อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 
     มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 650 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ที่มากถึง 52 เกาะ เรียงรายตั้งแต่เขตอำเภอแหลมงอบ อำเภอเมือง และอำเภอคลองใหญ่ เกาะที่สำคัญที่สุด คือ เกาะช้าง นอกจากนี้ยังมีเกาะอื่นๆ ที่ยังคงสภาพความสวยงามตามธรรมชาติได้แก่ เกาะคลุ้ม เกาะเหลายาใน เกาะง่าม เกาะไม้ซี้ใหญ่ เกาะหวาย เกาะรัง ฯลฯ ที่ทำการอุทยานฯ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะช้างใกล้คลองธารมะยมที่ด้านหน้ามีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ของอุทยานฯ นอกจากนี้ยังมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ อีก 3 จุด ซึ่งล้วนอยู่บนเกาะช้าง คือ บริเวณอ่าวคลองสน บริเวณทางเข้าน้ำตกคลองพลู และบริเวณหมู่บ้านสลักเพชร 

    เกาะช้าง เดิมเป็นเกาะที่ไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัย หากมีความสำคัญในฐานะที่เป็นท่าจอดเรือหลบลมมรสุม เป็นแหล่งเสบียงอาหาร และน้ำจืดโดยเฉพาะบริเวณอ่าวสลักเพชร หรืออ่าวสลัด เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่โจรสลัด ชาวจีนไหหลำ และญวน ปัจจุบันบนเกาะช้างมีประชาชนอาศัยอยู่ 8 หมู่บ้าน

    เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากเกาะภูเก็ต มีเนื้อที่ประมาณ 429 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเขาสูงมีผาหินสลับซับซ้อนยอดเขาที่สูงที่สุด ได้แก่ เขาสลักเพชร มีความสูง 744 เมตร สภาพป่าโดยทั่วไปอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นป่าดิบเขา อันเป็นบ่อเกิดของต้นน้ำลำธาร ทำให้มีน้ำตกหลายแห่งบนเกาะ ชายหาด และปะการังที่สวยงามอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะ

สถานที่น่าสนใจบนเกาะช้าง ได้แก่
    บริเวณยุทธนาวีเกาะช้าง  อยู่ทางตอนใต้ของเกาะช้าง น่านน้ำทะเลตราดบริเวณอ่าวสลักเพชร อ่าวสลักคอก ยังเป็นอีกหน้าหนึ่งของบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยของไทย เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 กองทัพเรือไทยสามารถขับไล่ผู้รุกรานให้ล่าถอยไปได้ หากไทยต้องสูญเสียกองเรือ และทหารกล้าไปจำนวนหนึ่ง วีรกรรมทหารเรือไทยได้รับการจดจารึก และรำลึกถึงวันที่ 17 มกราคมของทุกปี ณ อนุสรณ์สถานยุทธนาวีที่เกาะช้าง อำเภอแหลมงอบ

    เกาะง่าม  กลายเป็นจุดปะทะจุดแรกระหว่างกองทัพเรือไทยกับฝรั่งเศส เมื่อฝรั่งเศสได้ส่งเครื่องบินเข้ามาลาดตระเวน และทิ้งระเบิดบนเกาะนี้ ส่วนเกาะหวายคือ จุดที่เครื่องบินลาดตระเวนของฝรั่งเศสถูกเรือรบหลวงสงขลา และเรือรบหลวงชลบุรียิงตกกองกำลังเรือรบของฝรั่งเศส 7 ลำรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้ของเกาะช้าง นำโดยเรือลาดตระเวนลามอตต์ ปิเกต์ เรือสลุบ 2 ลำ เรือปืน 4 ลำ แยกออกเป็น 3 หมู่ หมู่ 1 มีเรือลามอตต์ ปิเกต์ลำเดียวรุกล้ำเข้ามาทางด้านใต้ของเกาะหวาย และเกาะใบตั้ง หมู่ 2 มีเรือสลุป 1 ลำ เรือปืน 1 ลำ เข้ามาทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับเกาะหวาย หมู่ 3 มีเรือสลุป 1 ลำ เรือปืน 3 ลำ เข้ามาทางช่องด้านใต้ระหว่างเกาะคลุ้มกับแหลมบางเบ้า

    เกาะไม้ซี้  เป็นเขตปะทะระหว่างเรือลามอตต์ ปิเกต์กับเรือรบหลวงธนบุรีที่จอดประจำการอยู่ที่เกาะลิ่ม และได้เข้ามาช่วยเหลือเรือรบหลวงสงขลา และเรือรบหลวงชลบุรีที่ถูกยิงเสียหายจนจมสู่ท้องทะเลบริเวณอ่าวสลักเพชร และอ่าวสลักคอก ในที่สุดเรือรบหลวงธนบุรีถูกยิงเสียหายอย่างหนัก จนแล่นมาเกยตื้น และจมลงบริเวณแหลมงอบ

    น้ำตกธารมะยม   อยู่หลังที่ทำการอุทยานฯ เดินผ่านสวนเข้าไปประมาณ 500 เมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 3 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาสมายังน้ำตกนี้ โดยมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ วปร. สลักอยู่ที่หน้าผาน้ำตกชั้นบน

    น้ำตกคลองพลู เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวยงามที่สุดของเกาะช้าง มีน้ำตกไหลผ่านหน้าผาลงแอ่งเบื้องล่าง น้ำตกมี 3 ชั้น ทางเข้าอยู่ห่างจากอ่าวคลองพร้าว 3 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินป่าอีกประมาณ 20 นาที

    น้ำตกคลองนนทรี เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะมีทางเดินเท้าจากบ้านด่านใหม่ตามทางเดินเท้า 3 กิโลเมตร หรือจากที่ทำการอุทยานฯ เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร

    บ้านสลักเพชร-บ้านโรงถ่าน เป็นสองชุมชนใหญ่ที่สุดบนเกาะช้าง ตั้งอยู่ติดกันทางตอนใต้ของเกาะ อ่าวสลักเพชรเป็นอ่าวใหญ่ที่สุดบนเกาะ

    น้ำตกคีรีเพชร เป็นน้ำตกชั้นเดียว อยู่ห่างจากชุมชนบ้านสลักเพชรผ่านสวนยางเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร

    น้ำตกคลองหนึ่ง เป็นน้ำตกขนาดเล็ก อยู่ลึกเข้าไปจากชุมชนสลักเพชร ใกล้น้ำตกคีรีเพชร

    หมู่บ้านประมงบางเบ้า บ้านแต่ละหลังปักเสาลงในทะเล มีสะพานเชื่อมต่อถึงกัน บรรพบุรุษของคนที่นี่ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวสลักเพชร ดำรงชีวิตเรียบง่ายด้วยการทำประมงขนาดเล็กชายฝั่ง เป็นแหล่งปลาหมึกหอมชุกชุม มีแหล่งปะการังใต้น้ำ บริเวณหมู่บ้านมีท่าเรือ สะพานปลา ทำกะปิน้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาเค็ม อ่าวบางเบ้ามีชัยภูมิที่ตั้งเหมาะแก่การจอดเรือ หลบคลื่นลมเพราะมีเทือกเขา และหมู่เกาะโอบล้อมสองด้านในฤดูมรสุม จึงมีเรือมากมายเข้ามาจอดหลบคลื่นลมในอ่าวนี้

    อ่าวคลองสน เป็นอ่าวอยู่ทางเหนือสุดของเกาะฝั่งตะวันตก เป็นที่ตั้งของชุมชนบ้านคลองสน ใกล้บริเวณอ่าวมีแนวปะการังใต้น้ำ

    หาดทรายขาว เป็นหาดที่มีระยะทางยาวมากอีกแห่งหนึ่ง สามารถลงเล่นน้ำได้ มีบังกะโลตั้งอยู่หลายแห่ง มีถนนรอบเกาะตัดชิดหาดมากที่สุด

    หาดคลองพร้าว-แหลมไชยเชษฐ์ เป็นหาดทรายที่มีความยาวต่อเนื่องไปจนถึงหาดไก่แบ้ หาดทรายบริเวณนี้มีความลาดมาก สามารถเล่นน้ำได้ มีบังกะโลให้เช่าพักหลายแห่ง มีห้องพักที่ได้มาตรฐาน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ตอนเหนือสุดของอ่าวคลองพร้าวติดกับแหลมไชยเชษฐ์ ซึ่งมีแหลมหิน มีทัศนียภาพสวยงาม แต่ไม่สามารถเล่นน้ำได้

    หาดไก่แบ้ เป็นหาดที่มีความยาวติดต่อกับหาดคลองพร้าว เป็นหาดทรายที่มีความลาดพอสมควร สามารถเล่นน้ำได้โดยไม่เป็นอันตราย มีบังกะโลราคาประหยัดให้เช่าหลายแห่ง บางแห่งมีจักรยานเสือภูเขาให้เช่า หน้าหาดมองเห็นเกาะหยวก เกาะมันนอกและเกาะมันใน

    อ่าวใบลาน อยู่ถัดขึ้นไปจากหาดไก่แบ้มีทางเท้าตัดผ่านภูเขาใช้เวลาเดินเท้าจากหาดไก่แบ้ประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างทางสามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของทิวเขา อ่าวใบลานมีลักษณะเป็นหาดทรายยาวเงียบสงบเหมาะแก่การเล่นน้ำ และพักผ่อน

    หาดทรายยาว อยู่ทางตอนใต้ของเกาะช้างใกล้กับอ่าวสลักเพชร มีลักษณะเป็นอ่าวที่มีหาดทรายทอดยาว เล่นน้ำได้ สามารถเดินป่าชมจุดยุทธนาวีที่เกาะช้าง และชมทัศนียภาพตามหมู่เกาะใกล้เคียง เช่น เกาะเหลายา อ่าวสลักเพชร เกาะหวาย ที่หาดทรายขาวมีบริการที่พักไว้สำหรับนักท่องเที่ยวด้วย

การเดินทางไปเที่ยวเกาะช้าง
     ที่อำเภอแหลมงอบ มีท่าเรือที่สามารถโดยสารไปยังเกาะช้าง ทั้งหมด 3 ท่า ได้แก่

     - ท่าเทียบเรือแหลมงอบ เรือโดยสารที่ใช้เป็นเรือประมงดัดแปลง ไปขึ้นที่ เกาะช้าง ที่บริเวณบ้านด่านเก่า ค่าเรือโดยสาร 50 บาท ใช้เวลาประมาณ 45 นาที มีเรือออกทุกชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. เรือกลับจากเกาะช้างมีหลายเที่ยว ตั้งแต่เวลา 07.00-16.00 น.

     นอกจากนั้นที่บริเวณท่าเรือยังมีตัวแทนรับจองห้องพักของรีสอร์ทต่างๆ ตั้งอยู่ และนักท่องเที่ยวสามารถหาเรือเช่า (เรือประมงดัดแปลงขนาดเล็กจุได้ประมาณ 10 คน) สามารถไปเกาะช้าง และเกาะอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงในอัตราวันละประมาณ 3,500-5,000 บาท หรือสามารถติดต่อ คุณแสงจันทร์ สิงหพันธุ์ ห้องอาหารแสงจันทร์ 99/3 หมู่ 1 ชายทะเลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โทร. 0 3959 7197, 0 3959 7299

     - ท่าเรือเซ็นเตอร์พอยท์เฟอร์รี่  มีเรือเฟอร์รี่ออกทุกวัน จากท่าเรือแหลมงอบไปขึ้นที่ท่าเรือด่านเก่า ที่เกาะช้าง จากท่าเรือแหลมงอบอยู่ห่างลงมาทางใต้ประมาณ 500 เมตร อัตราค่าโดยสารไปกลับราคาคนละ 120 บาท รถยนต์ 4 ล้อ ไปกลับ ฟรี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 45 นาที มีเรือออก เที่ยวไป ตั้งแต่เวลา 06.00–19.00 น. เที่ยวกลับ เวลา 06.00–19.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3953 8196
 
     - ท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวธรรมชาติ ไปขึ้นที่เกาะช้างที่ท่าเรือเกาะช้างเฟอร์รี่บริเวณอ่าวสับปะรด มีบริการเรือเฟอร์รี่ข้ามไปเกาะช้าง ค่าบริการสำหรับรถยนต์ 4 ล้อ พร้อมคนขับข้ามแบบไปเกาะช้างต้องเสียค่าใช้จ่ายคันละ 150 บาท และสำหรับนักท่องเที่ยวราคาคนละ 60 บาท ใช้เวลาในการเดินทาง 45 นาที มีเรือออกทุกๆ 30 นาที เที่ยวไป ตั้งแต่เวลา 07.00–19.00 น. เที่ยวกลับ 07.00–18.00 น. เฟอร์รี่เกาะช้างสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 3959 7143, 0 3959 7434, 0 3952 1661 (เบอร์โทรที่ฝั่งอ่าวสับปะรด) เกาะช้างเฟอร์รี โทร. 0 3952 8288-9

     การเดินทางบนเกาะ จากท่าเรือมีรถสองแถวไปยังหาดทรายขาว คลองพร้าว ไก่แบ้ อัตราค่ารถ 30 บาท ส่วนหาดอื่นๆ ต้องเหมา และตกลงราคาก่อนเดินทาง

     ค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลผ่านเข้าไปในเขตอุทยานฯ โดยจะตั้งบู๊ทบริเวณท่าเรือเฟอร์รี่ทั้ง 3 แห่งบนฝั่งอำเภอแหลมงอบ  คนไทย ผู้ใหญ่ คนละ 40 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ คนละ 200 บาท เด็ก 100 บาท สถานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานมีบริการบ้านพักรายละเอียดติดต่อ โทร. 0 2562 0760 หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่ http://www.dnp.go.th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เขาแหลม เกาะช้างใต้ เขาแหลม แห่งเกาะช้างใต้ เชื่อไหมว่าเดือนเมษาขณะที่โลกร้อนระอุ แต่ที่เกาะช้างกลับมีทะเลหมอก ให้พวกเราได้อาบแทนน้ำกัน (สุดๆ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook