ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

    ประเพณีผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นการละเล่นที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ทั้งประวัติความเป็นมา ความเชื่อ รูปแบบวิธีการละเล่น การพัฒนาการอนุรักษ์ การละเล่นผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ไม่มีประวัติว่าเล่นครั้งแรกเมื่อใด แต่ชาวบ้านก็เล่นสืบมาเป็นประเพณี เช่นที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาทุกปี

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     กล่าวคือ ชาวบ้านนาซ่าวแต่เดิม เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าไทยพวน โดยอพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง จนมาพบบริเวณพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์คือ “นาซำหว้า” ซึ่งเหมาะแก่การตั้งหลังแหล่งเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ พอชุมชนขยายมากขึ้นก็ย้ายมาที่บริเวณบ้านสองโนน ตั้งเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้น ซึ่งแต่ก่อนหมู่บ้านยังไม่มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ คงนับถือผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าเท่านั้น

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     ประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่แรกคือ พิธีกรรมไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นเรียกว่า “เลี้ยงบ้าน” โดยกำหนดเอาวันเสร็จสิ้นจากการทำไร่ทำนาโดยมี “จ้ำ(ผู้ประกอบพิธีกรรม)” เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างชาวบ้านกับเจ้าปู่จิรมาณพ และเจ้าปู่ผ่านพิภพ ผ่าน บัวนางหรือเจ้าแม่นางเทียม (ผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ทั้งสอง) ซึ่งจะทำพิธีเข้าทรงกำหนดวันที่จะเลี้ยงบ้านขึ้น

     จากนั้นจ้ำจะไปประกาศบอกชาวบ้าน โดยการตะโกนตามสี่แยกหรือที่ชุมชนหนาแน่น ไม่ก็ใช้วิธีขึ้นไปบอกตามบ้านทุกหลังคาเรือนภายในหมู่บ้านว่า ในปีนี้จะกำหนดจัดพิธีการเลี้ยงบ้านแล้ว ให้ชาวบ้านจัดหาข้าวปลาอาหาร และของบวงสรวงต่างๆ ไปประกอบพิธีกันที่ดอนหอ “ศาลเจ้าปู่” ของหมู่บ้าน เดิมการบวงสรวงนั้น

     หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการเลี้ยงผีบ้าน ก็จะมีการฉลองด้วยการร้องรำทำเพลง ซึ่งจะประกอบด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่ นางเทียมร่างทรงคนอื่นๆ นางแต่ง จ้ำและผู้มาร่วมพิธีอย่างสนุกสนาน พิธีเลี้ยงบ้านนี้จะทำกันทุกปี แค่ปีละครั้งเท่านั้น จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ ที่ผีปู่ผีย่า ตลอดจนผีบรรพบุรุษในหมู่บ้าน ได้ปกปักรักษา คุ้มครองตนและชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขทำมาหากินได้อย่างอุดมสมบูรณ์

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     เล่ากันว่า “การบวงสรวงสัตว์เลี้ยงภายในบริเวณศาล สัตว์ที่นำไปผูกหลักเลี้ยงจะตายเองโดยไม่มีการฆ่า ขณะที่ประกอบพิธีอัญเชิญผีเจ้าปู่ และผีบรรพบุรุษต่างๆ ให้ลงมากินเครื่องเซ่น ปัจจุบันไม่นิยมทำกันแล้ว เพียงแต่นำเครื่องเซ่นพวกข้าวปลาอาหาร และสิ่งของอื่น ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นมาประกอบพิธี”

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     การบวงสรวงนั้น จะมีการนำวัว ควาย มาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องเซ่นสังเวยตามพิธีกรรม ในเวลาต่อมา ผีเจ้าปู่ได้บอกความผ่านร่างทรงว่า ให้ชาวบ้านทำ “แมงหน้างาม” หรือ “ผีขน” เพื่อเป็นการบูชาวัว ควาย ที่มีบุญคุณต่อชาวบ้าน แทนการนำมาฆ่าเพื่อเป็นเครื่องสังเวย

     นอกเหนือจากการบูชาเพื่อรำลึกคุณของวัว ควาย ที่มีต่อชาวบ้านแล้ว ยังมีความเชื่อสืบเนื่องต่ออีกว่า “ผีขน” คือ วัว ควาย ที่ตายไปแล้ว แต่วิญญาณยังคงวนเวียนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง รอบๆ หมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านไปตักน้ำมาใช้ วิญญาณของสัตว์ทั้งสองจะตามเข้าหมู่บ้านมาด้วย ซึ่งพบแต่ขน และได้ยินแต่เสียงกระดึง แต่ไม่เห็นตัว ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนวัว ผีขนควาย” ยุคแรกๆ จะพากันเรียกว่า “การละเล่นผีขน” แต่ทุกครั้งหลังจบการละเล่นผีขน ฝนมักจะตก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ผีขนน้ำ” มาถึงปัจจุบัน

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว
ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

รูปแบบพิธีการและการแต่งกาย
     การเล่นผีขนน้ำแต่ละปี ถือเอาช่วงก่อนที่จะมีการลงมือทำการเกษตร ชาวบ้านจะมีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อจัดทำบุญเดือนหก ประมาณวันแรม 1 ค่ำ ของทุกปี ก่อนวันทำบุญก็จะมีการบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมงานบุญที่หมู่บ้านจะจัดให้มีขึ้น ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านก็จะเตรียมสถานไว้เพื่อต้อนรับชาวบ้านถิ่นอื่นๆ ด้วย

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     ผู้ที่เล่นผีขนน้ำส่วนมาก เป็นชายหนุ่มในหมู่บ้าน และเด็กๆ  เขาเหล่านั้นจะจัดเตรียมแต่งตัวหัวผีขนของตัวเอง เพื่อเล่นประกอบพิธีบวงสรวงผีบรรพบุรุษ หัวผีขนน้ำที่จะใช้เล่นหากผู้เล่นยังเก็บรักษาของเดิมไว้ ก็สามารถนำกลับมาเล่นใหม่ได้อีก โดยตกแต่งทาสีใหม่ ให้ดูสดและเข้มขึ้น แต่ส่วนมากผู้เล่นผีขนน้ำมักจะทำหัวผีขนน้ำขึ้นมาใหม่เพราะใช้เวลาทำ และตกแต่งไม่มากนัก

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     การทำและตกแต่งหัวผีขนน้ำ นั้นจะนำเอาไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้นุ่น ไม้ตีนเป็ด ฯลฯ ที่มีขนาดพอเหมาะมาสลักเป็นรูปหน้ากาก วาดลวดลายลงสีต่างๆ เช่นลายบัวเครือ ลายผักแว่น ตามความเชื่อและจินตนาการเพื่อให้ดูน่ากลัว โดยใช้ผ้าจากที่นอนเก่าไม่ใช้แล้ว มาทำเป็นตัวเสื้อผีขนน้ำ ซึ่งให้นุ่นที่ติดอยู่กับที่นอนนั้น ฟุ้งกระจายไปทั่วขณะที่เต้นรำ

     และมีอุปกรณ์ในการให้จังหวะ คือ ตีเคาะหรือขอลอ และโป่ง มัดติดด้านหลังลำตัว ผีขนน้ำ สำหรับผู้ที่เดินร่วมขบวนก็จะตีกลองตีเคาะ ปรบมือ เป่าแคน ดีดพิณ เพื่อให้เกิดจังหวะอย่างสนุกสนานสลับกันไป

     หน้ากากผีขนน้ำจะขุดให้เป็นรูปหน้าคล้ายๆ วัว ควาย วาดให้เป็นรูปผีน่ากลัว ตาจะโต จมูกโต ฟันใหญ่ แต่มักเขียนปากให้เป็นรอยยิ้ม เหมือนเมตตาปราณี ใบหูทำด้วยสังกะสีโตพอควรกับใบหน้า ส่วนเขาต่อมานิยมใช้หวายมาตรึงติดกับหน้ากาก ให้ปลายทั้งสองข้างแยกออกจากกัน ใช้เชือกมัดลำหวายให้โค้งเข้าหากันพองาม เหมือนกับเขาควายที่โค้ง ใช้กระดาษสีต่างๆ ตัดเป็นริ้วติดประดับระหว่างเขาทั้งสองข้าง ผมทำด้วยต้นกล้วยโดยตัดต้นกล้วยลอกกาบแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้งนำมาถักเป็นเปีย แล้วเอามาใส่กับหน้าผีเพื่อทำให้ดูคล้ายผมยาวถึงน่องหรือบางคนอาจยาวถึงตาตุ่ม   

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     เสื้อทำด้วยผ้าตัดเป็นเสื้อคอกลม ลำตัวของเสื้อจะยาวลงไปถึงตาตุ่ม ย้อมให้เป็นสีเหลือง อมดำหรือสีม่วงเหลือง น้ำผ้ามาเย็บเป็นชิ้นขวางตามลำตัวเสื้อ หรือชาวบ้านบางคนจะเอาที่นอนขาดที่ไม่ใช้แล้วกลับด้านในออกเป็นด้านนอกสวมใส่ นำไม้มามัดเป็นลูกระนาดขั้นบันใด และใช้มัดติดกับส่วนเขาด้านหลังให้ถ่วงน้ำหนักไม่ให้หลุดเวลาเล่น

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

      เครื่องดนตรีสำหรับเล่นผีขน เป็นเครื่องดนตรีที่หาได้ง่ายๆ อาศัยจากพื้นบ้านและวิวัฒนาการเอากระดิ่ง โป่งที่แขวนคอ โค กระบือ เป็นเครื่องดนตรี กลองหน้ากลองทำด้วยหนังวัวหนังควาย , กระเหลบหรือเขรบ ซึ่งใช้ผูกคอวัวควาย นำมาผูกที่เอว เวลาเต้นจะทำให้เกิดเสียงตามจังหวะ บางครั้งจะใช้กระดิ่งหรือขิก, พิณ หรือ ซึง ใช้ดีดเข้ากับจังหวะและบทเซิ้งมีสายสามสาย, เคาะ กระดิ่งและอื่น ๆ ที่ใช้แทนเสียงดนตรีได้,แคน ,กะลอ ทำด้วยไม้ไผ่หนึ่งข้อปล้อง เจาะเป็นรางเวลาเคาะจะเกิดเสียงดัง

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงเซิ้งผีขนน้ำประยุกต์ ได้กำหนดเพลง “ลายนกไซบินข้ามทุ่ง” เพื่อให้เหมาะสมกับการเต้น ซึ่งเน้นความพร้อมเพรียง สวยงาม สิ่งสำคัญการเต้นเซิ้งผีขนอยู่ที่จังหวะลีลาของเพลง และจังหวะลีลาของเสียงกลองเป็นหลัก

     เมื่อถึงกำหนดประเพณีบุญเดือนหก บุญประจำปีวัดโพธิ์ศรี บ้านนาซ่าว ตำบลนาซ่าว อำเภอเชียงคาน หลังจากชาวบ้านผู้ที่เล่นผีขน ได้ทำชุดผีขนหรือไม่ก็ตกแต่งของเดิมเสร็จแล้วบรรดาชายหนุ่มที่จะเล่นเป็นผีขนจะไปทำพิธีครอบเจ้าปู่ (พิธีถวายตัว) ที่ศาลเจ้าปู่บ้านนาซ่าว เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง นางเทียมผู้เป็นร่างทรงของเจ้าปู่พร้อมนางแต่ง จ้ำ และชาวบ้านก็จะไปทำพิธีอัญเชิญผีเจ้าปู่เข้าร่างทรง ให้ไปร่วมฉลองบุญเดือนหกหรือชาวบ้านเรียกว่าไปเล่นบุญเดือนหก

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว 

     การเล่นผีขนของชายหนุ่มในหมู่บ้าน จะเริ่มเล่นก่อนจะถึงวันงานประเพณีบุญเดือนหกประมาณ 3-7 วัน โดยจะแต่งชุดผีขนออกเดินไปรอบๆ หมู่บ้าน ประมาณชุดละ 5 – 6 คน หยอกล้อบรรดาเด็กๆ หรือ สาวๆ ในหมู่บ้านอย่างสนุกสนาน เพื่อเป็นการเตือนให้ชาวบ้านได้ทราบว่า ได้ถึงกำหนดประเพณีงานบุญเดือนหกแล้ว จะได้เตรียมตัวร่วมบุญประจำปีกัน

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว 
ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว  ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว  ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว 

     ชุดเล่นผีขนนี้ นางแต่งประจำหมู่บ้านคนหนึ่งเล่าว่า ตามความเชื่อของชาวบ้านเชื่อว่า “ผีขนเป็นบริวารของเจ้าปู่ ซึ่งเจ้าปู่ชอบมาก ในการเล่นบุญเดือนหกถ้าไม่มีการเล่นผีขน หรือ ตัวหน้างามที่เจ้าปู่ชอบ เจ้าปู่จะไม่พอใจ และจะต้องมีการเล่นผีขน หรือตัวหน้างามทุกปี ผีเจ้าปู่ก็จะลงมาเล่นด้วยโดยผ่านทางร่างทรง โดยเฉพาะวันที่สองของงานประเพณีบุญเดือนหก เจ้าปู่ก็จะเข้าทรงผู้ที่เป็นร่างทรงจะแต่งกายชุดเจ้าพ่อ สวยงามตามที่เตรียมไว้ร่วมแห่กับผีขน โดยแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน เพื่อที่ชาวบ้าน และเพื่อนบ้านต่างๆ ที่มาเที่ยวงานได้ชม และชาวบ้านยังมีความเชื่อว่า การเล่นผีขนเกี่ยวข้องกับพิธีขอฝนด้วย คือเชื่อว่าการเล่นผีขนนั้นจะเป็นตัวชี้ว่าถ้าปีไหนที่มีการเล่นผีขนมาก ปีนั้นฝนก็จะดีตกต้องฤดูกาล”

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     การแผ่ปัจจัยของผีขน ผีขนในบ้านนาซ่าว ในปีหนึ่งๆ มีมากประมาณร้อยกว่าตน และจะถูกแบ่งแยกออกเป็นหมู่ๆ ทั้งหมดประมาณ 10 หมู่ หมู่ละ 10 คน แล้วก็แยกกันไปแผ่ปัจจัยตามหมู่บ้านหรือคุ้มบ้านต่างๆ และแต่ละหมู่ก็จะมีหัวหน้าทำการร้องนำซึ่งคำกล่าวนำนั้นก็จะเป็น คำกล่าวร้องที่ผู้เป็นหัวหน้าผีขนเป็นผู้คิดขึ้นบ้าง และคำร้องที่เคยได้ยินหรือได้ฟังตามที่ปฏิบัติมาทุกปี เดินไปเรื่อยๆ ดังตัวอย่างบางคำของผีขนร้อง

“โอโฮ้โอ โฮ้โอโอ้โอ ขอเหล้าโทนำเจ้าจักถ้วย ขอกล้วยนำเจ้าจักหวี” หรอ “สาวเอยสาวเจ้าอยู่บ้านใด ลูกสาวใผใส่เสื้อสีแดง แก้มแดงปานแต้ม” ฯลฯ

     การร้องนี้หัวหน้าจะเป็นผู้กล่าวนำ แล้วลูกน้องก็จะกล่าวตามหลัง เมื่อผู้ไปเห็นได้ยินได้ฟังแล้วทำให้สนุกสนาน และนึกเห็นภาพของความสามัคคีของหมู่คณะเป็นอย่างดี

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว 
ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

การจัดงานบุญเดือนหกประจำปี
     วันแรก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วันโฮม ชาวบ้านจะไปรวมกันที่ ศาลเจ้าปู่บ้านนาซ่าว ในช่วงเย็นๆ เพื่อไปรวมกันแห่ดอกไม้เข้าไปยัง วัดโพธิ์ศรี ขบวนแห่นั้นประกอบด้วยนางเทียมร่างทรงของเจ้าปู่จิรมาณพ นางเทียมเจ้าปู่ผ่านพิภพ จ้ำ นางแต่ง ผีขน และชาวบ้านจากคุ้มต่างๆ ในหมู่บ้านเดินแห่เป็นขบวนไปรอบหมู่บ้าน ตีฆ้อง ตีกลอง ปรบมือ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เดินไปยังวัดโพธิ์ศรี เมื่อเดินถึงวัด พระก็จะตีกลองใหญ่บนหอกลอง 3 ครั้ง ขบวนแห่ก็จะเดินรอบโบสถ์ 3 รอบ เสร็จแล้วนำดอกไม้ไปบูชาที่ผาม (ประรำพิธี) ที่ชาวบ้านจัดเตรียมไว้ พร้อมบูชาบวงสรวงผีปู่ย่า เป็นเสร็จพิธี

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

     วันที่สอง คือวันงาน เริ่มพิธีงานตั้งแต่เช้ามืด จะมีพิธีบวงสรวงผีเจ้าปู่ที่ศาลของหมู่บ้าน เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะมีการอัญเชิญพระอุปคุต พร้อมบั้งไฟ 5 ลูก แห่เข้าไปยังวัดโพธิ์ศรี ขณะที่แห่ก็มีการตีฆ้อง ร้องรำทำเพลงไปด้วย เมื่อไปถึงบริเวณวัดก็แห่รอบโบสถ์ 3 รอบ แล้วเชิญพระอุปคุตไปไว้ที่หออุปคุต ความเชื่อเรื่องแห่อุปคุตนี้มีความเชื่อต่อกันมาว่า เพื่อให้พระอุปคุตมาปกปักรักษาชาวบ้านและประชาชนที่มาเที่ยวชมงานไม่ให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ ตอนเช้าจะมีประชาชนจากที่ต่างๆ มาเที่ยวชมงานอย่างมากมาย

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว      ภายในบริเวณวัดจะมีการทำบุญตักบาตรสวรรค์  เสี่ยงทายตามรูปพระโพธิสัตว์ ในหมู่บ้านทุกหลังคาเรือนจะมีการทำกับข้าวไว้ต้อนรับบ้านญาติพี่น้อง หรือผู้ที่เคารพนับถือกัน มาเที่ยวชมงานจากถิ่นอื่น หรือหมู่บ้านอื่นเมื่อเห็นคนรู้จักหรือญาติผ่านไปมา ก็จะเชิญขึ้นบ้านมารับประทานอาหาร  
ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

      ส่วนกับข้าวนั้นโดยมากจะเหมือนกันทุกหลังคาเรือน คือ ลาบเนื้อ ต้มเนื้อ ขนมจีน ขนมหวานต่าง ๆ จากหมู่บ้านอื่นที่มาเที่ยวชมงานอย่างสนุกสนาน ผีขนบางคนที่เห็นผู้คนรับประทานอาหารอยู่บนบ้านก็อาจแยกไปร่วมรับประทานอาหาร หรือไม่ก็แห่กันไปร่วมรับประทานอาหารพร้อมกันทั้งกลุ่มก็มี พออิ่มก็ออกเดินร้องรำทำเพลงรอบๆ หมู่บ้านต่อไป

     เมื่อถึงเวลาบรรดาผีขนก็จะเดินไปรวมตัวกัน ที่จุดนัดหมายตามที่กำหนดไว้ (โดยปัจจุบันกำหนดไว้ที่ โรงเรียนบ้านนาซ่าว) เมื่อทุกคนมาพร้อมกันก็จะแห่ขบวนเข้าไปยังวัด ซึ่งนำหน้าขบวนด้วยนางเทียมร่างทรงเจ้าปู่จิรมาณพ ร่างทรงเจ้าปู่ผ่านพิภพ จ้ำ นางแต่ง และนางเทียม ร่างทรงวิญญาณคนอื่น ๆ ตามด้วยขบวนผีขน ขบวนบั้งไฟน้อย 5 บั้ง (ชาวบ้านเรียกว่า มะเขี่ย) ขบวนตีฆ้องตีกลอง ร้องรำทำเพลงให้ขบวนนางเทียมได้ฟ้อนรำ ส่วนผีขนก็จะเต้นรำไปตามจังหวะกลอง โดยจะเป็นการฟ้อนที่ไม่มีกำหนดตายตัวลงไปว่ามีท่าใดบ้าง คือทำท่าตามจินตนาการที่คิดว่าทำได้เหมือนผี และทำให้ผู้คนกลัวด้วย และจะมีขบวนฟ้อนเซิ้งของคุ้มต่างๆ

     เมื่อถึงบริเวณวัดจะมีการแห่รอบโบสถ์สามรอบ เพื่อเป็นการฉลองบุญเดือนหก (ชาวบ้านเรียกว่าเล่นบุญเดือนหก)
ชาวบ้านที่มาจากถิ่นอื่นที่นำกัณฑ์หลอนมาร่วมงานก็จะเข้าร่วมขบวนแห่รอบโบสถ์พร้อมกันกับขบวนผีขนด้วย เมื่อเสร็จพิธีก็จะมีการถวายจตุปัจจัยพระสงฆ์เป็นเสร็จพิธี แล้วนำบั้งไฟน้อยห้าบั้งไปจุดบูชาศาลเจ้าปู่บ้านนาซ่าว และบูชาพญาแถน เพื่อขอให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาลตามความเชื่อของชาวบ้านที่เคยปฏิบัติมา

     วันที่สาม คือวันสุดท้าย ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัด และถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ มีการแสดงพระธรรมเทศนาให้ศีลแก่ชาวบ้าน ช่วงบ่ายก็จะมีการแห่รวบรวมจตุปัจจัยเข้าไปถวายพระที่วัด จนถึงเวลาเป็นเสร็จพิธีบุญประจำปีของหมู่บ้าน รอปีหน้าก็จะมาร่วมกันจัดงานอีก

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว 

     นับเป็นเวลาที่เนิ่นนาน ที่การเล่นผีขนน้ำที่บ้านนาซ่าวได้ถูกละเลยในด้านความสำคัญของศิลปะประเพณีท้องถิ่นของหมู่บ้านนี้จากทางราชการ อาจเนื่องจากทางราชการคงเห็นว่าประเพณีผีขนน้ำที่บ้านนาซ่าว ไม่มีความโดดเด่นที่จะอวดชาวเมืองอื่นได้ คงเพราะความบดบังในประเพณีการเล่นผีตาโขนที่โด่งดังของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ดังที่กล่าวมา จึงทำให้ผีขนน้ำ ซึ่งเป็นความเชื่อ และวิถีประชาของชาวบ้านที่ประพฤติปฏิบัติสืบต่อมา ถดถอยด้อยลงในความสำคัญ

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว 

     อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ยังได้ยึดถือปฏิบัติต่อเช่นทุกปีมา จนเมื่อปี พ.ศ. 2534 ร.ต.ศรีรัตน์ หริรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยในสมัยนั้น ได้เห็นคุณค่าทางไทยคดีอีสาน  ด้านประเพณีในท้องถิ่น จึงได้ให้การสนับสนุนชาวบ้านได้แสดงออกเต็มที่ ถึงความเชื่อ ความศรัทธาที่มีต่อประเพณีการเล่นผีขนน้ำ จนปัจจุบันการเล่นผีขนน้ำบ้านนาซ่าว ได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริม ให้ชาวบ้านให้รู้สึกพึงพอใจต่อความสุขที่ได้รับจากการเข้าร่วมงานประเพณีระดับจังหวัด และยึดถือปฏิบัติตามประเพณีเยี่ยงบรรพบุรุษต่อไป

ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว 

     สำหรับวันที่ใช้ละเล่นผีขนน้ำในปัจจุบัน ได้กำหนดไว้ระหว่าง แรม 1-3 ค่ำ หลังวันเพ็ญเดือนหก(วันวิสาขบูชา) โดยขบวนแห่ในวันที่สองของงาน ผีขนน้ำทุกคุ้มหมู่บ้านจะไปรวมกันที่โรงเรียนบ้านนาซ่าว หากมีโอกาส อยากจะเชิญชวนทุกท่านไปเที่ยวชมประเพณีผีขนน้ำ กันดูสักครั้ง เพราะเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปี ของชาวบ้านนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย


เรียบเรียง/ภาพ : ธนิสร หลักชัย
ข้อมูล : อาจารย์สำเนียง ทาก้อมชำนาญการพิเศษ โทร.087 234 0205
ศูนย์วัฒนธรรมบ้านนาซ่าว  โทร. 0 4285 5132


ขอขอบคุณ
งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ  กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ   การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
www.tourismthailand.org
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานเลย
โทรศัพท์ 042 - 812812 , 042 - 811405 โทรสาร 042 - 811480
www.tourismthailand.org/loei
E – mail : tatloei.tat.or.th

 

 คลิกดูภาพใหญ่ได้ครับ

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ ของ ประเพณีผีขนน้ำ บ้านนาซ่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook