อัศจรรย์ทันตา ปริศนาพระเจ้าทันใจ
เรื่องของความเชื่อ ความศรัธทา ในทางพุทธศาสนา หรือทางไสยศาสตร์ กับวิถีชีวิตของคนไทย นั้นเป็นเรื่องที่แยกกันแทบไม่ออก บางเรื่องเป็นเรื่องเร้นลับยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ หลายๆ เรื่องเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์ เกิดขึ้นกับคนหลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างเช่นเรื่องที่ผมจะได้เล่าให้ฟังดังต่อไปนี้
เช้าตรู่ของวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2552 ณ ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ชาวบ้านและเยาวชนนับพันคน รวมทั้งผู้นำหมู่บ้านไปจนถึงกลุ่มผู้นำในระดับจังหวัดนี้ ล้วนแต่งกายงดงามด้วยอาภรณ์พื้นเมืองตามแบบฉบับของชาวไทยล้านนา เดินทางมารวมตัวกันประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ ณ บริเวณหนองเล่ม หน้าองค์เจดีย์ยุทธหัตถี ซึ่งเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้สร้างไว้ในคราวกระทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด |
ทุกคนมาเพื่อร่วมพิธีแห่งผ้าขึ้นธาตุเดือน 9 เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตั้งอยู่ภายในวัดพระบรมธาตุ ซึ่งเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาในละแวกเดียวกัน ประเพณีนี้เป็นประเพณียิ่งใหญ่เฉกเช่นทุกปีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา ด้วยความเคารพศรัทธา |
แต่ทว่าสภาพอากาศในเช้าตรู่วันนั้นไม่ค่อยเป็นใจนัก ด้วยอาจเป็นเพราะล่วงเข้าฤดูฝน ในยามต้นข้าวเขียวขจีเต็มท้องทุ่ง สายฝนมักจะโปรยปรายสม่ำเสมออย่างไม่สามารถเอาแน่ได้ว่า พระพิรุณจะบันดาลให้สายน้ำใสบริสุทธิ์นี้ตกล่วงลงมาเมื่อใด หรือ ณ แห่งใด ที่แน่ๆ ขณะนั้นฝนโปรยปราย มหาชนชาวบ้านต่างเข้าหาทีกำบัง ส่วนใหญ่ก็เป็นใต้ร่มเงาไม้ ทุกคนต่างพากันวิตกว่าพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุเดือน 9 ในวันนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร หลายสิ่งที่เตรียมการไปแล้วจะต้องเปียกปอนไปด้วยน้ำฝนต้นฤดูกระนั้นหรือ... |
หญิงวัยชราผมสีดอกเลาสวมเสื้อสีขาวคนหนึ่ง แกมายืนอยู่ข้างๆ ผมในศาลาทางเข้าหนองเล่มแห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทันสังเกต หญิงชราเงยหน้ามองฟ้าทั้งที่หลังของแกนั้นงุ้มงอ พรางเปรยอกมาอย่างแผ่วเบาพอได้ยินว่า “เป็นอย่างนี้ทุกปี๋ เดี๋ยวก็หยุดละ” |
ผมลังเลที่จะเชื่อคำพูดของคุณยายเมื่อสักครู่ ดูจากลักษณะท่าทางแล้วคุณยายคงเป็นชาวอำเภอบ้านตาก คงจะมาร่วมพิธีแห่ผ้าขึ้นธาตุเดือน 9 อยู่เป็นประจำทุกปี ถึงได้มั่นใจว่าฝนที่กำลังพรั่งพรูลงมาจะต้องหยุดลงในอีกไม่ช้า |
เวลาผ่านไปไม่นานนัก เมฆสีเทาเริ่มเคลื่อนตัวออกไปทางทิศใต้ สายลมเย็นพัดผ่านเข้ามาชวนให้ขนแขนลุกตั้ง แสงอาทิตย์ส่องประกายลอดผ่านขอบปุยเมฆ หลายคนที่กำลังจดจ่ออยู่กับพิธีอันยิ่งใหญ่มีสีหน้าที่ดีขึ้น เยาวชนนักเรียนเริ่มออกเดินไปตั้งแถวพร้อมถือตุงสวยงามตามแบบฉบับล้านนาโบกสบัดเพราะแรงลมส่งท้ายฝน |
ชาวบ้านหลายคนคุยกันอื้ออึงถึงเรื่องความอัศจรรย์ ผมนึกถึงคำพูดของคุณยายเมื่อสักครู่ที่ว่า "ฝนจะหยุดในไม่ช้า" และในตอนนี้ผมเห็นคุณยายจากด้านหลังที่งุ้มงอ ซึ่งแกกำลังเร่งเดินเข้าไปร่วมขบวนแห่อันยิ่งใหญ่สวยงาม |
ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุเดือนเก้า ของอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก นี้มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้จาริกไปแสดงธรรมสั่งสอนประชาชนในที่ต่างๆ และได้เดินทางมายังประเทศไทยด้วย เมื่อถึงดอยมะหิยังกะซึ่งเป็นสถานที่สร้างองค์พระเจดีย์ในปัจจุบัน จึงได้ตรัสกับพระอรหันต์ที่ตามเสด็จในครั้งนั้นว่า หากตถาคตปรินิพพานไปแล้ว 40 ปี 6 เดือน 6 วัน ให้นำอัฐิ และพระเกศา 4 เส้นมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชา |
ดังนั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์จึงได้นำพระอัฐิและพระเกศามาบรรจุไว้ในพระบรมธาตุ โดยมีสุรกวัตดิเศรษฐี แห่งดอยมะหิยังกะ เป็นผู้สร้างเจดีย์บรรจุพระอัฐิ และพระเกศา เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ. 50 |
เจดีย์พระบรมธาตุที่เห็นในปัจจุบัน พระครูพิทักษ์บรมธาตุ (ครูบาทองอยู่) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุในสมัยนั้น ได้ไปนมัสการพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า และได้นำแบบก่อสร้างมาปรับปรุงให้ผสมผสานเป็นศิลปะแบบล้านนา ภายนอกบุด้วยทองเหลืองผสมทองแดง มีเจดีย์เล็ก 16 องค์ อยู่รายรอบ มีซุ้มสำหรับบรรจุพระพุทธรูป 12 องค์ และโขงจุดเทียนไฟอีก 6 โขง ครูบาทองอยู่ได้สร้างเจดีย์องค์ใหม่นี้ครอบองค์เดิมไว้ ซึ่งเข้าใจว่าเจดีย์องค์เดิมมีรูปทรงสี่เหลี่ยม สันนิษฐานว่าเป็นลักษณะเจดีย์ทรงสุโขทัย |
งานแห่ผ้าขึ้นธาตุเดือนเก้า เป็นประเพณีที่ชาวอำเภอบ้านตาก ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ |
วิถีชีวิตของชาวอำเภอบ้านตาก มีรูปแบบคล้ายกับชาวล้านนา และส่วนใหญ่ยังผูกพันกับความเชื่อทางไสยศาสตร์และภูตผี โดยในปัจจุบันยังพบการทรงเจ้าเข้าผีอยู่ บุคคลที่เป็นร่างทรงส่วนหนึ่งจะทำหน้าที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยความเชื่อว่าจะเสริมสร้างบารมีให้ตนได้ไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้นไป |
เมื่อถึงวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านผู้ศรัทธาเทพนับถือผี จะช่วยกันตกแต่งต้นเงินผ้าป่า และเครื่องอัฐบริขาร และเครื่องผ้าป่าที่มีผู้ศรัทธาบริจาค ตกแต่งด้วยกระดาษสีและตุงไชยสวยงาม แห่แหนกันไปเป็นหมู่คณะ เป็นกลุ่มเป็นขบวน |
ส่วนชาวบ้านกลุ่มศรัทธาวัดต่างๆ ก็จะตกแต่งต้นเงินผ้าป่าเช่นเดียวกัน ขบวนแห่ของชาวบ้านตากนับสิบขบวนจะเริ่มแห่แหนจากบริเวณหนองเล่ม ข้ามผ่านสะพานบุญซึ่งเป็นสะพานไม้เก่าแก่สวยงามของวัดพระบรมธาตุ เพื่อผ่านขึ้นไปยังวัดพระบรมธาตุ แล้วไปกราบร่างทรงของเจ้าพ่อขุนทะเล และเจ้าพ่อดงดำ ที่หอผีหน้าวัดพระบรมธาตุด้านทิศตะวันตก |
ที่ซึ่งบรรดาเทพทั้งหลายจะมาประทับทรงยังร่างทรงกันที่บริเวณหอผี ร่างทรงบางร่างจะทำการร่ายรำ บางร่างก็รำดาบ รำมวย บ้างก็ขึ้นไปร่ายรำอยู่บนหลังวัวของเจ้าพ่อขุนทะเล ร่างทรงจะส่งเสียงอื้ออึงคุยระหว่างกันฟังไม่ได้ศัพท์ และในวันอันเป็นมงคลนี้เหล่าเทพทั้งปวงจะถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย
ด้านผู้ศรัทธาวัด เมื่อขบวนแห่มาถึงด้านบนซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์พระบรมธาตุ ก็จะนำผ้าไปถวายแด่พระสงฆ์เพื่อทำพิธีต่อไป จากนั้นก็จะพากันเข้าไปไหว้พระเจ้าทันใจ เพื่อขอพรตามประสงค์ |
เกี่ยวกับพระเจ้าทันใจนี้ เล่าสืบต่อกันมาว่ามีความศักดิ์สิทธ์มาก หากใครที่เลื่อมใสศรัทธายึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของพุทธองค์ ก็มักจะสมความปรารถนาตามคำขอ ท่านผู้รู้ได้ให้ข้อมูลว่า หากวัดใดมีพระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ วัดนั้นก็จะมีพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่ด้วย |
นอกจากวัดพระบรมธาตุแล้ว ในอำเภอบ้านตากยังมีพระเจ้าทันใจอีกสามองค์ที่วัดชลประทานรังสรรค์ โดยที่วัดชลประทานรังสรรค์ เป็นที่ตั้งของพระบรมธาตุลอย ซึ่งทำการย้ายมาจากบริเวณหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อหลายปีก่อน |
พระบรมธาตุลอย และพระเจ้าทันใจทั้งสามองค์ที่ประดิษฐานอยู่นั้น มีประวัติความเป็นมา และความศักดิ์สิทธิ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงการย้ายหมู่บ้าน หากท่านใดสนใจหรือมีโอกาสแวะเวียนไปอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ก็ควรจะเข้าไปนมัสการพระเจ้าทันใจ และพระบรมธาตุลอย ที่วัดชลประทานรังสรรค์ แห่งนี้ด้วย |
ชื่อของอำเภอบ้านตาก นั้นเป็นชื่อที่น่าสนใจ ผมเองก็รู้สึกสนใจไม่น้อย ความอยากจะรู้ความหมายของชื่อบ้านแห่งนี้นั้นมีมากเหลือเกิน จนได้มาร่วมงานแห่งผ้าขึ้นธาตุเดือน 9 ในปีนี้จึงได้ทราบที่มาที่ไป จากข้อมูลในการแสดงแสงเสียงช่วงค่ำคืน ณ บริเวณหนองเล่ม ในปีนี้ทางจังหวัดตากได้จัดการแสดงแสงเสียงขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี |
ณ อำเภอบ้านตาก แห่งนี้ ในอดีตนั้นเคยเป็นที่ตั้งของตัวเมืองตาก ก่อนที่จะย้ายไปที่ตัวเมืองในปัจจุบันซึ่งอยู่ทางทิศใต้ลงมาตามลำน้ำปิง คำว่า ตาก นั้น ว่ากันว่าในสมัยพระนางจามเทวี เดินทางจากลพบุรีเพื่อขึ้นมายังเมืองลำพูน ได้ใช้เส้นทางตามลำน้ำปิงขึ้นมา เมื่อเดินทางมาถึงในบริเวณนี้ ได้ทำการหยุดพักเพื่อตากผ้าอาภรณ์ จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านตาก” สืบมาจนถึงปัจจุบัน |
หากใครมีโอกาส ได้เดินทางมายังจังหวัดตาก ลองแวะมานมัสการพระบรมธาตุทั้งสององค์ แล้วกราบไหว้พระเจ้าทันใจ ขอพรให้บังเกิดสิ่งดีงามเพื่อเป็นมงคลชีวิต แล้วจึงค่อยไปพักผ่อนยังเขื่อนภูมิพล ล่องแพชมมหานทีที่เงียบสงบเป็นธรรมชาติท่ามกลางขุนเขา ดูดซับอากาศบริสุทธิ์ให้ร่างกายสดชื่นหายเหนื่อย ก็ถือเป็นเรื่องดีไม่น้อย |
วันนี้ตุงล้านนาหลากสีสดใสโบกสบัดพัดไปตามสายลมเย็น วิถีชีวิตของชาวอำเภอบ้านตาก เป็นไปอย่างเรียบง่ายมีรอยยิ้มสดใส คงเป็นเพราะเขาอยู่ใกล้กับธรรมชาติอันบริสุทธิ์ กิจกรรมงานต่างๆ ในครัวเรือนดำเนินไปดุจไม่มีวันจบสิ้น |
มันเป็นสุขอย่างนี้มาแสนนาน และจะยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป ตราบเท่าที่ชาวบ้านตากยังเคารพศรัทธาพระบรมธาตุ หรือว่าฝนที่หยุดตก และรอยยิ้มบนใบหน้าของเขานั้น มาจากพรที่เขาขอจากพระเจ้าทันใจ…
.....................................................................................
ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตาก www.tat.or.th/north04
ทุกน้ำใจ และรอยยิ้มต้อนรับอย่างยินดี ของชาวตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
แนะนำที่พัก
โโรงแรมเวียงตาก อำเภอเมือง จังหวัดตาก โทร. 055 512 507 , 055 512 508 www.viangtakriverside.com
แพนงนภัส ทัวร์ (เขื่อนภูมิพล) โทร.02 993 8313-5 , 055 515 350 www.nongnapattours.com
ร้านอาหาร
ร้านครัวเกษตร อำเภอเมือง จังหวัดตาก (เยื้องๆ ศาลากลางจังหวัดตาก) โทร.055 540 459
ร้านครัวบ้านตาก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง
เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก
อุทยานไม้กลายเป็นหิน