ปีนป่ายสู่ดอยสวรรค์ ลานพฤกษา…ภูสอยดาว (ตอนแรก)
ควันไอจากถ้วยกาแฟลอยกรุ่นขึ้นปะทะอากาศเย็นยะเยือก สร้างความอบอุ่นและเรียกความสดชื่นได้ดีไม่น้อย กาแฟถ้วยนี้คงจะรสเยี่ยมเป็นพิเศษ เพราะนั่งอยู่กลางดงสนสามใบและทุ่งดอกไม้นานาพันธุ์บนความสูงกว่า 1,600 เมตร ต้องใช้เวลาเดินฝ่าเส้นทางสูงชันหลายชั่วโมง กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าบดสดๆ (จากกรุงเทพฯ) ต้มจนอุณหภูมิเดือดได้ที่ บรรยากาศอาจจะดีกว่านั่งจิบกลางกรุงอิสตันบูล ต้นตำรับร้านกาแฟแห่งแรกของโลกเสียอีก การได้จิบกาแฟร้อนๆ สามารถคลายความหนาวและผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ดี หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางสู่ลานสนภูสอยดาวแห่งนี้ ตั้งแต่สายๆ ของวันหนึ่งในปลายฤดูฝน
**********
เป็นอีกครั้งที่ได้มาเยือนภูสอยดาวในช่วงปลายฝน หลังจากที่เคยมาแต่ในช่วงฤดูหนาว คราวนี้จึงเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ และสร้างประสบการณ์ในมุมมองที่แตกต่างจากที่พานพบ แม้ว่าภูสอยดาว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในมุมมองของคนที่เคยมาแล้วก็ตาม หรือภาพถ่ายในมุมต่างๆ ของสถานที่แห่งนี้ได้ถูกตีแผ่จากสื่อมากมายช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทว่าสำหรับผมหรืออีกหลายๆ คนที่เคยมาเยือนสถานที่แห่งนี้ จะไม่ว่าสักกี่ครั้ง กี่หน ภูสอยดาวก็ยังเป็นหนึ่งเส้นทางในดวงใจที่ทำให้ห้วงเวลาหนึ่งของชีวิตเป็นไปอย่างคุ้มค่าและน่าจดจำ.... “ภูสอยดาวมีอะไรดี !” ครับไม่ต้องเดา หรือ หาคำตอบเพราะอีกไม่เกินหกชั่วโมงเราคงได้รู้กัน
หลังจากติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง และตระเตรียมสัมภาระบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่บริเวณน้ำตกภูสอยดาว มีลูกหาบมานั่งรอนักท่องเที่ยวพอสมควร ถือว่าไม่มากหากเทียบกับจำนวนลูกหาบซึ่งเป็นชาวบ้านในละแวกนั้นที่มาลงทะเบียนกับอุทยานฯ หลายร้อยคน หากเป็นช่วงเทศกาลนักท่องเที่ยวมาก ลูกหาบบางคนวิ่งขึ้นลงถึง 2 รอบก็มี ไม่ใช่เพราะพวกเค้างกมีกำลังวังชาเหลือเฟือกันหรอกครับ ตรงกันข้ามถึงแม้จะเหนื่อยแสนเหนื่อยเพียงใด เมื่อมีโอกาสพวกเขามักไม่นิ่งเฉยให้โอกาสหลุดลอยไปง่ายๆ เพราะหากปล่อยลูกค้าไป กว่าจะถึงคิวอีกทีอาจรออีกหลายวัน
ส่วนค่าแรงจะคิดเป็นกิโลกรัมละ ๑๕ บาท โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ คอยดูแลเป็นตัวกลางในการชั่งน้ำหนัก ลูกหาบทุกคนจะได้น้ำหนักของสัมภาระใกล้เคียงกันเพื่อความเสมอภาค และป้องกันการแย่งลูกค้าในภายหลัง จะว่าไปราคากิโลกรัม ๑๕ ถือว่าไม่แพงเลยหากเทียบกับระยะทางและความชัน นอกจากนี้สิ่งที่ต้องชมทางอุทยานฯ ภูสอยดาวคือ การแก้ปัญหาเรื่องขยะ โดยใช้วิธีเก็บค่ามัดจำกลุ่มคณะ ๑๐๐บาท เพื่อเป็นตัวบังคับให้นักท่องเที่ยวนำเศษขยะต่างๆ ของตัวเองเก็บกลับลงมาทิ้งข้างล่าง จึงจะคืนค่ามัดจำดังกล่าวให้ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้รับรองภูสอยดาวอาจเต็มไปด้วยขยะเกลื่อนกลาด หรือจะคิดเผาทำลายข้างบนเลย ก็มีแต่ผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมของภูสอยดาว วิธีนี้อาจไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ช่วยลดปริมาณขยะไม่มากก็น้อย ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดเหนืออื่นใดอยู่ที่พวกเรา ผู้ใช้ประโยชน์จากสถานที่นี้ จะต้องเป็นผู้ดูแลรักษาความงดงามบนภูสอยดาวให้คงอยู่ไปนานเท่านาน
ผมไม่อิดออดหรือรีรอที่จะใช้บริการลูกหาบ เพราะอยากเก็บเรี่ยวแรงไว้สำหรับการเดินขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้าน สัมภาระทุกอย่างยกเว้นกระเป๋ากล้อง และน้ำดื่ม ๑ ขวด ถูกจัดเตรียมให้กับลูกหาบซึ่งมีถุงกระสอบใบโตสำหรับใส่ของแล้วมัดปาก และใช้ผ้าห่มดัดแปลงทำเป็นสายสะพายหลังคล้ายเป้ ต่างจากภูกระดึงที่ผมเคยไป เค้าจะมีไม้ไผ่ปล้องโตเป็นคานแบกขนสัมภาระ ซึ่งจากการที่เคยลองสัมผัส ขอหาบดูผมว่าแค่คานไม้ไผ่ลำโตอย่างเดียวก็เล่นเอาแย่แล้ว .... พวกผมเดินล่วงหน้าไปก่อนไม่รู้ว่าคนที่เดินตัวเปล่ากับมีของหนักใครจะถึงก่อนกัน แต่จากประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ลูกหาบมักจะถึงก่อนเสมอ
ช่วงนี้ปริมาณน้ำยังค่อนข้างมากสังเกตได้จากบริเวณน้ำตกภูสอยดาว มีสายน้ำเอ่อล้นเต็มโตรกผา แต่ก็ดูสวยงามโดยเฉพาะยามไหลลดหลั่นเชิงชั้นลงมากระทบโขดหิน กระเซ็นชุ่มฉ่ำไปทั่วบริเวณ ซึ่งเส้นทางเดินสู่ลานสนในช่วงแรกนี้เองต้องเดินผ่านน้ำตกภูสอยดาวชั้นต่างๆ ระยะทางประมาณ ๗๐๐ เมตร ( เมื่อก่อนน้ำตกแต่ละชั้นจะมีป้ายชื่ออันเพราะพริ้งติดไว้ แต่คราวนี้ไม่ยักกะมี ) ซึ่งถือว่าเป็นการเดินเรียกน้ำย่อย ชมนกชมไม้ก่อนเจอทางหฤโหด หรือจะเรียกว่าหาทางราบได้น้อยมากก็คงจะไม่ผิด
เส้นทางน้ำตกค่อนข้างสะดวกสบาย ผ่านเนินชันบ้างเล็กน้อย มีจุดให้ความรู้เป็นระยะคล้ายเส้นทางศึกษาธรรมชาติ น้ำตกภูสอยดาวคงเป็นน้ำตกยอดนิยมของผู้คนในย่านนี้และใกล้เคียง จึงสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาพักผ่อนปิกนิกพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นคนท้องถิ่น เพราะตั้งอยู่ริมทางหลวง ๑๒๖๘ เพียงจอดรถก็มองเห็นชั้นแรกของน้ำตกภูสอยดาวแล้ว
มีหลายกลุ่มที่มุ่งหน้าสู่ลานสนเช่นเดียวกัน เพราะช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมเป็นช่วงมีปริมาณนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวบนลานสน เพื่อชมความงามของทุ่งดอกหงอนนาค และดอกไม้นานาชนิดบานสะพรั่งท่ามกลางดงสน ไอหมอกลอยปกคลุมอย่างสวยงามกอปรกับน้ำตกก็มีน้ำมากอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่าภาพสวยงามที่สุด หรือภาพที่เรามักจะเห็นตามนิตยสารส่วนใหญ่จะเป็นภาพถ่ายจากช่วงเดือนดังกล่าวแทบทั้งสิ้น แต่สำหรับผมแล้วภูสอยดาวไม่ว่าหน้าฝนหรือหนาว ก็สวยทั้งนั้น แต่สวยคนละแบบ หรือใครเป็นนักเดินทางตัวจริงคงหาโอกาสมาสัมผัสทั้งสองบรรยากาศในฤดูกาลที่ต่างกัน ซึ่งก็เข้าท่าดีไม่เบาครับ
“ลานสนเดินอีกไกลไหม” ...เสียงของคุณตาท่านหนึ่งเรียกผมตื่นจากภวังค์ พลันเห็นภาพของตายายเดินจูงมือกันก้มลงคุยกับผม ผมตอบคำถามพร้อมอธิบายถึงการเดินขึ้นลานสนให้ฟัง ท่านจึงขอเที่ยวอยู่แค่เพียงน้ำตกภูสอยดาวเท่านั้น และบอกให้เที่ยวเผื่อพวกท่านด้วย ผมดีใจที่คิดมาภูสอยดาวเพื่อแสวงหาประสบการณ์สร้างกำไรชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย มีกำลังวังชายังดีอยู่ หากอายุมากคงจะลำบาก
๑....
ผ่านความชันของเนินส่งญาติมาได้ และถูกต้อนรับด้วย “เนินปราบเซียน” ลักษณะเป็นเนินชันตัดขึ้นไปตามแนวดิ่ง ไม่มีการอ้อมเขาแต่อย่างใด ถึงแม้จะทำเป็นขั้นบันได และมีราวไม้ให้เกาะเดินสะดวกขึ้น แต่เหมือนว่าพวกเราล้วนมีอาการเดียวกันคือ เดินไปไม่กี่ก้าวก็หยุดพักกันทีหนึ่ง การเดินขึ้นเนินชันแบบนี้ไม่ควรรีบเดินติดคนข้างหน้ามากเกินไป ต้องทิ้งช่วงระยะห่างเล็กน้อย เผื่อคนหน้าหยุดกะทันหันหรือล้มจะได้ไม่เสียกระบวน “นี่มัน ห้าร้อยเมตร หรือ ห้ากิโลเมตรกันแน่” เสียงบ่นออกอาการสั่นเครือดังขึ้นของน้องทีมงานคนหนึ่ง “ใครหนอช่างตั้งชื่อเนินได้สมชื่อซะจริ๊ง” แนะ! น้องคนเดิมยังไม่หยุดบ่น แต่ก็ได้แต่บ่นแหละครับ หากคิดเปลี่ยนอกเปลี่ยนใจเดินกลับดูท่าจะสาย ลงทุนเดินมาต้องเยอะคุณเธอคงไม่เปลี่ยนใจง่ายๆ
จะว่าไปขนาดพวกเราเดินตัวเปล่ายังเหนื่อยขนาดนี้ ทำให้ผมอดนึกถึงลูกหาบที่มีสัมภาระคนละไม่ต่ำกว่าสามสิบสี่สิบกิโล เค้ายังไม่ท้อ นั่นอาจจะเป็นเพราะความเหนื่อยยากทั้งหมดทำเพื่อปากท้อง หาบทีไรก็เหนื่อยแทบขาดใจทุกที แต่มันก็เป็นงานสุจริตที่สร้างรายได้งามๆเสริมจากช่วงว่างเว้นจากการทำไร่นา
หลังจากผ่านเนินชันต่อเนื่อง จะมีลานโล่งค่อนข้างกว้าง มีแคร่นั่งเหมาะสำหรับเป็นจุดพัก เมื่อหลายปีก่อนผมมาแวะพักตรงลานนี้มีชาวบ้านนำน้ำดื่ม น้ำอัดลม ตลอดจนเครื่องดื่มชูกำลังนานาชนิดวางขาย ไม่ว่านักท่องเที่ยวหรือลูกหาบจะแวะพัก และซื้อน้ำดื่มแทบทั้งสิ้น แต่คราวนี้ไม่มีได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เท่าที่ทราบเกิดปัญหาในการควบคุมขยะ ทางอุทยานฯจึงไม่อนุญาตให้นำขึ้นมาขาย
พวกเราหยุดพักเพียงเล็กน้อยเพราะยังเหลือทางอีกยาวไกล ผมถือคติที่ว่าค่อยๆเดิน แต่ก็ไม่ใช่ช้าเป็นเต่านะครับ เดินแบบรู้กำลังตัวเอง อย่างไรเสียลานสนก็รออยู่ข้างหน้าไม่หนีไปไหนอยู่แล้ว หากรีบเร่งเกินไปอาจไม่เหลือกำลังไว้ให้เดินแล้วจะยุ่ง แต่ก็ไม่ใช่ว่าเดินเรื่อยเปื่อยจนมืดค่ำก็ไม่ไหว…อันตราย
การเดินระยะทางไกลๆ โดยเฉพาะขึ้นทางชันยาวๆ แผนการเดินที่ดีที่สุดซึ่งผมใช้เป็นประจำคือ เดินไปพักไป เดินได้ระยะหนึ่งพอรู้สึกเหนื่อยก็ให้พักสักครึ่งนาทีหรือหนึ่งนาทีแล้วค่อยเดินต่อ อย่าฝืนลุยเดินจนหมดแรงแล้วค่อยพักทีเดียวนานๆ จะทำให้เกิดอาการเครื่องน็อค สตาร์ทไม่ติด อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้เป็นประจำ คือการหามุมถ่ายภาพไปเรื่อย ซึ่งนอกจากได้ภาพสวยๆ แบบไม่คาดคิด ยังทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย ยังได้ประโยชน์ในการเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่รอบข้าง ที่ไม่ใช่เฉพาะจุดหมายปลายทางเท่านั้น นี่แหละครับเป็นการท่องเที่ยวที่คุ้มประโยชน์อย่างหนึ่ง
สิ่งสำคัญอีกอย่างไม่ควรมองข้ามสำหรับการเดินทางในลักษณะนี้คือ น้ำดื่ม ควรมีพกติดตัว และค่อยๆ จิบแก้กระหาย อย่าดื่มบ่อยเกินไปน้ำอาจหมดไม่รู้ตัว ระหว่างเส้นทางไม่มีแหล่งน้ำ การใช้น้ำในสถานที่แบบนี้ควรประหยัดและใช้ให้คุ้มค่าที่สุด ส่วนข้างบนลานสนไม่ต้องเป็นห่วงจะมีธารน้ำสายทิพย์ (สายเดียว) สำหรับดื่มและใช้ แต่หากเป็นช่วงปลายฤดูหนาวจะไม่ค่อยมีน้ำ
ในช่วงปลายฝนเช่นนี้ ตามระหว่างทางสามารถพบเห็นเห็ดนานาชนิดขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งเห็ดกินได้และเห็ดที่สวยแต่รูปแต่กินไม่ได้ ความสำคัญของเห็ดหาใช่เพียงสร้างสีสันในผืนป่าหรือใครพบเห็นเท่านั้น หากในแง่ความสำคัญของระบบนิเวศน์ พืชชนิดนี้เสมือนผู้ย่อยสลายทรัพยากรในธรรมชาติ มิเช่นนั้นหากไม่มีการกำจัดหรือย่อยสลายย่อมมีปริมาณล้นเกินความจำเป็น ขณะลำต้นกิ่งก้าน ใบหญ้าหรือซากพืชซากสัตว์ล้มตายเกิดการทับถมกันมานานนับร้อยปีหรือล้านๆปี จนกลายเป็นดินและส่วนหนึ่งมันถูกกัดกินเป็นอาหารของปลวก มด จากนั้นเมื่อเข้าฤดูฝนพื้นที่ถูกย่อยสลายโดยปลวก มด มันก็ถูกแปรสภาพเป็นเชื้อเห็ด จนออกดอกตูม บานและร่วงโรยให้สัตว์เล็กจำพวกหนอน แมลงต่างๆได้กินเป็นอาหารต่อไป
ตามเส้นทางที่เราเดินขึ้นมานี้จะสังเกตเห็นไผ่ขึ้นกระจายตัวอยู่ ไผ่ถือเป็นแนวกันชนระหว่างป่าเบญจพรรณซึ่งจะมีไม้จำพวก ตะแบก แดง ประดู่ ชิงชัน ฯลฯ ขึ้นสลับกับทุ่งหญ้ากับป่าดิบชื้น ซึ่งอยู่ในระดับความสูงตั้งแต่ ๔๐๐-๑,๐๐๐ เมตร จะพบไม้ใหญ่จำพวก ยางนา กระบาก จำปี สลับกับไม้พุ่มอย่างสะบ้า และเฟิร์นนานาชนิด ส่วนพันธุ์ไม้ที่พบมากก็คือ ไม้ก่อ (Fagaceae) มีทั้งก่อรัก ก่อเดือย อันเป็นชื่อของเนินป่าก่อ ซึ่งอยู่ถัดมาจากเนินปราบเซียน เป็นการเดินเท้าที่เหนื่อยแบบกำลังดี แต่ถ้าฟังชื่อต่อไป เนินเสือโคร่ง อย่าเพิ่งวิ่งหนีเสียละครับ เพราะเจ้าเสือโคร่งที่ว่านั้นคือ “นางพญาเสือโคร่ง” ( Prunus cerasoides D.Don ) ไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งพบมากตามป่าดิบเขาระดับความสูงตั้งแต่ ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ เมตร ชอบอากาศเย็น ราวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ จะผลิดอกสีชมพู หรือขาวบานสะพรั่งชูช่ออวดโฉมตัดกับท้องฟ้าสดใส หรือที่เรียกว่า “ซากุระเมืองไทย” นั่นเอง
เนินนี้เดินไม่โหดร้ายดังเช่นเนินที่ผ่านมา ยังพอมีทางราบ ( แต่ไม่เรียบ ) ให้เดินสลับกับเนินเตี้ยๆ แต่สองข้างทางดูจะค่อนข้างรก อาจจะเพราะยังไม่หมดฝนและคนยังมากันไม่มาก ทางเดินจึงถูกปกปิดด้วยดงหญ้าสูงท่วมหัว เราใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ต้นจนราวกว่าสามชั่วโมง ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ดีที่อากาศค่อนข้างเย็น บางจังหวะยังมีละอองฝนพรำลงมาสร้างความชุ่มฉ่ำคลายร้อนได้บ้าง ป้ายเนินมรณะ บอกพวกเราว่าจะถึงลานสนในอีก ๑.๕ กม. นี่คงจะเป็นเนินสุดท้ายแล้ว ผมมองเห็นยอดภูสอยดาวอยู่ไม่ไกล ท่ามกลางสายหมอกคลอเคลียไหลเป็นสายสีขาวจากปลายยอด
เส้นทางช่วงสุดท้ายหรือเนินมรณะนั้น ทุกคนจะต้องฝ่าทางชันซึ่งตัดดิ่งขึ้นสู่ยอดเขา อันเป็นเส้นทางเดียวที่จะตัดเดินตามไหล่เขาขึ้นไปยังแอ่งที่ราบอันกว้างใหญ่หรือแอ่งกะทะบนลานสนได้ หากเป็นช่วงแล้งคงไม่เท่าไหร่ แต่นี่ฝนได้หล่นโปรยปรายตลอดเส้นทางเดินจึงทวีความยากขึ้นไปอีก เวลาเดินอย่าได้มัวแต่หยอกล้อเล่นกัน หากพลาดพลั้งอาจกลายเป็นอดีตไปก็ได้ เพราะตอนนี้เราอยู่บนความสูง ๑,๖๓๓ เมตรแล้ว
ผมมาถึงลานสน อันเป็นการสิ้นสุดทางชัน ความเหน็ดเหนื่อยกว่าห้าชั่วโมงจางหายไป เปลี่ยนเป็นพลังที่เปี่ยมล้นพร้อมท้าทายสิ่งใหม่ ต้องยอมรับว่าไม่มีครั้งใดที่ผมจะไม่รู้สึกเหนื่อยจนแทบจะท้อกับการเดินทางลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภูกระดึง เขาหลวง ภูหลวง ดอยหลวงเชียงดาว ฯลฯ แต่พอป่ายปีนไปถึงปลายทาง ความเหนื่อยล้าก็หายเป็นปลิดทิ้ง มันเหมือนกับได้มาพบเจอกับสิ่งท้าทาย แปลกใหม่ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ และไม่เคยท้อกับการเดินทาง พร้อมผจญภัยทุกครั้งที่มีโอกาส
ถึงแม้ลานสนแห่งนี้จะไม่กว้างใหญ่ ราบเรียบเช่นหลังแปภูกระดึง แต่ท้องทุ่งที่ถูกแต่งแต้มด้วยดอกไม้สีม่วง และสนสามใบยืนต้นตระหง่าน หยอกล้ออยู่กับสายหมอกจางๆ ยามบ่าย ซึ่งบดบังดวงอาทิตย์ไม่ให้โผล่ออกมากระจายความร้อนจนระคายเคืองผิวที่หาความขาวไม่ค่อยจะเจออยู่แล้ว
เมื่อเดินมาถึงลานโล่ง ซึ่งทางอุทยานฯ จัดไว้สำหรับกางเต็นท์ และตั้งแค้มป์ มีศูนย์บริการของอุทยานฯ ไว้อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ลูกหาบมาถึงและนั่งรอพวกเราอยู่ก่อน หลังจากรับสัมภาระผมจึงนัดแนะให้ขึ้นมารับในอีกสองวัน นักท่องเที่ยวโดยมากจะทำแบบนี้ คือหลังจากลูกหาบนำสัมภาระมาส่งแล้วจะมีการนัดหมายให้มารับสัมภาระในวันกลับด้วย แต่ก็มีบางกลุ่มที่จ้างเฉพาะขาขึ้น สำหรับขาลงสัมภาระจะน้อย แบกลงกันเอง
เราเริ่มมองหาทำเลเหมาะ ๆ สะดวกและปลอดภัย “เราปลีกวิเวกกันตรงนี้ดีกว่า ใกล้แหล่งน้ำ และเป็นส่วนตัวดี” เสียงน้องทีมงานกล่าวขึ้น พร้อมกับเอาเต็นท์และข้าวของไปวางโดยไม่รอฟังคำตอบจากเหล่าบรรดาสมาชิก มั่นใจว่าเห็นพ้องเหมือนกัน เต็นท์โดมและเปลถูกกางด้วยเวลาไม่นาน สำหรับผมการมาเที่ยวลักษณะนี้ต้องแบ่งงานกันทำ ใครเตรียมที่นอน ใครทำกับข้าว เพื่อทำภารกิจให้เรียบร้อยก่อนค่ำ หากชักช้ามืดค่ำจะทำอะไรก็ลำบาก เพราะไม่มีไฟฟ้า
อาหารเย็นมื้อนี้ถูกโม่ลงกระเพาะอย่างรวดเร็ว ไม่รู้ว่าเหนื่อยหรือหิว หรือทั้งสองอย่างรวมกัน ควันไอจากถ้วยกาแฟลอยกรุ่นขึ้นปะทะอากาศเย็นยะเยือก สร้างความอบอุ่นและเรียกความสดชื่นได้ดีไม่น้อย กาแฟถ้วยนี้คงจะรสเยี่ยมเป็นพิเศษ เพราะนั่งอยู่กลางดงสนสามใบและทุ่งดอกไม้นานาพันธุ์บนความสูงกว่าพันหกร้อยเมตร ต้องใช้เวลาเดินฝ่าเส้นทางสูงชันหลายชั่วโมง
กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าบดสดๆ(จากกรุงเทพฯ) ต้มจนอุณหภูมิเดือดได้ที่ บรรยากาศอาจจะดีกว่านั่งจิบกลางกรุงอิสตันบูล ต้นตำรับร้านกาแฟแห่งแรกของโลกเสียอีก การได้จิบกาแฟร้อนๆ สามารถคลายความหนาวและผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ดี หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางสู่ลานสนภูสอยดาวแห่งนี้ ตั้งแต่สายๆ ของวันหนึ่งในปลายฤดูฝน
อากาศในคืนนี้ช่างหนาวเย็นสุดขั้ว เป็นค่ำคืนมืดมิดไม่เห็นแม้แต่เดือนและดาว เป็นเรื่องปกติสำหรับคืนที่สภาพอากาศชื้นเหมือนฝนจะหล่นพรำลงมา ผมซุกตัวในถุงนอนอุ่นฟังเสียงลมพัดหวีดหวิวกึกก้องไปทั่วราวป่าได้เพียงไม่นาน ทุกอย่างก็เงียบงัน มีเพียงเสียงเพลงแห่งธรรมชาติเห่กล่อมตลอดทั้งคืน โปรแกรมเที่ยวบนลานสนจะเริ่มต้นในวันพรุ่งนี้
อำนวยพร บุญจำรัส ...เรื่อง / ภาพ
** ปีนป่ายสู่ดอยสวรรค์ ลานพฤกษา…ภูสอยดาว (ตอนจบ)
** ชวนเพื่อนเที่ยวภูสอยดาว แบบมีสาระ ตอนถ่ายภาพทุ่งดอกหงอนนาคบันเทิง 25 ก.ย. นี้(สนุกสุดๆ กับ นุ บางบ่อ)
ทุกภาพสามารถคลิกดูแบบภาพใหญ่ได้ครับ
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ