จังหวัดตรัง
จังหวัดตรังเป็นจังหวัดหัวเมืองอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ติดทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ชายฝั่งทะเลตะวันตก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่ปรากฏในจังหวัดตรังมีอยู่ทั่วไป เช่น โครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ถ้ำซาไก อำเภอปะเหลียน ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว เครื่องประดับ ตามถ้ำต่าง ๆ เช่น เขาสามบาตร ถ้ำเขาไม้แก้ว ถ้ำเขาเทียมป่า ภาพเขียนสีที่เขาแบนะ ถ้ำตรา ล้วนเป็นหลักฐานบอกความเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์จนถึงแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ต่อมาจึงมีหลักฐานที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับอาณาจักรโบราณทางภาคใต้ในลักษณะที่เป็นเมืองท่าทางผ่าน และมีพัฒนาการมาตามลำดับ
คำขวัญประจำจังหวัด : เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพาราเด่นสง่าดอกสีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา
สำหรับผู้ที่หลงใหลบรรยากาศของหาดทราย ชายทะเล กลุ่มเกาะ และอาหารอร่อยแล้ว ไม่มีใครไม่คิดถึงตรัง หรือเมืองทับเที่ยง เมืองท่าค้าขายที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีต และเติบโตต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน โดยสั่งสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตกทอดไว้ในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
และอย่างที่รู้กันว่า ตรังเป็นดินแดนแรกที่มีการนำต้นยางพารามาปลูก ทุกวันนี้ ยางพาราคือพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ ทำรายได้เลี้ยงชีพผู้คนมาอย่างยั่งยืน ไม่เพียงเท่านั้น ความอุดมสมบูรณ์ของตรังยังรวมถึงผืนป่า แหล่งน้ำ และถ้ำน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าหาดทราย ชายทะเล และหมู่เกาะเลย
การไปเยือนจังหวัดตรังจึงนับว่าได้ท่องเที่ยวครบทุกรสชาติ ทั้งดินแดนประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ธรรมชาติ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเหมาะสมและพอเพียงในแต่ละที่ที่คุณไป
จังหวัดตรังมีเนื้อที่ประมาณ 4,941 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเล็กเนินน้อยสลับกับที่ราบ ทำให้สันนิษฐานกันว่าชื่อตรัง มาจากคำว่า "ตรังคะ" ในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่าลูกคลื่น ตามสภาพพื้นที่ของจังหวัดตรัง ขณะที่อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งบอกว่า ตรังมาจาก "ตรังเค" ภาษามลายู แปลว่า "รุ่งอรุณ" หรือ "สว่างแล้ว" เพราะสมัยก่อน เรือสินค้าจากมลายูจะแล่นมาถึงตรังตอนสว่างพอดี
ความเป็นมาของเมืองตรังนั้นเริ่มต้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยพบหลักฐานคือจารึกวัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งบอกไว้ว่า ตรังเป็นหัวเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช และหลักฐานอื่นๆ ที่พบในเวลาต่อมา ทำให้สามารถแบ่งยุคสมัยของวิวัฒนาการเมืองตรังได้เป็น 3 ช่วง คือ
1. สมัยตั้งเมืองที่ตำบลควนธานี (พ.ศ. 2354-2436) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พบหลักฐานจากทำเนียบกรมการเมืองตรังว่า พระอุไภยธานี ผู้ว่าราชการเมืองตรังคนแรก ได้สร้างหลักเมืองไว้ที่ควนธานี (อยู่ในอำเภอกันตังในปัจจุบัน ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ 8 กิโลเมตร)
2. สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ. 2436-2458) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคนี้พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ท่านเห็นว่าที่ตั้งเมืองเดิมคือควนธานีนั้นอยู่ห่างจากฝั่งทะเลมาก จึงกราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองมาอยู่ที่ตำบลกันตัง เพราะที่นี่เป็นชุมชนใหญ่ มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในช่วงที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นเจ้าเมืองนี้เองที่ตรังได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก เช่น มีการนำต้นยางพาราจากมลายูมาปลูกเป็นครั้งแรก มีการตัดถนนจากตรังไปพัทลุง สร้างท่าเรือเพื่อรองรับการค้าขายกับต่างชาติ ฯลฯ นับเป็นยุครุ่งเรืองอย่างยิ่งเลยทีเดียว
3. สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ. 2458 จนถึงปัจจุบัน) ล่วงมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า เมืองกันตังมีพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยจากอริราชศัตรู อีกทั้งมีการระบาดของไข้อหิวาตกโรค จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ตำบลทับเที่ยง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองตรังในปัจจุบันนั่นเอง
จังหวัดตรังแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอย่านตาขาว อำเภอปะเหลียน อำเภอสิเกา อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง อำเภอรัษฎา และอำเภอหาดสำราญ
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและกระบี่
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพัทลุง
ทิศตะวันตก ติดกับทะเลอันดามัน
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ททท.สำนักงานตรัง โทร. 0 7521 5867-8
สำนักงานจังหวัดตรัง โทร. 0 7521 8516, 0 7521 8960
สถานีตำรวจ โทร. 0 7521 8019, 0 7521 1311
โรงพยาบาลตรัง โทร. 0 7521 2241-3, 0 7521 8018
สถานีรถไฟ โทร. 0 7521 8012 แผนกจองตั๋ว โทร. 0 7521 3082
สถานีขนส่ง โทร. 0 7521 5718
ไปรษณีย์โทรเลข โทร. 0 7521 8521, 0 7521 8361, 0 7521 8021
สายการบินนกแอร์ โทร. 1318 หรือ 0 7521 2229
สนามบิน โทร. 0 7521 0804
ท่าอากาศยานตรัง โทร. 0 7521 8224, 0 7521 1150
หอการค้าจังหวัดตรัง โทร. 0 7521 0238, 0 7522 5353
ประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง โทร. 0 7522 0232
ตรวจคนเข้าเมืองตรัง โทร. 0 7525 1030
ตำรวจน้ำตรัง โทร. 0 7525 1130
สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว โทร. 0 7521 5580
สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ภาคใต้ เขต 1 โทร. 0 7423 2230, 0 7422 0376
ทิปส์ท่องเที่ยว
* หากจะเข้าถ้ำเขากอบ ต้องมั่นใจว่าตัวเองไม่เป็นคนกลัวที่แคบ เพราะปลายทางก่อนออกจากถ้ำนั้น เป็นโพรงแคบมาก ขนาดแค่เรือพาย 1 ลำลอดผ่านพอดี
* ทุกครั้งที่เข้าถ้ำ อย่าแตะต้องหยดน้ำตรงปลายหินย้อย เพราะไขมันจากนิ้วมือจะทำให้หินย้อยไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
* หากจะไปเที่ยวถ้ำ ทางที่ดีควรมีไฟฉายคาดศีรษะที่กันน้ำติดตัวไปด้วย ถึงแม้ผู้ประกอบการจะมีไฟฉายให้ แต่การมีเป็นของตัวเองจะสะดวกกว่า และสามารถใช้ได้ในหลายกรณี
* ก่อนลงดำน้ำ ควรทาแชมพูที่ด้านในของหน้ากากดำน้ำ จากนั้นนำหน้ากากดำน้ำไปแกว่งๆ ในน้ำทะเล แล้วค่อยสวม วิธีนี้เป็นการเคลือบฟิล์มที่หน้ากากดำน้ำ ทำให้ไม่เป็นฝ้ามัว
* เตรียมกระเป๋ากันน้ำหรือถุงกันน้ำไปด้วยทุกครั้ง เมื่อไปเที่ยวทะเล โดยเฉพาะเวลาพายคายัค เพื่อป้องกันของมีค่าเสียหายเมื่อโดนน้ำเป็นเวลานาน
* เมื่อไปเที่ยวทะเล อย่าลืมนำโลชั่นกันแดด ค่า SPF สูงๆ หมวก แว่นกันแดดไปด้วย