงอนนาคที่ขึ้นอยู่ทั่วไป นอกจากดอกหงอนนาคแล้วบริเวณลานสนยังมี ต้นกระดุมเงิน และดอกไม้อีกหลายชนิดรวมทั้งเห็ดชนิดต่างๆ ขึ้นปะปนกันอยู่เป็นธรรมชาติที่น่าชมมาก แถมรอบๆ บริเวณยังมองเห็นทิวเขาสลับซ้อนกันเป็นชั้นงดงามยิ่ง
ทุ่งดอกหงอนนาค สนสามใบภูสอยดาว พร่างพราวดอกหงอนนาค ม่วงชมพูดูสวยงาม เบ่งบานกลางพงไพร
|
|
ดอกหงอนนาคพืชคลุมดินที่ขึ้นอยู่ทั่วไปบนลานสนสามใบ ดอกของต้นหงอนนาคจะเริ่มบานในช่วงหน้าฝนถึงต้นหน้าหนาว ระหว่างเดือนกรกฏาคม ถึงเดือนธันวาคม ด้วยความสวยงามของช่อดอกสีชมพูอมม่วง เมื่อเวลาบานพร้อมกันจะทำให้ลานสนเป็นสีม่วงทั้งลาน
|
รองเท้านารีอินทนนท์ พันธุ์กล้วยไม้ที่ดึงดูดผู้คนให้ต้องมาชมคือ กล้วยไม้ดินที่ชื่อ รองเท้านารี สำหรับภูสอยดาวรองเท้านารีที่พบมากที่สุดคือ รองเท้านารีอินทนนท์ หรือ ชื่อพื้นเมืองว่า รองเท้านารีคอลาย ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Paphiopedilum villosum เป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่พบเมื่อ พ.ศ. 2396 มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณแถบที่มีอากาศชื้นและอุณหภูมิต่ำ เช่น ดอยอินทนนท์ ภูกระดึง และภูเขาสูงทางภาคเหนือ ลักษณะของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบสีเขียวสม่ำเสมอทั้งใบ ไม่มีลาย โคนใบส่วนใกล้กับเหง้ามีจุดสีม่วงประปราย และค่อยๆ จางหายตรงส่วนปลายใบ ใบยาวบางและอ่อน เป็นรองเท้านารีที่มีเกสรตัวผู้ต่างจากชนิดอื่นคือ เกสรตัวผู้จับตัวรวมเป็นก้อนแข็งค่อนข้างใส มีสีเหลืองไม่เป็นยางเหนียว |
เอื้องแซะ พิศพรรณรุกชาติที่เชิงผา ดาษดาดอกดวงพวงผล เห็นกล้วยไม้ใกล้ทางเสด็จดล ดอกโรยร่วงหล่นบนทราย (พระราชนิพนธ์ในรัชการที่ 2)
|
|
เป็นกล้วยไม้ที่ขึ้นอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ทั่วไปบนภู เอื้องแซะ เรียกอีกอย่างว่า เอื้องแซะหอม หรือ เอื้องแซะหลวง หรือ ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Dendrobium scabrilingue Lindl. สมัยก่อนเคยใช้เป็นเครื่องบรรณาการ ระหว่างแม่ฮ่องสอน กับ เมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อผู้ครองนคร และยังเป็นกล้วยไม้ที่มีอาถรรพ์สำหรับสาวเมืองเหนือ เอื้องแซะจะออกดอก ช่วงพฤศจิกายน - กุมภาพันธ์
|
ปุด ปุด หรือ จะปูจะซา เป็นต้นไม้ตระกูลขิง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Achasma macrocheilos Griff ลำต้นมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ต้นสูง 1.5-3 เมตร จากพื้นดิน ใบคล้ายใบกล้วย ปลายแคบเป็นติ่งแหลม โคนมนหลังใบมีสีน้ำตาลก้านใบยาว และโคนก้านใบจะแผ่ออกเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกจะแทงขึ้นมาจากเหง้า ออกดอกในช่วงฤดูฝน พบมากตามป่าดิบชื้นทั่วทุกภาค หน่อ และดอกอ่อนใช้ต้มกินได้ |
|
เห็ดนานาชนิด เนื่องจากพื้นที่ของป่าส่วนใหญ่มีความชุ่มชื้น และอับทึบ จึงมีเห็ดหลากชนิดให้เราได้เห็นทั่วไปตลอดเส้นทางที่เดินขึ้นภู แม้แต่บนภูเองก็มีขึ้นทั่วไป เห็ดจัดอันดับเป็นพืชชั้นต่ำจำพวกเดียวกับรา ไม่มีสารสีเขียวสำหรับสังเคราะห์อาหารด้วยแสง ไม่มีใบ ดอก ผล และเมล็ดเหมือนกับพืชทั่วๆ ไป |
|
อาศัยการย่อยสลายซากอื่นๆตามพื้นที่ป่า พืชชนิดนี้มีลำต้นเล็กๆ ที่โผล่พ้นพื้นดินเพื่อชูดอกที่มีลักษณะคล้ายร่ม หรือ หมวก มีสีสันมากมาย
หากไร้เห็ดราย่อยสลาย ซากความตายในโลกคงดาษดื่น จงรักษาสมดุลให้ยั่งยืน จักช่วยคืนคุณค่าสู่ฝืนดิน
("โถแก้ว" อสท. ตุลาคม 41)
ต้นเข้าพรรษา ต้นเข้าพรรษา หรือ หงส์เหิร หรือ พะเด็งโง (ภาษาพม่า) เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย ชื่อ Specie (winitti) ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Globba winitii เป็นต้นไม้ในวงศ์ขิงข่า (Family Zingiberaceae) จัดอยู่ในสกุล Globba มีอยู่ด้วยกันประมาณ 70 ชนิด เป็นไม้ที่มีเหง้าอยู่ใต้ดินออกดอกในช่วงต้นหน้าฝน พอสิ้นฤดูฝนก็จะทิ้งใบหมด เหลือแต่เหง้าอยู่ใต้ดิน เพื่อรองอกใหม่ในฤดูฝนปีต่อไป ดอกของต้นเข้าพรรษาที่พบเห็นทั่วไปมี2สี คือสีขาวดังรูปและสีชมพูออกม่วง เหตุที่มันมีชื่อเข้าพรรษาเพราะดอกจะออกและบานในช่วงเข้าพรรษาของทุกปี ในอดีตดอกเข้าพรรษาเป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ในการใส่บาตร ในเทศกาลทำบุญตักบาตรดอกไม้ของจังหวัดสระบุรีด้วยนะ
หยิบยกกลอนนี้มาฝาก อยากจะได้สักต้นหวังยลโฉม เพื่อน้าวโน้มหัวใจใกล้พรรษา น้อมนำจิตพิศธรรมย้ำอีกครา ได้เวลาจำศีลถิ่นแดนธรรม
(แต่งโดย : กุหลาบเวียงพิงค์)
|
|
งามเจ้า "เข้าพรรษา" เหลืองระย้าเวลานี้ ดุจหงส์ทรงลาลี เริ่มพรรษาคราสู่ธรรม.
(แต่งโดย : ดอกสารภี)
|
|
ต้นช้างร้อง Neesia เป็นไม้ที่อยู่ในจำพวกหมามุ่ย เมื่อโดนแล้วจะปวดแสบปวดร้อน เจ็บๆ ปวดๆ เป็นที่สุด พิษของมันเกิดจากขนตามใบ และลำต้น หากสัมผัสกับผิวกาย ขนนั้นจะเกาะติดกับผิว หลังจากนั้นมันเกิดปฏิกิริยากับผิวเราทำให้มีอาการอย่างที่ว่า
วิธีรักษา ห้ามเก่าหรือขยี้ เด็ดขาดเพราะจะทำให้ขนพิษฝัง ควรใช้มีดขูดบนผิวตามแนวขน เพื่อให้ขนมันหลุดออกมา อย่าขูดย้อนเพราะจะทำให้ขนพิษยิ่งเข้าลึก หลังจากนั้นก็ให้ใช้คารามาย หรือ ยาหม่องทา มันไม่หายปวดแต่ก็ช่วยบรรเทาได้นิดหน่อย แล้วปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นเวลาจะช่วยให้หายไปเอง แต่นานหน่อย
|
นอกจากดอกไม้และพันธุ์ไม้ที่กล่าวมา ที่อุทยานภูสอยดาวยังมีพันธุ์ไม้ป่าอื่นๆ อีกมากมายให้ได้ศึกษา และเลือกชม อาทิ กล้วยป่า ไผ่หก ต้นไผ่ที่มีลำปล้องใหญ่ที่สุดในบรรดาไผ่ทุกชนิด ขนุนดินที่มีมากมายตามทางเดิน
|