ค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Teacher Camp บ้านไร่ จ. อุทัยธานี

ค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Teacher Camp บ้านไร่ จ. อุทัยธานี

ค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Teacher Camp บ้านไร่ จ. อุทัยธานี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 ค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Teacher Camp บ้านไร่ จ. อุทัยธานี 30 พฤษภาคม 2547 โดย วีระ กิจรัตน์ ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบางซ้าย จัดกิจกรรมเข้าค่าย ปลูกจิตสำนึกเพื่ออนุรักสิ่งแวดล้อม ที่ ศูนย์ฝึกอบรม Teacher Camp ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ระหว่างวันที่ 29-30 พฤษภาคม 2547 เป้าหมายของการเข้าค่ายคือเพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษา กศน. ได้ตระหนักถึง คุณค่าและความสำคัญของการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี สามารถนำมาปรับใช้กับท้องถิ่นของตนเองได้

เราป่านั้นเป็นแหล่งการเรียนรู้ผืนใหญ่ และสัตว์ป่านั้นมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ถ้าสัตว์ป่าสามารถอาศัยอยู่ในป่าได้อย่างสุขสบายแล้ว มนุษย์เราก็สามารถที่จะอาศัยอยู่ได้อย่างสุขสบายแน่นอน ป่าเป็นต้นกำเนิดทุกสิ่ง เป็นต้นน้ำสำคัญในการเพาะปลูก ซึ่งนักศึกษา กศน.ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ถ้าเขาเข้าใจลึกซึ้งถึงความสำคัญของสิ่งนี้แล้ว เขาย่อมต้องหวงแหน รัก และเอาใจใส่ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไม่ต้องสงสัย

เราเริ่มออกเดินทาง ด้วยรถบัส 2 คัน นำทีมโดย ผอ. สมคิด เพ็งอุดม ออกจาก อ.บางซ้าย ผ่านจังหวัดสุพรรณบรี ชื่นชมกับบรรยากาศ ไร่นาเต็มทั้งสองข้างทาง ซึ่งถ้าผ่านอำเภอด่านช้างไปแล้วก็จะเริ่มเข้าสู่บรรยากาศของป่าเขา เริ่มมองเห็นทิวเขาเรียงราย สองข้างทางก็เริ่มเปลี่ยนไปจากนาเป็นไร่อ้อยบ้าง ไร่ข้าวโพดบ้าง ตามแต่พื้นที่ นักศึกษา กศน. ผู้ใคร่รู้ ต่างพูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องของความแตกต่างกันของพื้นที่และการประกอบอาชีพ บ้างก็แฮฮาตามประสา(ติ๊ดชึ่งทัวร์) ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงอำเภอบ้านไร่ประมาณ 8.00น. เราพักทานอาหารเช้ากันที่ ศบอ.บ้านไร่ โดยการต้อนรับของ หัวหน้าเสรี วงษ์แก้ว หัวเรือใหญ่ของ ศบอ.บ้านไร่ พร้อมด้วย พี่ๆ ครูอาสา อีก สองสามคนเป็นผู้เตรียมอาหารให้

ทานอาหารเรียบร้อย พวกเรานั่งพักผ่อนและปรึกษากันเรื่องการขึ้นไปศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งต้องผ่านทางขึ้นที่คดเคี้ยว ศูนย์ฝึกอบรม Teacher Camp นี้อยู่ในตำบลแก่นมะกรูด เที่ยวนี้โชคร้ายหน่อย เราต้องเดินขึ้นเขากันประมาณ 5 กิโลแม้ว รถบัสไม่สามารถขึ้นได้ เนื่องจากโค้งแต่ละโค้งนั้นแคบและลาดชันเกินไป อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้

รถบัสทำได้ดีที่สุดก็เพียงการมาส่งที่ตีนเขา แล้วปล่อยพวกเราเดิน แต่ก็ดีเหมือนกัน ถ้าไม่คิดมากก็คือการชื่นชมธรรมชาติสองข้างทางพร้อมออกกำลังกายไปในตัว คนแก่บางคนถึงกับ หมดแรง ต้องรอรถกระบะมารับ (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) และจนแล้วจนรอดเราก็มาพร้อมกันอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม Teacher Camp กันอย่างทุลักทุเล บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของกะเหรี่ยง บ้านอีมาด-อีทราย มีประชากรประมาณ 50 หลังคาเรือน มีร้านค้าอยู่ 1 ร้าน มีศูนย์จำหน่ายผ้าทอของชาวเขาไม่ไกลจากบ้านอีมาด-อีทราย เดินชมหมู่บ้านกะเหรียงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะเจอศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา และถ้าเดินขึ้นเขาไปอีก 20 กิโลเมตร ก็จะไปถึง บ้านใหม่คลองอังวะ สอบถามจากกะเหรี่ยงแถวนั้น ที่นั่นเป็นประตูสู่ป่าห้วยขาแข้ง

การเปิดค่ายอย่างเป็นทางการต้องล่าช้าไป ด้วยเหตุว่า นักเรียนของเราคนหนึ่งเกิดอาการเกร็งเพราะโรคหอบหืด ต้องพาไปส่งโรงพยาบาล หมอฉีดยาให้ และกลับมาที่แค้มป์ประมาณ 1 ชั่วโมงถัดมา ดีที่ไม่เป็นอะไรมาก(เธอจะรู้มั้ยว่าพวกเราเป็นห่วงกันขนาดไหน) และด้วยความเหน็ดเหนื่อยของทุกๆคน การเปิดค่ายก็เริ่มประมาณ 10.30 น. โดยผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เกียรติมาเป็นประธาน

หลังจากเปิดค่ายและรับประทานอาหารเที่ยงแล้ว ก็เปิดโปรแกรมโดยการเดินชมหมู่บ้านกะเหรี่ยง ที่อยู่แถวๆนั้น จากการสอบถามชาวบ้านเขาบอกว่าส่วนใหญ่แล้วจะออกไปทำไร่กัน ถ้าอยากจะมาชมกะเหรี่ยงจริงๆก็ต้องมาตอนเช้าหรือตอนเย็นที่ว่างจากการทำไร่ เราแยกกันออกเป็นกลุ่มๆ บางกลุ่มไม่ประสงค์จะไปกับใคร ก็นั่งพักรอให้ทุกคนกลับมาเล่าให้ฟัง ขากลับได้มะไฟจากบ้านกะเหรี่ยงหลายพวง พวกเขาเป็นกันเองมาก สังเกตว่าหลายบ้านจะมีจานรับสัญญาณซึ่งไม่ทราบว่าเป็นของอะไรแน่ มีคนบอกว่าเป็นจานรับสัญญาณโทรทัศน์ แสดงให้เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงนั้นพัฒนาแล้วจริงๆหลายบ้านมีรถกระบะ พูดภาษาไทยชัดเป๊ะ แต่เวลาเขาคุยกันเองก็จะพูดภาษาของเขา น่ารักดี ธรรมชาติที่นี่เป็นธรรมชาติแท้ๆไม่มีอะไรมาปลอมปน

ทางเดินนั้นเป็นทางลูกรัง ขึ้นๆลงๆ ประดับด้วยสองข้างทางที่เป็นต้นไม้ใหญ่ สลับกับไร่อ้อย ไร่มัน ของชาวกะเหรี่ยง มองไปสุดลูกตาปะกับทิวเขาสลับซับซ้อน ยามที่เราเดินขึ้นเนินนั้นยิ่งเพิ่มทัศนะวิสัย ณ ใจกลางหมู่บ้านเราจะเห็นแหล่งน้ำที่น่าจะเกิดจากการขุดเอาไว้ เป็นสระสี่เหลี่ยม

เด็กๆชาวกะเหรี่ยงเล่นวอลเลย์บอลกันสนุกสนานในตอนเย็น พวกเราพูดคุยซักถามชาวบ้านกันพอได้ข้อมูลแล้วก็กลับแค้มป์กัน เพื่อร่วมทำกิจกรรมในตอนเย็น และที่สำคัญตอนนี้กำลังหิวมากๆด้วย

ที่หลับที่นอนในTeacher Camp นี้ ถ้าจะเปิดห้องนอนเอง ราคาคืนละ 600 บาท แต่พวกเราที่มา มีทั้งนอนในหอประชุม ห้องพักรวมกลาง ผู้พิศมัยในการสัมผัสธรรมชาติก็จะนอนเต็นท์ และอีกส่วนแยกไปเปิดห้องนอนเอง อาหารนั้น พี่ๆครูอาสาเป็นคนจัดการให้ โดยเตรียมมาจากข้างล่างและขนขึ้นรถมาให้

เราทานอาหารกันประมาณ 1 ทุ่ม เสร็จแล้วทำกิจกรรมกันตอนประมาณ 2 ทุ่ม คืนนี้เราให้นักศึกษาแสดงบทบาทสมมุติกันว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในอำเภอของเรานั้นเราจะสามารถจัดการกับมันได้อย่างไร ซึ่งทุกๆคนก็แสดงบทบาทกันได้อย่างสมบทบาทที่เดียว หลังจากนั้นเรามีกิจกรรมนันทนาการตามอัธยาศัย แล้วแต่ใครจะถนัดอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นแนวร้องเพลงลูกทุ่งซะมาก เราแยกย้ายกันเข้านอนไม่ดึกมากนัก อากาศที่นี่เย็นสบาย นอนหลับสนิทตลอดคืน

รับอรุณด้วยการเดินชมธรรมชาติอีกครั้ง บ่ายหน้าไปศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งต้องเดินขึ้นไปประมาณ 5 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านกะเหรียง ตอนเช้าอย่างนี้เราจะได้เห็นชีวิตของชาวกะเหรี่ยงอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาที่เขาเตรียมอาหารกันโดยใช้เตาฟืน ผมแวะขอน้ำชาวบ้านกิน ก็พบว่าน้ำที่กินน้ำรสชาติแปร่งๆดี คล้ายกับน้ำในน้ำตก หรือไม่ก็น้ำฝน

ชาวกะเหรี่ยงยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เหมือนชาวกรุง ยุ่งเหยิง หยุงหยิง ไม่ยิ้มให้กัน เดินไปสักพัก พบกับแหล่งน้ำอีกแห่งของชาวบ้านแถวนี้ สระนี้ใหญ่กว่าเก่า มีต้นตะแบกใหญ่ ตายอยู่กลางสระ อนุมานว่ามันคงจะอยู่มาก่อนที่มีใครสักคนมาขุดสระเอาไว้ รายทางพบเห็นไก่ป่าได้กลาดเกลื่อน เราเดินกันขึ้นลงพักใหญ่ก็มาถึงศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา มีอาคารสองสามหลัง ที่เห็นเป็นโรงเรือนที่ใช้เพาะเห็ด ไม่เห็นมี่เจ้าหน้าที่ คิดว่าเรามากันเช้าไป จึงไม่ได้ข้อมูลอะไรจากที่นี่มากนัก เราบ่ายหน้ากลับแค้มป์อีกทางหนึ่ง ซึ่งทางนี้จะไม่ค่อยมีบ้านกะเหรียงมากนัก สังเกตว่าต้นตะแบกใหญ่หลายๆต้นจะมีผ้าเหลืองผูกไว้รอยๆ ต้น คงจะเกิดจากความเชื่อต่างๆ ของชาวบ้าน ที่แค้มป์มีข้าวต้มรออยู่ บรรยากาศในตอนเช้ายังไม่จางไปเท่าไร สุขใจทุกครั้งที่ได้นั่งมองเหม่อซดข้าวต้มร้อนๆตอนเช้า

นักศึกษาจับกลุ่มคุยกันถึงประสบการณ์ใหม่ๆที่ทุกคนได้ประสบมา มันต่างกันกับที่ทุกคนเคยเจอ มันเหมือนเราได้หยุดทุกอย่าง กลับมาสู่สามัญ มันเหมือนว่าเวลาที่มีอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่นี่ มันไม่ได้กินเวลาของอีกส่วนไป เราไม่รีบร้อน เร่งรัดอะไร อากาศที่นี่ตอนเช้าเย็นสบาย แต่มีบางคนบ่นว่าหนาว (ตอนอาบน้ำ)

ตอนสายเราเข้ากิจกรรมฐานกัน แบ่งเป็นสามฐาน ซึ่งก็โยงไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมของเรานั่นแหละ เราต้องการให้นักศึกษาเปรียบเทียบ สิ่งแวดล้อมต่างที่นี่ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีในท้องถิ่นของเรา นักศึกษาทุกคนทำกันได้ดี หลังจากทุกกิจกรรมเสร็จแล้วก็ถึงพิธีปิดค่าย(อย่างยาวนาน) โดย ผอ. สมคิด เพ็งอุดม เป็นอันว่าทุกอย่างสำเร็จลงด้วยดี ทานอาหารเรียบร้อย เก็บสัมภาระขึ้นรถกระบะ ที่ใช้ทอยสิ่งของตอนขึ้นนั้น ลงไปก่อน แล้วพวกเราก็เดินลงตาม

เจ้าสัตว์เดียรัจฉานตัวน้อยตัวนี้เดินมาส่งพวกเรา อย่างกับมันรู้ขนบธรรมเนียมของมนุษย์ ผมเก็บภาพนี้ไว้ดูเล่น มันน่ารักมาก ตอนขาลงนี้รู้สึกว่ามันจะไม่ลำบากเหมือนขาขึ้น เพราะว่าแดดยังไม่ค่อยร้อนเท่าไร พอทุกคนมาถึงรถบัสเรียบร้อย เราเช็คจำนวนคนดูว่ามีใครหลงอยู่ข้างบนหรือเปล่า แล้วออกเดินทาง

ก่อนกลับแวะไหว้พระ วัดถ้ำเขาวง ไม่ไกลจากห้วยป่าปก รีสอร์ทเท่าไรนัก ที่นี่เขาจัดสถานที่ไว้สวยงามเหมาะกับการโพสท์ท่าถ่ายรูปเป็นอย่างมาก ผู้พิศมัยในการชมความงามของถ้ำต้องเดินขึ้นความชันประมาณ 500 เมตร มีหลายถ้ำด้วยกัน ภายในสามารถเดินทะลุถึงกันได้ แต่มืดมาก ควรจะมีไฟฉายไปด้วย เพราะอาจจะหกล้มได้ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย สวยงาม ตามพื้นถ้ำเต็มไปด้วยมูลค้างคาวที่มีดาษดื่นในนี้ แต่พื้นถ้ำนั้นไม่เฉอะแฉะเท่าใดนัก ออกจากถ้ำเดินต่อไป ยังภูเขาด้านหลังจะเจอเจดีย์แก้ว สอบถามจากชาวบ้านที่ทำไร่แถวนั้นบอกว่ายังมี ถ้ำอีกหลายถ้ำ แต่เขาชี้ไปที่ภูเขาลิบๆ โน่น เราก็ประมาณกันว่า คงจะต้องใช้เวลาประมาณสัก 1 ชั่วโมง แต่เรามีเวลาแค่เดินกลับลงไป 30 นาที่ สรุปว่าต้องกลับ ขากลับเดินกันเอื่อยๆ ข้างทางมีน้ำไหลตลอด ทางวัดเขาทำเป็นทางน้ำไหลเอาไว้ เราได้อาศัย วักล้างหน้า ตอนเหนื่อย

เราเป็นกลุ่มสุดท้ายที่มาถึงรถ เกรงใจจังที่ทำให้ทุกคนรอ แต่เพราะมัวถ่ายรูปสวยๆอยู่ กลับถึงรถโดนบ่นนิดหน่อย พวกเรากลัวจะกลัวกลับถึงบ้านมืดค้ำ แต่ถ้ามีโอกาสผมจะแวะมาเที่ยวอีกแน่นอน จะไปดูซิว่าถ้ำที่ชาวบ้านชี้ให้ดูนั้นจะสวยขนาดไหน

ความประทับใจ ลุงเซียม นักศึกษา กศน.ของเรา อายุ 64 เป็นผู้พิสูจน์ว่าอายุนั้นเป็นเพียงตัวเลข ลุงแกเดินขึ้นจนถึงแค้มป์ ทำเอาหลายๆคน ที่อาศัยรถขึ้นอายเลยที่เดียว (รวมทั้งตัวผมเอง)

คำเตือน บนศูนย์ฝึกอบรม Teacher Camp นั้นหาร้านค้าค่อนข้างยาก ควรจะเตรียมซื้อไปตั้งแต่ข้างล่างนะจ้ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook