เนปาลอ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 2)

เนปาลอ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 2)

เนปาลอ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 2)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนปาล. อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 2)

ธนิสร หลักชัย...เรื่อง/ภาพ ออนไลน์เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2550

Day 4      ภูมิประเทศของเนปาลงดงามยิ่ง ในยามที่เราบินอยู่บนท้องฟ้า แค่มองจากจากภาคพื้นดิน เทือกเขาต่างๆ ก็ยิ่งใหญ่มากพอ แต่นี่เครื่องบินๆ แทบเฉียดยอดเขา จนดูเหมือนใกล้มือคว้า มันจะใหญ่โตขนาดไหนลองคิดดู ก่อนจะร่อนผ่านช่องเขาลงจอดที่สนามบิน Jomsom ใช้เวลาเพียง 20 นาทีจาก Pokhara

   ถึงลมจะไม่พัดผ่านอากาศก็หนาวไม่น้อยอยู่แล้ว กลับเจอลมพัดแรงเข้าอีก หมวกไหมพรมจึงถูกหยิบมาสวมปกป้องหน้าผาก ที่ดูเปราะบางเพราะเส้นผมล้มตายไปเยอะ แต่บางสิ่งในเวลานี้ ทำให้ผมลืมความหนาวเย็น มันคือ...

   ภูมิประเทศที่สวยงาม โอบล้อมไปด้วยภูเขา และผู้คนที่ร่ำรวยรอยยิ้ม

   Jomsom เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนทางแยก หรือเส้นทางที่ตัดกันของที่ราบสูงทิเบต และเทือกเขาหิมาลัย สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2,800 เมตร มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Dzongsam หรือ New Fort เป็นเมืองศูนย์กลางที่เต็มไปด้วยสถานที่ราชการสำคัญๆ กองทัพทหารเนปาลีก็ตั้งฐานอยู่ที่นี่ด้วย

   ALKA MAR-COPOLO ที่พักของเราอยู่ห่างจากประตูทางเข้าสนามบินไม่ถึงยี่สิบเมตร ระเบียงหน้าห้องพักเป็นมุมพาโนรามา มองเห็นวิวของ Jomsom ได้อย่างทั่วถึง มีฉากหน้าเป็นเทือกเขา Nilgiri ซึ่งปกคลุมด้วยหิมะขาว ตระหง่านงามดุจเทพบนสรวงสวรรค์กำลังจ้องมองลงมายังโลกเบื้องล่าง... งดงามและน่าเกรงขาม

   Solf Trekking แรกของพวกเรามีปลายทางที่ Dhumba Lake ห่างไปราว 5.5 กิโลเมตร ทะเลสาบสีเทอคอยน์อันศักดิ์สิทธิ์ ตรงเบื้องหน้า Nilgiri นักเดินเขาหลายกลุ่มเดินเข้าออก Jomsom ทุกวัน เมืองนี้จึงมีความคึกคักอยู่เสมอ แม้ช่วงนี้จะเป็นโลวซีซั่นเพราะใกล้ฤดูหนาวเต็มที

   เราเกิดอาการขาสั่นเล็กน้อยระหว่างเดินอยู่บนสะพานที่ขึงข้าม Kali Grandaki River เราน่าจะยืนอยู่ประมาณตึกชั้นที่สิบ หากนับระยะจากพื้นเบื้องล่างขึ้นมา สะพานไหวโยกเพราะลมกรรโชก บวกแรงสั่นจากการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่เราก็เชื่อมั่นในความแข็งแรง ด้วยพิจารณาจากโครงสร้าง

   ...ไม่กลัวแต่ก็พอทำให้หัวใจหวาดหวั่น...

 

   เด็กๆ ในหมู่บ้านระหว่างทางที่เราผ่าน มามุงดูรูปตัวเองจากกล้องดิจิตอลที่เราถ่ายให้ ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เมมโมรี่หน่วยความจำคงเต็มหากเราไม่เดินจากมาเสียก่อน ขณะนี้ฝั่งตรงข้ามของเรากลับเป็นภาพของเมืองและสนามบิน เรามายืนอยู่ในหมู่บ้านบนยอดเขา ที่เรามองเห็บลิบตาตอนนั่งมองวิวบนระเบียงที่พัก ผมไม่รู้สึกสักนิดว่าเหนื่อย ไม่ใช่เป็นคนเก่ง แต่ความสวยงามมันทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้า

 

   ทุกที่มีตำนาน Dhunmba Lake ก็เช่นเดียวกัน ว่ากันว่าทะเลสาบแห่งนี้จะเปลี่ยนเป็นสีแดงได้เอง และจะเปลี่ยนเฉพาะหลังพิธีกรรมทางศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ หลายคนมาที่นี่เพื่อสวดภาวนาเพราะเชื่อว่า  การเปลี่ยนสีของทะเลสาบเป็นเหมือนกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เมื่อมาสวดมนต์ภาวนาที่นี่จะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมด้วยศรัทธาที่มีอยู่เต็มหัวใจ...  แม้การมาของเราอาจเป็นด้วยเหตุผลอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือ

   ...ศรัทธาของพวกเค้าเป็นทางชี้นำให้กระทำความดี...

 

Day 5      เราต่างสารภาพว่าไม่ได้อาบน้ำ ทั้งเย็นวันวานและเช้าวันนี้ แค่แปรงฟันล้างหน้ายังรู้สึกสั่นสะท้านไปทั้งกาย การอาบน้ำดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในยามที่อุณหภูมิลดต่ำ การสูญเสียความร้อนในร่างกายอย่างเฉียบพลัน เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง อย่าพยายามที่จะเป็นคนรักสะอาดผิดที่ โดยเฉพาะกับพวกเราที่มาจากเมืองร้อนเพียงไม่กี่วัน

   Marpha เป็นจุดหมายของเราในวันนี้ จาก Jomsom ไป 7.5 กิโลเมตร จะว่าไกลก็ไกล แต่ว่าเราไม่ได้เร่งรีบอะไรนัก ธรรมชาติระหว่างทางทำให้ลืมเลือนเรื่องระยะทางไปได้ เราเดินสวนทางกับนักผจญภัยต่างชาติต่างภาษา พบคนท้องถิ่นที่มาซื้อสินค้าและขายสินค้า ลูกหาบที่อาสาแบกของให้นักท่องเที่ยวแลกกับค่าแรง พบนักบวชที่เสาะแสวงหาสัจธรรม ชาวบ้านยิ้มทักทายเราด้วยคำกล่าว นมัสเต อันมีความหมายว่า สวัสดี หนทางที่เราเดินเลียบเลาะไปตาม Kali Gandaki River แต่ละคนไม่เคยมา ไม่เคยมีภาพถ่ายของที่นี่ จึงหมดเปลืองเวลาไปมากกว่าคนกลุ่มอื่นที่ไล่หลังแซงไปกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า

   Marpha เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ลงมาทางใต้ของ Jomsom มีชื่อเสียงเกี่ยวกับฟาร์มปลูกแอปเปิ้ล จนได้ชื่อว่า Village of Apple Orchards เส้นทางนี้เดิมเรียก The Apple Trek ตั้งอยู่ทางตอนบนของ Kali Gandaki River ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย ผู้คนส่วนใหญ่จะเป็น Tibetan เพราะอยู่ในพื้นที่ของที่ราบสูงทิเบต ความรู้สึกเมื่อมาถึงที่นี่จึงเหมือนอยู่ในทิเบตมากกว่าจะเชื่อว่าอยู่ เนปาล

 

   ช่วงที่เราไปเป็นรอยต่อระหว่างฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ผ่านพ้นช่วงเก็บเกี่ยวไปนานแล้ว จึงเห็นแต่ต้นแอ็ปเปิ้ลที่ร้างใบไร้ผล คนเมืองนี้มีวิธีนำแอ็ปเปิ้ลไปแปรรูปในหลากหลายวิธี เช่น ทำแอ็ปเปิ้ลตากแห้ง ทำเหล้าและไวน์แอ็ปเปิ้ล ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่ว

   ปริยา เพื่อนเราดูตื่นเต้นกว่าคนอื่น เพราะเธอไปพบภาพสวยๆ จากอินเทอร์เน็ต ก่อนออกเดินทางจากเมืองไทย แต่เธอต้องเศร้าใจเล็กน้อย ด้วยความตื่นเต้นกับภาพสวยหน้าจอมอนิเตอร์ จนละเลยรายละเอียดบางอย่าง

   ... แอ็ปเปิ้ลของเธอหายไป แต่เธอก็ได้เหล้าแอ็ปเปิ้ลแก้หนาวปลอบใจก่อนนอน ...

 

   Marpha อยู่บนความสูง 2,650 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บ้านเรือนตั้งพิงกับไหล่เขาสูงชัน ในเมืองเต็มไปด้วยบ้านสีขาวสองชั้นปลูกชิดติดกันเป็นแถว หน้าต่างไม้ของบ้านบางหลังจะมีการแกะสลักทั้งบาน สะท้อนให้เห็นถึงความร่ำรวยที่เกิดจากการค้าขาย ถนนสายหลักปูด้วยแผ่นหิน เป็นเมืองที่น่าอยู่อีกเช่นกัน มีร้านขายของที่ระลึกซึ่งเป็นสินค้าจากฝีมือของชาวบ้านเอง กลุ่มของพวกเราถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ของเมืองในวันนั้น จึงถูกเชื้อเชิญจากเจ้าของร้านเกือบทุกร้าน พวกเราก็ลุยเขาไปทุกแห่งเหมือนกัน ชาวบ้านที่นี่น่ารัก เต็มไปด้วยรอยยิ้มและน้ำใจ

 
 

   เมื่อถูกสาวสวยที่ Neeru Guest House ถามว่าใครต้องการผ้าห่มเพิ่มบ้าง พวกเราทุกคนต่างยกมือกันโดยพร้อมเพรียง ผมหลับใหลไปด้วยความอบอุ่นจากผ้านวมสองผืนใหญ่ เสื้ออีกสี่ตัว กางเกงอีกสองชั้น โดยที่ไม่รู้เลยว่าอากาศนอกห้องเป็นอย่างไรบ้าง มารู้เอาตอนเช้าจากสาวสวยคนเดิมว่า อุณหภูมิเมื่อคืนอยู่ที่ลบหกองศาเซลเซียส

   ... ผมเข้าใจแล้วว่า ผ้าห่มอีกผืน มีที่มาอย่างไร...

 

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง เนปาล..อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนที่ 1) เนปาล..อ้อมกอดแห่งสวรรค์ (ตอนจบ)

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook