นราธิวาส
จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดชายแดนใต้สุดอีกแห่งหนึ่ง มีอาณาเขตประชิดแดนมาเลเซีย โดยเฉพาะที่อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นชุมทางสำคัญ ที่สิ้นสุดทางรถไฟสายใต้ และจากนั้นจะมีขบวนรถผ่านเขตไปสู่สถานีตุมปัดในเขตมาเลเซีย เป็นจังหวัดที่มีทิวทัศน์ ธรรมชาติทั้งป่าและชายทะเล น่าสนใจน่าเที่ยวมาก เป็นดินแดนแห่งเหมืองทองคำ ทิศเหนือ จดปัตตานี ทิศใต้ จดรัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ทิศตะวันออก จดอ่าวไทย ทิศตะวันตก จดยะลา แหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจของจังหวัด คือ อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว-เขาตันหยง, อุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป, อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี, ป่าพรุโต๊ะแดง, พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕, ศาลเจ้าแม่กวนอิม, วัดชลธาราสิงเห, มัสยิดตะโละมาเนาะ 300ปี, น้ำตกสิรินธร, น้ำตกปาโจ, หาดนราทัศน์, กูโบร์หรือสุสานเจ้าเมืองยี่งอ
คำขวัญประจำจังหวัด : ทักษิณราชตำหนัก ชนรักศาสนา นราทัศน์เพลินตา ปาโจตรึงใจ แหล่งใหญ่แร่ทอง ลองกองหอมหวาน
จังหวัดนราธิวาสได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ อำเภอ ๑ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอระแงะ อำเภอสุไหงปาดี อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอรือเสาะ อำเภอยี่งอ อำเภอแว้ง อำเภอบาเจาะ อำเภอตากใบ อำเภอศรีสาคร อำเภอสุคิริน อำเภอจะแนะ และกิ่งอำเภอเจาะไอร้อง มีพื้นที่ทั้งสิ้น ๔,๔๗๕.๔ ตารางกิโลเมตร ครับ
จังหวัดนราธิวาส มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ประมาณ 1,149 กิโลเมตร โดยมีเนื้อที่ประมาณ 4,475.43 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,797,143.75 ไร่ ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดปัตตานีในเขตอำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น และอ่าวไทย ทิศตะวันออกติดต่อกับอ่าวไทยและรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทิศใต้ติดต่อกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดยะลาในเขตอำเภอบันนังสตา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้และภูเขา 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด มีป่าพรุประมาณ 361,860 ไร่ ทางแถบทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดทิวเขาสันกาลาคีรีซึ่งเป็นแนวกั้นพรมแดนไทย-มาเลเซีย ลักษณะพื้นที่จะมีความลาดเอียงจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออก พื้นที่ราบส่วนใหญ่อยู่บริเวณติดกับอ่าวไทยและที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำ 4 สาย คือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำตากใบ และแม่น้ำโก-ลก มีประชากรจำนวน 717,366 คน แยกเป็นชาย 356,229 คน หญิง 361,137 คน โดยจังหวัดนราธิวาสมีศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการอุตสาหกรรมอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่และมีความเจริญกว่าตัวจังหวัดมาก
สังคมและวัฒนธรรม
- เชื้อชาติ ส่วนมากเป็นชาวไทยเชื้อสายมลายูดั้งเดิม ชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวมาเลเซียอพยพจากมาเลเซีย
- ศาสนา ชาวไทยมุสลิม 54% ชาวไทยพุทธ 45% ชาวไทยคริสต์ 1%
- ภาษา ส่วนใหญ่ 80.4% ใช้ภาษามลายูปัตตานี นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาไทยถิ่นใต้, ภาษาไทยตากใบ และภาษาจีน
- ศิลปและวัฒนธรรม ลิเกฮูลู (ดิเกฮูลู), มะโย่ง, โนราแขก