อุทัยธานี
อุทัยธานี
นุ บางบ่อ...เรื่อง / ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2550
อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ
ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดีหลายสิ่งหลายอย่างดูเหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่ บางอย่างก็ทรุดลง การเดินทางท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน หลายคนไม่ค่อยอยากออกจากบ้าน เพราะเกรงว่าจะเกิดค่าใช้จ่ายสู้เก็บเงินไว้ดีกว่า อนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน จากวันนี้มีกินมีใช้ วันพรุ่งนี้อาจไม่มีก็ได้ คิดๆ แล้วก็เหนื่อยเบื่อหน่ายมากกว่าเดิมเข้าไปอีก เพราะผมเองก็แอบคิดอย่างนี้อยู่เหมือนกัน
แต่ก็อย่างว่า คนที่ชอบการเดินทาง จะให้มานั่งๆ นอนๆ อยู่บ้านดูทีวีอ่านหนังสือก็รู้สึกร้อนระอุทั้งที่ทุกวันนี้ฝนตกพรำอยู่ทุกวัน จิตใจเริ่มกระสับกระส่ายร้อนรน สองเท้าเริ่มคันยิบๆ (ไม่ใช่ฮ่องกงฟูตนะครับ) อดทนต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว รีบเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าใบเก่า และรถคันเก่า ออกเดินทางไป จ.อุทัยธานี ดีกว่า เพราะพึ่งอ่านหนังสือท่องเที่ยวเล่มหนึ่งจบไป เขาเขียนถึงจังหวัดนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว ที่สำคัญ จ.อุทัยธานี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 222 กิโลเมตร เท่านั้น ค่าใช้จ่ายคงไม่มายเท่าไรนัก พลาดท่าจริงๆ ก็ยังมีเต้นท์ติดท้ายรถ ไปกางนอนที่ห้วยขาแข้ง ให้สบายอารมณ์
พูดถึงห้วยขาแข้งก็นึกถึงน้าสืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษแห่งพงไพร วันนั้นวันที่ 1 กันยายน 2533 วันที่ผมพึ่งได้รู้จัก และเป็นวันเดียวกันที่น้าสืบ ได้จากไป จากไปเพื่อปลุกทุกคนให้ตื่นตัวด้วยเสียงปืนเพียง 1 นัด ที่ปลิดชีพตัวเองเพื่อสรรพชีวิตในผืนป่าใหญ่ ซึ่งกำลังถูกกัดกร่อนร่อยหลอลดน้อยลงไปทุกวี่วัน...มันช่างเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกิน ผมขอสดุดีด้วยจิตคาราวะ
อุทัยธานี เมืองที่หลายคนชอบผ่านเลยไป ทั้งที่อุทัยธานี เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงรูปแบบการดำรงวิถีชีวิตที่ยังคงไว้แบบดั้งเดิม ด้วยการที่เป็นเมืองหลายคนชอบผ่านเลยไป น้อยคนนักจะตั้งใจแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมยล ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้วัฒนธรรมของผู้คนในเมืองนี้ได้ดำเนินไปด้วยความปกติสุขและสันติ
วันนี้ผมได้เดินทางแบบเจาะจงไปยังเมืองเงียบๆ เมืองนี้ ด้วยความหวังที่ว่า ความเงียบเหงาน่าจะทำให้เกิดสมาธิ และมุมมองใหม่ ที่อาจจะให้คำตอบกับบางเรื่องที่ผมยังลังเลใจอยู่ก็เป็นได้
ไหว้พระดังเมืองอุทัยธานี จุดแรกที่ผมได้แวะเที่ยวชมคือ การได้ไปนมัสการรูปเหมือนพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) ณ วัดจันทาราม หรือในอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ วัดท่าซุง วัดนี้เป็นวัดที่เก่า สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ |
จุดเด่นของวัดอยู่ที่วิหารแก้ว เป็นอาคารที่มีความวิจิตรตระการตา เสาทุกต้นประดับประดาด้วยแก้ว เมื่อยามกระทบกับแสงจะเป็นประกายระยิบ ว่ากันว่าวิหารนี้ได้สร้างตามนิมิตรของท่านหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ที่จำลองสวรรค์ลงมาให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ชื่นชม |
นอกจากวิหารแก้วแล้ว ภายในวัดยังมีปราสาททองคำ ซึ่งถือเป็นปราสาทที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ปัจจุบันปราสาทหลังนี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็สามารถเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปชมได้ในบริเวณชั้นล่างและภายนอกโดยรวม |
เขาสะแกกรัง จากวัดท่าซุง ขับรถย้อนเข้าไปในตัวเมืองอุทัย ผ่านเทศบาล ถึงแยกวงเวียนวิทยุ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามถนนท่าช้าง ไม่ไกลนักก็จะพบกับเขาสูงตั้งเด่นอยู่ตรงหน้าแลเห็นยอดมณฑปอยู่บนยอดเขา นี่แหละครับเขาสะแกกรัง ส่วนด้านล่างนั้นเป็นที่ตั้งของวัดสังกัสรัตนคีรี สองสถานที่นี้อยู่ใกล้ชิดติดกันเพียงมีถนนสายเล็กๆ คั่นกลางไว้เท่านั้นเอง |
ผมจอดรถแล้วยืนมองจากด้านล่างไปตามบันไดสู่ยอดเขาสะแกกรัง สูงเอาการอยู่ ชาวบ้านแถวนี้บอกว่าบันไดนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 449 ขั้น และตรงจุดนี้เองเป็นที่มาของภาพสวยๆ ในวันออกพรรษาของทุกปี (แรม 1 ค่ำ เดือน 11) ซึ่งจะมีพระสงฆ์นับร้อยรูปมาทำพิธีบนยอดเขาแห่งนี้ แล้วเดินลงมารับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชน เป็นทิวแถวยาวลงมา โดยเรียกกันว่าประเพณีตักบาตรเทโว เป็นภาพที่งดงามน่าประทับใจมาก |
ตอนแรกก็คิดว่าจะเดินขึ้นเขาสะแกกรัง เพื่อจะนับว่าบันไดสู่ยอดเขานี้ยังครบ 449 ขั้นอยู่หรือเปล่า แต่แดดที่แผดร้อนเอาการอยู่ทำให้ถอดใจเดินกลับเข้ารถ แล้วขับเลี้ยวลัดไปทางด้านหลังเขา ซึ่งมีทางขึ้นสู่ยอดได้อย่างสะดวก ด้วยระยะทางเพียง 4 กิโลเมตร ผมก็ได้ขึ้นมาสูดอากาศเย็นสบายบนยอดเขาและได้ชมทิวทัศน์เมืองอุทัยได้อย่างถนัดชัดเจน |
เขาสะแกกรัง เดิมเรียกกันว่า วัดเขาแก้ว เป็นเขาขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง เมื่อมองจากมุมไกลจะเห็นเป็นรูปร่างคล้ายกับสิงโตกำลังนอน ด้านบนยอดเขานี้มีมณฑปหลังใหญ่อยู่หนึ่งหลัง ภายในเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอุทัยธานี ด้านข้างของมณฑปทางทิศตะวันออก มีระฆังสัมฤทธิ์ใบใที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เขาเชื่อกันว่าเป็นระฆังที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ใครมาถึงยอดเขาต้องลองตีระฆังใบนี้ น่าสนใจครับ นานๆ จะได้เข้าวัดเข้าวา จุดธูปเทียนบูชารอยพระพุทธบาทจำลองเรียบร้อยแล้ว ออกมาตีระฆังให้เสียงก้องกังวาลไปไกลๆ ทั้งสนุกและก็ได้ความสบายใจ เวลามาเที่ยวเมืองอุทัยอย่าลืมมาที่นี่นะครับ วิวสวยจริงๆ |
ด้านหลังมณฑปยังมีพลับพลา และพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระราชบิดาของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้นราชวงศ์จักรีประดิษฐานอยู่ ตามประวัติเล่าสืบต่อกันว่า สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ทรงประสูติที่บ้านสะแกกรัง แล้วทรงรับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเจ้าบรมโกศ) ได้ดำรงตำแหน่ง พระอักษรสุนทร เสมียนตรากรมมหาดไทย ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระเจ้าเอกทัศ) ขณะนั้นพม่ายกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เกิดการระส่ำระสายแตกสามัคคีขึ้นในพระนคร จึงทรงอพยพครอบครัวไปรับราชการกับเจ้าเมืองพิษณุโลก และต่อมาทรงพระประชวร จนสิ้นพระชนม์ในเมืองพิษณุโลก |
เมืองอุทัยในทุกวันนี้จึงมีชื่อเรียกอย่างน่าภาคภูมิใจอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองพระชนกจักรี |
บ่ายคล้อยเสียงท้องร้องเตือนว่า ผมควรจะหาอาหารอร่อยๆ ลงกระเพาะได้แล้ว สอบถามจากชาวเมืองอุทัย ได้ความว่า ร้านที่มีเมนูปลาสดๆ เด็ดๆ ของเมืองอุทัย ต้องไปที่ร้านนกน้อย ร้านนี้ตั้งอยู่ริมน้ำสะแกกรัง ใกล้กับสะพานข้ามไปเกาะเทโพ หาไม่ยากครับถามใครก็รู้จัก |
นอกจากร้านอาหารนกน้อยแล้ว ในเมืองอุทัยธานี ก็ยังมีบริการเรือลำใหญ่ๆ ล่องลำน้ำสะแกกรัง ชมวิถีชีวิตของผู้คนที่อาอาศัยอยู่ในเรือนแพ และริมฝั่งน้ำ หากล่องตอนเย็นๆ ก็จะได้พบเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือ จะรับประทานมื้อเย็นในเรือด้วยก็มีให้บริการ |
แม่น้ำสะแกกรังสายนี้ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชาวจังหวัดอุทัยธานี ในปัจจุบันยังมีผู้คนที่อาศัยอยู่ในเรือนแพหน้าเมืองอุทัยหลายหลัง แต่ละหลังมีอาชีพทำการประมงเลี้ยงปลา ปลาที่เลี้ยงส่วนใหญ่ก็คือปลาแรด ซึ่งเป็นปลาน้ำจืด เนื้อของปลาแรดมีรสชาติอร่อย นำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย |
และยังถือเป็นปลาประจำจังหวัดอุทัยธานีอีกด้วย เรือนแพบางหลังได้เปิดบริการให้นักท่องเที่ยวได้มาพักในลักษณะโฮมสเตย์ ก็ได้บรรยากาศที่แปลกใหม่ ที่นับวันจะหาชมหรือสัมผัสได้ยากขึ้นทุกวัน |
หลังมื้อเที่ยงตอนบ่ายๆ ผ่านไปแบบสำราญใจสบายกระเพาะน้อยๆ ของผมแล้ว โปรแกรมต่อไปผมต้องเดินทางต่อ เพื่อหาที่หลับนอนสำหรับคืนนี้ ในตอนแรกของการเดินทางมาผมว่าจะไปกางเต้นท์นอนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อซึมซับกับบรรยากาศธรรมชาติแบบแนบชิดกันไปเลย แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจแล้วหละครับ เพราะท่าทางฝนฟ้าส่อเค้าทมึนมาแล้ว ช่วงนี้เอาแน่ไม่ได้เลยเดี๋ยวแดดร้อนเดี๋ยวฝนตก ขอเข้าพักในรีสอร์ทก่อนดีกว่า คืนนี้ของผมจึงจบลงที่ห้วยขาแข้งคันทรีโฮมรีสอร์ท ในเส้นทางบ้านไร่ ลานสัก ใกล้ๆ กับน้ำตกไซเบอร์ นั่นแหละครับ เดี๋ยวพรุ่งนี้จะมาเล่าต่อว่าผมได้เดินทางไปไหนต่อ คอยติดตามกันนะครับ
"นุ บางบ่อ"
ที่มาของชื่อเมืองอุทัยธานี ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยสุโขทัย ท้าวมหาพรหมได้เข้ามาสร้างเมืองที่บ้านอุทัยเก่า (อำเภอหนองฉาง ในปัจจุบัน) แล้วพาคนไทยมาอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านกะเหรี่ยง และหมู่บ้านมอญจึงเรียกว่า "เมืองอู่ไทย" ตามกลุ่มหรือที่อยู่ของคนไทย ต่อมาเกิดความแห้งแล้งกระแสน้ำเปลี่ยนทาง เมืองจึงถูกทิ้งร้าง ต่อมาในสมัยอยุธยา ชาวกะเหรี่ยงชื่อ "พะตะเบิด" เข้ามาปรับปรุงเมืองอู่ไทย โดยขุดทะเลสาบขังน้ำไว้ใกล้เมือง และเป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทย คนแรก ต่อมาชื่อเมืองได้ถูกเรียกเพี้ยนเป็น "เมืองอุไทย" ตามสำเนียงชาวกะเหรี่ยง และมีฐานะเป็นหัวเมืองหน้าด่านชั้นนอก คอยสกัดกั้นกองทัพพม่าที่จะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการอพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนที่ริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรังมากขึ้น และได้กลายเป็นที่ตั้งของตัวเมืองอุทัยธานีในปัจจุบัน |
ขอขอขบคุณ - สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม |
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เขต 4 โทร. 0 5551 4341-3 โทรสาร 0 5551 4344 คุณสุรศักดิ์ วิริยาภรณ์ประภาส (ไกด์อ้วน) โทร. 08 1740 0003 ห้วยขาแข้ง คันทรี่โฮมรีสอร์ท อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี โทรศัพท์ : 08 1867 4967, 08 1973 1213 , 08 1808 7712 ล่องเรือแม่น้ำสะแกกรัง คุณวีระ บำรุงศรี โทร. 08 1830 0653 ร้านอาหารนกน้อย โทร. 0 5651 1952 |