สำรวจปิดอ่าวไทย ตอนที่ 2
สำรวจปิดอ่าวไทย ตอนที่ 2 โดย...นุ บางบ่อ 18/06/02 วันนี้ผมต้องตื่นแต่เช้าตรู่ เพราะมีนัดสำคัญกับคณะปฏิบัติการสำรวจปิดอ่าวไทย จากกรมประมง หากใครได้อ่านสำรวจปิดอ่าวไทยตอนที่แล้ว คงได้เห็นภาพตัวอย่างที่ผมได้นำลงไว้สามภาพ เป็นภาพเครื่องบินเล็กที่จอดอยู่ในสนามบินสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการชั่วคราว ของคณะสำรวจฯ แน่นอนครับ เมื่อขึ้นภาพตัวอย่างเอาไว้อย่างนั้น วันนี้ตอนที่สองก็ขอนำเรื่องราวการสำรวจการปิดอ่าวไทย ของกรมประมง โดยใช้เครื่องบินเล็กบินสำรวจ เราไปชมการทำงานของคณะทำงานชุดนี้กันดีกว่าครับว่า เขาสำรวจอะไร และสำรวจไปเพื่ออะไรกัน จากปัญหาการลักลอบจับปลาในเขตพื้นที่หวงห้าม และการลักลอบจับปลาในฤดูที่ปลาหลายชนิดวางไข่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และปัญหาการสูญเสียทรัพยากรทางทะเลทางด้านอ่าวไทยเป็นอย่างมาก กรมประมงจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการทำแผนปฏิบัติงานควบคุมการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเล โดยได้จัดส่งเจ้าหน้าที่คณะสำรวจฯ มาปฏิบัติงานยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยใช้เครื่องบินเล็ก แบบ C 208 (CARAVAN) ออกบินสำรวจในเขตพื้นที่หวงห้ามทุกวันของช่วงระยะเวลาการปิดอ่าว คือตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 15 พ.ค. ของทุกปี คณะสำรวจฯ จะทำการบินสำรวจพื้นที่กว่า 26,400 ตร.กม. ในท้องที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ , จ.ชุมพร , จ.สุราษฏร์ธานี , จ.นครศรีธรรมราช โดยจะใช้เวลาวันละประมาณ 3 ชม. และหากพบผู้กระทำผิด คณะสำรวจก็จะประสานงานไปยังเรือตรวจประมงทะเล ซึ่งพร้อมจะออกปฏิบัติการได้ทุกเวลาเมื่อได้รับการรายงานจากหน่วยบิน เพื่อดำเนินการตรวจจับต่อไป นับได้ว่าการใช้เครื่องบินเล็กบินสำรวจพื้นที่นั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทีเดียว เนื่องจากเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้เกิดความรวดเร็ว และได้พื้นที่กว้างไกลมากขึ้น ทำให้ผู้ลักลอบการทำประมงในช่วงฤดูปิดอ่าว ไม่กล้านำเรือออกจับปลาในเขตพื้นที่หวงห้ามดังกล่าว และวันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่คณะสำรวจได้ออกบินตรวจพื้นที่ จากสนามบินสุราษฏร์ธานีซึ่งใช้เป็นฐานปฏิบัติการชั่วคราว เจ้าหน้าที่คณะสำรวจฯ จากกรมประมง ในเครื่องแบบสีน้ำเงินเข้มดูคล้ายเครื่องแบบของทหารอากาศ เตรียมพร้อมขึ้นเครื่องเพื่อปฏิบัติงานดั่งเช่นทุกวัน แต่สำหรับผมแล้ววันนี้โชคไม่เข้าข้างเอาเสียเลย ท้องฟ้าไม่ค่อยแจ่มใสเท่าที่น่าจะเป็น ความกังวนเกี่ยวกับภาพที่จะออกมาเริ่มเข้ามาก่อกวนใจอีกครั้ง หลังจากช่างเครื่องและนักบินตรวจเช็คเจ้า C 208 เรียบร้อยแล้ว เสียงใบบัดอันใหญ่หมุนจากช้าและเร็วขึ้นตีลมอยู่ตรงหน้า ส่งผลให้ลำตัวเจ้า C 208 สั่นตามไปด้วยเล็กน้อย ไม่กี่นาทีต่อมาเจ้า C 208 ก็เชิดหน้าพาเราทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าท่ามกลางความอ้างว้าง และสิ่งต่างๆ ที่ผมมองลงไปก็เริ่มเล็กลงๆ จากตัวเมืองสุราษฎร์ นักบินพาคณะสำรวจออกไปทางปากอ่าว แล้วมุ่งหน้าสู่ จ.ชุมพร และ จ.ประจวบฯ ตามแผนการบินที่ได้วางไว้ ทิวทัศน์ทะเลตั้งแต่ จ.สุราษฎร์ ถึง จ.ประจวบฯ สวยงามมาก มีเกาะเล็กเกาะน้อยที่ไม่ห่างจากฝั่งมากนักอยู่หลายเกาะ ผมรีบถ่ายภาพเก็บไว้ ด้วยความหวังว่าสักวันคงมีโอกาสได้สัมผัสกับเกาะที่งดงาม และเงียบสงบบริเวณนี้บ้าง ระหว่างทางคณะสำรวจได้ทำการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเรือประมงที่พบ ส่วนผมก็ยังคงเพลิดเพลินกับการถ่ายภาพทิวทัศน์เบื้องล่างต่อไป ถึง อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ จุดสิ้นสุดการบินในเส้นทางทิศเหนือ นักบินพาเราออกสู่อ่าวไทยอีกครั้ง โดยบินตัดตรงมายังบริเวณเกาะเต่า และเกาะพะงัน และต่อมายังหมู่เกาะอ่างทอง ทำให้ผมคิดถึงเรื่องราวตื่นเต้นเมื่อวานที่ได้นั่งเรือผ่านมา สามชั่วโมงเต็มกับการสำรวจอ่าวไทย นอกจากจะทำให้ผมได้เก็บภาพความความงดงามของทะเลอ่าวไทยไว้ได้อย่างมากมายแล้ว ยังทำให้ผมได้เห็นภาพการทำงานของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ปฏิบัติหน้าที่บนความเสี่ยงต่ออันตราย เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลให้คงอยู่สืบไป บ่ายวันนี้การเดินทางท่องทะเลอ่าวไทยในทริปนี้กำลังจะสิ้นสุดลง ผมเดินทางกลับเข้าสู่ตัวเมืองสุราษฎร์ เพื่อจองตั๋วรถทัวร์เที่ยวสุดท้ายของวันนี้ในการเดินทางกลับ และอีกสองวันก็เช่นเดียวกัน คณะสำรวจอ่าวไทยที่ได้มาใช้ชีวิตกว่าสามเดือนในเมืองร้อยเกาะแห่งนี้ ก็จะได้เดินทางกลับบ้าน และปฏิบัติงานในด้านอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายต่อไป กว่าจะกลับมาที่นี่อีกก็คงเป็นปีหน้าในช่วงของการปิดอ่าวไทยอีกครั้ง ระหว่างทางเดินทางกลับ บนรถทัวร์ที่เงียบสงบ นอกหน้าต่างที่มืดมิดไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก ผมเผลอคิดไปว่า หากไม่มีการปิดอ่าวแล้ว ทะเลอ่าวไทยที่สวยงามแห่งนี้ ยังคงจะเหลืออะไรอยู่บ้าง..ZzZzZz ............................................................................................ ขอขอบคุณ นายพิทยา ดิลกคุณากุล เจ้าหน้าที่บริหารงานประมง 6 หัวหน้าชุดปฏิบัติการ สังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง จ่าเอกธเนศ มั่นน้อย เจ้าหน้าที่บริหารงานประมง 6 สังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง จ่าเอกมนตรี หามนตรี เจ้าหน้าที่สื่อสาร 4 สังกัดกองอนุรักษ์ทรัพยากรประมง กรมประมง |
ภาพซ้าย : เรือประมงจอดพักในตัวเมืองสุราษฎร์
ภาพขวา : อุปกรณ์สื่อสารภายในเรือปฏิบัติการ |
||
ภาพซ้าย : เรือเล็ก สำหรับภาระกิจที่เร่งด่วน
ภาพขวา : สนามบินสุราษฎร์ ฐานปฏิบัติการชั่วคราว |
||
ภาพซ้าย : ชาร์จแบตเตอรี่
ภาพขวา : C - 208 (CARAVAN) พร้อมออกบิน |
||
ภาพซ้าย และขวา : ทิวทัศน์เมื่อบินออกจากตัวเมืองสุราษฎร์ | ||
ภาพซ้าย : ชายฝั่ง จ.สุราษฏร์
ภาพขวา : ฟ้าเริ่มมืดครึ้มเมื่ออกบินได้สักพัก |
||
ภาพซ้าย : เกาะเล็กๆ ในเขต จ.ชุมพร
ภาพขวา : เก็บภาพเพื่อเป็นข้อมูลให้แก่หน่วยเรือ |
||
ภาพซ้าย : เรือประมงกำลังลากอวนในเขตพื้นที่หวงห้าม
ภาพขวา : แปลงนากุ้ง |
||
ภาพซ้าย : เกาะๆ หนึ่งมีลักษณะรูปร่างคล้ายจรเข้ อยู่ในเขต จ.ชุมพร
ภาพขวา : บรรยากาศภายในเครื่อง |
||
ภาพซ้าย และขวา : บริเวณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ | ||
ภาพซ้าย : หัวหน้าชุดปฏิบัติการกำลังปรึกษากับนักบิน ให้บินวนดูรายละเอียดใน จ.ประจวบฯ อีกรอบ
ภาพขวา : เรือประมงจอดพักหลบลมหลังเขา |
||
ภาพซ้าย และขวา : เกาะเล็กๆ มากมายตั้งแต่ จ.ชุมพร ถึง จ.ประจวบฯ | ||
ภาพซ้าย : เก็บภาพเพื่อเป็นข้อมูลการปฏิบัติงาน
ภาพขวา : คลื่นหัวหงอก ว่ากันว่าถ้าเห็นคลื่นแบบนี้ที่ชายฝั่ง แสดงว่าในทะเลจะมีคลื่นแรง |
||
ภาพซ้าย : เรือประมงจอดทอดสมอ
ภาพขวา : สองนักบินทำการบินเกือบทุกวัน วันละประมาณ 3 ชั่วโมง |
||
ภาพซ้าย : เรือประมงกำลังจอดพักอยู่ด้วยกันสองลำ
ภาพขวา : เกาะเต่า |
||
ภาพซ้าย : ถ่ายภาพเกาะเต่าผ่านหน้าต่าง
ภาพขวา : หนึ่งในหมู่เกาะอ่างทอง |
||
ภาพซ้าย : หมู่เกาะอ่างทอง น่าเสียดายที่วันนี้ท้องฟ้าไม่ค่อยใสเท่าไร
ภาพขวา : ภาพนี้เห็นสังเกตดีๆ จะเห็นทะเลใน จุดเด่นของหมู่เกาะอ่างทอง |
||
ภาพซ้าย : เก็บอุปกรณ์หลังเสร็จสิ้นภาระกิจอย่างปลอดภัย
ภาพขวา : ภาพนี้ผมขอแจมเป็นระลึกก่อนกลับภาพนึงนะครับ...อิอิ.. : ) |
คิดจะเที่ยว ซื้อแพ็กเกจทัวร์ อุปกรณ์ท่องเที่ยว คลิก ENNXO