อุทยานโกสัมพี

อุทยานโกสัมพี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วนอุทยานโกสัมพี อยู่ในอำเภอโกสุมพิสัย ตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๘ ไปประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ทางเข้าวนอุทยานฯ อยู่ตรงข้ามทางเข้าที่ว่าการ อำเภอโกสุมพิสัยตรงเข้าไปประมาณ ๔๕๐ เมตร ลักษณะเป็นสวนป่า มีหนองน้ำธรรมชาติ บรรยากาศร่มรื่น เป็นที่อาศัยของนกต่างๆ และฝูงลิงจำนวนมาก

  บริเวณป่าหนองบุ้งที่ดำเนินการสำรวจนี้เป็นที่สาธารณะประโยชน์อยู่ติดกับหมู่บ้านคุ้มกลาง หมู่ที่ 1 ตำบลหัวขวาง ในเขตสุขาภิบาล อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ป่าหนองบุ้งอยู่ห่างจากอำเภอโกสุมพิสัยประมาณ 500 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 125 ไร่ โดยส่วนอุทยานแห่งชาติเริ่มเข้าดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีชื่อว่า วนอุทยานโกสัมพี

ประวัติความเป็นมา

            ป่าหนองบุ้งเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติและมีศาลเจ้าปู่ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชานับถือของชาวบ้านท้องถิ่นเป็นคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอโกสุมพิสัยมาตั้งแต่เดิม และจากการบอกเล่าของราษฎรผู้สูงอายุทั่วไปในท้องถิ่นว่า ไม่มีผู้ใดทราบว่าใครเป็นผู้สร้างศาลาเจ้าปู่หรือศาลเจ้าปู่ตาคนแรก แต่ศาลเจ้าปู่ได้มีการก่อสร้างบูรณะเพิ่มเติมให้อยู่ในสภาพดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติที่อยู่ใกล้ชุมชนที่สุดแห่งหนึ่งและยังมีลิงวอกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นลิงวอกชนิดเดียวกับลิงวอกที่อยู่ในศาลพระกาฬ จังหวัดลพบุรี ต่อมากรมป่าไม้จึงได้ทำการสำรวจพื้นที่และจัดตั้งเป็นวนอุทยาน ซึ่งมีชื่อว่า วนอุทยานโกสัมพี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 เพื่อนุรักษ์ทรัพยากร-ธรรมชาติไว้เพื่อศึกษาและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป

ลักษณะสภาพพื้นที่

            ป่าหนองบุ้งเป็นป่าดงดิบมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำชี ในเขตสุขาภิบาล- อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ภายในบริเวณป่าหนองบุ้ง ซึ่งเป็นหนองน้ำธรรมชาติ ขนาดเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ มีน้ำตลอดอีกประมาณ 1- 1.50 เมตร บริเวณป่าหนองบุ้งด้านทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับถนนข้างมณฑปหลวงพ่อมิ่งเมือง และวัดกลางโกสุมพิสัย จะมีลักษณะเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติมาตั้งแต่เดิม เนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ และบริเวณที่อยู่ถัดลงไปทางด้านทิศตะวันตกจนจดลำชีหลง เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ส่วนที่ดินที่เหลืออีกประมาณ 20 ไร่ นั้นเป็นที่เคยถูกบุกรุกแผ้วถางป่ามาแล้วเป็นหย่อม ๆ และปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าโดยไม่มีผู้ใดเข้ายึดครองกรรมสิทธิ์ สำหรับที่ดินบริเวณที่ไม่ได้บุกรุกแผ้วถางทำลายป่าจะมีไม้ยางขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 50 - 70 ต้น ซึ่งเป็นยางนา

สภาพอากาศ

       สภาพอากาศในท้องที่บริเวณป่าหนองบุ้งแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

                           1. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน - พฤศจิกายน

                           2. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน ธันวาคม - กุมภาพันธ์

                           3. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคม - พฤษภาคม
   
   


ชนิดพันธุ์ไม้

              มีพรรณไม้หลายชนิดส่วนใหญ่ที่สำคัญได้แก่ กะเบา ยาง ชมภู่ป่า หว้า ทองกวาว กระโดดสำหรับไม้พื้นล่างส่วนใหญ่ ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง หวาย ตดตะกั่ว มะดัน นมแมว คัดเค้า และไม้ไผ่ นอกจากนั้นยังมีต้นจามจุรี หรือก้ามปู ซึ่งชาวบ้านนำไปปลูกไว้ เพื่อเป็นร่มเงาในการเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจ อนึ่ง จากคำบอกเล่าของราษฎรท้องถิ่นได้ทราบว่า ป่าหนองบั้ง เดิมสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งป่ายังไม่ถูกบุกรุกแผ้วถาง นอกจากจะมีพรรณไม้ดังกล่าวมาแล้ว ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้มีค่านานาชนิด อาทิเช่น มะค่าโมง ตะเคียนทอง ตะแบกใหญ่ เป็นต้น

ชนิดสัตว์ป่า

               ชนิดสัตว์ป่าที่ยังมีเหลืออยู่ในปัจจุบันที่สำคัญได้แก่ ลิง ซึ่งมีอยู่ 2 ฝูง จำนวนประมาณ 500 ตัว และยังมีนกกางเขนบ้าน นกกิ้งโค้ง นกสาริกา นกเอี้ยงหงอน นกปรอดสวน นกปรอดหัวโขน นกอีเสือหัวดำ และพวกนกกระจิบธรรมดา

การเดินทาง

              การเดินทางไปวนอุทยานโกสัมพี อำเภอดกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม นั้นสะดวกสบายมากที่สุด คือไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 208 จังหวัดมหาสารคาม ไปตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ประมาณ 28 กิโลเมตร ก็จะถึงวนอุทยานโกสัมพี อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม หรือจะเดินทางจากตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นก็ได้ ระยะทางประมาณ 28 กิโลเมตรเช่นกัน

สิ่งอำนวยความสะดวก

            สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกนั้นทางวนอุทยานโกสัมพี ไม่มีบ้านพักสำหรับบริการแก่นักท่องเที่ยวเหมือนกับอุทยานแห่งชาติ หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะไปพักแรมค้างคืนหรือทัศนศึกษาหาความรู้ทางธรรมชาติ โปรดนำเต้นท์ไปกางเองทางวนอุทยานได้จัดสถานที่ไว้ให้พร้อมกับห้องสุขา โปรดเตรียมอาหารไปเองแล้วไปติดต่อขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่วนอุทยานโกสัมพีโดยตรง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 5614232 ต่อ 719 ฝ่ายจัดการวนอุทยาน ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพ ฯ 10900 ในเวลาราชการ หรือสำนักงานป่าไม้จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม โทร. (043) 723099

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook