เมืองสงบแห่งลุ่มแม่น้ำ

เมืองสงบแห่งลุ่มแม่น้ำ

เมืองสงบแห่งลุ่มแม่น้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมืองสงบแห่งลุ่มแม่น้ำ

แดนดินถิ่นวีรชนคนกล้า และต้นตำนานแม่ครัวหัวป่า การเดินทางท่องเที่ยวกับโปรแกรมทัวร์สุขภาพ รูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยวภาคกลาง

      กลิ่นอายของควันไฟ คาวเลือด และคราบน้ำตาแห่งการพลัดพราก จากสงครามการสู้รบเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนได้จางหายไปตามกาลเวลาที่หมุนผ่านไป หลายหลากเรื่องราวได้พัดผ่านเข้ามาแทนที่ ณ เมืองเล็กๆ แห่งนี้ ที่มีความสงบร่มเย็นดั่งสายน้ำที่ไหลผ่านตัวเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ถึงแม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นสัจธรรมของทุกชุมชน แต่คงใช้ไม่ได้เสมอไป อย่างเช่นเมืองนี้ สิงห์บุรี เมืองที่ไม่เดินตามรอยวัตถุนิยม แต่หมุนตามภาวะ การเปลี่ยนแปลงไปอย่างเหมาะสม..กลมกลืน 

     ก้าวแรกที่ผมได้เหยียบย่างลงจากรถตู้ที่ได้เดินทางมาเพียง 142 กิโลเมตร ด้วยเวลา 1 ชั่วโมงเศษๆ จากกรุงเทพฯ คือ โรงพยาบาลค่ายบางระจัน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอค่ายบางระจัน อย่าพึ่งคิดว่าผมประสบอุบัติเหตุอะไรนะครับ ... การเดินทางมาสิงห์บุรีคราวนี้ สะดวก และปลอดภัยดีตลอดเส้นทาง แต่ที่ต้องมาที่โรงพยาบาลค่ายบางระจัน นี้ก่อนเป็นอันดับแรก ก็เพราะว่า ผมมาหาไกด์นำเที่ยว .... งง..ไหมครับ 
    ไม่มีอะไรที่น่าฉงนอีกต่อไป คือก่อนที่จะเดินทางมาเที่ยว จ.สิงห์บุรี ทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต 7 ได้แจ้งว่า ที่โรงพยาบาลค่ายบางระจัน แห่งนี้มีบริการทัวร์สุขภาพ และ หากนักท่องเที่ยวเดินทางกันมาเป็นหมู่คณะ ก็จะมีเจ้าหน้าที่จากทางโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้แก่ พยาบาล พาเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะพยาบาลทุกท่าน ล้วนเป็นลูกหลานของชาวบ้านบางระจันแทบทั้งสิ้น ผมเองก็คิดในใจว่า ทริปนี้ต้องราบรื่นๆ สุดๆ นอกจากจะได้ความรู้จากมัคคุเทศก์ท้องถิ่นแล้ว อย่างน้อยหากเป็นลมล้มพุบระหว่างการเดินทาง ทั้งแบบตั้งใจ และ ไม่ได้ตั้งใจ คงปลอดภัยหายห่วง ... ว่าแล้วก็อยากจะเป็นลมแล้วซิ ... อิอิ
     การเดินทางในทริปนี้ถือเป็นโปรแกรม ทัวร์สุขภาพ ซึ่งจัดทำขึ้นโดย โรงพยาบาลค่ายบางระจัน โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต 7 เป็นผู้สนับสนุน ตามโปรแกรมเริ่มจาก ผมต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพ จากทางโรงพยาบาล จากนั้นก็ออกไปสักการะอนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน , ชมศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ฯ , นมัสการพระอาจารย์ธรรมโชติ วัดโพธิ์เก้าต้น , ล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำ จนไปถึงวัดพิกุลทอง เพื่อนมัสการหลวงพ่อแพ , 

      จากนั้นเปลี่ยนเป็นขึ้นรถ ไปที่วัดพระนอนจักรสีห์ นมัสการพระพุทธไสยาสน์ องค์ใหญ่ และงดงามมากที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย , ปิดท้ายโปรแกรมของวันด้วย การไปพักค้างคืนกับชาวบ้าน แบบโฮมสเตย์ ที่บ้านท่าข้ามใต้ ในอำเภอค่ายบางระจัน  เริ่มน่าสนใจแล้วไหมล่ะ ... เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังทีละโปรแกรมเลยนะครับว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับผมบ้างในวันนั้น

    ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเคยได้รับการตรวจสุขภาพมาก่อน ที่ผ่านมาผมใช้ชีวิตได้คุ้มค่าแบบเกินคุ้ม หรือจะเรียกว่าสุมบกสมบันก็ว่าได้ ผมไม่เคยมีความคิดจะไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ ยกเว้นเมื่อตอนป่วยหนัก ซึ่งปีๆ หนึ่งก็ไม่เกินสองครั้ง ผมจึงไม่มีโอกาสรับรู้ หรือเตรียมตัวเพื่อพร้อมรับมือกับโรคภัยต่างๆ โปรแกรมทัวร์สุขภาพ ในวันนี้จึงเป็นโปรแกรมที่น่าสนใจ สำหรับผมเป็นอย่างยิ่ง 

    การตรวจสุขภาพ เริ่มขึ้นเหมือนๆ กับการตรวจสุขภาพทั่วๆ ไป ชั่งน้ำหนัก อมปรอท วัดความดัน จากนั้นก็เอ็กเรย์ ดูๆ แล้ว ก็เหมือนกับโรงพยาบาลทั่วๆ ไป ที่ปฏิบัติกัน แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือน คือ เท่าที่ผมสังเกตดู แม้โรงพยาบาลค่ายบางระจัน จะเป็นเพียงโรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่ภายในโรงพยาบาลดูค่อนข้างพร้อมสรรพ เป็นระเบียบ เจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ต่างก็ยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง บริการด้วยความกระตือรือร้น ยิ่งทราบว่า เราเป็นนักท่องเที่ยวต่างถิ่นด้วยแล้ว การตอบข้อซักถามต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องวิถีชีวิตในท้องถิ่น เป็นไปด้วยความเต็มใจ เรื่องนี้ไม่ยอกันเล่นนะครับ หากใครที่เคยมีความคิดแบบเดิม ที่เห็นพยาบาลหน้าดุๆ พูดจาแบบครูดุนักเรียนแล้วละก็ เปลี่ยนทัศนคติได้เลยครับ เดี๋ยวนี้เขา พัฒนาแย้ววววว ... : ) 

     และถ้าหากท่านต้องการจะตรวจเลือดด้วย ก็ต้องงดน้ำ และอาหารมาก่อน คืองดตั้งแต่เวลา 24.00 นาฬิกา ของวันก่อนการตรวจ  (สำหรับผมแล้วเมื่อเช้าก่อนเดินทางมาถึง ได้ทานอาหารบ้าง ขนมบ้าง เกือบตลอดทาง โปรแกรมตรวจเลือดจึงต้องงดไป ด้วยความตั้งใจของผม หรือ เปล่า ... อิอิ)  หลังจากตรวจร่างกายเสร็จ เราก็เริ่มออกเดินทางท่องเที่ยวกัน ส่วนใครที่ตรวจเลือด และเอ็กเรย์ ตอนเย็นค่อยแวะกลับเข้ามาฟังผล แล้วค่อยกลับเข้าที่พักแบบโฮมสเตย์ แหม...เยี่ยมจริงๆ ครับ เป็นระบบดี 

อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน       จากโรงพยาบาลค่ายบางระจัน ผมเดินทางต่อมาที่อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน เพื่อสักการะบรรพชนผู้กล้าหาญเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องแผ่นดิน  อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอนุสาวรีย์ฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 
     อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน ตั้งอยู่ในอำเภอค่ายบางระจัน ในบริเวณเดียวกันมีศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ จัดเป็นห้องนิทรรศการการสู้รบในศึกบางระจัน  โดยแบ่งเป็นห้องๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมเรื่อยไปจนถึงห้องวิถีชีวิตชาวสิงห์บุรี 
หากคุณๆ ผู้อ่าน ได้มีโอกาสไปสักการะอนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน ก็ไม่ควรพลาดที่จะเข้าชมศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย เพราะจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวได้ความรู้มากยิ่งขึ้น ส่วนผมอย่างที่บอกครับ ทริปนี้สบาย มีมัคคุเทศก์จากโรงพยาบาลมาด้วย มีเรื่องอะไรข้องใจนิดหน่อยเป็นต้องรีบซักรีบถาม ... โอกาสอย่างนี้ หาได้ง่ายๆ ซะที่ไหนล่ะครับ ... อิอิ : ) 
วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ     จากอนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน ฝั่งตรงข้ามถนนจะเป็นวัดโพธิ์เก้าต้น บริเวณด้านหน้าวัดเป็นที่ตั้งวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ  วิหารหลังนี้ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2308 ชาวบ้านบางระจันได้นิมนต์พระอาจารย์ธรรมโชติ มาที่วัดโพธิ์เก้าต้น เพื่อทำการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ให้เป็นกำลังใจแก่ชาวบ้านเมื่อยามออกศึก บริเวณด้านหน้าของวิหารมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่พระอาจารย์ธรรมโชติได้ใช้ในการประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่นักรบแห่งบ้านบางระจัน
    ผมฟังการบรรยายของพยาบาลสาว มัคคุเทศก์ท้องถิ่นแล้ว ก็ชวนให้เกิดจินตนาการนึกถึงถึงภาพบรรยากาศในสมัยนั้น บริเวณที่ผมได้ยืนอยู่นี้คงเต็มไปด้วยผู้คน ผู้ที่มีจิตใจหวงแหนแผ่นดิน ไม่หวั่นเกรงต่อศัตรูถึงแม้จะมีกำลังมากกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ความเสียสละของบรรพบุรุษชาวบ้านบางระจัน จึงเป็นเรื่องที่ควรสรรเสริญ ควรนำมาพูดถึงไม่ให้ลบเลือนไปกับกาลเวลา 
    นอกจากวิหารพระอาจารย์ธรรมโชติที่เราควรมาเคารพสักการะแล้ว ด้านหลังของวัดโพธิ์เก้าต้นยังมีบริเวณที่เรียกว่า คูค่ายบางระจัน  มีลักษณะเป็นเนินดินยาวไปตามแนวคลองบางระจัน ซึ่งบริเวณนี้เองที่เป็นสมรภูมิรบระหว่างชาวบ้านบางระจัน กับกองทัพพม่า  
     ปัจจุบันคลองบางระจันสงบเงียบ หลายชีวิตหลายครอบครัวต่างดำเนินไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ หากใครเดินทางมาถึงบริเวณนี้แล้ว คงได้ใช้เวลาพักผ่อนอยู่บริเวณศาลาท่าน้ำเฉกเช่นเดียวกับผมเวลานี้ ที่กำลังนั่งเหม่อมองสายน้ำที่ไหลผ่านไป พร้อมกับทบทวนเรื่องราวที่ผ่านมาของชีวิต...
ล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย      ในช่วงบ่ายของวันท่องเที่ยววันนี้ โปรแกรมต่อไปคือการล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำน้อย แม่น้ำน้อยเป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของชาวเมืองสิงห์
และเป็นแม่น้ำสายท่องเที่ยวหากใครได้มีโอกาสมาเที่ยวเมืองสิงห์แล้ว ผมขอแนะนำครับ เพราะการที่ท่านได้ล่องแม่น้ำสายนี้ ถึงแม้ความกว้างของแม่น้ำจะไม่กว้างมากนัก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี ที่ท่านจะได้พบเห็นการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ริมน้ำ สองฟากฝั่งเป็นบ้านไม้ที่ชาวบ้านได้อยู่อาศัยกันมานาน มีการเลี้ยงปลาในกระชัง บ้างก็หาปลา หรือสัญจรไปมาโดยทางเรือ เป็นภาพชีวิตที่หาชมได้ยาก 
     การล่องเรือนี้ ท่านสามารถติดต่อการเดินทางได้กับทางโรงพยาบาล แต่ขอแนะนำครับว่าควรมาเป็นหมู่คณะจะดีกว่า เพราะถ้าท่านมากันน้อยคน การนำเรือออกแต่ละครั้งค่อนข้างจะไม่คุ้ม เพราะเรือที่เตรียมไว้รับนักท่องเที่ยวนี้เป็นเรือค่อนข้างใหญ่ จุผู้โดยสารได้ประมาณ 20 - 30 คน จุดหมายปลายทางคือวัดพิกุลทอง ที่พระธรรมมุนี หรือ หลวงพ่อแพ เคยจำพรรษาอยู่จวบจนมรณภาพ 
วัดพิกุลทอง       ยามบ่ายอย่างนี้ได้ล่องเรือชมทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำน้อย แล้วมาขึ้นฝั่งที่น้ำวัดพิกุลทอง ช่างเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และสบายๆ ผมและคนอื่นๆ  ในคณะขึ้นฝั่งอย่างไม่เร่งรีบ บรรยากาศที่ท่าน้ำของวัดพิกุลทองน่านั่งเล่น ไปจนถึงพักผ่อนนอนหลับ นี่าหากว่าไม่มีพยาบาลสาวๆ มาเป็นไกด์ในทริปนี้แล้วละก็ ขอบอก นุ บางบ่อ หลับไปแล้ว... วันนี้จะหลับสักงีบก็เกรงใจ ว่าแล้วก็หันหน้าเข้าวัด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่องดีกว่า 
     วัดพิกุลทอง เป็นวัดที่พระธรรมมุนี (หลวงพ่อแพ) บูรณะก่อสร้าง และจำพรรษาอยู่จวบจนท่านมรณภาพ  วัดพิกุลองแห่งนี้นับเป็นวัดเดียวในโลกที่มีพระพุทธรูปปางประทานพรที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งมีนามว่า พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี  และประดับด้วยแผ่นโมเสสสีทองจากประเทศอิตาลีทั้งองค์ เป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธทั่วไป ทุกวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา จะมีประชาชนจำนวนมากมานมัสการ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งรูปหลวงพ่อแพ โดยมีความละม้ายคล้ายคลึงหลวงพ่อแพมาก 
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร      ไหนๆ ได้เข้าวัดแล้ว ก็ขอเดินทางต่อไปที่วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร อีกวัดหนึ่งก็แล้วกันนะครับ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหารนี้  เป็นวัดที่มีความสำคัญน่าไปเที่ยวชมเพราะอะไรทราบไหมครับ เพราะว่า วัดนี้เขามีพระนอน หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า พระพุทธไสยาสน์ ที่ใหญ่มากๆ และว่ากันว่า เป็นพระนอนที่งดงามที่สุด ไม่ธรรมดาเลยครับ จ.สิงห์บุรี เห็นพื้นที่จังหวัดเล็กๆ อย่างนี้ แต่มีพระพุทธรูปใหญ่ๆ อยู่หลายองค์ 
     การเดินทางมาหากมาจาก จ.สิงห์บุรี ก็ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 3032 (สิงห์บุรี- สุพรรณบุรี) เพียง 4 กม. ก็ถึง ใกล้มากครับ ... อ้อ....เกือบลืมบอกไปอีกเรื่อง เกี่ยวกับวัดพระนอนจักรสีห์นี้บริเวณด้านหน้าของวิหาร มีต้นสาละ และต้นสาละนี้จะออกดอกบานสะพรั่งอยู่เสมอ ชาวสิงห์บุรีเขาเชื่อกันว่า หากใครได้ไปยืนปรบมืออยู่ใต้ต้นสาละ แล้วดอกสาละล่วงลงมา โดยที่ผู้ปรบมือสามารถรับดอกสาละนั้นได้ แสดงว่าคนนั้นจะมีโชคลาภ ... น่าสนใจจริงๆ ผมเองก้ได้ไปลองปรบมือกับเขาเหมือนกัน แต่ไม่ขอบอกนะครับว่าผมรับดอกสาละนั้นได้ทันหรือเปล่า... : ) หากใครได้ไปก็อย่าลืมไปปรบมือใต้ต้นสาละกันนะครับ 

    วันนี้ผมได้เดินทางเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวของ จ.สิงห์บุรี มาหลายที่แล้ว  มัคคุเทศก์พยาบาลสาวสวยแจ้งว่า เดี๋ยวเราต้องกลับไปฟังผลการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลค่ายบางระจันกันแล้ว ผมเองไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไรแล้ว เพราะผมไม่ได้เข้ารับการตรวจเลือด .. อิอิ สงสารก็แต่เพื่อนๆ บางคนในคณะ ที่ต้องไปคอยลุ้น ... อิอิ ล้อเล่นครับ 

     ออกจากโรงพยาบาลค่ายบางระจัน ทุกคนมีสีหน้าสดชื่นแจ่มใส เพราะผลการตรวจเลือดของทุกคนไม่มีโรคภัยอะไรที่น่าเป็นห่วง ผมแอบผิดหวังเล็กน้อยที่เห็นคนอื่นสบายใจ .... : ( 

     โปรแกรมสุดท้ายของวันนี้ และถือเป็นไฮไลท์ของการเดินทางเหมือนกัน คือ การเข้าพักค้างคืนกับชาวบ้านใน อ.ค่ายบางระจัน แบบโฮมสเตย์  สุดยอดครับโปรแกรมนี้ผมชอบมากๆ เพราะการไปค้างคืนบ้านชาวบ้านนี่ทำให้เราได้รับทราบข้อมูลท้องถิ่น แบบละเอียด ซึ่งบางเรื่องเราไม่อาจรับรู้ได้จากที่ไหน ที่สำคัญคือน้ำใจไมตรี การต้อนรับที่ทุกวันนี้แทบจะหาไม่ได้แล้วจากสังคมเมือง 

     บรรยากาศยามเย็นก่อนสิ้นแสงแห่งวัน ผมยืนอยู่ริมถนนลาดยางที่ค่อนข้างสงบเงียบปราศจากรถราขวักไขว่ นานนานจะมีรถผ่านมาสักคัน จักรยานเก่าๆ ที่ถูกขี่โดยคุณลุง ผ่านไปอย่างช้าๆ พร้อมกับรอยยิ้มที่ส่งมาให้คนแปลกหน้าอย่างผม จักรยานคันนั้นค่อยๆ หายไปทางด้านท้ายหมู่บ้าน  ผมเบือนหน้ากลับมามองสายน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้านท่าข้ามใต้แห่งนี้ ความรู้สึกสดชื่นสบายใจเข้ามาให้ผมได้สัมผัสอย่างไม่รู้ตัว ผมปล่อยความคิดไปอย่างไม่มีจุดหมาย เรื่องที่เคยเครียดกับงานผมลืมไปเสียสิ้น ขณะนี้ผมได้สัมผัสถึงสัจจะธรรมคำหนึ่งที่ว่า สุขใดจะเท่าความสงบนั้นไม่มี 

     ค่ำวันนี้ พี่เล็ก เจ้าของบ้านใจดี ผู้เป็นเจ้าของบ้านโฮมสเตย์ ที่ผมได้เข้าพัก บ้านหลังนี้ถูกสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของครอบครัวพี่เล็ก อ้อ..พี่เล็กคนนี้เป็นผู้หญิงครับ แต่น้ำใจ และหน้าที่การงานของพี่เล็กนั้นแกร่งไม่แพ้ชายชาตรีเลยทีเดียว กิจกรรมหลายๆ อย่างในหมู่บ้านท่าข้ามใต้ พี่เล็กเป็นแรงสำคัญที่ทำให้งานหลายๆ อย่างสำเร็จไปด้วยดี

ี      ยิ่งอัธยาศัยด้วยแล้วถือได้ว่า ผมโชคดีที่ได้มาพักบ้านหลังนี้ แต่หลังอื่นๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านนี้ใช่ว่าจะด้อยไปกว่ากัน ข้างๆ  กับบ้านพี่เล็กยังมีบ้านป้าเป้าอีกหลังหนึ่ง ที่ใหญ่โตน่าพัก เดี๋ยวมีโอกาสคราวหน้าผมคงต้องสับเปลี่ยนไปพักบ้านป้าเป้าบ้าง เพราะวันนี้อยากจะพักทั้งสองบ้าน ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ที่ผมอยากจะพักทั้งสองบ้านก็เพราะว่าอยากจะชิมกับข้าวแบบหลายๆ ฝีมือต่างหาก .... อิอิ ทั้งนี้ก็เพราะมัคคุเทศก์จากโรงพยาบาลค่ายบางระจัน แอบบอกมาว่าทั้งสองบ้านนี้กับข้าวอร่อยสุดๆ โรคตา..ที่เริ่มมี...กะ...ออกอาการทันทีเลยครับ 

    พูดถึงเรื่องอาหารการกิน เขาว่ากันว่า ชาวบ้านสิงห์บุรีนั้นเป็นต้นตำนานคำว่า แม่ครัวหัวป่า  นั่นแน่ะ เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กครับคำๆ นี้  พึ่งจะมาทราบความจริงก็วันนี้เอง เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง (จำเขามาอีกที ... ก็น้องๆ พยาบาลนั่นแหละครับ...เอ๊ะ ทริปนี้รู้สึกว่าผมจะพูดถึงน้องๆ พยาบาลบ่อยจังแฮะ... ไม่มีอะไรหรอกครับ น้องๆ เขาน่ารัก อะไรที่ดีๆ ก็เลยอยากจะนำมาบอกต่อๆ กัน) เรื่องตำนานแม่ครัวหัวป่านั้นมีอยู่ว่า ....

    จากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่ ต.หัวป่า ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งใน อ.พรหมบุรี ในเวลานั้นคุณหญิงโหมด ภรรยาเจ้าเมืองพรหมบุรี  ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแม่ครัวฝีมือเยี่ยม มาปรุงอาหารในการรับเสด็จ จนได้รับคำชมเชยจาก รัชกาลที่ 5 จึงเป็นต้นกำเนิดของคำว่า แม่ครัวหัวป่า  ส่วนอาหารที่ขึ้นชื่อของเมืองสิงห์ นี้ก็ต้องยกให้กับอาหารประเภทปลาน้ำจืดต่างๆ โดยเฉพาะปลาช่อน ที่เรารู้จักกันในชื่อ แม่ลาปลาเผา ว่ากันว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาช่อนจากลำน้ำแม่ลา มีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่นๆ ก็เพราะว่า ดินตะกอนในลำน้ำแม่ลานี้นั้น มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ  และความอุดมสมบูรณ์ของพืชผักต่างๆ ในลำน้ำแม่ลามีอยู่อย่างมากมาย จึงส่งผลให้ปลาในสายน้ำนี้ มีรสชาติที่แตกต่าง เห็นไหมล่ะครับว่า เมืองสิงห์บุรีนี้แม้จะเป็นเพียงเมืองเล็ก แต่มีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย มื้อค่ำมื้อนี้ของผมจึงอิ่มเอมเปรมปรีดิ์อย่างที่สุด 

     นอกจากอาหารจะอร่อยอย่างถึงเครื่องโดยฝีมือพี่ๆ น้าๆ ป้าๆ แล้ว หมู่บ้านท่าข้ามใต้ เขายังมีการแสดงรำโทนให้ดูอีกด้วย ทางหัวหน้าหมู่บ้านฝากบอกมาด้วยครับว่า หากนักท่องเที่ยวมากันเป็นหมู่คณะ มากๆ ก็สามารถแจ้งความจำนงมาได้ครับว่าอยากจะชมการแสดงด้วย เรื่องค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง เพราะทางหมู่บ้านไม่ได้มุ่งหวังหากำไรอะไร นอกจากต้องการอยากจะให้ชาวบ้านมีรายได้บ้างเท่านั้น 
    และมุ่งหวังที่จะให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ตัวอย่างที่ดีอีกหมู่บ้านหนึ่งของประเทศไทย ที่สำคัญคือความประทับใจ เรื่องนี้ผมยืนยันได้ครับ ความสนุกสนานของชาวบ้านที่ได้ให้น้ำใจ แก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน นั้นเป็นภาพประทับใจที่ผมจะจดจำไปอีกนานแสนนาน 
     โปรแกรมทัวร์สุขภาพ จ.สิงห์บุรี ที่จัดทำขึ้นโดย โรงพยาบาลค่ายบางระจัน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลาง เขต 7  ที่ผมได้มีโอกาสเดินทางมาเที่ยวชม ได้มาตรวจสุขภาพ ได้สัมผัสกับกลิ่นอายความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ และอาหารการกินที่ปราศจากสารพิษในครั้งนี้  ถือเป็นการเดินทางท่องเที่ยว ที่ทำให้ผมได้ตระหนักถึงสุขภาพของตัวเอง ทั้งที่เมื่อก่อนผมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเลย
     คืนนี้ก่อนที่ผมจะหลับ สายลมที่พัดจากแม่น้ำน้อยผ่านเข้ามาทางหน้าต่าง ผมรู้สึกเย็นสบายโดยไม่ต้องเปิดพัดลม ผมคิดถึงผู้ที่อยู่ที่บ้านที่เป็นที่เคารพรักของผม ท่านทั้งสองอายุเพิ่มขึ้นมากแล้ว ควรจะได้ท่องเที่ยวในโปรแกรมสุขภาพอย่างนี้บ้าง ผมสัญญากับตัวเองอย่างเงียบๆ ว่าต้องหาโอกาสพาท่านทั้งสองมาบ้าง 

    เรื่องราวในแดนดินถิ่นวีรชนคนกล้ายังมีอีกหลายแง่มุม ผมอยากให้ท่านเดินทางมาสัมผัส ค้นหาด้วยตนเอง แล้วท่านจะรู้ว่าสิ่งที่ผมนำมาเล่าให้ฟังนี้นั้น ไม่ได้เกินเลยความจริงไปแม้แต่น้อย บ๊ายบาย....

นุ บางบ่อ ... เรื่อง / ภาพ

ค่าใข้จ่าย ค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ - ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี เป็นเงิน 280 บาท / ท่าน - ผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เป็นเงิน 740 บาท / ท่าน - ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม และการเกษตร และการนวดฝ่าเท้า เป็นเงิน 870 บาท / ท่าน - ค่าที่พัก Home Stay พักค้างคืนพร้อมอาหาร 2 มื้อ 300 บาท - การจัดรายการ ทัวร์สุขภาพจัดให้เป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ 10 ท่านขึ้นไป  - สำหรับค่าใช้จ่ายในข้อที่ 1 ข้าราชการ / พนักงานรัฐ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ ใช้สิทธิ์เบิกได้ ตามระเบียบของราชการ 

รวมค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป 1,910 บาท  /อายุต่ำกว่า 35 ปี 1,450 บาท 

สิ่งที่ท่านจะได้รับ 1. การตรวจสุขภาพ และอาหารเช้า 1 มื้อ 2. อาหารกลางวัน 1 มื้อ (ข้าวห่อใบบัว) 3. อาหารว่าง น้ำผลไม้ 1 มื้อ 4. น้ำดื่มระหว่างการเดินทาง 5. รถ รับ ส่งจากโรงพยาบาลค่ายบางระจัน ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวตามกำหนด 6. มัคคุเทศก์ของโรงพยาบาลค่ายบางระจัน ตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว 7. พักค้างคืนแบบ Home Stay 8. อาหารเย็น 1 มื้อ และอาหารเช้า 1 มื้อ 

สนใจสอบถามรายละเอียด และจองทัวร์สุขภาพได้ที่  โรงพยาบาลค่ายบางระจัน โทร. 0-3659-7041 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลาง เขต 7 จ.ลพบุรี  โทร. 0-3642-2768 

ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 แยกเข้าถนนหมายเลข 32 (ถนน สายเอเชีย) ผ่านจังหวัดพระ- นครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง จนถึงจังหวัดสิงห์บุรี ระยะทางประมาณ 142 กิโลเมตร เส้นทางที่ 3 จากทางหลวงหมายเลข 1 แยกเข้าถนนหมายเลข 32 (ถนน สายเอเชีย) ผ่านจังหวัดพระ- นครศรีอยุธยา และเดินทางต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 309 จะผ่านตัวเมืองจังหวัดอ่างทอง และตรงไปจนถึง จังหวัดสิงห์บุรี ระยะทางประมาณ 140 กิโลเมตร 

ทางรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารธรรมดา มีรถออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต) ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 5.00 - 16.00 น.  รถโดยสารปรับอากาศ มีรถเอกชนวิ่งบริการ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ออกเดินทางทุกวัน ตั้งแต่เวลา 5.00 น.  ขอขอบคุณ / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โรงพยาบาลค่ายบางระจัน โทร. 0-3659-7041 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภาคกลาง เขต 7จ.ลพบุรี  โทร. 0-3642-2768 คุณสมจิตร์ กองแก้ว (พี่เล็ก) บ้านกองแก้ว เลขที่ 10 หมู่ 5 ต.ท่าข้าม อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี   โทร. 0-3653-5478 ป้าเป้า บ้านพักแบบโฮมสเตย์  หมู่ 5 ต.ท่าข้ามใต้ อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี และน้ำใจไมตรีจากชาวอำเภอค่ายบางระจันทุกๆ ท่าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook