เลื่อนล้อรอบเกาะรัตนโกสินทร์กับ Segway Tour Thailand
เลื่อนล้อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กับ Segway Tour Thailand
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินเที่ยวย่านเกาะรัตนโกสินทร์อยู่บ่อยครั้ง โดยรถเมล์บ้าง รถส่วนตัว(ของเพื่อน)บ้าง แต่บ่อยที่สุดคือ “การเดิน” ซึ่งผมว่าเป็นการเดินทางย่านนี้ได้สะดวกที่สุด เพราะไม่ต้องมีภาระเรื่องหาที่จอดรถ รวมทั้งลดปัญหาหงุดหงิดใจเรื่องรถติด บางทีก็เดินเดี่ยว บางเที่ยวก็มีเพื่อนร่วมทางที่สมัครใจมาด้วยหนึ่งหรือสองคน ซึ่งแต่ละครั้งก็จะทำเท่าที่เวลาเอื้ออำนวย สิ้นสุดตรงไหนก็มาต่อใหม่เมื่อมีโอกาส เพราะมีเรื่องราวให้เราได้ศึกษาหาความรู้มากมาย ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ผ่านเข้าไป
บางครั้งก็เคยคิดว่า หากรองเท้าของเราสามารถติดล้อ ขับเคลื่อนพาเราไปได้โดยระบบอัตโนมัติ เหมือนหนังการ์ตูนก็คงจะดีไม่น้อย ความคิดเล่นๆ ตามจินตนาการในวันนั้น เมื่อนับคำนวณก็เกินสิบปี จวบจนวันนี้ มันเกิดเป็นจริงขึ้นมาโดยไม่คาดคิด ด้วย “SEGWAY” (เสกเวย์) นวัตกรรมอัจฉริยะเพื่อการเดินทางแห่งโลกอนาคต ในชื่อว่า “Segway Tour Thailand” พร้อมกับมีโอกาสได้ไปสัมผัสและทดลองในวันหนึ่ง ตามคำเชิญของ คุณอิทธิชัย เบญจธนสมบัติ หรือคุณบิ๊ก กรรมการผู้จัดการของ บริษัท เสกเวย์ ทัวร์(ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเริ่มจากการที่ใช้ Segway ก่อนที่จะมองเห็นลู่ทางในการนำ Segway มาใช้เพื่อการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
ผมมีโอกาสรับรู้เรื่องราวของ Segway จากข่าวสารทางโทรทัศน์ ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน แรกที่เดียวก็คิดว่ามันคงจะมีระบบและกลไกคล้ายๆ กับรถมอเตอร์ไซด์ ต้องสตาร์ท เข้าเกียร์ บังคับความเร็วด้วยคันเร่ง แต่เมื่อได้มาสัมผัสทำให้ทราบว่าสิ่งต่างๆ ที่ผมเข้าใจเองมาแต่ต้นล้วนผิดทุกข้อ |
เพราะแท้ที่จริงแล้ว Segway ได้พัฒนาระบบควบคุมการทำงานโดยยึดหลักการเคลื่อนที่ของมนุษย์ โดยหลักการทำงาน จะใช้ ระบบวัดการทรงตัว - เลียนแบบการทำงานของระบบของเหลวในหูชั้นใน ระบบการขับเคลื่อน - เลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อ และชุดล้อ - เลียนแบบการทำงานของเท้า ซึ่งทั้งระบบจะทำงานประสานกันได้อย่างอัศจรรย์ในแต่ละสถานการณ์ |
ส่วนการบังคับ Segway จะใช้เทคโนโลยีบังคับด้วยการโน้มตัวถ่ายน้ำหนัก โดยเราเพียงโน้มตัวไปในทิศทางที่ต้องการจะไป Segway ก็จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ การโน้มตัวสามารถใช้กำหนดความเร็ว เมื่อโน้มตัวมากความเร็วก็มาก โน้มตัวน้อยความเร็วก็น้อย ส่วนการชะลอหรือเบรก ก็จะใช้การถ่ายน้ำหนักตัวไปข้างหลัง มีหลักการง่ายๆ เพียงเท่านี้ |
หลังจากที่พวกเราได้ชมวีซีดีแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับ Segway ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับสำหรับทุกท่านที่มาใช้บริการ จากนั้นก็ได้ทดลองขึ้นไปควบคุม จนสามารถเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้าย-ขวา เบรก จนร่างกายสามารถสื่อสารกับระบบรู้เรื่องแล้ว ไกด์สาวสวยก็พาเราเคลื่อนตัวจากท่าเรือมหาราช (อยู่ระหว่างท่าช้างกับท่าพระจันทร์) ออกสู่โลกแห่งความเรียนรู้ครั้งใหม่ เลี้ยวซ้ายบ่ายหน้าไปทางท่าพระจันทร์ ผ่านเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคุ้นเคยกับขบวน Segway เป็นอย่างดี พร้อมเริ่มมีทางลาดชันให้เราได้รับรู้สมรรถนะของ Segway ว่าสามารถทำงานได้เฉกเช่นวิ่งบนทางเรียบปกติ ยิ่งเมื่อคุ้นเคยกับมันเต็มที่แล้ว ขีดความสนุกเร้าใจและตื่นเต้นของพวกเราเพิ่มขึ้นตามไปด้วย |
ซึ่งในครั้งแรก มิสเตอร์ดีน เคเมน ผู้ประดิษฐ์และคิดค้น Segway มีจุดประสงค์เพื่อเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ที่มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตและเคลื่อนที่ จึงได้คิดค้น “ไอบอท” (iBOT) พาหนะใช้งาน 4 ล้อ ที่สามารถทรงตัวยืนขึ้นในแนวตั้ง 2 ล้อได้ สามารถขึ้นบันได มีระบบทรงตัวอัตโนมัติ ช่วยให้คนพิการที่ต้องนั่งรถเข็น สามารถเคลื่อนที่ได้เกือบจะเท่าคนธรรมดา ก่อนระบบนั้นจะถูกพัฒนามาเป็น Segway .ใช้เป็น “เครื่องช่วยเดิน” ให้คนปกติอย่างที่เห็น นอกจาก Segway แล้ว มิสเตอร์ดีนผู้นี้ ยังมีผลงานประดิษฐ์ที่จดสิทธิบัตรเกินกว่า 100 รายการ เป็นนักประดิษฐ์ที่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลก
ขบวน Segway แล่นออกจากธรรมศาสตร์มาหยุดที่บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ออกจากถนนสายหลักเข้ามาวิ่งตามเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มาเรื่อยๆ จนถึงสวนสันติชัยปราการ ซึ่งเป็นที่ตั้งของป้อมพระสุเมรุ บริเวณปลายถนนพระอาทิตย์ ผู้คนให้ความสนใจเมื่อขบวนของเราแล่นเข้าไปในพื้นที่ |
พวกเราขออนุญาตเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล เพื่อวางมาดถ่ายรูปกันอยู่พักใหญ่ ก็ออกเดินทางต่อข้ามทางม้าลาย เลาะซอยรามบุตรีผ่านทะลุออกหน้าวัดชนะสงคราม เพื่อมุ่งเข้าถนนข้าวสาร จุดนัดพบของแบ็คแพ็คเกอร์จากทุกทวีปทั่วโลก ซึ่งมักมาตั้งหลักกันที่นี่ก่อนจะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เสมอ นักท่องเที่ยวล้วนให้ความสนใจพวกเราเป็นตาเดียวกัน ระหว่างนั้นพวกเราได้หยุดแวะพักเข้าห้องน้ำล้างหน้ากันพักใหญ่ๆ ทิ้ง Segway ไว้โดยไม่ต้องห่วงว่าออกมาจากห้องน้ำแล้ว Segway จะหายไป |
เพราะ Segway ใช้ระบบกุญแจเข้ารหัสบังคับได้จากระยะไกล (Wireless info Key) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน้าจอแสดงผลการทำงานของเครื่องไปด้วยในตัว มีขนาดเล็กพกพาสะดวก ทำหน้าที่เป็นกุญแจแบบไร้สายเพื่อเปิด-ปิด ระบบการทำงาน กำหนดและบอกพิกัดความเร็ว แสดงสถานะพลังงานและข้อมูลที่จำเป็นในการเดินทาง และที่สำคัญ กุญแจอัจฉริยะนี้ ยังมีระบบป้องกันขโมยซึ่งจะทำงานเพียงแค่กดปุ่มสัมผัส เครื่องจะทำการล็อคล้อทันทีที่เครื่องถูกทำให้เคลื่อนไหว พร้อมส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้ถือกุญแจให้ทราบในคราวเดียวกันอีกด้วย |
พวกเราออกจากข้าวสาร ข้ามถนนราชดำเนินกลาง แยกออกซ้ายตรงโรงแรมรัตนโกสินทร์ ข้ามคลองหลอดแล่นผ่านตลาดของเก่ามาออกท้องสนามหลวง ผ่านศาลหลักเมือง กระทรวงกลาโหม แล้วเลี้ยวเข้าไปที่สวนสราญรมย์ ดูผู้คนออกกำลังกายกันซ้ายขวาได้รอบทิศ เพราะ Segway นี้สามารถหมุนตัวได้ 360 องศา ขณะอยู่กับที่ บวกกับระบบทรงตัวอัตโนมัติ (Dynamic Stabilization) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้มั่นใจหากต้องมีการหยุดฉุกเฉินหรือหยุดอยู่กับที่ โดยไม่เสียการทรงตัวหรือล้มขณะใช้งาน |
เมื่อได้ควบคุมเจ้า Segway มานานพอสมควรแล้ว พวกเราขอร้องน้องชายที่คอยดูแล ให้ปลดระบบล็อคความเร็ว เพื่อเพิ่มจาก 10 เป็น 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเปลี่ยนแล้วสัญลักษณ์ที่แสดงก็จะเปลี่ยนจากรูปเต่าเป็นรูปกระต่าย แต่ไม่ต้องห่วงนะครับว่าคุณจะพุ่งทะยานไปได้ราวรถสูตรหนึ่ง เพราะยังไงเสียมันก็สามารถไปได้แค่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น อีกอย่างคือเมื่อคุณเริ่มจะใช้ความเร็วมากเกินไป เครื่องนี้ก็จะมีแรงต้านเพื่อควบคุมความเร็วโดยอัตโนมัติ |
ส่วนระบบขับเคลื่อน Segway ขับเคลื่อนโดยระบบมอเตอร์ 2 ชุด แยกการควบคุมล้อทั้งสองข้างอย่างอิสระ ให้กำลังรวม 5 แรงม้า สำหรับการบรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 118 กิโลกรัม เร่งความเร็วได้เต็มที่ภายในเสี้ยววินาที นอกจากนี้ระบบการทำงานต่างๆ ทั้งความเร็ว น้ำหนักและระบบการควบคุม ได้ถูกทดสอบและตั้งค่า ให้ปลอดภัยต่อผู้ใช้อย่างเหมาะสมที่สุด โดยสามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร
จากสวนสราญรมย์พวกเราก็ข้ามมาที่ท้องสนามหลวง ผมกับน้องสาวอีกคนถือโอกาสนี้เดินทางรอบสนามหลวงเป็นครั้งแรก เที่ยวนี้คงไม่ลืมพระคุณ Segway ไปชั่วชีวิต เพราะไม่เคยเดินรอบสนามหลวงสำเร็จเลยสักครั้ง ส่วนมากก็ตัดครึ่งทาง ผ่ากลางสนามหลวงอย่างเดียว
เราใช้เวลากันมาเกินสองชั่วโมงแต่ Segway กำลังยังไม่มีตก ด้วยระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ชนิดลิเธียม ไอออน ขนาด 92 เซลล์ ซึ่งพัฒนาขึ้นพิเศษ ประหยัดพลังงานสามารถใช้งานได้ไกล 39 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง มีอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ (ชาร์จแบบ Full Cycle) หรือ 20,000 กิโลเมตรต่อการใช้งานในสภาพแวดล้อมปกติ |
พวกเราใช้เวลาอยู่สนามหลวงกันจนพระอาทิตย์เริ่มเปลี่ยนสี จึงเดินทางกลับมาที่จุดเริ่มต้นคือ ท่าเรือมหาราช ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดการเดินทางในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยใช้เวลาไปประมาณ 3 ชั่วโมง นับเป็น 3 ชั่วโมงแห่งความพิเศษครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะนอกจากจะได้ท่องเที่ยวในสถานที่ๆ งดงาม พร้อมไกด์นำทางแสนสวย สต๊าฟหนุ่มหล่อและสาวสวย(พอสังเขป) ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างไม่มีที่ติแล้ว พวกเรายังได้พบกับความมหัศจรรย์ของสิ่งที่มนุษย์คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำสมัย ซึ่งได้ถูกนำมาใช้กับการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ไปพร้อมกัน |
นอกจากเส้นทางรอบเกาะรัตนโกสินทร์แล้วนั้น ทาง Segway Tour Thailand ยังให้บริการในเส้นทางท่องเที่ยวอื่นเช่น เมืองโบราณ ตลาดบางกระเจ้า ฯลฯ พร้อมทั้งให้บริการเกี่ยวกับการให้เช่า Segway ในรูปแบบต่างๆ อาทิ เพื่อเป็นเครื่องมือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์, งานอีเวนท์, ให้เช่าสำหรับทำกิจกรรมขององค์กรต่างๆ เรียกว่า Segway เครื่องนี้นอกจากอัจฉริยะแล้วยังสารพัดประโยชน์รอบด้านอีกด้วย บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ |
เรื่อง : ธนิสร หลักชัย ภาพ : อรรถวุฒิ ที่ปรึกษา / ธนิสร หลักชัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ |
บริษัท เสกเวย์ ทัวร์(ไทยแลนด์) จำกัด ชั้น 1 อาคารท่าเรือมหาราช ถ.มหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ 0 2221 4525 , มือถือ 08 5476 7917 โทรสาร 0 2221 4526 อีเมล์ contact@segwaytourthailand.com เว็บไซต์ www.segwaytourthailand.com
|
ผลงานเขียนของ คุณธนิสร หลักชัย
3 คืน 4 วัน ฝันดีที่...อันดามัน (ตอนที่ 1)
3 คืน 4 วัน ฝันดีที่...อันดามัน (ตอนที่ 2)
3 คืน 4 วัน ฝันดีที่...อันดามัน (ตอนจบ)
เนปาล..อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 1)
เนปาล..อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 2)
เนปาล..อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนจบ)
มิตรภาพเหนือระดับน้ำทะเลที่…ภูกระดึง
มิตรภาพเหนือระดับน้ำทะเลที่... ภูกระดึง (อีกครั้ง)
มิตรภาพ... สายน้ำ...และความสามัคคี (ที่ลำน้ำเข็ก)
เรื่องเล่า...จากเมืองอุบลราชธานี
เรื่องเล่า(อีกเรื่อง)...จากเมืองอุบลราชธานี
เสาให้...ให้ไปวันเสาร์ ตอน 1
เสาไห้...ให้ไปวันเสาร์ ตอนจบ
ดูหนังใหญ่... ไหว้พระนอน... ที่เมืองสิงห์
ตามร่องหนามเตยที่บ้านแม่กลางหลวง
ทองผาภูมิ... ขุมทรัพย์แห่งทิศปัจจิม (New)