เชียงคาน สงบงดงามริมฝั่งโขง
ใกล้ถึงวันงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่น ผีตาโขน ของชาวอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เข้าไปทุกขณะ ซึ่งโดยปกติแล้วจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนของทุกปี แต่ในปีนี้ยังไม่ได้กำหนดวันแน่นอน คงต้องรอกันต่อไปอีกนิด หากทราบวันเวลาที่แน่นอนชัดเจนแล้ว เดี๋ยวผมจะมาอัพเดทให้ทราบให้ทราบโดยทั่วกันอีกครั้ง |
ประเพณีบุญหลวง และการละเล่น ผีตาโขน ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่เชิดหน้าชูตาของชาวภาคอีสานตอนเหนือ จากประเพณีท้องถิ่นเล็กๆ เมื่อหลายปีก่อน ปัจจุบันกลายเป็นประเพณีระดับภูมิภาค ระดับประเทศ จนมีชื่อเสียงโด่งดังถึงกับทำให้ชาวต่างชาติต้องเดินทางลัดฟ้าข้ามน้ำข้ามภูเขามาดูกันที่เมืองเลยทีเดียว |
นอกจากประเพณีบุญหลวง และการละเล่น ผีตาโขน จะเป็นประเพณีที่แปลกตาแล้ว ยังมีความสนุกสนาน และแฝงไปด้วยกุศโรบายอันแยบคายของบรรพบุรุษเมืองด่านซ้าย ที่ต้องการให้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้เล่นสนุกสนานกันเพื่อเป็นการส่งท้ายงานบุญ |
โดยจับเอาเนื้อเรื่องในช่วงพระเวสสันดรชาดก พระชาติที่ 10 ของพระพุทธเจ้าในตอนที่พระเวสสันดรจะได้กลับคืนพระนคร บรรดาผีป่าทั้งหลายต่างพากันมาส่งเสด็จจนถึงในเมือง เมื่อเข้าเมืองด้วยความที่เป็นผีป่า ก็เลยออกพากันตระเวณเที่ยวเมืองอย่างสนุกคึกครื้น โดยไม่ได้ทำอันตรายใคร |
ไหนๆ ก็เดินทางไปไกลถึงเมืองเลยทั้งทีแล้ว จะไปชมแค่เทศกาลผีตาโขนอย่างเดียว ก็อาจจะไม่คุ้มค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง วันนี้ผมจึงขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง มาเพิ่มเติมให้อีกสักสองสามแห่ง เพื่อว่าการเดินทางจะได้คุ้มค่ามากยิ่งขึ้น |
เริ่มจากจากอำเภอด่านซ้าย เมื่อเที่ยวชมประเพณีบุญหลวง และการละเล่น ผีตาโขน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็แวะไปนมัสการพระธาตุศรีสองรัก ที่ริมแม่น้ำหมัน ซึ่งตั้งอยู่ในตัวอำเภอด่านซ้าย |
ตามประวัติการสร้างพระธาตุศรีสองรัก นั้นได้ทำการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2103 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2106 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นสักขีพยานแสดงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกัน กับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) แห่งราชอาณาจักรล้านช้าง |
และเป็นด่านกั้นเขตแดนของทั้งสองพระนครใสสมัยโน้น การสร้างพระธาตุศรีสองรักนับเป็นสักขีพยานในความรักใคร่ของชนชาติเผ่าลาวในดินแดนล้านช้าง เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่ประชาชนในท้องถิ่นจังหวัดเลย และจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือกันเป็นอย่างมาก และถัดจากองค์พระธาตุทางด้านทิศตะวันตกมีศิลาจารึก 1 แผ่น ซึ่งจารึกตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรักด้วยอักษรธรรมอยู่ด้วย |
การไปนมัสการพระธาตุศรีสองรักนั้น ขอให้ทุกท่านควรแต่งกายสุภาพ และไม่ควรใส่เสื้อผ้าสีแดง เนื่องจากมีความเชื่อที่ว่า สีแดงนั้นเป็นสีของเลือด ไม่เหมาะสมเนื่องจากพระธาตุแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความสัมพันธ์อันดีงาม |
ออกจากพระธาตุศรีสองรัก ไปเที่ยวกันต่อที่ อำเภอท่าลี่ เริ่มต้นจากตัวจังหวัดเลย มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 201 แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2115 สายท่าลี่-อาฮี |
อำเภอท่าลี่เป็นอีกอำเภอหนึ่งของจังหวัดเลย ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าไปเยี่ยมเยือน ซึ่งมีอยู่สองสถานที่เด่นๆ คือ พระธาตุสัจจะ และสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย ลาว |
พระธาตุสัจจะ ตั้งอยู่ในวัดลาดปู่ ห่างจากตัวอำเภอท่าลี่เพียง 2 กิโลเมตร บนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย ลาว แรกสร้างพระธาตุสัจจะนี้เชื่อกันว่า เพื่อเป็นการเสริมดวงชะตาของพระธาตุพนมที่หักโค่นลงมาให้เกิดเป็นพระธาตุสัจจะลาดปู่ขึ้นแทน และด้วยแรงสัจจะอธิฐานอันชาวคณะได้ปลงสัจจะลงก่อนสร้างพระธาตุสัจจะลาดปู่นี้ ให้เป็นพลังเพิ่มพูนกำลังใจแด่ท่านผู้กล้าหาญที่ปฏิบัติการแก้ไข และปกป้องประเทศชาติ ให้ปลอดภัยและมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรูได้อย่างรวดเร็ว |
พระธาตุสัจจะได้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2519 และได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อ วันที่ 25พฤศจิกายน พ.ศ.2523 องค์ประกอบของพระธาตุสัจจะ นั้นประกอบด้วยกลีบดอกบัวบาน 3 ชั้น สูง 1 เมตร รายรอบ องค์พระธาตุสัจจะมีความสูง 33 เมตร ส่วนปลายยอดมีลักษณะคล้ายคลึงกับพระธาตุพนม มีเศวตฉัตร 7 ชั้น ประดิษฐานอยู่บนยอดสุด |
แต่หากใครชอบช๊อปปิ้งค์สินค้าแบบตลาดชายแดน ต้องไปที่ สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย ลาว หรือที่ด่านท่าลี่ ซึ่งอยู่ห่างจากพระธาตุสัจจะเพียง 7 กิโลเมตร แต่ตลาดสินค้าจะอยู่ที่ฝั่งลาว เป็นตลาดเล็กๆ ไม่คึกคักมากนัก |
หากจะข้ามไปต้องทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวก่อน ไม่ต้องติดรูป แต่ต้องใช้บัตรประชาชน การทำบัตรผ่านแดนที่จุดนี้นั้นสะดวกไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องรอคิวยาว เพราะมีนักท่องเที่ยวน้อย ถ้าถามผมว่าน่าข้ามไปไหม ขอแนะนำว่า ไม่ค่อยคุ้มครับ สินค้าฝั่งโน้นยังน้อยไปหน่อย และแต่ละร้านก็เหมือนๆ กัน เก็บตังค์ไว้ใช้ที่ฝั่งบ้านเราจะดีกว่าเยอะ |
แต่ที่เขียนแนะนำก็เผื่อว่า จะใช้เส้นทางนี้เป็นทางผ่านไปเที่ยวแขวงไชยบุรี หรือต่อไปเมืองหลวงพระบาง ก็สามารถกระทำได้ ที่ด่านท่าลี่ นี่อยู่ห่างจากหลวงพระบางเพียง 363 กิโลเมตร |
ผู้ที่เคยใช้เส้นทางนี้เขาบอกต่อมาว่าทางไม่ค่อยดีนะครับ ผมเองก็ไม่เคยไปเลยไม่ทราบว่าไม่ดีขนาดไหน เป็นอันว่าไม่อยากเสี่ยง ขอเที่ยวบ้านเราไปก่อนก็แล้วกัน |
ในอำเภอท่าลี่ มีร้านอาหารอร่อยๆ แถมวิวสวยแบบสงบๆ ริมแม่น้ำเหือง (กั้นระหว่าง ไทย ลาว ก่อนไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน) บริเวณนี้เขาเรียกกันว่า "แก่งโตน"
ร้านที่ผมได้มีโอกาสไปรับประทานตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ททท. ท้องถิ่น ก็คือ ร้านใจดี อยู่ริมแก่งโตน เป็นร้านอาหารไทย และอาหารพื้นบ้านอีสาน อาหารจำพวกปลา และกุ้ง นั้นรับประกันความสด กับบรรยากาศแบบพื้นบ้านดีๆ มีลมพัดเย็นๆ ริมแก่งโตน ประมาณว่าอิ่มอร่อยกับอาหารแล้วก็นอนหลับกันได้เลย เพราะที่ร้านนี้เขาจัดที่นั่งของลูกค้าเป็นซุ้มๆ มุงหลังคาด้วยใบจาก นั่งทานกับเสื่อ ได้บรรยากาศพื้นบ้านดีครับ |
แต่ร้านออกจะหายากสักหน่อย เจ้าของร้านบอกว่าเคยนำป้ายไปติดไว้ตามข้างทางแล้ว แต่ก็ถูกมือดีรื้อถอนออกไปหมด...เศร้าจัง...ไม่เป็นไรครับ ถามคนในตัวอำเภอใครๆ ก็รู้จักร้านนี้ เพราะเจ้าของร้านใจเหมือนชื่อร้าน อ้อ เกือบลืมที่ร้านใจดี มีที่พักอยู่ประมาณ 8-10 ห้องด้วยนะครับ ราคาตั้งแต่ 600 บาทขึ้นไปครับ |
บ่ายคล้อย ดวงตะวันแผดแสงกล้าอยู่เหนือสายน้ำเหืองที่กำลังเป็นประกายระยิบ พลันไหลซอกซอนไปตามโขดหินน้อยใหญ่ เสมือนความผูกพันของคนสองเชื้อชาติริมฟากฝั่ง ที่มีมิตรไมตรีตรีซึ่งกัน เวลานี้ชายวัยกลางคนๆ หนึ่งกำลังหาปลาอยู่กลางแก่งน้ำ ผมไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนฝั่งนี้หรือฝั่งโน้น แต่ใบหน้าของเขาที่พึ่งเงยขึ้นมาจากข้องใส่ปลามีรอยยิ้มเบิกบานปนอยู่ด้วย ผมพลางคิดไปว่าเย็นนี้ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งแถวนี้คงมีอาหารอร่อยๆ กินกันแบบพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก ถึงแม้มันจะไม่หรูหราก็ตาม
จากอำเภอท่าลี่ ปลายทางของพวกเราในวันนี้อยู่ที่อำเภอเชียงคาน เราใช้ทางหลวงหมายเลข 2099 เลาะเลียบริมแม่น้ำคาน จนมาถึงบ้านปากคาน ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขงที่ไหลไปวกวนอยู่ใน สปป.ลาว อยู่หลายกิโลเมตร มาบรรจบพบกัน แล้วไหลต่อไปเป็นเส้นกั้นพรมแดน จนไปสิ้นสุดที่บ้านเวินบึก จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำโขงที่สัมผัสกับผืนแผ่นไทยได้สิ้นสุดตรงนั้น แต่การเดินทางของมหานทีสายนี้ยังคงดำเนินต่อไป |
ระยะทางจากอำเภอท่าลี่ ถึง อำเภอเชียงคาน ประมาณ 50 กิโลเมตร อำเภอเชียงคานเป็นอำเภอเล็กๆ แต่มีความเป็นมายาวนาน เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่มีทัศนียภาพริมแม่น้ำโขงงดงาม มีบ้านเรือนเก่าๆ บนถนนเลียบริมโขง ซึ่งปัจจุบันได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงแรม และเกรสท์เฮ้าส์เล็กๆ ที่มีความน่ารักอยู่ในตัว |
บ้านไม้เก่าๆ ริมแม่น้ำโขง วันนี้ดูสะอาดสะอ้าน ใกล้ๆ ถนนศรีเชียงคานซอย 9 เป็นที่ตั้งของโรงแรมสุขสมบูรณ์ ที่น่าสะดวกสบาย และที่พักอีกหลายแห่ง ผมแอบชอบใจอยู่หลายที่ แต่ต้องเดินๆ ดู เผื่อว่าวันหน้ามีเวลาจะหนีมาพักเหนื่อยแถวนี้สักสามสี่วัน |
บรรยากาศแบบนี้หาได้ยากในเมืองไทย จากชาวบ้านเจ้าของบ้าน มาเป็นเจ้าของโรงแรมที่พัก การบริการแบบมาตรฐาน 5 ดาวตก คงไม่ต้องพูดถึงให้เมื่อย ที่นี่เขาบริการกันด้วยใจ และความจริงใจ ที่สำคัญราคาไม่แพง ผมเห็นฝรั่งมาพักกันแบบหลายๆ วัน |
ที่บ้านหลังหนึ่งในย่านนี้ผมขอนั่งพักเหนื่อยหน้าบ้าน หลังจากแบกกล้องเดินมาไกลจนเมื่อย คุณยายเจ้าของบ้านเดินหลังค่อมประคับประคองขันน้ำพยายามไม่ให้หกระหว่างการเดินที่ยากลำบาก แม้จะเป็นเพียงระยะทางสั้นๆ ภายในบ้านตัวเองก็ตาม |
ภาพแบบนี้ผมไม่ได้เห็นมาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่คุณยายผมเสียไปด้วยโรคชรา ผมดื่มน้ำที่คุณยายส่งให้ แม้มันจะไม่เย็น แต่ก็ชื่นใจน่าจดจำเหลือเกิน |
อำเภอเชียงคาน โด่งดังเรื่องการผลิตผ้าห่มนวม และมีแก่งคุดคู้สวยงามในหน้าแล้ง ผมเสียดายที่ไม่ได้นอนพักที่บ้านคุณยายตามคำเชื้อเชิญ เนื่องจากคณะของเราจองที่พักล่วงหน้าไว้ที่เชียงคานฮิลล์รีสอร์ท ที่นั่นเป็นรีสอร์ทที่อยู่ใกล้แก่งคุดคู้มากที่สุด |
หากคุณชอบมองสายน้ำไหลปะทะแก่งได้เป็นเวลานานๆ แล้วละก็ ทิวทัศน์หน้าที่พักแห่งนี้ดูจะเหมาะสม ว่ากันว่า แก่งคุดคู้ดูสวยงามที่สุด ต้องเป็นช่วงหน้าแล้ง เพราะสายน้ำโขงจะลดลงมากกว่าในฤดูอื่น ทำให้เห็นแก่งโผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาอวดโฉมอย่างชัดเจน |
ดูๆ ไปแล้วแก่งคุดคู้นี้ดูจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยให้มานั่งๆ ยืนๆ ดูกันได้มากมาย โดยแต่ละคนก็ใช้เวลาดูกันอยู่นานพลางชี้ไปชี้มา ถ่ายรูปบ้าง เดินเล่นเตร็ดเตร่ตามร้านขายของกันบ้าง ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจแถวนั้นให้ดีขึ้น |
ยิ่งเดี๋ยวนี้เข้าฤดูแล้งนักท่องเที่ยวไปกันเยอะ ชาวบ้านเลยเปิดร้านอาหารที่หาดทรายริมแม่น้ำโขงกันเลย เรียกว่าให้ใกล้ชิดอิงแอบแม่น้ำโขงกันให้มากที่สุด ก็ดีอยู่หรอกนะส่งเสริมการท่องเที่ยวและมีรายได้ดี แต่ก็หวังว่าพ่อค้าแม่ค้าแถวนั้นคงไม่ทุบหม้อข้าวตัวเอง ด้วยการไม่รักษาความสะอาด หากเป็นเช่นนั้นแล้ว คนฝั่งโน้นที่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครมายืนชมแก่งเขาจะหัวเราะเอาได้..เด้อล่ะ...
เช้าวันต่อมา อากาสสดชื่นสายลมเย็นพัดแรงมาจากฝั่งลาว ผมนั่งทอดสายตาทั้งที่สมองยังไม่ตื่นตัวเต็มที่เพราะยังไม่ได้อาบน้ำเช้า เบื้องหน้าคือแก่งคุดคู้ที่ยังขวางกั้นมหานทีสายน้ำโขง ฟองน้ำแตกกระเซ็นเป็นเกร็ดสีทองในยามต้องกับแสงแรกแห่งอรุณรุ่ง มองถัดไปมีภูควายเงิน ขุนเขาสูงตระหง่านโดดเด่นเป็นฉากหลัง ที่นั่นมีวัดและรอยพระพุทธบาทใหญ่
เช้านี้เป็นอีกเช้าหนึ่งที่สดใส และสวยงามมากท่ามกลางฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง ผมเดาว่าวันสงกรานต์ที่กำลังใกล้เข้ามา บริเวณแก่งคุดคู้นี้คงคราคร่ำไปด้วยผู้คนจากนักท่องเที่ยว และคนในท้องถิ่นมารดน้ำดำหัวกันอย่างสนุกสนาน และในช่วงงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขน ปลายเดือนมิถุนายนก็คงเฉกเช่นเดียวกัน
ถึงเวลาที่ผมต้องเก็บสัมภาระเพื่อเดินทางต่อไปยังสวนหินผางาม หรือในอีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ คุณหมิงเมืองเลย ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อำเภอหนองหิน จังหวัดเลย ณ ที่แห่งนั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันดี โดยมีภูเขาหินปูนรูปร่างแปลกๆ แต่สวยโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง จนมีกองถ่ายทำภาพยนต์หลายเรื่องมาถ่ายทำกันอยู่เป็นประจำ และมีเขาวงกตให้เดินศึกษาสัจจะธรรม จึงเป็นสถานที่ที่น่าไปเยือนก่อนเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ ต่อไป
สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสานยังมีอีกหลายสถานที่ที่น่าสนใจ เอาไว้โอกาสหน้ามีเวลาผมจะนำมาเสนอกันใหม่ สำหรับทริปนี้ผมคงต้องขออนุญาตกล่าวคำอำลาไปก่อน พบกันใหม่บนเส้นทางท่องเที่ยวในเรื่องต่อไป สบายดี : ) |
นุ บางบ่อ ... เรื่อง / ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551
ขอขอบคุณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม |
งานสื่อออนไลน์ กองสื่อโฆษณา ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย www.tourismthailand.org แนะนำสถานที่พัก ภูผาน้ำ รีสอร์ท อ.ด่านซ้าย จังหวัดเลย www.phuphanamresort.com เชียงคานฮิลล์รีสอร์ท (ติดกับแก่งคุดคู้ เป็นจุดชมวิวแก่งคุดคู้) อ.เชียงคาน จังหวัดเลย www.chiangkhanhill.com โรงแรมสุขสมบูรณ์ (อยู่ในย่านบ้านเก่า และเกรสเฮ้าส์ ริมแม่น้ำโขง) อ.เชียงคาน จังหวัดเลย โทร. 0-4282-1064 , 08-1769-9918 แนะนำที่กิน ร้านใจดี (อาหารไทย อีสานพื้นบ้าน) อ.ท่าลี่ จ.เลย
|