วันวิสาขบูชา
ความสำคัญ
วันวิสาขบูชา เป็นเป็นวันที่ระลึกถึงวันที่เป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ
- เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
- เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนหลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
- หลังจากตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงออกประกาศพระธรรมวินัย และโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี จนเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)
ด้วยเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวนี้ ได้เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงได้เรียกการบูชาในวันนี้ว่า วันวิสาขบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี) และปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
สถานที่เนื่องด้วยการประสูติ (ลุมพินีวัน)
ลุมพินีวัน เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 5 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ตัวลุมพินีอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศอินเดียตอนเหนือ ห่างจากสิทธารถนคร[23] (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 22 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ปัจจุบันลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2540
จุดแสวงบุญและสภาพของลุมพินีวันในปัจจุบัน
ลุมพินีวันในปัจจุบันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ วิหารมายาเทวี (ปัจจุบันบูรณะใหม่) ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส วิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบันทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีเก่า โดยได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ได้ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ
ในปี พ.ศ. 2540 ลุมพินีได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี
สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้ (พุทธคยา)
พุทธคยา เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดใน 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน และถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเวลากว่าสองพันห้าร้อยปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก ปัจจุบันพุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร อดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยาชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น อุเรล ในปัจจุบันพุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู2 และพุทธคยาได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2545
ประวัติความเป็นมาของการประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
ในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธีวิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน (ภาพ: ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานยังท้องสนามหลวงให้ประชาชนสักการะบูชา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา)การจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปรากฏหลักฐานจากหนังสือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์1 ซึ่งกล่าวถึงการพิธีวิสาขบูชาไว้ว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังกล่าวไว้ว่า
....เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วทั้งพระนคร เป็นการบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีลและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาตอนเย็น ก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสด็จไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยต่างชวนกันรักษาศีล ฟังพระเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่และคนพิการ บางพวกก็ชักชวนกันสละทรัพย์ซื้อสัตว์จตุบาท ทวิบาท (สัตว์ ๔ เท้า สัตว์ ๒ เท้า) และเต่า ปลา เพื่อไถ่ชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้ตนมีอายุยืนยาวต่อไป...
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา
ในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะนิยมถือศีลฟังธรรมแล้ว ยังปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย
วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:ยะมัมหะ โข ฯลฯ) [49]
จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี