พระนครศรีอยุธยา

พระนครศรีอยุธยา

พระนครศรีอยุธยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา

417 ปีแห่งการเป็นราชธานีเก่าแก่ของสยามประเทศ ประกอบด้วยราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัย ราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 33 พระองค์ โดยมีปฐมกษัตริย์ คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระนครศรีอยุธยาจึงนับเป็นราชธานีที่มีอายุยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ตลอดระยะเวลา 417 ปี ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้เป็นเพียงช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของชนชาติไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์อารยธรรมของหมู่มวลมนุษยชาติ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศอีกด้วย

แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายเสียหายจากสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือจากการบุกรุกขุดค้นของพวกเรากันเอง แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันนี้ยังมีร่องรอยหลักฐาน ซึ่งแสดงอัจฉริยภาพ และความสามารถอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษแห่งราชอาณาจักร ผู้อุทิศตนสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรม และความมั่งคั่งไว้ให้แก่ผืนแผ่นดินไทย หรือแม้แต่ชาวโลกทั้งมวล จึงเป็นที่น่ายินดีว่า องค์การยูเนสโก้ โดยคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติรับนครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย - อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจะมีผลให้ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาที่ประเทศต่างๆ ได้ทำร่วมกัน จึงสมควรที่อนุชนรุ่นหลังจะได้ไปศึกษาเยี่ยมชมเมืองหลวงเก่าของเราแห่งนี้

สถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นโบราณสถาน ได้แก่ วัด และพระราชวังต่างๆ พระราชวังในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอยู่ 3 แห่ง คือ พระราชวังหลวง วังจันทรเกษม หรือวังหน้า และวังหลัง นอกจากนี้ยังมีวัง และตำหนักนอกอำเภอพระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นที่สำหรับเสด็จประพาส ได้แก่ พระราชวังบางปะอิน ในเขตอำเภอบางปะอิน และตำหนักนครหลวง ในเขตอำเภอนครหลวง

ภูมิประเทศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่าน 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางด้านทิศตะวันตก และทิศใต้ แม่น้ำป่าสักไหลผ่านทางทิศตะวันออก และแม่น้ำลพบุรี (ปัจจุบันเป็นคลองเมือง)ไหลผ่านทางด้านทิศเหนือ แม่น้ำสามสายนี้ไหลมาบรรจบกันโอบล้อมรอบพื้นที่ของตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ตัวเมืองจึงมีลักษณะเป็นเกาะ เราจะเห็นบ้านเรือนปลูกเรียงรายหนาแน่นตามสองข้างฝั่งแม่น้ำแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำมายาวนาน

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 76 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,556 ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 16 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอนครหลวง อำเภอภาชี อำเภอบ้านแพรก อำเภอบางซ้าย อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง อำเภอบางบาล อำเภอมหาราช อำเภอบางปะหัน อำเภอเสนา อำเภออุทัย อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอท่าเรือ และอำเภอวังน้อย

คำขวัญประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ ราชธานีเก่า อู่ข้าวอู่น้ำ เลิศล้ำกานท์กวี คนดีศรีอยุธยา

อาณาเขต

ทิศเหนือ - ติดต่อกับจังหวัดลพบุรี อ่างทอง และสระบุรี
ทิศใต้ - ติดต่อกับจังหวัดปทุมธานี และนนทบุรี
ทิศตะวันออก - ติดต่อกับจังหวัดสระบุรี
ทิศตะวันตก - ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

* ควรขับรถวนรอบเมืองเพื่อดูวัดวาอารามรอบๆ เกาะเมืองในภาพกว้างๆ ก่อน โดยขับรถไปตามถนนอู่ทอง ซึ่งวนรอบเมือง เส้นทางนี้จะผ่านสถานที่สำคัญมากมาย เช่น พระราชวังโบราณ เจดีย์ศรีสุริโยทัย วัดกษัตราธิราช วัดธรรมาราม วัดธรรมิกราช วัดราชประดิษฐาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม ฯลฯ

* วัดที่ไม่โด่งดังมาก แต่มีโบราณวัตถุสำคัญและเต็มไปด้วยเรื่องราวความเป็นมา มีอยู่หลายวัด เช่น วัดเชิงท่า อยู่ห่างจากวัดหน้าพระเมรุซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องไปไม่ไกล มีศาลาการเปรียญอยู่ริมน้ำ ภายในศาลามีพระรูปพระภิกษุสิน (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) บานหน้าต่างและมู่ลี่ไม้ซึ่งมีภาพวาดศิลปะจีน วัดแม่นางปลื้ม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว พุทธลักษณะงดงามแบบอยุธยาดั้งเดิม เป็นต้น

* นอกเกาะเมืองมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจ คือเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งด้านหน้ามีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงม้าศึกขนาดใหญ่ โดดเด่นเห็นได้ขณะรถแล่นผ่าน เป็นประติมากรรมที่งดงามมาก ควรไปเยือนช่วงบ่ายแก่ใกล้เย็น เพราะแสงมลังเมลืองจะสาดจับพระบรมราชานุสาวรีย์ ดูสวยจับใจ

* หากจะไปทำบุญไหว้พระตามวัดดังๆ เช่น วิหารพระมงคลบพิตร วัดท่าการ้อง วัดกษัตราธิราช ฯลฯ ควรไปวันธรรมดา หรือถ้าจำเป็นต้องไปในวันเสาร์ อาทิตย์ ควรไปถึงแต่เช้า เพราะช่วงบ่าย ทัวร์ไหว้พระ 9 วัดของ ขสมก. จะมาลง ซึ่งในช่วงเวลานั้น ผู้คนจะแออัดมาก

* เปลี่ยนบรรยากาศด้วยการชมโบราณสถานประดับไฟยามค่ำคืน วัดสำคัญหลายแห่งมีการส่องไฟสวยงาม เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดไชยวัฒนาราม ฯลฯ โดยเฉพาะในช่วงการจัดงานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก เดือนธันวาคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook