ประวัติ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ

ประวัติ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ

ประวัติ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 สืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชายผู้เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อเรียกร้องให้สังคมหันมาสนใจ ให้ความสำคัญและปกป้อง ผืนป่า และสัตว์ป่า 

ประวัติ สืบ นาคะเสถียร

  • คุณสืบ นาคะเสถียร หรือนามเดิม สืบยศ เป็นชาวอำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
  • เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พุทธศักราช 2492 ที่ตำบลท่างาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
  • บิดาชื่อ นายสลับ นาคะเสถียร อดีต ผู้ว่าราชการ จังหวัดปราจีนบุรี
  • มารดาชื่อ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร
  • มีพี่น้อง ทั้งหมด 3 คน โดยคุณสืบ เป็นบุตรชายคนโต น้องชาย และน้องสาวอีก ๒ คน คือ คุณกอบกิจ นาคะเสถียร และคุณกัลยา รักษาสิริกุล
  • คุณสืบมีบุตรสาว 1 คน ชื่อนางสาวชินรัตน์ นาคะเสถียร 

สายตระกูลของ สืบ นาคะเสถียร เป็นครอบครัวของชาวนา ชีวิตในช่วงปฐมวัยจึงต้องช่วยทำงานในนาของมารดา เมื่อว่างจากภาระดังกล่าวก็ออกท่องเที่ยวกับเพื่อน ๆ โดยมีไม้ง่ามหนังสะติ๊กคู่ใจ ได้เข้าเรียนชั้นประถมต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี ช่วงปิดเทอมว่างจากการเรียน ก็จะออกไปช่วยทางบ้านเสริมแนวคันนา เพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน ทำงานกลางแจ้งทั้งวัน แม้แดดจะร้อนก็มิเคยปริปากบ่น ครั้นเรียนจบชั้นประถม 4 ต้องจากครอบครัวไปเรียนที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา จนกระทั่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในสมัยนั้น คุณสืบ มีบุคลิกประจำตัวคือ เมื่อสนใจหรือตั้งใจจะทำอะไรแล้วก็จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำจริงจัง จนประสบความสำเร็จ และเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีมาโดยตลอด

สืบ นาคะเสถียรสืบ นาคะเสถียร

การศึกษา และชีวิตการทำงาน สืบ นาคะเสถียร

  • ในปี พ.ศ. 2511-2514 เข้าศึกษาในคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความตั้งใจการศึกษาอย่างเต็ม ประสิทธิภาพ และเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตในมหาวิทยาลัย โดยเป็นที่ทราบกันดีระหว่าง หมู่เพื่อนผู้ใกล้ชิดว่า คุณสืบ เป็นผู้มีจิตใจรักงานศิลปะ สูงส่งในเชิงมนุษยสัมพันธ์ มีระเบียบ ในการดำเนินชีวิตในสมัยเรียนอย่างเป็นแบบแผน
  • ในปี พ.ศ. 2516 เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว ได้เข้าทำงานที่กองสวนสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ
  • ในปี พ.ศ. 2517 เข้าศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา
  • ในปี พ.ศ. 2518 บรรจุเข้ารับราชการ ตำแหน่ง พนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว - เขาชมภู่ จังหวัดชลบุรี ปราบปรามป่าอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ในปี พ.ศ. 2522 ได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชาอนุรักษ์วิทยา
  • ในปี พ.ศ. 2524 เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่าอีกหลายรุ่น
  • ในปี พ.ศ. 2526 กลับเข้าปฏิบัติราชการประจำ ฝ่ายวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้
  • ในปี พ.ศ. 2529 ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อน รัชชประภา(เชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  • ในปี พ.ศ. 2530 ปฏิบัติงานในโครงการศึกษาผลกระทบสภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนาพื้นที่ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ต่อมาได้รับคำสั่งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกตำแหน่งหนึ่ง เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเตรียมเอกสารข้อมูลทางด้านบทความและภาพถ่าย ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ เพื่อคัดค้าน การสร้างเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและการบุกรุกทำลาย ทรัพยากร ธรรมชาติทุกรูปแบบ
  • ในปี พ.ศ. 2531 กลับมาปฏิบัติราชการที่ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ 
  • ในปี พ.ศ. 2532 เข้ารับตำแหน่ง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
  • ในปี พ.ศ. 2533 จัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นวิทยากรบรรยาย และร่วมอภิปรายในโอกาส และสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ส่วนมากเป็นหัวข้อเรื่อง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาที่เกี่ยวข้อง การอพยพสัตว์ป่าตกค้างในเขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นต้น เขียนเอกสาร โครงงานเพื่อจัดการให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก

ผลงานวิชาการของสืบ นาคะเสถียร

สืบ นาคะเสถียรได้ผลิตงานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากมาย โดยเฉพาะด้านสำรวจนก กวางผา เลียงผา และนิเวศวิทยาที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร ทั้งยังได้เป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาคชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย ผลงานวิจัยของเขา เป็นต้นว่า

  1. การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2524
  2. รายงานการสำรวจนก บริเวณอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี สัมนาสัตว์ป่าเมืองไทย พ.ศ. 2526
  3. รายงานผลการวิจัย วางแผนขั้นรายละเอียดสำหรับ ฟื้นฟูสภาพป่าไม้และ การจัดการป่าไม้บริเวณ พื้นที่ป่าต้นน้ำคลองแสง โครงการเขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2527
  4. การศึกษานิเวศวิทยาของสัตว์ป่า ในบริเวณโครงการ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาภูพาน ตามพระราชดำริ พ.ศ. 2528
  5. นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง พ.ศ. 2529
  6. รายงานผลการจับเนื้อทราย ที่เกาะกระดาด พ.ศ. 2529
  7. เลียงผาที่พบในประเทศไทย การกระจายถิ่นที่อยู่อาศัย และพฤติกรรมบางประการ พ.ศ. 2529
  8. สำรวจถิ่นที่อยู่อาศัยของเก้งหม้อ
  9. นิเวศวิทยาป่าไม้และสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี และ จังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และ จังหวัดตาก กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 โดย สืบ นาคะเสถียร, นริศ ภูมิภาคพันธุ์, ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ
  10. การสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับ สัตว์ป่าในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
  11. การอพยพสัตว์ป่า ในอ่างเก็บน้ำรัชชประภา สัมมนาสัตว์ป่า พ.ศ. 2532
  12. วิเคราะห์ความเหมาะสม จากรายงานและแผนการ แก้ไขผลกระทบด้านทรัพยากร ป่าไม้และสัตว์ป่า
  13. โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แควใหญ่ตอนบน
  14. รายงานการประเมินผลงาน ช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) จังหวัดสุราษฏร์ธานี

การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร

ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันหลาย ๆ ด้าน และเพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ

สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว

สืบ นาคะเสถียรสืบ นาคะเสถียร

เกียรติยศของสืบ นาคะเสถียร

วันสำคัญ

มีการจัดวันที่สืบเสียชีวิต วันที่ 1 กันยายน ของทุกปี เป็นวันสืบนาคะเสถียร ขึ้น

เกียรติยศ การเชิดชูจากคนในวงการต่างๆ

  • หงา คาราวาน ได้แต่งเพลงชื่อ "สืบ นาคะเสถียร" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สืบ
  • แอ๊ด คาราบาว ได้แต่งเพลงชื่อ "สืบทอดเจตนา" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สืบเมื่อปี พ.ศ. 2533 ในอัลบั้ม "โนพลอมแพลม"
  • สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดทำสารคดีชื่อ "แสงไฟไม่เคยดับ" เพื่อเป็นการรำลึกถึงสืบ ออกอากาศทางช่องเดียวกันในช่วงเดือนสิงหาคมปี พ.ศ. 2556
  • ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง" เป็นภาพยนตร์ในโครงการคีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2558 นำแสดงโดย นพชัย ชัยนาม รับบทเป็นสืบ นาคะเสถียร [4]
  • เอ็มคอตเอชดี ได้จัดทำในรายการ ข่าวดังข้ามเวลา ตอน ตายเพื่อตื่น สืบ นาคะเสถียร ออนแอร์วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2561
  • ไททศมิตร (TaitosmitH) ได้แต่งเพลงชื่อ "หัวหน้าสืบ" เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่สืบเมื่อปี พ.ศ. 2563

แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า แนวความคิดเรื่องการรักษาป่า ความคิดและอุดมการณ์ แนวความคิดเรื่องการอนุรักษ์และการพัฒนาของคุณสืบ นาคะเสถียร

แต่อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง มิได้หมายถึงการเก็บรักษาโดยไม่นำมาใช้ประโยชน์ แต่เป็นการใช้อย่างถูกต้องโดยวิธีที่จะใช้ทรัพยากรที่เหลือ อยู่ดังกล่าว สามารถอำนวยประโยชน์ไม่เฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่สามารถอำนวยประโยชน์ให้ในทุก ๆ ด้าน และยังคงมีเหลืออยู่มากพอที่จะเป็นทุนให้เกิดการพอกพูนขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้อีก และยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์ มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่างหาก
หนังสือเสียงเพรียกจากพงไพร.ธันวาคม ๒๕๓๓ 

ผมอยากเห็นว่า เราควรจะเปลี่ยนแนวทางที่จะพัฒนา ในความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรที่เหลืออยู่น้อยนิดนี้ ผมไม่เห็นด้วยที่มัวพูดกันว่า เราจะใช้ทรัพยากรอย่างไรเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่เราควรจะหันมาสนใจว่า เราจะรักษาสภาวะแวดล้อมหรือทรัพยากรที่เหลืออยู่จำกัดได้อย่างไร เราต้องประหยัดการใช้ใช่ไหม เราจะต้องหามาตรการควบคุมในทางปฏิบัติให้ได้
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๕ ,กรกฎาคม ๒๕๓๓

จะเป็นไปได้ไหมที่รัฐบาลจะเปิดใจกว้าง โดยการให้ทุกฝ่าย ทั้งประชาชน ผู้นำในท้องถิ่น ผู้แทนราษฎร นักวิชาการที่เกี่ยวข้อง มาพูดคุยร่วมกัน คือบางคนอาจจะต้องรับสถานภาพของบางกลุ่ม ข้าราชการอาจต้องยอมรับสถานภาพของประชาชน คือ ลดตัวลง ในขณะเดียวกันก็เพิ่มฐานะของเขาให้ขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาร่วมกัน แทนที่จะพูดกันคนละที
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๙ ,กรกฎาคม ๒๕๓๓

ผมคิดว่ามันหมดยุคแล้ว มันควรจะมาถึงยุคที่ทุกคนมีความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้เกิดขึ้นกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๙, กรกฎาคม ๒๕๓๓ 

ผมว่าประเทศไทยถ้าสามารถเก็บป่าธรรมชาติเอาไว้ได้ประมาณร้อยละ ๒๐ แล้วเราใช้อย่างถูกต้อง หมายถึง เก็บเอาไว้เพื่อให้มันอำนวยประโยชน์ในแง่ของการควบคุมสภาวะแวดล้อมอะไรต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตของธาตุอาหาร หรือความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่าง ถ้าเราใช้ป่าทั้งหมดที่เป็นแหล่งกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว เราจะไปหาความอุดมสมบูรณ์ได้ที่ไหน
สารคดี ฉบับ ๖๘ หน้า ๑๐๕,ตุลาคม ๒๕๓๓

สิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอก็คือ ป่าเราเก็บไว้เฉย ๆ ก็เป็นการอนุรักษ์ที่เราได้ประโยชน์ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องตัดมาใช้ ต้นไม้ให้อากาศ ให้น้ำ...นี่เป็นการใช้ใช่ไหม ใช้โดยที่เราไม่ต้องไปตัดเอาส่วนของมันมาใช้
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๓, กรกฎาคม ๒๕๓๓

ในความรู้สึกของผม เราไม่ต้องมานั่งเถียงกันหรอกว่า เราจะใช้ป่าไม้อย่างไร เพราะมันเหลือน้อยมากจนไม่ควรใช้ จึงควรจะรักษาส่วนนี้เอาไว้ เพื่อให้เราได้ประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ทางอ้อม...มันจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า การอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์ จะต้องมองว่ามีการใช้ทั้งทางตรงทางอ้อม ป่าที่เก็บไว้ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติควรจะใช้ประโยชน์ในทางอ้อม”
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๔,กรกฎาคม ๒๕๓๓

ถ้าเผื่อเรามีทรัพยากรที่เป็นลุ่มน้ำอยู่มาก แล้วเรารักษาป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ได้บางส่วน ใช้ไปบางส่วน เหมือนสมัยที่เรามีป่ามาก เราอาจจะสร้างเขื่อนได้บางแห่ง แต่ในปัจจุบัน ลักษณะของพื้นที่ที่เป็นลุ่มน้ำที่เหมาะจะสร้างเขื่อนให้ได้ปริมาณน้ำมาก ๆ เอามาผลิตกระแสไฟฟ้ามันเหลือน้อย และการที่เราสร้างเขื่อนไปก่อน แล้วค่อยตามแก้ไขผลกระทบทีหลัง ผมคิดว่ามันไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ ในทางปฏิบัติ...เดี๋ยวนี้เขื่อนเริ่มจะเข้าไปในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว เพราะว่าป่าข้างนอกหมดแล้ว อย่างที่เขาใหญ่ก็เริ่มจะพูดถึงการสร้างเขื่อนในพื้นที่อนุรักษ์ หากว่าการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ายังทำได้อีกต่อไป ผมคิดว่าป่าอนุรักษ์ในอนาคตคงไม่มีความหมายอะไร เหลือแต่ชื่อเอาไว้ว่า เคยเป็นป่าอนุรักษ์มาก่อน
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๙๖,กรกฎาคม ๒๕๓๓

ถึงแม้จะมี พ.ร.บ.ป่าไม้ แต่ป่าไม้เมืองไทยก็ยังลดลงตลอดเวลา นโยบายป่าไม้แห่งชาติ จึงออกมาเพื่อควบคุม พ.ร.บ.ป่าไม้อีกที โดยเขาแบ่งป่าออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ ป่าอนุรักษ์กับป่าเศรษฐกิจ โดยให้ป่าเศรษฐกิจ ๒๕% กับป่าอนุรักษ์ ๑๕% ซึ่งจะทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศทั้งหมด ๔๐% ซึ่งมองแล้วมันดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันจะเพิ่มในแง่ของป่าเศรษฐกิจ พวกยูคาลิปตัส ซึ่งไม่ได้เน้นในเรื่องของระบบนิเวศวิทยา การที่เราปลูกไม้โตเร็ว ๒-๓ ชนิด แล้วไปตัดไม้ในป่าธรรมชาติ ผมคิดว่ามันไม่มีทางรักษาป่า หรือทำให้เป็นป่าธรรมชาติได้อีก สำหรับป่าธรรมชาติตอนนี้เหลืออยู่เพียง ๑๙% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ ลำธาร อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประมาณ ๙% ส่วนอีกไม่ถึง ๑๐% เป็นป่าสงวนที่อยู่รอบ ๆ ป่าอนุรักษ์ ตัวนี้แหละที่ถูกราษฎรบุกรุกอยู่ทุกวันโดยอ้างว่าไม่มีที่ดินทำกินและมีการซื้อขายอย่างผิดกฏหมาย โดยพวกนายทุนที่อยู่ในเมืองหรือมีอิทธิพล หนทางแก้ไข มันต้องหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งอันนี้ต้องมีการประสานกันทุกฝ่าย หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ต้องรับรู้นโยบายกันบ้าง แล้วก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า ถ้าเขาขายที่ดินอันนี้ไปแล้ว เขาไม่มีทางไปอีกนั่นแหละจึงจะสามารถหยุดปัญหานี้ได้
พีเพิล ฉบับ ๒๑ หน้า ๖๑,สิงหาคม ๒๕๓๓

ถึงแม้จะหยุดป่าสัมปทานแล้วก็ตาม แต่ราษฎรที่บุกรุกอยู่ในเขตป่าสงวนตอนนี้ ล้านกว่าครอบครัว ป่าไม้ที่ไหนจะเหลือ นอกจากความจริงใจของรัฐบาล เค้าบอกว่าจะต้องรักษาป่าให้ได้โดยการจำแนกพื้นที่ออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และบอกเลยว่าป่าสงวนตรงนี้ห้าม ห้ามมีกรรมสิทธิ์ ห้ามเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ตอนนี้ป่าหมดเพราะอะไรรู้ไหม เพราะป่าสงวนหมดสภาพ สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นป่ายูคาลิปตัสได้ ผมไม่อยากจะเรียกป่า เพราะมันไม่ใช่ป่า
อิมเมจ ฉบับ ๓ หน้า ๓๒,มีนาคม ๒๕๓๓ 

การอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย จะสามารถประสบผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้าใจ และความจริงใจต่อการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่ยังเหลืออยู่ประมาณร้อยละ ๒๐ ของพื้นที่ทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นแล้วจำนวนชนิดของสัตว์ป่าที่หายากและกำลังจะสูญพันธุ์เหล่านี้ก็จะต้องสูญไป พร้อมกับการบุกรุกทำลายป่า ทั้งในรูปแบบของการพัฒนาที่ต้องตัดป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าออกและรวมถึงการยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าเพื่อกิจการอื่น ๆ
เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๒

ปัญหาของการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ช่องว่างของกฏหมายที่อนุญาตให้บุคคลมีสัตว์ป่าไว้ครอบครองโดยไม่ต้องขออนุญาต สิ่งนี้เป็นช่องทางให้การล่าสัตว์ มันเหมือนกฎหมายสัตว์ป่าที่คุณบอกว่า คุณสามารถที่จะมีเก้ง มีกวาง มีเสือ มีหมาไน หมาจิ้งจอก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พวกนี้มีไว้ในครอบครองได้ ถ้าไม่เกินปริมาณที่กำหนด ทำไมในเมื่อเราคุ้มครองแล้ว ทำไมเราไม่คุ้มครองมันทุกตัว แก้กฎหมายสิ
อิมเมจ ฉบับที่ ๓ หน้า ๓๑,มีนาคม ๒๕๓๓

สัตว์ป่าที่ถูกเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก ๆ ถ้าสามารถรอดชีวิตมาได้จนโต จะคุ้นเคยกับคน จนไม่สามารถปล่อยให้มีชีวิตอยู่ต่อไปในป่าได้ตามลำพังอีก... และส่วนมากลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในกรง ก็มักจะไม่แข็งแรง และเมื่อมันโตขึ้นก็จะเกิดการผสมกันเองในครอบครัวเดียวกัน... เรากำลังพูดกันมากว่าจะอนุรักษ์กันอย่างไร แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการรักษาชีวิตสัตว์ให้รอดอยู่ แตกต่างอย่างมากมายกับการอนุรักษ์พันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดนั้น ๆ
เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม ๓๓ หน้า ๔๓-๔๔

พวกที่ชอบล่าสัตว์ป่าและพวกชอบกินเนื้อสัตว์ป่า ผมขอเถอะ พวกที่ชอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงก็เช่นกัน ธรรมชาติเขาเลี้ยงได้ดีกว่าอยู่แล้ว
สารคดี ฉบับ ๖๕ หน้า ๑๐๐,กรกฎาคม ๒๕๓๓

ในแง่ของการอนุรักษ์ คือการที่เราจะช่วยเหลือไม่ให้มันสูญพันธุ์ การทำให้มันมีประชากรเพิ่มขึ้น จะเป็นในกรงเลี้ยงหรืออะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถปล่อยมันคืนไปในป่าธรรมดา ให้มันปรับตัวแลัวเพิ่มประชากรโดยตัวของมันเองได้ นั่นไม่ถือว่าเป็นการอนุรักษ์ แล้วพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีวิวัฒนาการ ปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพธรรมชาติ แต่ถ้าเราเอามันออกมาทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่พันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนา สัตว์ที่ถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ มันก็จะผสมพันธุ์กันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดลักษณะด้อยเพิ่มขึ้น
สารคดี ฉบับ ๖๘ หน้า ๑๐๕,ตุลาคม ๒๕๓๓  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
www.seub.or.th
โทรศัพท์ / โทรสาร (02)2247838-39

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ประวัติ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook