วิกฤตโลมาอิระวดีในแม่น้ำโขง
รายงานล่าสุดของ WWF พบว่า มลพิษในแม่น้ำโขงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โลมาอิระวดี (Orcaella Brevirostris) ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตใกล้จะสูญพันธุ์ โดยแหล่งที่อยู่อาศัยจะอยู่ในรัศมี 190 ก.ม ตามลำน้ำโขงจากประเทศลาวจนถึงประเทศกัมพูชา
นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีโลมาอิระวดีที่อาศัยอยู่ในลำน้ำโขงตายไปแล้วถึง 88 ตัว และร้อยละ 60 เป็นลูกน้อยที่เกิดมาได้ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ มีการประมาณการณ์ว่า ประชากรโลมาอิระวดีในแม่น้ำโขงยังคงหลงเหลืออยู่ประมาณ 64-76 ตัวเท่านั้น
และสาเหตุสำคัญของการสูญพันธ์ก็คือ มลพิษในลุ่มน้ำโขง ซึ่งนักวิจัยได้ผ่าพิสูจน์ซากลูกโลมา และตรวจพบปริมาณยาฆ่าแมลงเช่น สาร DDT ในระดับที่เป็นพิษ และ สารปนเปื้อนอื่นที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่น PCBs อีกด้วย สารพิษเหล่านี้ยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบลุ่มน้ำโขง ซึ่งบริโภคน้ำและปลาเช่นเดียวกับโลมา นอกจากนี้ยังพบสารปรอทในซากของลูกโลมาในปริมาณที่สูง ซึ่งคาดว่ามาจากการทำเหมืองแร่ทองคำ สารปรอทนี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์อ่อนแอและก่อให้เกิดการ ติดเชื้อได้ง่าย
“จากการวิเคราะห์ Necropsy analysis พบว่าลูกโลมาเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย แต่โดยทั่วไป หากลูกโลมามีระบบภูมิคุ้มกันในระดับปกติแล้ว โรคที่เกิดจากแบคทีเรียนี้ก็ไม่ถึงกับเป็นสาเหตุทำให้ลูกโลมาตายได้ สารพิษต่างๆ ที่แพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น อาจมีแหล่งที่มาจากประเทศต่างๆ ที่กระแสน้ำของแม่น้ำโขงไหลพาดผ่าน ทั้งนี้ WWF ประเทศกัมพูชากำลังตรวจสอบแหล่งที่มาของสารพิษเหล่านี้” ดร. เวอร์เน่โดฟ ผู้จัดทำรายงานและเป็นสัตวแพทย์ประจำ WWF ประเทศกัมพูชา กล่าว
นอกจากนี้การผสมเลือดชิดซึ่งเป็นข้อจำกัดในด้านความหลากหลายทางพันธุกรรม ทำให้โลมารุ่นต่อๆ ไปมีความอ่อนแอ และยากที่จะดำรงอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลมาเสียชีวิตได้ง่าย “ เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำในขณะนี้คือการจัดทำระบบป้องกันสุขภาพของโลมาอิระวดีในแม่น้ำโขง ที่เป็นเขตเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เพื่อลดจำนวนการตายในแต่ละปี” เส็ง เทียค ผู้อำนวย WWF ประเทศกัมพูชา กล่าว
“โลมาอิระวดีในแม่น้ำโขง เป็นสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเฉพาะที่หากินด้วยกัน เวลามีลูกอ่อนจะช่วยกันเลี้ยงดู และให้ตัวแทนออกมาดึงความสนใจของผู้คนและสิ่งรอบๆ ตัวไปจากฝูงโลมาที่กำลังดูแลลูกอ่อน เพื่อปกป้องภัยและสิ่งรบกวน ดังนั้นการคงอยู่ของโลมาอิระวดีในแม่น้ำโขงจึงกำลังรอความช่วยเหลือจากพวกเรา” เส็ง เทียค กล่าวสรุป
โลมาอิระวดีในลำน้ำโขง เป็นสัตว์ที่ถูกขึ้นบัญชีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งที่ระบุในบัญชี เรด ลิสต์ของ IUCN ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ในส่วนของประเทศไทยนั้น พบการกระจายของโลมาอิระวดี ในบริเวณอ่าวไทยตอนใน และทะเลทราบสงขลา โดยปัจจุบัน WWF ประเทศไทยกำลังดำเนินโครงการอนุรักษ์โลมาอิระวดี ในบริเวณอ่าวไทยตอนใน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
WWF ประเทศไทย