อาลัย...จันทน์ผา (ซับลังกาภาค 2)

อาลัย...จันทน์ผา (ซับลังกาภาค 2)

อาลัย...จันทน์ผา (ซับลังกาภาค 2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อาลัย...จันทน์ผา แห่งป่าซับลังกา (ซับลังกาภาค 2)

" บางที นี่อาจจะเป็นทริปครั้งสุดท้ายของผมกระมัง... คงไม่น่า.... "

นุ บางบ่อ ... เรื่อง / ภาพ

     ไม่ใช่คำพูดของผมหรอกครับ แต่เป็นคำพูดสั้นๆ ในเนื้อหาช่วงหนึ่งของเรื่อง ซับลังกา ป่าผืนสุดท้ายใต้ซอกแผ่นดินอีสาน ที่อดีตนักเขียนนักเดินทาง ลุงจิ๊บแห่ง sabuy.com ได้เขียนไว้ ผมจึงขอถือว่า เรื่องที่ลุงจิ๊บ ได้เขียนเรื่องซับลังกาไว้นั้นเป็นตอนที่หนึ่ง และสำหรับตอนที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นตอนที่สอง โดยขอใช้ชื่อตอนว่า ... อาลัย จันทน์ผา แห่งป่าซับลังกา
     ้คำพูดที่ว่า "บางทีนี่อาจจะเป็นทริปครั้งสุดท้ายของผมกระมัง... คงไม่น่า...."  ที่หลุดออกมาจากเสียงคิด ในช่วงอาการเหนื่อยหอบจนใกล้จะหมดแรงของลุงจิ๊บ แม้ผมจะไม่ได้ยินด้วยตัวเอง เหตุเพราะไม่ได้ร่วมเดินทางในทริปนั้นด้วย แต่วันนี้ผมได้มาหยุดยืนอยู่ในบริเวณที่ 2 ปีก่อน ที่อดีตหัวหน้างานได้มาเหนื่อยหอบอยู่ท่ามกลางดงพงไพร ในรอยต่อระหว่างผืนดินที่ราบสูง และที่ราบภาคกลาง ทำให้ผมหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา และนึกถึงผู้ที่มีแต่ให้อย่าง..ลุงจิ๊บ ขึ้นอย่างอาลัย
     สองปีที่ผ่านไป...การเดินทางช่างเงียบเหงา ถึงแม้เรื่องราวธรรมชาติจะถูกถ่ายทอดออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็เป็นเพียงทัศนะหนึ่งของผู้เขียนอย่างผมเพียงคนเดียว กาลเวลาทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนเป็นอดีต การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจจะธรรมของโลกวุ่นวายใบนี้ ความแน่นอนยังคือความไม่แน่นอน มีพบต้องมีจาก แต่จากไปอย่างไรถึงจะทำให้คนข้างหลังคิดถึง นั่นคือเรื่องที่น่าคิด และน่าทำ
     ผมแหงนมองยอดไม้สูงแล้วก้มหน้าเดินต่อ เรื่องที่คิดถึงเมื่อครู่ถูกปล่อยไว้เบื้องหลัง ตอนนี้มีเพียงเท้าของตนเองเท่านั้นที่ผมรู้สึกเป็นห่วง หากเกิดการผิดพลาดจากการย่างก้าว อาจทำให้ลื่นล้มลงได้ และความเจ็บปวดอีกหลายอย่างอาจจะตามมา สายฝนโปรยปรายลงมาตั้งแต่เช้ายังไม่ยอมหยุด สำหรับผมอาจเป็นเรื่องลำบาก แต่สำหรับธรรมชาติแล้วคงเป็นเรื่องดี
     เป้าหมายการเดินทางในวันนี้อยู่ที่ ถ้ำผาผึ้ง และ เขาจันทน์ผา ถึงแม้ระยะทางจะไม่ไกลนักแต่การเดินค่อนข้างลำบาก ระหว่างเส้นทางต้องข้ามลำห้วยสายเล็กๆ ไปมาหลายครั้ง เส้นทางสายนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และลำห้วยนี้เองที่ไหลไปรวมกับลำห้วยลำสนธิ ก่อนที่ไหลลงไปรวมกับแม่น้ำป่าสักที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จึงถือได้ว่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกานี้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญจุดหนึ่ง และยังคงเป็นผืนป่าสุดท้ายของ จ.ลพบุรี อีกด้วย

     สายน้ำเล็กๆ สายนี้ถูกหล่อหลอมออกมาจากผืนป่า ต้นไม้ใหญ่ๆ หลายต้นได้อาศัยเพื่อการเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ แม้ผืนดินก้อนหินที่อยู่ในบริเวณนี้พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย การเดินป่าในป่าสมบูรณ์อย่างนี้ความเหนื่อยล้าจึงหายไปอย่างรวดเร็ว ใบไม้ทุกใบทำหน้าที่คายออกซิเจน ให้มนุษย์ผู้แปลกหน้า อย่างอาทรโดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน นอกเสียจากว่า มนุษย์ผู้แปลกหน้าที่เข้ามาอย่าทำร้ายฉันก็เพียงพอ

     หนึ่งชั่วโมงผ่านไป จากจุดเริ่มต้นเดินทาง ที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเรียกว่า ห้วยพริก ผมได้เดิน และปีนป่ายเล็กน้อยมาถึง ถ้ำผาผึ้ง  ถ้ำผาผึ้งเป็นเพียงโพรงถ้ำที่มีความลึกไม่มากนัก แต่ถ้าหากความสูงละก็ "ตกมาตายครับ" ปากถ้ำกว้าง ภายในมีหินงอกหินย้อยงดงาม  ่ด้วยความที่เป็นถ้ำที่ไม่มีความยาวมากนัก และหินงอกหินย้อยเหล่านี้อยู่ใกล้กับปากถ้ำ ซึ่งเป็นทางเดินเข้าออกของผู้ผ่านไปมา ไปจนถึงพระธุดงค์ ที่ปลีกเข้ามาปฏิบัติธรรม บวกกับสภาพแวดล้อมจากปัจจัยต่างๆ จึงส่งผลให้หินงอกหินย้อยเหล่านี้หยุดการก่อตัว เราจึงพบเห็นกันแค่เพียงร่องรอยความสวยงาม ที่ต่อไปอาจจะมลายสูญไปได้
     จากปากถ้ำต้องเดินลัดเลาะไหลเขาไปทางทิศตะวันตกอีกประมาณ 100 กว่าเมตร ภูมิประเทศช่วงนี้เป็นหินปูน  เหลี่ยมหินมีความคมหากพลาดพลั้งอาจทำให้ไดรับอันตรายได้ แต่ถ้าหากเดินตามรอยเท้าซึ่งเป็นทางเดินไม่กว้างนัก ก็พอจะพาไปสู่จุดหมายไปทางที่มหัศจรรย์ได้ไม่ยาก  ปลายทางของคนแปลกหน้าอย่างผมคือ ป่าจันทน์ผา ที่ตั้งเด่นสง่าอยู่บนยอดเขาหินปูน บรรยากาศโดยรอบเงียบสงัด ก่อให้เกิดจินตนาการไปได้ต่างๆ นานา
      ต้นจันทน์ผา มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย เราสามารถพบเห็นได้ในป่าที่มีภูเขาสูง โดยทั่วไปลำต้นมีความสูงประมาณ 5 - 7 ฟุต ลำต้นมีความแข็งแรงมาก จุดเด่นของเจ้าต้นจันทน์ผานี้อยู่ที่ใบ ใบที่แตกออกมาเป็นแฉกๆ ดูคล้ายแสงจันทร์ที่เปล่งประกายในยามค่ำคืน ความยาวของใบประมาณ 45-50 เซนติเมตร ส่วนความกว้างอยู่ที่ 4-5 เซนติเมตร คนที่นิยมธรรมชาติแต่ยึดติดกับความเป็นคนในเมือง นิยมลักลอบนำออกจากป่าไป หรือไปเสาะหาซื้อ มาเป็นไม้ประดับเสริมบารมีอันใหญ่คับบ้านคับเมือง แต่วันนี้ขอบอก ผมได้มาเห็นจันทน์ผาแบบว่าเยอะมากๆ หรือจะเรียกได้ว่า เป็นดงเลยก็เลยก็ว่าได้ ผมว่าสวยกว่าจันทน์ผาในเมืองเป็นไหนๆ ขอร้องเถอะครับของบางอย่างมันอยู่ในถิ่นกำเนิดของมันจะดีกว่า จะสวยกว่า มันเองก็มีความสุข และเราก็มีความสุข ผมนำมาเล่าให้ฟังอย่างนี้แล้ว อย่าคิดไปนำมันออกมาล่ะครับ แต่หากใครอยากจะลองดี ก็ลองดู ขอเตือนครับ เจ้าหน้าที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา เขาเข้มงวดกันจริงๆ มีการตรวจป่า และตั้งด่านตรวจกันทุกวัน
     ผมนั่งพักอยู่บนยอดเขาที่รายล้อมด้วยจันทน์ผา ดอกไม้ป่า กล้วยไม้ พอมีให้ชื่นชมอย่างชื่นใจ และคลายความเหนื่อย คำพูดของลุงจิ๊บ ที่อยู่บนทางที่ผ่านมาทำให้ผมทบทวนอีกครั้งว่า  แล้วทริปสุดท้ายของผมนั้น..คือที่ไหน?  และเมื่อไหร่..ผมจะหยุดชีวิตการเดินทาง?

" เพราะโลกนี้มีความแตกต่าง มนุษย์เราจึงต้องเดินทาง "   (ขอขอบคุณ นายรอบรู้  นักเดินทางรุ่นพี่อีกคนหนึ่งที่กล่าวประโยคนี้ให้ผมฟัง)

" นุ บางบ่อ "

เรื่องที่เกี่ยวข้อง  ซับลังกา ป่าผืนสุดท้ายใต้ซอกแผ่นดินอีสาน  (ซับลังกาตอนที่ 1)

 

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ผ่าน จ.สระบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 21 สระบุรี - ชัยบาดาล เลี้ยวขวาเข้า อ.ชัยบาดาล ไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ชัยบาดาลลำสนธิ ก่อนถึง อ.ลำสนธิ 2 กม. แยกเลี้ยวซ้ายเข้า ต.วังเชื่อม อีก 37 กม. ไปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา รวมระยะทาง 260 กม.

เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติห้วยพริก - น้ำตกผาผึ้ง เหมาะสำหรับการเดินป่าสัมผัสธรรมชาติที่หลากหลายตลอดเส้นทาง ชมความสดชื่นของลำห้วยพริก และความงดงามของน้ำตกผาผึ้ง ถ้ำผาผึ้ง ปีนเขาอีกเล็กน้อยก็จะพบกับเทือกเขาที่เต็มไปด้วยต้นจันทน์ผา ระยะทางไปกลับ 3,200 เมตร ขอขอบคุณ/ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม - เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา ต.กุดตาเพชร  อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี 15190  โทร.0 3645 1936 - ฝ่ายจัดการรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ กรุงเพฯ  โทร. 0 2579 9446 - การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลางเขต 7 อ.เมือง  จ.ลพบุรี  โทร. 0 3642 7689

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook