อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม
อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม SIAM CULTURAL PARK
นุ บางบ่อ ... เรื่อง นุ บางบ่อ , อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ... ภาพ 6 มีนาคม 2550
ช่วงนี้ดูเหมือนว่าอากาศร้อนจะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน นี่เพียงแค่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งพึ่งจะพ้นฤดูหนาว(นิดๆ) มาหมาดๆ ทำให้รู้สึกท้อแท้ไม่อยากคิดถึงวันเดือนข้างหน้าที่ใกล้เข้ามาอย่างเดือนเมษายนว่า ทุกพื้นที่ของเมืองไทยจะร้อนระอุสักปานใด และเมื่อวันนั้นมาถึงผมจะไปลบร้อนที่ไหนดี
อากาศร้อนรวมเข้ากับความเหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่าย ที่มีอันจำเป็นต้องพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ยิ่งไปกันใหญ่ พยายามปลอบใจตนเองด้วยการเพ่งมองไปที่ปฏิทินตั้งโต๊ะในช่องตารางของวันสุดสัปดาห์ พลันอยากให้ถึงวันนั้นเร็วๆ วันศุกร์ที่น่าจะเป็นวัน สุข วันแห่งการหยุดเรื่องราวที่ทำให้เหน็ดเหนื่อย
ทุกๆ คน คงมีวิธีการพักผ่อนแตกต่างกันไป บ้างชอบอยู่กับบ้าน ดูทีวี ฟังเพลง หรือออกไปชอปปิ้ง ดูหนัง แต่สำหรับผมแล้วถ้ามีโอกาส ขอออกไปเที่ยวพักผ่อนนอกบ้านดีกว่า ก็เป็นเรื่องน่าแปลกอยู่เหมือนกันว่า ถึงแม้อากาศจะร้อนระอุสักแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเป็นวันที่ได้ไปเที่ยวพักผ่อนไม่ใช่วันทำงานแล้วละก็ วันนั้นกลับดูสดใสสบายใจ น่าแปลกเน๊อะ...
สุดสัปดาห์นี้ผมเลือกสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนที่ไม่ไกลจากรุงเทพฯ มากนัก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่พึ่งเปิดให้บริการใหม่ เท่าที่ได้ข้อมูลมา สถานที่แห่งนี้มีความน่าสนใจมากแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก นั่นคือ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม จังหวัดราชบุรี แหล่งรวมศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และบุคคลสำคัญที่สร้างคุณความดีต่อประเทศของเรา
ผมออกเดินทางในช่วงเช้าวันเสาร์ ขับรถออกจากกรุงเทพฯ ไปเรื่อยๆ มุ่งหน้าไปจังหวัดราชบุรีโดยใช้เส้นทางผ่านพุทธมณฑล นครชัยศรี แวะมัสการพระปฐมเจดีย์ แล้วผ่านจังหวัดนครปฐม ขับรถไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านฟาร์มโคนมหนองโพ ถึงแยกบางแพ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางตลาดน้ำดำเนินสะดวก จากแยกบางแพเลี้ยวซ้ายมาเพียงนิดเดียวก็จะพบกับวัดหลวง ฝั่งตรงข้ามวัดหลวงนี่แหละครับ คือที่ตั้งของ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ที่ผมตั้งใจไปชม
นานมากแล้ว ประมาณได้ว่าตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ที่ตั้งอยู่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จากครั้งนั้นนับเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้ชมพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง มาถึงวันนี้ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ได้มาสัมผัสกับอุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ซึ่งเป็นสถานที่แห่งใหม่ และมีรูปแบบการจัดแสดงแตกต่างกันออกไป จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยเลย การเดินทางของผมครั้งนี้ จะทำให้ผมได้หวนย้อนเมืองไทยไปในอดีตที่จับต้องได้ คุณว่าน่าสนไหมล่ะ...
หลังจากเดินผ่านพ้นประตูทางเข้าของอุทยานฯ เข้าไป รอยยิ้มต้อนรับประทับใจพร้อมๆ กับการไหว้แบบไทยจากเจ้าหน้าที่ต้อนรับ ได้สร้างความประทับใจในก้าวแรก เส้นทางเดินต่อไปสะดวกร่มครึ้มไปด้วยแมกไม้ กรปรไปด้วยเสียงดนตรีประยุกต์แผ่วเบามากับสายลมเอื่อยตลอดทาง ถึงแม้จะเป็นเวลาเกือบเที่ยงวัน ภายในอุทยานฯ แห่งนี้กลับไม่รู้สึกร้อนเลย คงจะหลายๆ สิ่งประกอบกัน ทำให้ผมเริ่มรู้สึกหลงใหลในพื้นที่แห่งนี้เข้าเสียแล้ว
บนเนื้อที่ใต้ร่มเงาไม้กว่า 42 ไร่ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยามแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจ และแนวความคิดของท่านผู้ก่อตั้ง ซึ่งมีรากฐานประสบการณ์ทำงานมาจากงานหล่อพระพุทธรูป และงานหล่อปฏิมากรรมรูปต่างๆ | |||
จากประสบการณ์ดังกล่าวกว่า 40 ปี ทำให้ผู้ก่อตั้งมีความคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานปฏิมากรรมรูปเหมือนบุคคลสำคัญต่างๆ ที่ท่านเหล่านั้นได้สร้างคุณประโยชน์คุณค่าความดีต่อแผ่นดินต่อชาติไทยของเรา เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ หรือแนวทางการดำเนินชีวิตอันควรเป็นแบบอย่างต่อไป | |||
ในปี พ.ศ. 2540 อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม จึงได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ท่ามกลางบรรยากาศภายในที่ได้บรรจงออกแบบให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ด้วยพรรณไม้มากมาย สายธารไหลริน และสิ่งก่อสร้างที่เน้นศิลปกรรมแบบไทยย้อนยุค ณ ที่แห่งนี้จัดได้ว่าเป็นสถานที่พักผ่อนทางกาย และจิตใจได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษาค้นคว้าได้อย่างสอดคล้องกับการศึกษาในยุคปัจจุบัน เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะวัฒนธรรมไทย และผู้ที่สนใจพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จวบจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2549 จึงได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม หากมองแบบรวมๆ แล้ว ภายในอุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม นั้นแบ่งออกเป็น 6 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน มีทางเดินชมแบบเป็นวงรอบ แต่ละส่วนนั้นมีความน่าสนใจต่างกันออกไป จึงทำให้การเดินเที่ยวชมภายในไม่น่าเบื่อ ผมขอเริ่มการเดินทางเที่ยวชมภายในอุทยานฯ ตามเส้นทางไปทีละจุดโดยเริ่มจากประตูทางเข้า เมื่อเดินเรื่อยไปประมาณ 150 เมตร จะพบกับอาคารหลังใหญ่ มีชื่อว่า อาคารเชิดชูเกียรติ |
|||
อาคารเชิดชูเกียรติ อาคารหลังนี้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รวบรวมรูปเหมือนบุคคลสำคัญต่างๆ ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยเรา และมีบางท่านที่เป็นชาวต่างประเทศที่ได้สร้างคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติเช่นกัน โดยผมจะขอยกตัวอย่างดังนี้ |
|||
ศาสตราจารย์ มล.ปิ่น มาลากุล นักพัฒนาทางด้านการศึกษา และริเริ่มการก่อตั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษา แห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ |
|||
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นักกฏหมายผู้เที่ยงธรรม สมญานาม เปาบุ้นจิ้นของเมืองไทย |
|||
ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นผู้บุกเบิกแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติของประเทศไทย |
|||
บรมครูมนตรี ตราโมท บรมครูผู้อนุรักษ์และสืบสานดนตรีไทย |
|||
คุณสืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ เสียสละชีวิตเพื่อให้ธรรมชาติได้คงอยู่ (ประวัติคุณสืบ นาคะเสถียร) จดหมายก่อนการจากไป |
|||
ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง และ ประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง นักปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม เพื่อพาชาวจีนสู่ความทันสมัย | |||
ประธานาธิบดีโฮจิมินท์ วีรบุรุษชาวนาผู้ยิ่งใหญ่ของชาวเวียดนาม ในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสระภาพให้ชาวเวียดนามจากชาติตะวันตก แม่ชีเทเรซ่า ท่านได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจากทั่วมุมโลก |
|||
ถัดไปจากอาคารเชิดชูเกียรติ เป็นส่วนแสดงที่เรียกว่า ลานพระพุทธรูปสามสมัย เป็นลานร่มรื่นจัดแสดงผลงานปฏิมากรรมที่งดงาม ฐานพระพุทธรูปเป็นการจำลองโบราณสถานจากสถานที่ต่างๆ ได้อย่างเหมือนสถานที่จริง บริเวณนี้ทางอุทยานฯ ได้แบ่งพื้นที่การจัดแสดงพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ออกเป็นสามส่วนสามสมัย อันได้แก่ |
|||
1.พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย แบบขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตัก 6 ศอก 9 นิ้ว หล่อด้วยทองเหลือง ฐานพระจำลองมาจากอุทยานประวัติศาสตร์ จ.พระนครศรีอยุธยา 2.พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัยแบบขัดสมาธิราบ ฐานพระจำลองมาจากอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย |
|||
3.พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย แบบขัดสมาธิเพชร ฐานพระจำลองมาจากวัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย |
|||
จากประสบการณ์ความชำนาญของช่างผู้สร้างผู้ออกแบบ ผนวกกับความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา ลานพระสามสมัยแห่งนี้ จึงสมบูรณ์ไปด้วยความงดงามในชั้นเชิงพุทธศิลป์ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาบางท่านถึงกับสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า ณ ที่แห่งนี้เดิมทีเป็นวัดร้างอยู่หรือเปล่า... ซึ่งคำถามนี้คือ คำตอบที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ศาสตร์แห่งศิลป์ในชั้นเชิงช่าง ได้ก่อผสานผลงานออกมาได้เสมือนจริงอย่างน่าอัศจรรรย์ หากจะศึกษาพุทธศาสนาให้ถึงแก่นแล้ว คงต้องเดินต่อไปอีกหน่อยก็จะพบกับ ถ้ำชาดก เป็นการจำลองถ้ำขึ้นมาได้เหมือนถ้ำจริงมากๆ เช่นเดียวกับการจำลองสถานที่อื่นๆ ในอุทยานฯ ในถ้ำติดเครื่องปรับอากาศ จัดแสดงหุ่นจำลองเกี่ยวกับทศชาติชาดก พระชาติสุดท้ายของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ พระเวชสันดรชาดก ตอน ชูชกขอสองกุมาร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แสดงถึงคติธรรม คำสั่งสอน เพื่อให้คนเรารู้จักความพอดี ไม่โลภ หากคนเราไม่รู้จักความพอดีนั้นแล้ว ก็อาจจะทำให้ชีวิตพบกับความหายนะได้ |
|||
บรรยากาศภายในดูตื่นตาน่าสนใจด้วยคำบรรยายประกอบแสงเสียง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ชมแล้วไม่รู้สึกน่าเบื่อ การจำลองบุคคล สิ่งของเครื่องใช้ อาหารล้วนทำได้เหมือนจริงๆ โดยเฉพาะบริเวณมุมที่ชูชกกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการกินๆ ๆ อาหารคาวหวานที่วางเรียงรายอยู่เบื้อหน้า บริเวณนี้ผมชอบมาก เพราะช่างได้จำลองอาหารได้เหมือนของจริงมาก ยิ่งดูก็ยิ่งหิวเลยครับ | |||
แต่ผมไม่ชอบมุมถัดไปที่ชูชกท้องแตกตายมีไส้ทะลักออกมากองอยู่เต็มหน้าตัก ดูแล้วจะพาลอาเจียน ผมว่ามุมนี้เหมาะที่จะพาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราที่ไม่รู้จักพอ ชอบตักตวงผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องมาดูบ้างก็คงดี |
|||
ออกจากถ้ำก่อนเดินไปชมส่วนแสดงอื่นๆ ต่อ แวะพักกันสักนิดครับ ที่นี่เขามี บ้านน้ำสมุนไพร ไว้คอยบริการ ราคาไม่แพงอยู่ที่แก้วละ 10 กว่าบาทเอง สถานที่ก็ตกแต่งได้อย่างคลาสสิคมาก เหมือนนั่งอยู่ที่ร้านขายของตามต่างจังหวัดเมื่อสัก 20-30 ปีก่อน |
|||
นั่งดื่มน้ำไปชื่นชมบรรยากาศไป รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กๆ อีกครั้ง โดยส่วนตัวแล้วผมชอบบริเวณนี้กว่าบริเวณอื่น เพราะเงียบสงบน่านั่งอ่านหรือเขียนหนังสือมากทีเดียว | |||
ผมชอบสิ่งของหลายอย่างภายในร้าน เช่นของเล่นเก่าๆ โหลลูกไข่หยอดเหรียญที่เด็กๆ ชอบลุ้นกันว่าจะหยอดได้อะไร ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีให้เห็นแล้ว พักผ่อนสดชื่นด้วยน้ำสมุนไพรแล้วออกเดินต่อที่ กฏิพระสงฆ์ 4 ภาค |
|||
กฏิพระสงฆ์ 4 ภาค ประกอบไปด้วยการจำลองขนาดเท่าจริงของกุฏิพระสงฆ์จำนวน 5 หลัง ภายในกุฏิเป็นที่ประดิษฐานหุ่นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย มีการบรรยายพุทธประวัติของพระสงฆ์แต่ละรูปไว้ให้เพิ่มพูนความรู้ อาทิ | |||
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) , พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต , ครูบาศรีวิชัย , หลวงปู่แหวนสุจิณโณ , หลวงปู่ทวด , หลวงปู่ทิม , หลวงพ่อสด และอีกหลายๆ รูป หากใครพาคุณพ่อคุณแม่ หรือคุณตาคุณยาย มานมัสการ คงต้องชอบบริเวณนี้แน่ เพราะเหมือนกับได้มานมัสการองค์จริงของท่านถึงกุฏิเลยทีเดียว |
|||
ถัดไปเป็นกลุ่มบ้านไทยสี่ภาค บ้านไทยหลังใหญ่สี่หลังปลูกสร้างตามเอกลักษณ์ศิลปะของท้องถิ่น สอดคล้องกับบรรยากาศและวิถีชีวิต ผมเลือกก้าวขึ้นบันไดบ้านของภาคใต้ก่อนเนื่องจากอยู่ตรงหน้าใกล้ที่สุด |
|||
เสียงกลองทับ ปี่ กรับพวง ดังเป็นเพลงบรรเลงแผ่วเบาเข้ากับลักษณะของบ้าน บนบ้านได้จำลองหุ่นพ่อแม่ลูกในอากัปกริยาสบายๆ บ้างกำลังทำงานอดิเรกอยู่บนชานบ้าน แต่ละห้องถูกตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้ชีวิตประจำวันกลมกลืน อากาศเย็นสบายเพราะรอบตัวบ้านมีต้นไม้ใหญ่ ทุกกระเบียดนิ้วได้ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของชาวภาคใต้อย่างแท้จริง |
|||
และในบ้านไทยภูมิภาคอื่นๆ การปลูกสร้างได้ผ่านกระบวนความคิด ซึ่งเน้นถึงความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของภูมิภาคนั้นๆ ถือเป็นศูนย์รวมศิลปะวัฒนธรรม เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้า หรือช่างภาพที่ต้องการภาพแนววิถีชีวิตได้เป็นอย่างดี | |||
หุ่นที่ทางอุทยานฯ ได้จัดนำมาแสดงไว้นี้สามารถทนสภาพภูมิอากาศได้สบาย เนื่องจากทำมาจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ความเสียหายจึงมีไม่มากนัก ถึงแม้จะเป็นอุทยานฯ ที่สามารถจับต้องได้ก็ตาม แต่เราก็ไม่ควรไปแตะต้องให้เกิดความเสียหาย านต่อไป |
|||
กว่าชิ้นงานแต่ละชิ้นจะถูกสรรค์สร้างขึ้นมาได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาการศึกษาค้นคว้า และความปราณีตบรรจงเป็นระยะเวลาแรมปี เราจึงควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ผลงานไว้ให้อยู่ตราบนานต่อไป | |||
บ่ายคล้อยแล้ว ผมเพลิดเพลินอยู่กับบรรยากาศไทยย้อนยุค หุ่นแล้วหุ่นเล่ามากหน้าหลายตาเผินผ่านสายตาผมไปในวันนี้ ราวกับว่า วันนี้ผมได้เดินทางมาพบกับบุคคลหลายท่าน ซึ่งหลายท่านผมไม่โอกาสได้เคยพบตัวตนจริงของท่านเลยสักครั้งในชีวิต หลายท่านจากไปโดยทิ้งคุณความดีไว้ให้คนรุ่นหลังได้หวนคิดถึง นั่นคงเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่เราควรไขว่คว้าสะสมไว้ให้มากกว่าทรัพย์สินเงินทอง ความพอเพียง ความซื่อสัตย์ ความมีน้ำใจ ความเสียสละ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีคุณค่าน่าจดจำ |
|||
ผมคงจะสามารถนั่งพักกายและใจ ณ ที่อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยามแห่งนี้ได้เป็นเวลาอีกนาน แต่ด้วยยังมีโปรแกรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก นั่นคือ ตลาดน้ำยามเย็น ที่ตลาดอัมพวา ที่นั่นแม่ค้าแม่ขายจะพายเรือมาขายของกันในช่วงเย็นจนถึงค่ำ | |||
แม่ค้าเยอะแยะต่างมาขายสินค้าซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารพื้นบ้านอร่อยๆ ราคาไม่แพง จึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจไปเยือนก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ หรือ หากจะพักค้างคืน ที่อัมพวาก็ยังมีที่พักมากมากมายให้เลือกได้พักผ่อน | |||
แต่สำหรับผมในวันนี้ คงจะไปแวะชิมอาหารอร่อยๆ ที่ตลาดน้ำยามเย็นแล้วค่อยขับรถกลับกรุงเทพฯ ทางถนนสายธนบุรี ปากท่อ เป็นอีกเส้นทางหนึ่งครับ หากจะเดินทางแบบวงกลมอย่างนี้ เราจะได้ประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำรอย และเหมือนได้ท่องเที่ยวหลายๆ แห่งอีกด้วย ลองดูครับ หากพอมีเวลาว่าง วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ นี้ พาครอบครัวไปเที่ยวสบายๆ ไม่ไกลกรุ ประหยัดเวลา ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก ท่องเที่ยวไปได้ความรู้ความเพลิดเพลิน ได้ชื่นชมบรรยากาศที่นับวันจะหาชมได้ยาก อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี จะเป็นที่พักกายพักใจจากความเหน็ดเหนื่อย และเบื่อหน่ายของคุณได้มากแห่งหนึ่งที่อยากให้คุณได้ลองไปสัมผัส
|