ซาปา
สุดสายปลายทางรถไฟในเวียตนามเหนือ สุดยอดตลาดสีสันแห่งชนเผ่า สุดยอดขุนเขาฟานซีปันหลังคาอินโดจีน สุดยอดอากาศหนาวทั้งปีที่ ซาปา
ผมรู้สึกห่วงหน้าพะวงหลังทุกครั้งที่ออกเดินทางจากบ้านไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในทริปที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน เพราะที่บ้านมีเรื่องให้ต้องเป็นห่วงอยู่หลายเรื่อง อาทิ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่เคยหยุดทำงานภายในบ้าน ซ้ำยังไม่เคยมองเห็นความสูงวัยในตัวผม และลูกน้อยสี่ขาสองตัวที่มักจะเห่าหอน หรือไม่ก็กรนเสียงดังในยามดึกดื่นเป็นประจำ
แต่แล้วผมก็ต้องตัดใจอำลาเรื่องราวอันน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีพี่สาวที่นารักชักชวนให้เดินทางไปเที่ยวยังเมืองที่ผมใฝ่ฝันอยากจะไปให้ถึงมานาน ด้วยเหตุผลความเป็นสุดยอดหลายๆ สุดยอด ดังที่ได้เขียนไว้ข้างต้น บวกกับความฝันที่อยากจะสานให้เป็นจริง วันนี้โอกาสมาถึงแล้ว ไฉนเลยจะปล่อยให้เป็นเพียงความฝันต่อไป โดยที่ไม่ลุกขึ้นมาเก็บกระเป๋าแล้วออกเดินทาง “ซาปา” แห่งประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม
สุดสายปลายทางรถไฟในเวียตนามเหนือ พึ่งจะมีโอกาสนั่งรถไฟของเวียตนามเป็นครั้งแรกก็ในคืนนี้นี่เอง ตอนที่รอเวลารถไฟออกจากสถานีในเมืองฮานอยนั้น หากเป็นเวลาที่อยู่บ้านปกติแล้วคงใกล้เคียงกับเวลาที่ดูละครหลังข่าว สถานีรถไฟในเมืองฮานอยวุ่นวาย และเก่าโบราณพอๆ กับหลายสถานีรถไฟในเมืองไทย |
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมี JR (Japanese Railway) หรือฝรั่งเศสจะมี รถไฟ TGV ที่วิ่งได้รวดเร็วปานกระสุนปืนแล้ว แต่ในแถบอินโดจีนของเราก็ยังอนุรักษ์ม้าเหล็กพร้อมตู้พ่วงอันสุดแสนคลาสสิคอยู่ (เมื่อไม่กี่วันก่อนจะมาเวียตนาม รถไฟไทยจอดเสียอยู่ก่อนถึงสถานีรังสิต 1 ชั่วโมงกว่า ทำเอาธุระปะปังของผมในวันนั้นปั่นป่วนไปหมด) ก็คงต้องรอกันต่อไป อย่างว่าเขาให้ขึ้นฟรีแล้วยังจะมาบ่นอีก…ผมว่าขอเสียสตางค์ดีกว่าครับ แต่ขอให้ตรงต่อเวลาหน่อยก็สุดยอดแล้ว…ทีนี้ละ รฟท. จะมีคนมาใช้บริการกันมากขึ้น ลดโลกร้อนได้ด้วยนะ…ขอบ่น |
รถไฟเวียตนามก็มีลักษณะคล้ายๆ กับรถไฟไทย รูปร่างหน้าตาละม้ายกัน ตัวสถานีก็คลาสสิคใกล้เคียงกัน แต่ภายในที่เป็นห้องนอนจะค่อนข้างมีเตียงที่เล็กและแคบกว่ารถไฟบ้านเรา การจะไปให้ถึงเมืองซาปาโดยสะดวกที่สุดก็จะต้องขึ้นรถไฟไปลงที่จังหวัดลาวไค (Lao Cai) ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ตอนเหนือของเวียตนาม และเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน โดยมีทางรถไฟเชื่อมต่อไปถึงเมืองคุนหมิงของจีนได้ แต่คงต้องนั่งรถไฟต่อไปอีก 540 กิโลเมตร (ไปอีกไกลเลยทีเดียว) จึงถือได้ว่าที่สถานีลาวไคนี้ เป็นจุดสิ้นสุดของทางรถไฟสายเหนือในประเทศเวียตนาม
เมื่อลงที่สถานีลาวไคแล้ว ก็ต้องนั่งรถต่อไปยังเมืองซาปา เป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตรเศษ เส้นทางลาดยางขึ้นเขาลงเขาแคบๆ มีทิวทัศน์สองข้างทางสวยงามให้ดูไม่น่าเบื่อ ที่นอนของผมคืนนี้คือเตียงชั้นบน ต้องปีนป่ายขึ้นไปหน่อย เก็บสัมภาระเข้าที่เข้าทางเรียบร้อย ลงมาล้างหน้าให้หายคราบมัน แล้วก็เป็นอันเตรียมตัวปีนขึ้นไปเข้านอนได้ โชคดีวันนี้รถไฟออกตรงเวลา แถมแอร์เย็นเฉียบไม่มีปัญหา ในห้องบนตู้รถไฟแต่ละห้องมีสี่เตียง และในห้องที่ผมพักนั้นมีไกด์ชาวเวียตนามชื่อลุงมี เข้าพักอยู่ด้วย |
ลุงมี เล่าอะไรให้ฟังหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวเวียตนามในช่วงสงคราม คงเป็นเพราะลุงแกเคยเป็นทหารเวียตกง (ทหารฝ่ายท่านโฮจิมินห์) มาก่อน เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาจึงออกรสได้อย่างน่าสนใจ
ผมประทับใจอยู่ตอนหนึ่งที่ลุงมีเล่าให้ฟังว่า ทหารเวียตกงในสมัยนั้นตัดสินใจร่วมอุดมการณ์กับท่านโฮจิมินห์ ด้วยการสมัครใจ ส่วนใหญ่ไม่มีการบังคับจิตใจให้มาเป็นทหาร เพราะในช่วงเวลานั้น ประเทศเวียตนามถูกกดดันจากมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก ถูกกดดันทั้งสภาพจิตใจและร่างกาย ประมาณว่า หากดำเนินชีวิตต่อไปก็เท่านั้น ซ้ำสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ครอบครัวแร้นแค้น อาหารประทังชีวิตก็แทบไม่มีทั้งที่เป็นผู้ปลูกข้าวกินเองแท้ๆ
ด้านสิ่งบันเทิงเริงใจไม่ต้องพูดถึง ไม่มีให้ได้ยลหรือสดับรับฟัง สู้สมัครเข้ามาเป็นทหารกับท่านโฮจิมินห์เสียยังดีกว่า อย่างน้อยข้าวก็มีกิน บุหรี่ก็มีสูบ…แม้จะไม่มีค่าจ้างตอบแทนก็ตาม ทั้งยังมีความหวังที่จะได้เห็นลูกหลานในประเทศได้มีอิสรภาพ…นี่กระมังสิ่งที่ชาวเวียตนามต้องการ
ผมฟังลุงแกเล่าแล้ว รู้สึกหดหู่ และชื่นชมชาวเวียตนาม “ประเทศชาติของตนแท้ๆ แต่มีปัญหาเพราะคนอื่นที่ไม่รู้จักพอเข้ามารังแก” ไม่เหมือนประเทศของผมเลย ที่คอยแต่มีปัญหากัน เพียงเพราะผลประโยชน์ของตนเอง และพรรคพวก….ซะงั้น
รถไฟพาผมและคนอื่นๆ มาถึงจังหวัดลาวไคในตอนเช้าตรู่ พี่เล็กพาทุกคนเข้าที่พัก ซึ่งเป็นโรงแรมด้านหน้าสถานีรถไฟ เพื่อล้างหน้าล้างตา และรับประทานอาหารเช้า ก่อนที่จะออกเดินทางไปเที่ยวกันต่อ |
วันนี้ท่าทางอากาศดี แถมมีลมเย็นโชยมาไม่ขาด ลุงมีบอกว่า “ที่ซาปาจะหนาวกว่านี้อีก เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สูง จึงทำให้อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี โดยในบางปีที่อากาศหนาวจัดนั้น จะมีหิมะตกด้วย”
เมื่อทุกคนพร้อม รถบัสของเราก็ออกเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกของวันนี้ นั่นก็คือ ตลาดบัคฮา (Bac Ha Market) โดยอยู่ห่างจากจังหวัดลาวไคไปทางทิศตะวันออกประมาณ 40 กิโลเมตร
สุดยอดตลาดสีสันแห่งชนเผ่า ตลาดบัคฮา เป็นตลาดนัดของชาวเขา โดยสามารถเรียกได้ว่า เป็นตลาดที่มีชาวเขาเผ่าต่างๆ มาชุมนุมแลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้ากันมากที่สุด โดยจะมีการซื้อขายสินค้ากันเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น หากเราไปเที่ยวกันในวันอื่นคงไม่ได้เห็น ณ ตลาดแห่งนี้ ชนเผ่าที่เข้ามาทำมาค้าขาย หรือเดินทางมาเป็นผู้ซื้อสินค้าจำเป็นกลับไปใช้ยังหมู่บ้านของตน ที่มีมากก็ได้แก่ ชาว ม้ง และ ไต นอกนั้นก็เป็นชนเผ่าอื่นๆ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่รายรอบเมืองบัคฮา |
สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว การเดินทางไปยังตลาดบัคฮานี้ ส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อต้องการไปชมวิถีชีวิตชาวชนเผ่า โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ชาวเขาแต่ละเผ่าล้วนจะให้ความสำคัญของการมาตลาดในวันอาทิตย์กันมาก เนื่องจากตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และรายได้ ที่ทุกคนจะได้นำสินค้าของตนมาขาย หรือแลกเปลี่ยน นำของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสำหรับตนเอง และครอบครัวกลับไป
|
ผมเดินสังเกตดูว่า ชนเผ่าต่างๆ ที่เดินทางมายังตลาดแห่งนี้ ล้วนแต่งกายสวยงาม สะอาด เสื้อผ้าส่วนใหญ่มีสีสันสวยงาม ผ่านการเย็บปักอย่างประณีตบรรจง ทั้งยังมีการวางขายเสื้อผ้าแบบเดียวกับที่สวมใส่นี้อยู่มากมาย |
เมื่อสอบถามถึงราคาดู ก็รู้สึกสมน้ำสมเนื้อกับชิ้นงาน กระโปรงแต่ละตัวราคาประมาณ 400 บาท ขึ้นไป เสื้อก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าหนาๆ มีลูกปัดหลากสีปักเป็นลวดลายเต็มผืนผ้าดูละลานตา ผมไม่รู้หรอกครับว่า เขาเรียกว่าลายอะไร แต่ดูแล้วทำให้คิดถึงคนปัก ป่านนี้สายตาคงพิการไปแล้วกระมัง |
ลายที่ถี่ยิบขนาดนี้ กว่าเข็มร้อยด้ายจะร้อยเรียงลูกปัดเข้าไปปักอยู่ที่เนื้อผ้าได้แต่ละเข็ม แต่ละจุด คงต้องใช้ความพิถีพิถันน่าดู พลันจินตนาการถึงผู้ปักถักร้อยไปว่า |
คงนั่งอยู่ในบ้านท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เบื้องหน้าคงเป็นขุนเขา ไต้ถุนบ้านคงมีเล้าหมู หรือไม่ก็เป็ดไก่ ทั้งยังมีลูกน้อยให้กวนใจอีกเป็นโขยง….แต่เขาก็ยังสามารถสร้างผลงานมาให้ผู้คนพลัดถิ่นอย่างผมได้ตระการตาอัศจรรย์ใจ นี่แหละหนาที่เขาเรียกว่า “งานแฮนด์เมด” มักสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้เราได้ทึ่งกันอยู่เสมอ |
นอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์ที่วางอยู่ดารดาษแล้ว ยังมีสินค้าอื่นๆ อาทิ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ถังพลาสติก ผงซักฟอก ไปจนถึงอุปกรณ์ทำมาหากินอย่างกับดักสัตว์ และอีกมากมายสมกับเป็นตลาดหลากหลายชนเผ่าจริงๆ |
ในด้านการบริการที่เห็นสะดุดตาก็มี อาชีพตัดผม เขาตัดกันกลางตลาดนี่แหละครับ ร้านบริการก็เป็นเพิงไม้ที่ปลูกสร้างง่ายๆ อุปกรณ์มีไม่มาก แค่เพียงบัตเตอร์เลี่ยน กรรไกร และก็หวี คนมาใช้บริการถึงกับต้องนั่งรอคิวกันเชียว |
มีคนเคยบอกไว้ว่า ตลาดเป็นจุดที่เราจะได้เห็นวิถีชีวิตท้องถิ่นได้อย่างชัดเจนมากที่สุด ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง
|
จากตลาดบัคฮา เรานั่งรถย้อนกลับมาที่เมืองลาวไคกันอีกครั้ง ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังเมืองซาปา สถานที่เป็นไฮไลท์ของทริป
สุดยอดขุนเขาฟานซีปันหลังคาอินโดจีน รถบัสค่อยๆ ไต่ระดับความสูงมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยมีจุดหมายอยู่ที่เมืองซาปา ระยะทางจากจังหวัดลาวไค สู่ เมืองซาปา นั้นอยู่ที่ 30 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย จึงนับได้ว่าเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายมาก หากใครจะเดินทางมาด้วยตนเองก็สามารถทำได้ |
โดยการ ลงเครื่องบินที่ฮานอย แล้วจองตั๋วนอนรถไฟมาลงที่จังหวัดลาวไค แล้วก็มาต่อรถยนต์ไปยังเมืองซาปา จะลำบากก็ตรงเรื่องตั๋วรถไฟ และการต่อรองราคากับแท็กซี่กับที่นี่แหละครับ โชคดีเจอคนดีก็ได้ราคาถูกหน่อย โชคร้ายก็ถูกชาร์จกันไป อันนี้แล้วแต่ดวงครับ |
เมืองซาปาตั้งอยู่บนความสูงประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ก็สูงกว่าภูกระดึงในบ้านเราประมาณ 300 เมตร เลยทำให้เมืองซาปาแห่งนี้มีอากาศหนาวเย็นตลอดปี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียตนามในสมัยนั้น นายทหารฝรั่งเศสจึงชอบภูมิอากาศ และภูมิประเทศเมืองซาปาเป็นอย่างมาก ถึงกับลงทุนสร้างตึกรามบ้านช่องขึ้นมากมายตามไหล่เขา เอาไว้เป็นสถานที่ตากอากาศของนายทหาร |
คงจะมีความสุขน่าดูละตอนนั้น เพราะทิวทัศน์เมืองซาปาสวยหยอกใครซะที่ไหน ขนาดผมเมื่อรถบัสจอดที่เมืองซาปาแล้ว ยังยืนอึ้งอยู่พักใหญ่ เมืองนี้เขาสวยเป็นระเบียบจริงๆ มีถนนสะอาดบ้านเรือนปลูกสร้างในรูปแบบใกล้เคียงกันคือสไตล์ฝรั่งเศสผสมผสานเอเซีย ออกมาก็คล้ายๆ โคโรเนียล และชิโนโปรตุกิส คล้ายกับถนนถลางจังหวัดภูเก็ตบ้านเรา |
ที่ว่าทหารฝรั่งเศสคงมีความสุขน่าดูนั้น ไม่เพียงแต่อาคารที่ก่อสร้างเอาไว้พักผ่อน แต่ยังเรื่องทิวทัศน์ของเมืองนี้ หากเราได้เข้าไปพักในโรงแรมของเมืองซาปาแล้ว โรงแรมเกือบทุกแห่งก็คืออาคารเก่าที่สร้างในสมัยฝรั่งเศสเข้ามาปกครองนั่นแหละ โดยจะสามารถชมวิวทิวทัศน์กำแพงภูเขาที่ตั้งอยู่ด้านหลังของโรงแรมได้ประมาณ 180 องศา เลยทีเดียว และหนึ่งในนั้นก็คือ ยอดเขาฟาซีปัน (Fansipan) ซึ่งถือได้ว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแถบอินโดจีน จนได้สมญานามว่าหลังคาแห่งอินโดจีน คือมีความสูงถึง 3,143 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ยอดเขาฟาซีปัน จึงเป็นความใฝ่ฝันของนักเดินป่า นักท่องเที่ยวเชิงผจญภัย มากมายที่ต้องการจะเดินทางไปให้ถึงสักครั้งในชีวิต ว่ากันว่าการเดินทางไปสู่ยอดเขาฟานซีปันนั้น ต้องใช้ความพยาม ทั้งกำลังกาย และกำลังใจอย่างมาก เพระาว่าเส้นทางค่อนข้างสูงชัน และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรให้ นักท่องเที่ยว หรือบริษัทนำเที่ยวจะต้องเตรียม และนำขึ้นไปเอง
ร้านค้าในเมืองซาปา จึงเปรียบเสมือนศูนย์กลางของนักเดินทางจากทั่วโลก ที่ต้องการเดินทางมาเพื่อพิชิตหลังคาอินโดจีน เศรษฐกิจในเมืองซาปาจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยธุรกิจท่องเที่ยว แต่ผู้นำ และชาวเวียตนาม เขามีวิสัยทัศน์ดี (อันนี้ขอชม) เนื่องจากเขาดูประเทศรอบข้างที่คุยว่า เจริญกว่าอย่างเมืองไทยเราเป็นแบบอย่าง อะไรที่คิดว่าต่อไปจะนำความเสียหาย หรือทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจท่องเที่ยว เขาจะไม่ทำกัน เขาจะมีการประชุม มีการวิเคราะห์ถึงผลดีผลเสียก่อนเสมอ
และก่อนที่จะนำสิ่งๆ ต่างๆ เข้ามาสู่บ้านเมืองของเขา พูดง่ายๆ ว่า “เขามักจะคิดไกลกว่า” และไม่ได้คิดเพื่อใครคนใดคนหนึ่งหรือพวกพ้อง หลายต่อหลายครั้ง ที่บ้านเมืองของเรา หรือในระดับองค์กรหลายองค์กร ต้องพังทลายลงไป เพราะผู้นำมองการไม่ไกล เห็นเพียงสิ่งรอบตัวที่ฉกฉวยได้ไว หรือไม่ก็เพราะเอาใจคนรอบข้าง เห็นดีเห็นงามไปด้วย ก็มีแต่มอดม้วยมรณา….ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่เราต้องมองผลในระยะยาวกันได้แล้ว ก็ไม่ได้เพื่อใครที่ไหนนี่…
สุดยอดอากาศหนาวทั้งปีที่ ซาปา ในยามค่ำคืนหลังอาหารมื้อค่ำจากห้องอาหารสุดหรูสไตล์ฝรั่งเศสของเมืองซาปา ผมแทบไม่อยากจะย่างกรายออกมาจากห้องอาหาร เพราะอากาศข้างนอกนั้นหนาวเย็นเหลือเกิน สองมือต้องล้วงกระเป๋าเสื้อแจ๊คเก็ตตลอดทั้งๆ ที่ในนั้นไม่มีอะไร |
ตอนแรกผมวางแผนจะเดินเล่นดูของฝาก และรองเท้าเดินป่าทนๆ สักครู่ แต่ต้องเปลี่ยนใจกระทันเมื่อได้แค่เพียงของฝากติดมือมานิดหน่อย ต้องรีบกลับเข้าที่พักเพราะอากาศหนาวเกินจะทน |
ภายในโรงแรมนั้นค่อนข้างอุ่นสบาย เนื่องจากมีการติดตั้งฮีตเตอร์ คืนนี้ยิ่งดึกอากาศยิ่งทวีความหนาวเย็น นอกจากการติดตั้งฮีตเตอร์ภายในห้องพักแล้ว บนที่นอนยังมีฮีตเตอร์ที่รูปร่างคล้ายเสื่อ หรือที่นอนแบบบางด้วยอีกตัวหนึ่ง โดยใช้พลังงานไฟฟ้า มีสวิตปรับเพิ่มลดอุณภูมิได้ตามต้องการ
ผมใช้ผ้าห่มผืนหนึ่งปูทับฮีตเตอร์บนที่นอนไว้ แล้วสอดตัวเข้าไปในถุงนอน เลยทำให้หลับสบาย ถึงกระนั้นกลางดึกก็ต้องลุกขึ้นมาปรับฮีตเตอร์ใหม่ เพราะเริ่มรู้สึกร้อนราวกับถูกปิ้งอยู่บนเตาประมาณนั้น ตลกดีเหมือนกันครับ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวเป็นประสบการณ์ที่นำกลับมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังได้สนุกดี
โดยรวมแล้วอากาศในเมืองซาปานั้นหนาวมาก หนาวแบบว่าผมตากผ้าเช็ดตัวตอนหลังอาบน้ำไว้ในห้องหนึ่งคืน เช้าขึ้นมาผ้ายังไม่แห้ง ยังเปียกชุ่มอยู่เลย ขนาดนั้น โชคดีหน่อยห้องที่ผมพัก พี่เล็กจัดการปรับเปลี่ยนให้เมื่อเห็นว่าห้องพักที่อยู่ในมุมสวยนั้นมีแขกออกไปแล้ว คืนที่สองเลยได้นอนชมวิวทิวเขาได้อย่างสวยงามสบายตา |
ที่เมืองซาปา ประกอบด้วยชาวเขาหลากหลายชนเผ่า แต่ละเผ่ามีวิถีชีวิตคล้ายๆ กันนั่นคือ การทำนา และการทำนาของพวกเขาจะทำแบบขั้นบันได ภูเขาที่เห็นตรงหน้านั้นส่วนใหญ่จึงเป็นนาขั้นบันได มันเป็นขั้นบันไดแบบรอบทิศทาง ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นนาเป็นขั้นๆ ยกเว้นบนยอดเขาสูงๆ ที่ชาวเขาคงเหนื่อยหรือหมดแรงที่จะเดินขึ้นไป ไม่งั้นคงเป็นขั้นเหมือนกันหมด ภาพนาขั้นบันไดจึงเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้ ภาพโปสการ์ดที่ทำออกมาขายให้นักท่องเที่ยว ล้วนเป็นภาพนาขั้นบันไดในมุมสวยๆ หรือไม่ก็เป็นภาพชาวเขาในอริยบทประจำวัน |
|
เช้าตรู่ผมมองผ่านกระจก และระเบียงออกไป เห็นกลุ่มหมอกลอยอยู่ใกล้เข้ามา บางกลุ่มปกคลุมยอดเขา บางกลุ่มขาวโพลนลอยไปปกคลุมโรงแรมข้างๆ ส่วนที่กำลังลอยตามมาก็มีแสงแดดยามรุ่งอรุณติดตามไล่หลังมาด้วย มันเป็นแสงสีทองยามเช้าที่เจิดจรัส เปล่งประกายอย่างนี้อยู่เกือบทุกเมื่อเชื่อวัน |
สำหรับชาวเวียตนามแล้ว มันเป็นแสงที่ประกายเพื่อปลุกชาวเวียตนามให้ตื่นจากที่นอนอันอบอุ่น ให้ลุกขึ้นมาทำงานตามเส้นทางวิถีตน แต่สำหรับผู้มาเยือนอย่างผม มันเป็นแสงสีที่งดงามจำต้องกดบันทึกไว้ในกล้องแห่งความทรงจำ |
เช้านี้ ตรงนี้ สวยงามจนผมไม่อยากจะออกไปไหน อยากจะนั่งดูสายหมอกลอยไปให้หมดจนกว่าจะลับตาไป นักท่องเที่ยวหลายคนผลัดกันถ่ายภาพเก็บความประทับใจที่ระเบียงข้างห้องอาหารเช้า บ้างก็นำอาหารออกไปนั่งที่โต๊ะด้านนอกถึงแม้อากาศจะหนาวเย็นก็ยอม ผมเชื่อว่า ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาแห่งความสุขที่ทุกคนในที่นี้จะต้องจดจำไปอีกนาน |
|
ณ เมืองเล็กๆ สวยงามเป็นระเบียบแห่งนี้ วิถีชีวิตแบบธรรมดาเรียบง่ายของเขา แต่แปลกตาของเรา ได้เริ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน ข้าวในนาขั้นบันไดของทุกหมู่บ้านงอกเงยเติบโตขึ้น อีกไม่นานฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง มันคงจะออกรวงอีกครั้ง ช่วงนั้นคงมองเห็นเป็นสีเขียวสดทั้งภูเขา |
คงเป็นช่วงเดียวกับนักถ่ายภาพหลายคนชอบเดินทางมาเก็บเกี่ยวภาพความสวยงามของนาขั้นบันได แต่สำหรับผมแล้ว เมืองซาปาไม่ว่าฤดูกาลไหน ก็น่ามาเยือนตลอด เพราะวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้น…แต่ละฤดูกาลล้วนไม่เหมือนกัน |
พบกันใหม่…ซาปา…
นุ บางบ่อ….เรื่อง / ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2552
|
||
|
||
|
ขอขอบคุณ / สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม |
คุณวรินทร์พร นีลดานุวงศ์ (พี่เล็ก) : ที่ช่วยให้ความฝันได้เป็นจริง
|
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ภาพวิถีชีวิตในเมืองซาปา ประเทศเวียตนาม (ใหม่)
ทัวร์เวียตนาม (ตอนที่ 1)
ทัวร์เวียตนาม ตอนที่ 2
ทะเลทราย ที่มุยเน่
ทูโบน...สายน้ำแห่งชีวิต
พระจันทร์เต็มดวงเป็นคืนพิเศษ