สี่ล้อเยือนถิ่นอีสาน
ถนนมิตรภาพทอดตัวยาวสุดสายตา ในขณะที่พาหนะของเราพุ่งทะยานไปเบื้องหน้า เสียงเพลง ที่ดังออกมาจากลำโพงช่วยให้การเดินทางเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน หลังจากราคาน้ำมันลดความดุเดือด พุ่งพล่านลงมา ชีพจรการเดินทางก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ห้วงเวลาปลายฝนต้นหนาวเรานัดหมายกันออกเดินทางสู่ที่ราบสูงอีสานกันแบบแวะเที่ยวตามหัวเมือง สำคัญๆหลายเมืองของถิ่นอีสานบ้านเฮา
ยามฝนและหนาวมาเยือนอีสานนั้น ดูเสมือนว่านับเป็นห้วงเวลา ที่น่าเดินทางท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูหนาว ทั้งตามชานบ้านชานเรือน และอุทยานแห่งชาติ หลายแห่ง เสน่ห์ของอีสานแท้จริงแล้วหลายคนบอกว่าอยู่ที่ผู้คนและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีมิติอันหลากหลาย
เราปักหมุดการเดินทางไว้ว่าจะเลาะเลียบจากกรุงเทพแวะไปเยือน เมืองสำคัญๆ ในอีสานใต้ และเมือง ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เลาะไปจนถึงหนองคาย เป็นสุดปลายทางจากนั้นใช้เส้นทางมิตรภาพ หวนกลับมาสู่จุดตั้งต้น ของเรา โดยมุ่งเน้นสัมผัสศิลปะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คน สามหมุดหมายหลักที่ผ่านทางไปพบนำมาเล่าสู่กันฟัง
บ้านคนเลี้ยงช้าง
เราอยากเก็บภาพช้างที่บ้านตากลาง แต่มิตรสหายชาวสุรินทร์ แนะนำว่าถึงสุรินทร์ควรแวะไปดู การทอผ้าไหมยกทองที่บ้านท่าสว่างด้วย หลายคนรู้จักสุรินทร์ในชื่อเสียงเรื่องช้าง หากแต่ที่อำเภอเมืองยังมีแหล่ง ผลิตผ้าไหมยกทอง ที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ผ้าไหมยกทองที่ใช้ตัดเสื้อผู้นำเอเปกเมื่อครั้งที่จัดประชุมขึ้นที่เมืองไทย ผลิตขึ้นจากที่นี่ “บ้านท่าสว่าง” ความแตกต่างของผ้าไหมยกทองจากผ้าไหมอื่นๆ คือความละเอียดลวดลายอันวิจิตร และกระบวนการทอที่ซับซ้อนแบบโบราณดั้งเดิม
ผ้าไหมทอยกทองที่มีลวดลายแบบดั้งเดิมลวดลายซับซ้อน หนึ่งผืนต้องใช้คนทอสี่ถึงหกคนทีเดียว ความซับซ้อนของลวดลายผ้าไหมยกทองบ้านท่าสว่างนั้นทำให้ถูกเรียกว่าผ้าไหมยกทองหนึ่งพันสี่ร้อยยี่สิบตะกอ
ตะกอ คือ กลไกในการบังคับเส้นสายลวดลายอันวิจิตรให้เป็นไปตามลวดลายที่ถูกออกแบบนั่นเอง ลายยิ่งซับซ้อน ตะกอก็ยิ่งมาก นักท่องเที่ยวที่มาเยือนบ้านท่าสว่างจะได้ชื่นชมกับกระบวนการทอแบบโบราณ ที่กี่ทอผ้าต้องมีหลุม ให้เส้นไหมดิ่งลงด้านล่าง แต่ถ้าหากอยากจะซื้อผ้าไหมยกทองแบบดั้งเดิมราคาต่อผืนเป็นเงินหมื่นทีเดียว
การมาเยือนสุรินทร์คงไม่สมบูรณ์นัก หากเลยผ่านบ้านตากลางหมู่บ้านคนเลี้ยงช้างไป ทุกวันนี้ ที่บ้านตากลางได้จัดตั้งศูนย์คชศึกษาขึ้น มีการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับช้าง และชีวิตคนเลี้ยงช้างแห่งบ้าน ตากลางไว้อย่างสมบูรณ์แบบ มีการจัดแสดงโชว์ช้างวันละสองรอบทุกวัน โดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียค่าเข้าชม แต่อย่างใด
ทุ่งโล่งกว้างใหญ่ มีสภาพเป็นทุ่งนาแซมสลับด้วยป่าละเมาะ หากมองจากที่สูงจะเห็นลำน้ำชีไหลมา บรรจบกับแม่น้ำมูล ใกล้ๆกันนั้นเป็นวังน้ำขนาดกว้างชาวบ้านเรียกกันว่าวังทะลุ เสียงคำรามของช้างพลาย ดังอยู่หลังแนวป่า ไม่นานนักเราก็เห็นตัวมันค่อยๆโผล่พ้นมาจากแนวป่า บนหลังมีควาญช้างลูกหลานชาวกวย บังคับมันให้ก้าวย่างมุ่งตรงไปยังแอ่งน้ำกว้างของวังทะลุ เสียงคำรามเบาๆ เสียงน้ำแตกกระจาย
เสียงภาษาถิ่นที่ควาญส่งเสียงพูดคุย ยามสัตว์ใหญ่รวมฝูงนั้น ยากยิ่งที่จะไม่อึกทึก ที่สุดของบ้านตากลางเห็นจะได้แก่การมีโอากาสได้ชมช้างรวมฝูงกันอาบน้ำ ในบริเวณที่ลำน้ำชี มาสบกับน้ำมูล การเห็นสัตว์ขนาดใหญ่อยู่รวมกัน ท่ามกลางธรรมชาติเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ
ชาวกวยมีวิชาความรู้เกี่ยวกับการจับช้างและบังคับช้างมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะไม่มี การออกจับช้างกันแล้วก็ตามที หากแต่ลูกหลานชาวกวยก็ยังคงนิยมเลี้ยงช้างกันอยู่ เป็นความผูกพันที่ยากจะแยก ขาดจากกันได้
โขลงช้างทยอยลงไปในน้ำ ลำตัวสีฝุ่นที่ถูกเคลือบไว้ด้วยละอองดิน ถูกน้ำชะออกเผยให้เห็นสีผิว ที่แท้จริงของช้าง เป็นสีดำตัดกับแผ่นน้ำสีโคลนที่มีเปลวแดดเต้นระยิบอยู่อย่างเริงร่า ไม่ใช่ภาพที่จะหาดูได้ง่ายๆ ฝูงช้างสิบกว่าเชือกอารมณ์ดีอยู่ท่ามกลางความเย็นฉ่ำจากลำน้ำธรรมชาติ ที่ตำบลกระโพ แถบบ้านตากลาง บ้านโพน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ที่ซึ่งนักท่องเที่ยวจะพบภาพความผูกพันระหว่างคนกับช้างที่เป็นธรรมชาติ
เลียบลำโขง
กลับมาบนถนนอีกครั้งเรามุ่งไปบนทางลาดยางอย่างดี มีหลากหลายชุมชนที่น่าสนใจ ทุ่งข้าวสองข้างทาง เขียวขจีและจะเปลี่ยนเป็นสีทองเมื่อย่างเข้าสู่ธันวาคม อำเภอโขงเจียมของอุบลราชธานีคือหมายที่เรามุ่งไปสู่ ที่ซึ่งแม่มูลไหลมาสบ กับแม่โขง เย็นย่ำวันที่เราไปเยือนนั้นนับเป็นโอกาสดี ชาวประมงพื้นบ้านมารวมตัวกันจับปลา ในช่วงเวลาสำคัญของปี
เรือแจวลำเล็กเกือบยี่สิบลำลอยลำอยู่ทั่วบริเวณปากแม่น้ำ เสียงพูดคุยกังวานไปทั่วทั้งคุ้งน้ำ ท่ามกลางแสงยามเย็นที่อ่อนโยน อาจเรียกได้ว่าเป็นมหกรรมจับปลาก็ว่าได้ ไหว้วานเรือลำหนึ่ง ให้พาออกไปกลางแม่น้ำ เก็บภาพบรรดาชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังเก็บเกี่ยวขุมทรัพย์จากธรรมชาติอยู่
แน่นอนว่าเมื่อมาถึงโขงเจียม หากคุณพลาดเมนูปลาจากบรรดาร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมโขง คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นคนที่ไม่ชอบทานปลา
ยามเย็นย่ำที่ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำลงสู่แผ่นดิน แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียมงดงามยิ่งนัก เรามองดูสีสันที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปของแม่น้ำและบรรยากาศสองฝั่งประเทศ ฝนที่มากเป็นพิเศษของปีนี้ ดูท่าว่าจะโปรยสายลงมาในค่ำคืนนี้ ที่ปลายฟ้าเส้นสายฟ้าแปลบปลาบทำให้บรรยากาศพลบค่ำดูอัศจรรย์ยิ่งนัก
เช้าวันนั้นก่อนจากอุบลราชธานีเราแวะไปเยือนผาแต้ม มองดูทิวทัศน์ของแม่น้ำโขง ที่ไหลล่อเลี้ยง ชีวิตผู้คนมากมาย จากจุดชมวิวบนลานหินสามารถมองเห็นทิวทัศน์กว้างไกลสุดสายตา ใต้เผิงผายังปรากฏ ภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์บนผนังหิน แสดงเรื่องราวชีวิตผู้คนที่อาศัยพึ่งพิงความสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง
ไหว้ธาตุพนม ชมสาวผู้ไท
ถนนสายรองที่เลาะมาเลียบเคียงลำโขง เมื่อนับระยะทางโดยรวมแล้วไกลอยู่ไม่ใช่น้อย เป็นเส้นทาง ที่น่าขับรถอย่างยิ่ง สำหรับใครที่ชอบเดินทางแบบ Road Trip น่าจะเป็นการขับรถที่มีความสุข ออกจากโขงเจียม เลียบเลาะจนถึงมุกดาหาร
ซึ่งเป็นหัวเมืองที่เป็นประตูสู่ประเทศลาวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่สอง ทอดตัวเชื่อมสองประเทศที่นี่ หากข้ามชายแดนที่นี่จะเข้าสู่แขวนสะวันนะเขตของลาว และสามารถขับรถต่อไปจนถึงเมืองดานังของเวียดนามได้ จากมุกดาหารถึงดานังระยะทางประมาณ 323 กิโลเมตร
ถนนเลียบโขงจากมุกดาหารไปนครพนมมีความงดงาม และมีสถานที่น่าสนใจให้แวะชมไม่น้อย ชุมชนริมฝั่งโขงเงียบสงบในช่วงที่ไกลออกมาจากจุดท่องเที่ยวหลัก ใช้เวลาไม่นานก็ถึงอำเภอธาตุพนม ซึ่งคือที่ตั้งของพระธาตุพนมเป็นที่เคารพของทั้งชาวไทยและลาว ท้องฟ้าสีเข้มจัดจ้าน ส่งให้สีขาวขององค์ธาตุพนม เจิดจ้าในแดดสว่าง
ทุกวันจะมีผู้คนหลั่งไหลมาชมความงามและสักการะพระบรมธาตุเพื่อความเป็นศิริมงคลของชีวิต หลังจากสัการะพระธาตุพนมแล้ว เดินทางอีกไม่ไกลก็จะถึงถิ่นสาวงามนามเรณูนคร “สาวผู้ไท” แห่งอำเภอเรณูนคร มีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน ทั้งใบหน้าที่สวยและความอ่อนช้อยในศิลปะการแสดงประจำถิ่น “รำผู้ไท”
สิ่งที่ขึ้นชื่อของอำเภอเรณูนครคือเหล้าอุ รำผู้ไท และสาวผู้ไท หากมิได้มาในช่วงเทศกาล คงไม่อาจ ได้เห็นรำฟ้อนของสาวผู้ไท หากอยากชมการฟ้อนรำของสาวเมืองเรณูนครจริงๆ จะต้องมาเยี่ยมเยียน เมืองเรณูตามช่วงเทศกาลสำคัญๆ ต่าง เช่น งานนมัสการพระธาตุเรณู หรือชาวเรณูเรียกว่า งานบุญเดือนสี่ งานสงกรานต์ งานลอยกระทง แต่ถ้าเป็นงานที่มีบรรดาผู้สาวเรณูและการฟ้อนรำที่ครบถ้วนจริงๆ ต้องมาวันที่ 14 กุมพาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันผู้ไทยเรณู
ปลายทางที่หนองคาย
เรายังคงใช้เส้นทางหมายเลข 212 เลาะเลียบลำโขงไปจนถึงปลายทางของเราคือหนองคาย แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำใหญ่ ยากที่จะอธิบายถึงพลังของแม่น้ำที่ส่งสะท้อนออกมาสู่เรา แต่ทุกคราที่ได้มีโอกาส มาอยู่ใกล้ชิดกัน เรามักจะสัมผัสได้ถึงพลังที่ส่งออกมาจากแม่น้ำสายนี้เสมอ
หนองคายวันนี้ยังคงเป็นจังหวัดที่น่ารักเฉกเช่นเดิม หากจำไม่ผิดหนังสือท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ฉบับหนึ่งจัดอันดับให้หนองคายเป็นหนึ่งในสิบเมืองน่าอยู่ของเอเซีย ตัวอำเภอเมืองหนองคายวางตัวขนานไปกับแม่น้ำโขง ตลาดริมแม่น้ำโขงในวันนี้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ทางราชการมีการจัดการอย่างดี ที่กั้นระหว่างตลิ่งสูงริมน้ำกับร้านอาหารคือทางเดินกว้าง ยามเย็นย่ำผู้คน
ออกมาเดินเล่นหาอาหารรับประทานมองดูวิวแม่น้ำ ทอดสายตาไปยังฝั่งเพื่อนบ้านที่วันนี้เติบโตขึ้นมาก สังเกตุได้จากความสว่างของแสงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าอาหารที่ขึ้นชื่อของหนองคายคืออาหารเวียดนาม ร้านแดงแหนมเนืองก็ยังคงมีผู้คนแวะมาลิ้มชิมรสและซื้อติดเป็นของฝาก
ในตัวอำเภอเมืองมีที่พักเล็กๆสำหรับนักเดินทางมากมายให้ได้เลือกพักราคาย่อมเยาว์ ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เมื่อเดินเล่นในอำเภอเมืองหนองคายแล้วจะพบเห็นชาวต่างชาติมากมาย ร้านกาแฟน่านั่งหลายร้าน ด้วยเพราะ หนองคายเป็นประตูสำหรับการเดินทางข้ามไปท่องเที่ยวยังฝั่งลาว ที่นี่จึงมีทั้งนักท่องเที่ยวที่มารอเดินทางออก และเพิ่งเดินทางกลับเข้ามา
น่าเสียดายที่เราไม่สบโอกาสที่จะเลาะเลียบลำโขงต่อไปจนถึงเมืองเลย ซึ่งเส้นทางเลียบโขงจากหนองคาย สู่เลยนั้น นับได้ว่าเป็นช่วงที่งดงามที่สุดและมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะที่อำเภอสังคม อำเภอปากชม และอำเภอเชียงคาน
จากหนองคายกลับสู่กรุงเทพ สำหรับการขับรถไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลย ทางหลวงหมายเลข 2 ทอดตัวจาก หนองคายยาวจนไปเชื่อมกับทางหลวงหมายเลข 1 ที่สระบุรีมุ่งตรงสู่กรุงเทพ
แน่นอนว่าการท่องเที่ยวแบบ Road Trip เราสามารถเลือกจุดหมายที่จะแวะได้ตามใจชอบ วิวสองข้างทาง ที่ใดถูกใจ เพียงหลบรถเข้าข้างทาง และหยุดชื่นชมอ้อยอิ่งโดยไม่มีกำหนดการมาเร่งรัด เป็นเสน่ห์ของการท่องเที่ยว ด้วยรถยนต์อย่างแท้จริง ก่อนน้ำมันจะกลับมาขึ้นราคา ต้นปีนี้ในขณะที่อากาศยังหนาวเย็นอยู่ เส้นทางขับรถเที่ยว ในภาคอีสานนั้นสนุกสนาน และมีอะไรให้สัมผัสมากมายทีเดียว