สำรวจปิดอ่าวไทย ตอนที่ 1
สำรวจปิดอ่าวไทย ตอนที่ 1 โดย...นุ บางบ่อ 6/06/02 กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับ กับเที่ยวผจญภัยกับนุ บางบ่อ หลังจากที่เงียบหายไปเสียนาน วันนี้ผมก็มีเรื่องท่องเที่ยวทางภาคใต้มาเล่าสู่กันฟัง สำหรับเรื่องที่นำลงครั้งนี้จะนำลงเป็นสองตอนครับ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า สำรวจปิดอ่าวไทย ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 งง..งง..กันละซิว่าปิดอ่าวคืออะไร? ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำนี้ผมเองก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน แต่รับรองว่าถ้าอ่านครบทั้งสองตอน ต้องหายงงกันแน่ๆ ครับ ; > เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 45 ที่ผ่านมาสายฝนเริ่มโปรยปรายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ส่งผลให้พืชไร่ของเกษตรกรเจริญงอกงามเมื่อยามได้น้ำ เมื่อมองไปทางไหนก็เห็นต้นไม้เขียวขจีสีสดตลอดสองข้างทาง ความจริงในช่วงนั้นน่าจะเป็นปลายฤดูร้อน แต่ดูเหมือนฤดูฝนปีนี้มาเร็วกว่าที่เคย เป็นที่รู้กันว่านอกจากฤดูร้อนแล้ว ทะเลเมืองไทยจะค่อนข้างเงียบสงบ ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมาตากแดดตากลมกันสักเท่าไรนัก ยิ่งย่างเข้าฤดูฝนอย่างนี้ การเที่ยวทะเลเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง.. แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ กลุ่ม (เท่าที่เคยได้ยินมา) ที่ชอบไปเที่ยวในช่วงที่คนส่วนใหญ่เขาไม่ไปกัน โดยมีเหตุผลว่า ไม่ชอบไปไหนที่คนเยอะ คนเยอะวุ่นวาย ไม่เป็นส่วนตัว คนเยอะ ต้องแย่งกันกิน แย่งกันเที่ยว และอีกหลายเหตุผล สำหรับผมแล้วการเดินทางช่วงต้นฤดูฝนครั้งนี้ ซึ่งมีจุดหมายอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ยอมรับเลยครับว่าตอนนั้นตื่นเต้นน่าดู เพราะในช่วงสัปดาห์นั้นข่าวพายุลูกเล็กลูกใหญ่ที่พัดผ่านเข้ามาได้ถูกนำเสนออยู่เกือบทุกวัน ครั้นจะยกเลิกแผนการเดินทางก็อายนายสบาย และลุงจิ๊บ เดี๋ยวจะหาว่า นุ บางบ่อ ปอด ก่อนเดินทางไป จ.สุราษฎร์ ผมได้ติดต่อเพื่อนคนหนึ่งที่มีอาชีพต้องเดินทางไป จ.สุราษฎร์ บ่อยๆ เพื่อขออาศัยติดรถไปด้วย (ประหยัด) ซึ่งก็ไม่มีปัญหาขัดข้องอะไร เพียงแต่ต้องนั่งทนฟังเรื่องที่เจ้าหล่อนพูดๆ ออกมาตลอดทาง และที่สำคัญต้องอดทนกับการปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะคุณเธอมีสไตล์การขับรถที่ไม่เหมือนใคร คือ คุณเธอจะเหยียบคันเร่ง แล้วก็ปล่อยคันเร่ง เหยียบๆ ปล่อยๆ ไปตลอดทาง ทำเอาเนวิเกเตอร์อย่างผมแทบจะเนรคุณ โดยการอาเจียรใส่รถของคุณเธอเสียหลายตลบ เฮ้อเข็ดๆ ที่ตัวจังหวัดสุราษฎร์ มีเพื่อนอีกคนหนึ่งมารอรับผมอยู่ก่อนแล้ว มนตรี เป็นชาวจังหวัดอยุธยา แต่มาปฏิบัติงานในสายงานของกรมประมง ตามแผนปฏิบัติงานควบคุมการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในช่วงของการสำรวจปิดอ่าวของทุกปี (ปีนี้ช่วงการปิดอ่าวตรงกับวันที่ 15 ก.พ. - 15 พ.ค. 45) และนี่คือเหตุผลในการมาของผม แต่ก็คงอีกสองสามวันกว่าคณะปฏิบัติงาน จะออกสำรวจหาผู้กระทำผิดที่ลักลอบจับปลาในเขตหวงห้าม เพราะเนื่องจากช่วงนี้ลมมรสุมกำลังพัดผ่านเข้ามาในเขตอ่าวไทย การออกสำรวจทางน้ำ และทางอากาศ จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่ออันตรายเป็นอย่างมาก เรื่องที่ผมจะติดสอยห้อยตามไปเก็บภาพจึงเป็นอันต้องเลื่อนออกไป แต่เวลาสองสามวันกับการรอคอยให้พายุสงบลงนี้ จะให้เที่ยวอยู่แต่ในเมืองสุราษฎร์ ก็ดูกระไรอยู่ เย็นวันนั้นเอง(วันที่ผมไปถึง) ตัดสินใจจองตั๋วเรือนอนจากท่าเรือบ้านดอน หน้าเมืองสุราษฏร์ มุ่งสู่เกาะเต่า ด้วยค่าเรือคนละ 300 บาท แลกกับการนอนฟังเสียงคลื่นเกือบ 8 ชม. (สมควรที่จะเป็นเรือนอนจริงๆ ) 5 ทุ่มตรง กับการก้าวขาสั่นๆ ลงเรือ โดยมีเสียงของชายวัยกลางคนกำลังพูดคุยถึงสภาพอากาศในคืนนี้กับผู้หญิงที่นั่งอยู่ที่โต๊ะขายตั๋ว ผมไม่อยากฟังเรื่องที่ชายคนนั้นพูด จึงรีบก้าวขาลงเรือไป ในใจคิดแต่เพียงว่าคืนนี้ห้ามหลับเพราะถ้าเรือเกิดล่มขึ้นมาจะหาทางออกไม่เจอ!!! เรือนอนมีลักษณะคล้ายกับเรือประมง หรือที่เราเรียกกันว่าเรือตังเกไม่ผิดเพี้ยน ถูกแบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นล่างจะเป็นที่เก็บสัมภาระ เช่นน้ำดื่มที่ถูกสั่งซื้อจากบนเกาะ ข้าวสาร กระถางต้นไม้ตกแต่งรีสอร์ท อาหารสดอาหารแห้งต่างๆ ฯลฯ ชั้นบนจัดให้เป็นที่นอน โดยจะมีที่นอนเล็กๆ (เล็กมาก) วางเรียงกันเต็มพรืด ที่ข้างฝาเรือจะมีตัวเลขกำกับคล้ายกับเลขที่เบาะนั่งของรถโดยสาร แต่พอถึงเวลาเดินทางจริงแล้วถ้าใครได้ขึ้นบนเรือก่อนก็ได้จองก่อน มาทีหลังก็ต้องนอนตรงที่ว่างไม่มีคนจอง ใครจะถือตั๋วเลขที่อะไรไม่มีใครสน เรื่องนี้เด็กประจำเรือบอกกับผมว่า ถ้าจองตั๋วแล้วต้องขึ้นไปนั่งไปนอนบนที่นอนเลย ทำทีเป็นว่า ตรงนี้ฉันเป็นเจ้าของแล้วนะ ใครมาทีหลังต่อไปก็ไปหาที่อื่น หรือถ้าใครซื้อตั๋วแล้วเกิดอยากจะไปทำธุระอะไรที่อื่นก่อน ก็ต้องทิ้งสัมภาระไว้ที่ที่นอนแสดงความเป็นเจ้าของไว้ก่อนตั๋วไม่มีความหมาย (มีงี้ด้วย..ประเทศไทย) ผม และมนตรี ไม่บังอาจดูถูกมิจฉาชีพด้วยการวางสัมภาระล่อใจไว้ ไปไหนก็ต้องแบกไปด้วยทุกที่ไป คืนนี้บนเรือนอนสู่เกาะเต่าจึงได้ที่นอนที่แสนอบอุ่น ตลบอบอวนไปด้วยกลิ่นไอถุงเท้า รองเท้า และปลายเท้า ทั้งหญิงชายหลากคู่หลายสี ต่างชี้เข้าหาร่างอันแสน.ของผม และมนตรี ที่อยู่ใจกลางห้องนอนชั้นสองของเรือ.. แต่ต้องขอชม (หลังจากติมาพอสมควร) เรือที่นี่ออกจากท่าเรือหน้าเมืองสุราษฎร์ ค่อนข้างตรงเวลา ไม่มีการเดินหน้าถอยหลังยึกๆ ยักๆ เหมือนรถโดยสารต่างจังหวัดที่รอคนโดยสารให้เต็มแล้วจึงค่อยออก สองชั่วโมงผ่านไป ทะเลเวิ้งว้างเสียงคลื่นกระทบลำเรือเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ไม่ค่อยมีเรือหาปลาเหมือนฤดูอื่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงการปิดอ่าว เป็นฤดูที่ปลาหลายชนิดวางไข่ ชาวประมงจึงออกหาปลากันน้อยกว่าปกติ เพราะเจ้าหน้าที่จะเข้าจับกุมทันทีหากพบผู้ที่ลักลอบหาปลาในพื้นที่หวงห้าม ท้องฟ้าที่มืดสนิทช่างสร้างความน่ากลัวให้แก่ผม และอีกหลายคนบนเรือที่ยังนอนไม่หลับ นับได้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ผมได้วิงวอนถึงเมื่อคืน ได้แสดงพลังให้ผมได้ศรัทธาและเชื่อมั่นมากขึ้น เมื่อเรือนอนหวานเย็นได้นำพาผมมาถึงเกาะเต่า ในตอนเจ็ดโมงของวันรุ่งขึ้นโดยสวัสดิภาพ เช้าวันนี้อากาศแจ่มใสถึงแม้จะมีฝนโปรยปรายก็ดูเหมือนกับธรรมชาติที่นี่กำลังต้อนรับ ด้วยการจะอาบน้ำให้แก่เราเมื่อย่างก้าวขึ้นสู่เกาะ (คงไม่ได้หมายความถึงผมสกปรก จนอยากจะให้อาบน้ำเสียก่อนหรอกนะ) วันนี้เกาะเต่าค่อนข้างเงียบสงบ ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก ที่พักค่อนข้างหาง่าย เมื่อมองไปบนเขายังเห็นต้นไม้ใหญ่น้อยหนาตา ทะเลใสสะอาดเหมาะกับการมาเที่ยวพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง ผมเลือก Koh Tao Cottage Resort แถวหาดโฉลกบ้านเก่าเป็นที่พัก (เดี๋ยวสัปดาห์หน้าเราจะมารู้จักที่นี่กันให้มากขึ้น) วันนี้จะออกไปไหนก็ค่อนข้างลำบาก ฝนที่ตกพรำอยู่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดง่ายๆ เลยมีเวลานั่งชมนอนชมบรรยากาศที่พักของ Koh Tao Cottage Resort อยู่ทั้งวัน โชคดีที่ได้ห้องพักอยู่บนเขา ทำให้มองเห็นวิวทะเล ด้านหน้าของรีสอร์ทมีเรือเล็กจอดโยกเยกตามแรงคลื่นอยู่หน้าหาด บรรยากาศตอนฝนตกเช่นนี้มันช่างชวนให้คิดถึงเสียจริง จะว่าไปแล้วมีเรื่องเล่ากันว่า ในอดีตเกาะเต่านี้เคยถูกใช้เป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมือง เช่นเดียวกับเกาะตะรุเตา ไม่ค่อยมีกล้าเดินทางผ่านมาทางนี้มากนัก ต่อมาในปัจจุบันเกาะเต่ามีฐานะเป็นตำบลๆ หนึ่งของ อ.เกาะพงัน มีพื้นที่แบ่งเป็นเกาะสองเกาะ คือ เกาะเต่า และ เกาะนางยวน (เกาะนี้แหละที่นักท่องเที่ยวนิยมไปดำน้ำกัน) ภูมิประเทศทั่วๆ ไปของเกาะเต่าเป็นภูเขาสูงๆ ต่ำๆ มีชายหาดเว้าๆ แหว่งๆ ซึ่งบางคนอาจจะเรียกว่าอ่าว อยู่ประมาณ 11 แห่ง และมีแนวประการังที่สวยงามยาวถึง 8 กม. ตรงนี้เองที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้มาเยือนดินแดนสวรรค์ใต้ทะเลแห่งนี้เป็นประจำทุกปีในฤดูท่องเที่ยวทะเล เกาะพงัน เกาะสมุย หลังจากเมื่อคืนนอนหลับพักผ่อนอย่างสบายที่บ้านพักบนเขา เช้าวันนี้เป็นวันที่ต้องเดินทางไปยังเกาะพงัน และต่อไปยังเกาะสมุย เพื่อเดินทางกลับ จ.สุราษฎร์ธานี การมาเที่ยวครั้งนี้จึงเสมือนนั่งเรือเที่ยวชมเกาะถึงสามเกาะภายในเวลาสองวัน โปรแกรมของวันนี้จึงต้องอยู่บนเรือทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยมีการขึ้นฝั่งที่เกาะพงันเพื่อเปลี่ยนเรือ เช้านี้ข่าวคราวเรื่องลมมรสุมยังไม่จางหาย แถวๆ ท่าเรือเกาะเต่าพ่อค้าแม่ค้ายังคงคุยกันถึงเรื่องนี้อยู่ นักท่องเที่ยวหลายคนมองออกไปที่ทะเล เห็นคลื่นพริ้วตามแรงลมเป็นสันคลื่นสีขาว มนตรี เพื่อนที่เดินทางมาด้วยกัน บอกว่า " บางคนเขาเรียกว่าคลื่นหัวหงอก ถ้าชายฝั่งเห็นคลื่นแบบนี้แสดงว่า ในทะเลไกลโพ้นโน่นคลื่นลมจ้ามาในสมองอีกครั้ง แต่เมื่อมองไปที่เรือ ก็ได้คำปลอบใจตัวเองว่า เรือลำนี้ราคาก็คงหลายล้านอยู่ ไต๋ก๋งเขาคงไม่ปล่อยให้มันจมลงง่ายๆ หรอกน่า นี่เป็นคำปลอบใจที่ดีที่สุดในตอนนั้น เรือลำนี้ไม่ใหญ่มากนัก มีที่นั่งโดยสารได้ประมาณ 70 ที่นั่ง และมีชั้นบน (ดาดฟ้า) ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้นั่งชมวิวอาบแดดกัน ด้วยสีผิวที่ดูเหมือนอาบแดดมาตั้งแต่เด็กของผม จึงตัดสินใจลงไปนั่งโดยสารอยู่ชั้นล่างดีกว่า เรือออกจากท่าอย่างช้าๆ และก็เพิ่มความเร็วขึ้นในเวลาต่อมา เกาะเต่าที่อยู่เบื้องหลังค่อยมีขนาดเล็กลงๆ จนผมไม่สามารถมองเห็นอะไรอะไรบนเกาะได้ชัดทั้งที่เป็นเวลาเกือบเที่ยงวัน... คลื่นลมเริ่มแรงขึ้นๆ เหมือนอย่างที่โจทย์กันบนฝั่ง บางครั้งที่เจอคลื่นใหญ่หัวเรือก็ทะยานขึ้นสูง ราวกับรถมอเตอร์ไซด์วิบากเจอเนินเหิร แล้วก็ตกลงมากระแทกกับผิวน้ำดังสนั่น ขณะเดียวกันท้องฟ้าที่ใสกลางทะเล ก็มีฝนตกลงมาอย่างไม่น่าที่จะตกได้ นักท่องเที่ยวที่นั่งอยู่บนดาดฟ้าต่างรีบวิ่งกันลงมาหาที่นั่งกันวุ่นวาย นอกหน้าต่างตอนนี้มองไม่เห็นอะไรนอกจากน้ำฝน และน้ำทะเลที่กระเซ็นด้วยแรงคลื่น เสียงของไม้แผ่นใหญ่ที่นำมาต่อกันเป็นฝาเรือ (หรือที่เขาเรียกกันว่ากาบเรือ อันนี้ผมไม่แน่ใจ) เสียดสีกันดังเอี๊ยดอ๊าดๆ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นมีน้ำเล็ดลอดเข้ามา ผสานกับเสียงของท้องเรือตกกระแทกกับผิวน้ำเมื่อยามเจอคลื่นใหญ่ มันช่างเป็นเสียงที่น่ากลัวเสียจริง ในยามนี้ชูชีพสีแดงหลายอันที่วางอยู่บนชั้นวางของ เริ่มถูกจับตามองโดยผู้โดยสารหลายคน ซึ่งรวมทั้งผมด้วย... ผมเริ่มอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายอีกครั้ง... เกือบสองชั่วโมงผมเริ่มเห็นเกาะพงันชัดเจนขึ้น ฝนและลมที่กระหน่ำเริ่มเบาบางเหมือนส่งเราถึงที่หมาย เกาะพงันมีธรรมชาติโดยรวมเหมือนเกาะเต่า เรือเข้าเทียบท่าให้ผู้โดยสารที่ต้องการไปเกาะสมุย และ จ.สุราษฏร์ ได้เปลี่ยนไปลงเรือลำใหม่ของบริษัทส่งเสริม ผมไม่ได้ขึ้นไปสัมผัสเกาะพงัน เพราะเรือลำใหม่ก็ได้เวลาออกเดินทางพอดี เกาะพงันวันนี้ไม่แตกต่างจากเมื่อสองปีที่ผ่านมามากนัก ในตอนนั้นผมได้มาเกาะพงันเป็นครั้งแรก และรู้สึกประทับใจกับธรรมชาติของเกาะแห่งนี้ รวมไปถึงมีเหตุการณ์ที่ประทับใจอยู่สองสามเรื่องอันได้แก่ รถไหลถอยหลังลงเขาโดยไม่มีคนขับ รถมอเตอร์ไซต์คว่ำที่อ่าวท้องนายปาน และเทศกาลฟูลมูลปาร์ตี้ที่หาดริ้น ลองคลิกเข้าไปชมกันนะครับ นั่นคือเรื่องราวสนุกๆ หวาดเสียวเมื่อสองปีที่แล้ว เกาะพงัน เกาะสมุย สุราษฏร์ จากตรงนี้ไปเกาะสมุย ถึง จ.สุราษฎร์ ไม่มีเรื่องตื่นเต้นมาเล่าแล้วหละ ช่วงนี้เป็นเส้นทางสบายๆ ไม่มีคลื่นลมมากนัก และเรือลำใหม่ก็ใหญ่กว่าเดิม (ปล่อยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านได้พักผ่อนบ้าง) ผมนั่งมองท้องฟ้ากับทะเล ด้วยความรู้สึกโหยหิว (หิวข้าว) เพราะตั้งแต่เช้าในกระเพาะก็มีแค่ผัดกระเพราหมูไข่ดาว จากเกาะเต่าจานเดียวเท่านั้นเอง ถึง จ.สุราษฎร์ ในตอนเย็นผมรีบจัดการให้ความหิวหายไปจากตัวผม จากนั้นก็รีบเข้าที่พักเพื่อพักผ่อนนอนหลับ และคิดถึงถึงเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ วันที่ติดออกไปสำรวจอ่าวกับเจ้าหน้าที่ของกรมประมง คอยติดตามกันนะครับรับรองว่ามีภาพในมุมมองแปลกๆ มาให้ชมกัน นุ บางบ่อ ทุกภาพสามารถคลิกให้เป็นภาพใหญ่ได้ครับ
|
ภาพซ้าย : ระหว่างเดินทางสู่ จ.สุราษฏร์ ตอนนี้เริ่มปวดหัวบ้างแล้ว
ภาพขวา : ท่าเรือนอนบ้านดอน - เกาะเต่า ที่โต๊ะขายตั๋วกำลังคุยกันถึงคลื่นลมคืนนี้ |
||
ภาพซ้าย : นักท่องเที่ยวนั่งร้องเพลงแก้เหงาก่อนเรือออก
ภาพขวา : สภาพเรือนอน ใครมาก่อนก็ได้จองที่นอนก่อน |
||
ภาพซ้าย : ต้องนอนเบียดกันราวกับคุ้นเคยกันมานาน ส่วนผมนอนตรงกลางเลย..อบอุ่น..
ภาพขวา : เช้าตรู่ที่เกาะเต่า |
||
ภาพซ้าย : เรือจอดที่เกาะเต่า
ภาพขวา : ช่วงนี้กิจกรรมดำน้ำค่อนข้างเงียบเหงา เพราะนักท่องเที่ยวน้อย |
||
ภาพซ้าย : ธรรมชาติป่าไม้ยังคงสมบูรณ์
ภาพขวา : บ้านบนเขาของ Koh Tao Cottage Resort |
||
ภาพซ้าย : เล่นน้ำยามบ่าย
ภาพขวา : บริเวณหน้า Koh Tao Cottage Resort |
||
ภาพซ้าย และขวา : ท่าเรือเกาะเต่าของบริษัทส่งเสริม | ||
ภาพซ้าย : คลื่นหัวหงอก จะเห็นเป็นริ้วขาวๆ
ภาพขวา : นักท่องเที่ยวเตรียมลงเรือ |
||
ภาพซ้าย : ค่อยๆ ทยอยกันลงเรือร่วมเดินทางฝ่ามรสุม
ภาพขวา : ฟ้าเริ่มมืดครึ้มหลังจากออกเกาะเต่าได้สักพัก |
||
ภาพซ้าย : นักท่องเที่ยวหนีฝนลงมาจากดาดฟ้า
ภาพขวา : ถึงเกาะพงันฟ้าฝนเริ่มจางหาย ท้องฟ้าสดใสอีกครั้ง |
||
ภาพซ้าย : อาบแดดบนดาดฟ้า กิจกรรมสุดโปรดของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ภาพขวา : เปลี่ยนเรือ เพื่อเดินทางต่อที่เกาะพงัน |
คิดจะเที่ยว ซื้อแพ็กเกจทัวร์ อุปกรณ์ท่องเที่ยว คลิก ENNXO