ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต
ในบรรดายอดเขาสูงอันดับต้นๆ ของเมืองไทย “ดอยหลวงเชียงดาว” นับว่ามีรูปร่าง ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นกว่าใครเพื่อน เขาหินปูนหยึกหยักตระหง่านเงื้อม เมื่อมองจากบริเวณใดใกล้ไกล ยอดดอยแห่งนี้ก็คงความแปลกตาชวนมองยิ่งนัก เชียงดาวเผยโฉมให้เห็นได้ในหลายสถานที่ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบนทางหลวงหมายเลข 107 ซึ่งผมเคยนั่งรถผ่าน ห้วยน้ำดังสถานที่ชื่อดังแห่งการชมทะเลหมอก ที่นี่ในยามเช้าเราจะพบสายหมอกล่องลอยอยู่กลางหุบเขาโดยมียอดเชียงดาวสูงตระหง่านเด่นเคียงคู่กัน กลายเป็นภาพคุ้นเคยและเป็นดั่งสัญลักษณ์ของสถานที่นี้ ตลอดจนการมองเชียงดาวในที่ห่างไกลอย่างบนยอดดอยลังกาหลวง ซึ่งมีความสูงอันดับห้าของประเทศแห่งอุทยานแห่งชาติขุนแจ ก็คงค้นพบว่ามันยังไม่ลดความยิ่งใหญ่ลงแม้แต่น้อย.... เชียงดาวที่มองจากภายนอกจึงโดดเด่นกว่ายอดเขาใดๆ
เชียงดาว...ในความรู้สึก ความประทับใจที่สัมผัสนั้น ส่วนตัวผมจึงมีทั้งการมองเห็นจากภายนอกและสัมผัสเห็นจากภายใน โดยส่วนของภายในนั้นผมกำลังหมายถึง การก้าวเท้าสู่ยอดดอยแห่งนี้ ดินแดนที่มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต
1...
สถิติความสูง 2,275 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงเป็นอันดับสามของประเทศ แต่หากความสูงนี้หาใช่เรื่องสำคัญที่ทำให้ดอยหลวงเชียงดาวกลายเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำของนักเดินทาง หากมันคือ การดำรงอยู่ของความงดงามอันน่าอัศจรรย์ของโลกธรรมชาติ ทำให้เราบากบั่นขึ้นมาเรียนรู้ มาเยี่ยมเยือนบ้านของพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวและพรรณไม้หายากที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก สร้างประสบการณ์การเดินทางอันน่าจดจำ
....จุดกำเนิดของเทือกเขาเชียงดาว เกิดจากการทับถมของตะกอนทะเลและซากสัตว์ต่างๆ ใต้ท้องทะเล ซึ่งสันนิษฐานว่าในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นท้องทะเลมาก่อน ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก จนทำให้แผ่นดินยกตัวขึ้นเป็นภูเขา เป็นแอ่ง และหุบเขา เรียกว่ายุคเพอร์เมียน มีอายุราวกว่าสองแสนล้านปีมาแล้ว เทือกเขาดอยเชียงดาวซึ่งเป็นเขาหินปูนจึงมีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากโดยรอบเป็นหน้าผาชัน และบางแห่งยังมีมุมตั้งฉากกับพื้นโลก สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการทรุดตัวเป็นแนวเลื่อน แนวตรงของโครงสร้างทางธรณีวิทยา และยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการกำเนิดชนิดของสังคมพรรณพืช บริเวณที่หน้าดินลึกสามารถพบไม้ต้นขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ส่วนบนพื้นหินปูนจะเป็นไม้พุ่มเตี้ยและไม้ล้มลุก เนื่องจากหน้าดินมีน้อยและตื้น รวมทั้งดินมีความเป็นด่างสูง ชนิดพืชที่ขึ้นได้ส่วนใหญ่จึงเป็นชนิดพิเศษจริงๆ
สังคมพืชบนดอยหลวงเชียงดาวมีลักษณะแตกต่างจากสังคมพืชในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ แม้กระทั่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือด้วยกันเอง ตามปกติแล้วยอดเขาที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 2,000 เมตร จะปรากฏเป็นสังคมพืชป่าดิบเขา และป่าดิบชื้นแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นป่าโบราณในเขตยอดดอยสูงสุดของเทือกเขาอินทนนท์ หรือแม้กระทั่งดอยผ้าห่มปก ดอยลังกาหลวง และ ดอยโมโกจู ฯลฯ ล้วนตรงกันข้ามกับดอยหลวงเชียงดาวอย่างสิ้นเชิง
การเป็นเทือกเขาหินปูนขนาดใหญ่ของดอยหลวงเชียงดาว ก่อให้เกิดสังคมพืชที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สามารถพบเห็นได้ในที่อื่นๆ ที่เรียกว่าสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งในวันนี้ใครขึ้นไปเชียงดาว ไม่พูดถึงเรื่องพืชกึ่งอัลไพน์ คงจะต้องเป็นคนที่เชยทีเดียว
เหตุที่ต้องใช้คำว่า “กึ่ง” เนื่องมาจากว่าสังคมพืชอัลไพน์ ที่แท้จริงนั้น ตามปกติจะพบเห็นได้ในเขตหนาว หรือถ้าเป็นเขตร้อนก็ต้องเป็นภูเขาที่สูงมากกว่า 3,500 เมตร ยิ่งใกล้กับเส้นศูนย์สูตรเท่าไหร่ ภูเขาที่จะเกิดอัลไพน์ได้ก็ยิ่งต้องสูงมากขึ้นเท่านั้น
สมาชิกในสังคมพืชอัลไพน์ นั้นไม่ปรากฏพืชที่เป็นไม้ยืนต้นอยู่เลย นั่นเป็นเพราะสภาพอากาศหนาวเย็นจัดและลมแรง แต่สำหรับบนดอยหลวงเชียงดาว กลับพบว่ามี ค้อเชียงดาว และ ไม้ก่อ อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขึ้นปะปนกับไม้เล็กอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า กึ่งอัลไพน์
การเกิดขึ้นของสังคมพืชกึ่งอัลไพน์บนยอดดอยหลวงเชียงดาวจึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบต้องสมบูรณ์จริงๆ เท่านั้น และจากการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ของนักวิชาการทำให้ทราบว่า บนพื้นที่นี้เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้เขตอบอุ่น ซึ่งกระจายพันธุ์มาจากทางตอนเหนือของทวีป โดยเป็นการนำพาของลมที่พัดลงมาทางใต้ ซึ่งได้หอบเอาเมล็ดไม้จำนวนหนึ่งมาติดค้างอยู่บนดอยแห่งนี้ ทำให้พวกมันหยั่งรากเติบโตอยู่บนดอยเชียงดาว ดังจะเห็นได้จากพืชหลายๆ ชนิดมีลักษณะคล้ายหรือเป็นชนิดเดียวกับที่พบในเขตเทือกเขาหิมาลัย และเนื่องจากบริเวณสันเขาเกิดการก่อตัวของภูเขาหินปูนที่มีชั้นดินเก็บกักน้ำได้น้อย จึงเป็นปัจจัยทำให้การสร้างระบบนิเวศจำเพาะขนาดเล็กแก่พืชบางชนิดให้สามารถขึ้นอยู่ได้ หลังจากนั้นเมื่อพืชดังกล่าวมีการปรับตัวจนขึ้นอยู่ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็เป็นการนำไปสู่การแตกให้ประชากรกลายพันธุ์จนแยกเป็นชนิดใหม่มากมาย และมีจำนวนไม่น้อยไม่พบเจอในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก
ดอยหลวงเชียงดาวมีระดับความสูงเพียง 2,275 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่กลับมีพรรณพืชที่มีในถิ่นเดียว และหาพบยากของโลกมากมาย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 นักพฤกษศาสตร์คนแรก คือ Dr. C.C. Hosseus ขึ้นมาสำรวจพันธุ์ไม้บนดอยหลวงเชียงดาว และต่อด้วยนักพฤกษศาสตร์หลายคนจนถึงวันนี้ สำรวจพบว่า ดอยหลวงเชียงดาวมีพรรณพืชอย่างน้อย 1,722 ชนิด โดยกว่า 50 ชนิดเป็นพืชถิ่นเดียว ไม่พบที่ไหนอีกในโลก
พรรณไม้ที่พบเห็นบนดอยเชียงดาวในแต่ละฤดูกาลมีความแตกต่างกันออกไป แต่ไม่มีช่วงใดที่พรรณไม้นานาชนิดบานสะพรั่งมากเท่าปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว หรือ ราวปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และช่วงฤดูกาลดังกล่าวก็ยังเป็นช่วงที่ท้องฟ้าสดใส สร้างปรากฏการณ์ในการชมทิวทัศน์บนดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างสวยงามที่สุดเช่นกัน พันธุ์ไม้ที่ผลิดอกช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็น ชมพูเชียงดาว ชมพูพิมพ์ใจ หรีดเลื้อยเชียงดาว เทียนนกแก้ว ฟองหินเหลือง คำขาวเชียงดาว ฟ้าคราม และขาวปั้น เป็นต้น เราสามารถพบเห็นพันธุ์ไม้เหล่านี้ตลอดเส้นทางเดินโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกิ่วลมและยอดสูงสุด ซึ่งจะพบเห็นได้มากที่สุด
...เชียงดาว หรือ “เพียงดาว และ เปียงดาว” ตามภาษาท้องถิ่น คือเทือกเขาหินปูนสูงที่สุดของประเทศ อดีตมีตำนานเล่าขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตของเหล่าเทพเทวดาที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ตามความเชื่อดังกล่าวทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าย่างกรายขึ้นไปนัก จึงขนานนามเทือกเขาแห่งนี้ว่า เปียงดาว ซึ่งหมายถึงยอดเขาที่มีความสูงเทียมดาว แต่ต่อมาเรียกเพี้ยนว่า เพียงดาว และ เชียงดาว ในปัจจุบัน
จากตำนานเรื่องราวในอดีตทำให้พื้นที่ของเชียงดาวเป็นความลี้ลับอยู่เนิ่นนาน จนกระทั่งได้มีการสำรวจและประกาศจัดตั้งให้เป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2521 นับแต่นั้นมาการเดินทางขึ้นดอยหลวงเชียงดาวของนักเดินทางจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวเกี่ยวกับดอยแห่งนี้ก็ได้รับการเผยแพร่ต่อสายตาสาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ จนที่สุดกลายเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายธรรมชาติที่สำคัญเส้นทางหนึ่งในบ้านเราจวบจนปัจจุบัน
หากความเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ โดยเฉพาะความหลากหลายของพรรณพืชที่หายากของโลก ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้ค่อนข้างเปราะบางตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าหลายชนิด แน่นอนว่าหากการเปิดให้เข้ามาเที่ยวชม อย่างไม่มีการจัดการที่ดีแล้วล่ะก็ ย่อมจะส่งผลทำลายสิ่งล้ำค่าเหล่านี้ไม่มากก็น้อย ความเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงมีกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ แตกต่างจากอุทยานแห่งชาติ ทำให้การกำหนดเส้นทางขึ้นมาเที่ยวชมบนดอยแห่งนี้มีความเข้มงวดและเป็นไปในทิศทางที่กำหนดซึ่งอยู่ภายใต้การจัดระบบอันสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และที่ “อ่างสลุง” เป็นบริเวณเดียวที่ใกล้ยอดดอยหลวงเชียงดาวที่สุด ซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นจุดตั้งแค้มป์ของเหล่านักเดินทาง.... เรื่องราวของการยลโฉมพรรณพฤกษา และยอดเขาสูงจึงเริ่มต้น ณ ตรงนี้
2...
การเดินทางขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวปัจุบันเปิดให้ขึ้น-ลงสองเส้นทางด้วยกันคือ เส้นทาง “ปางวัว” และ “เด่นหญ้าขัด” ( หน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก ) ทั้งสองเส้นระยะทางแตกต่างกัน กล่าวคือ ปางวัวจากจุดเดินเท้าระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ส่วนเด่นหญ้าขัด ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะไกลกว่า และยังต้องนำรถไปส่งจุดเดินเท้าซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยหลวงเชียงดาวหลายสิบกิโลฯด้วยกัน หรือใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และในฤดูฝนรถที่เข้าไปส่งจะต้องเป็นรถประเภทขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น ส่วนเส้นทางปางวัวอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการเขตฯ ใช้เวลาเพียง 20 นาที เป็นถนนราดยางสะดวกสบายจนถึงจุดเดินเท้า เส้นทางปางวัว จึงได้รับความนิยมกว่าเด่นหญ้าขัด แต่ถ้าไม่รวมระยะทางรถยนต์ ทั้งสองเส้นใช้เวลาเดินเท้าพอๆ กัน
ขณะที่ทางเด่นหญ้าขัดก็มีความโดดเด่นทางภูมิประเทศที่ไม่เหมือนทางปางวัว กลายเป็นจุดดึงดูดใจไม่น้อยทีเดียวกล่าวคือ จากจุดเริ่มต้นหน่วยฯ เด่นหญ้าขัด หรือ ขุนห้วยแม่กอก ลัดเลาะผ่านเส้นทางที่ต้องเดินบนสันเขามองเห็นทิวทัศน์ในมุมกว้าง และเดินอยู่ท่ามกลางดงสนสามใบ เพลิดเพลินกับการชมทิวสน ฟังเสียงทิวสนปะทะลมจนเกิดเป็นท่วงทำนองเสียงธรรมชาติไพเราะเสนาะหู บางช่วงต้องลุยป่าหญ้าคาที่สูงท่วมหัว ซึ่งบริเวณเหล่านี้หรือหลายๆ ที่ในอดีตเคยเป็นไร่ฝิ่นของชาวม้งมาก่อน คนที่เคยมาเยือนเชียงดาวเมื่อสิบกว่าปีก่อน จะได้พบเห็นไร่ฝิ่นที่ออกดอกสะพรั่งทั่วหุบดอย ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีการปลูกฝิ่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย แต่ปัจจุบันแทบจะไม่เหลือร่องรอยให้เห็น ตลอดเส้นทางไม่ชันมากนัก ทำให้ความต่างของระยะทางเทียบกับปางวัวแล้วใช้เวลาเดินพอๆ กัน
ทางด้าน ปางวัว จะชันกว่าเล็กน้อย แต่สะดวกในการนำรถมาส่งที่จุดเริ่มต้น จากนั้นเดินไต่ขึ้นเขาจนถึงดงไผ่หกและเดินทางราบในหุบเขาจนถึงดงกล้วย ซึ่งบริเวณดงไผ่หก จะเป็นจุดที่ทางเขตฯ อนุญาตให้กางเต็นท์พักแรมค้างคืนได้สำหรับกรณีที่ต้องการแบ่งช่วงครึ่งทางของการเดิน แต่ถ้าเดินรวดเดียวถึงแค้มป์อ่างสลุงใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเส้นทางเด่นหญ้าขัด โดยทั้งสองเส้นทางจะมาบรรจบกันระหว่างครึ่งทาง หรือเลยแค้มป์ดงกล้วยมาเล็กน้อย...ไหนๆ มาถึงเชียงดาวทั้งที ต้องเดินให้ครบทั้งสองเส้นทาง ผมและชาวคณะมิตรสหายจึงวางแผนเดินขึ้นทางปางวัว เดินรวดเดียวให้ถึงแค้มป์อ่างสลุง ค้างบนนี้สักสองคืนแล้วขากลับเลือกลงทางเด่นหญ้าขัด
...ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนเริ่มต้นที่ทางเขตรักษาพันธุ์ฯ เชียงดาว กำหนดเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปเที่ยวชมศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว จนถึงเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี เพื่อให้ป่าได้พักฟื้นตลอดช่วงฤดูฝน และเหมือนว่าปีนี้ฟ้าฝนอากาศผิดแปลกไป ฝนยาวล่วงเลยมาถึงต้นเดือนพฤศจิกายน พอหมดฝนอากาศหนาวขึ้นมาทันที เข้าหนาวได้สองสามวันอุณหภูมิลดฮวบๆ จนทำให้บนยอดดอยสูงๆ อากาศหนาวเย็นสุดขั้ว ยอดดอยสูงสุดของประเทศอย่างอินทนนท์อุณหภูมิลดต่ำสุดถึง 0 องศา เกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง
ขณะเดียวกันที่เชียงดาวก็ดูจะไม่ต่างสักเท่าไหร่ และก็เป็นช่วงเดียวกันที่พวกเราเดินทางมาตรงกับความหนาวนี้พอดี มันจึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาแน่นอนกับการเผชิญความหนาวบนยอดดอยแห่งนี้ ขนาดแค่ช่วงวันระหว่างที่เราเดินอยู่นั้น แสงแดดแผ่จ้าเท่าไหร่แต่มันก็ไม่รู้สึกถึงความร้อน มันเหมือนว่าพลังแสงแดดคงไม่อาจต้านทานความหนาวเย็นนี้ไปได้ แต่กลับทำให้พวกเราเดินกันอย่างสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป แม้ว่าบางช่วงของเส้นทางชันที่เราต้องใช้เรี่ยวแรง เรียกเหงื่อขับความร้อนจากร่างกายปะทะความเย็นรายรอบตัว ไม่นานความร้อนความเหนื่อยนั้นก็หายไปในบัดดล จะหลงเหลือก็ความเมื่อยเขม็งตรึงของกล้ามเนื้อบริเวณขา พาให้หยุดพักหลายช่วงด้วยกัน ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขในสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ แต่ก็ไม่อยากนึกถึงเวลาค่ำคืน ซึ่งมันจะหนาวเหน็บเพิ่มเป็นทวีคูณแค่ไหน
ระหว่างพักหลายคนสนุกกับการพูดคุยหยอกล้อ และบางคนรวมถึงผมต่างง่วนอยู่กับการบันทึกภาพ ซึ่งมีให้หยุดคว้ากล้องออกจากกระเป๋าเป็นระยะ ทางเดินช่วงชั่วโมงแรกมองออกไปทิศตะวันตก เห็นหมู่บ้านตั้งโดดเด่นอยู่บนเนิน คือบ้านนาเลา ชุมชนชาวลีซอ กลุ่มชาวเขาที่ยังอาศัยอยู่รอบๆ ป่าเชียงดาว และชาวลีซอ บางส่วนก็มารับจ้างแบกหามสัมภาระนักท่องเที่ยวขึ้นดอย เช่นเดียวกับชาวบ้านจากบ้านถ้ำที่เป็นลูกหาบสมัยแรกๆ ของการท่องเที่ยวธรรมชาติบนเชียงดาว คนที่นี่หรือชาวบ้านรอบๆ ป่าเชียงดาวนอกจากมีอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไปแล้ว ช่วงฤดูท่องเที่ยวเชียงดาว เขาจะมีรายได้จากการเป็นลูกหาบ บางคนมีรายได้หลายหมื่นบาทตลอดห้าเดือน นับเป็นรายได้พอเลี้ยงตัวและไม่มีต้นทุนอะไร นอกจากลงแรง อาศัยความขยันและอดทน
นกชนิดแรกที่ทำให้เราได้หยุดดูคือ แซงแซวหัวขาว ส่งเสียงเจื้อยแจ้วอยู่บนยอดไม้หลายสิบตัวด้วยกัน คงได้ดูแต่ตาเพราะถ้าบันทึกภาพก็คงต้องใช้เลนส์ตัวโตๆ สัก 500 มม. นกชนิดต่อมาที่พบเห็นคือกลุ่มนกพญาไฟ เอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่มีสีสันแดงสด และนกชนิดที่ตามมาติดๆ เมื่อเลยดงไผ่หกเพื่อไปยังดงกล้วย เราได้บันทึกภาพกันเต็มๆ และดูจะยอมให้ถ่ายภาพใกล้ๆ ไม่บินหนีไปไหน เพราะนกชนิดนี้ไม่ใช่สัตว์ หากมันคือ “เทียนนกแก้ว” ( Impatiens psittacina Hook. f. ) พันธุ์ไม้ในวงศ์เทียนที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายนกแก้วกำลังโผบิน จนเป็นที่มาของชื่อซึ่งใช้เรียกเทียนชนิดนี้
เทียนนกแก้วเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง พบเฉพาะที่เชียงดาวและจีนตอนใต้ ขึ้นอยู่ในป่าดิบเขาตั้งแต่ความสูง 1,400-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความแปลกที่คล้ายนกแก้วนี้เองทำให้กลายเป็นพันธุ์ไม้ที่ถูกกล่าวขวัญถึงของผู้คนที่เดินทางมาเยือนเชียงดาว หวังจะได้พบเห็นกับตาสักครั้ง ท่านใดอยากพบตัวเป็นๆ ก็ต้องมาช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พบมากบริเวณช่วงระหว่างเส้นทางดงไผ่หกถึงดงกล้วย และบริเวณอ่างสลุง
ป่าเชียงดาวสามารถพบเห็นนกมากมายหลายชนิด เป็นที่นิยมของนักดูนกเส้นทางหนึ่งโดยเฉพาะเส้นทางเด่นหญ้าขัด จังหวะดีๆ ในเส้นทางนี้อาจได้เห็น ไก่ฟ้าหลังขาวกับไก่ฟ้าหางลายขวาง สัตว์ปีกซึ่งหาชมได้ยากในถิ่นอื่นแต่สามารถพบได้ที่นี่และไม่กี่แห่งในประเทศไทย ถัดจากดงกล้วยเดินทางราบชั่วครู่ก็ตัดขึ้นทางชันอีกเล็กน้อย บรรจบกับทางแยกระหว่างเด่นหญ้าขัดกับปางวัว ซึ่งมีป้ายบอกเส้นทางไว้ ขวาไปเด่นหญ้าขัด และซ้ายที่เราจะไปต่อคืออ่างสลุงหรือยอดดอย เดินเลาะไปตามไหล่เขาขึ้น-ลงเล็กน้อย และลงทางราบแอ่งหุบเขา มองเห็นยอดพีระมิดทางด้านซ้าย ยอดดอยสามพี่น้องทางด้านขวา และหันหลังกลับไปคือดอยหนอก
ส่วนด้านหน้าคือกำแพงเขาหินปูนที่เราต้องข้ามผ่าน มองไปบนยอดกำแพงเขาหินปูนหรือแนวสันเขาเห็นต้นค้อดอย ( Trachycarpus oreophilus Gibbons& Spanner) ยืนต้นเป็นทิวแถวท้าทายสายลมแสงแดดอย่างน่าทึ่ง เวลาผ่านไปมากเท่าไหร่หรือเดินผ่านดอยสามพี่น้องลึกเข้าไป เมื่อมองย้อนกลับมาการมองเห็นรูปร่างของดอยสามพี่น้องก็จะชัดเจนขึ้น คือเห็นเป็นยอดดอย 3 ยอดเรียงซ้อนทำมุมทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ในช่วงบ่ายพอดี เกิดเป็นลำแสงส่องผ่านตามช่องระหว่างยอดทั้งสาม สร้างความรู้สึกถึงมิติลึกลับน่าเกรงขาม จนต้องหยุดมองและบันทึกภาพเป็นระยะ ทั้งสามยอดมีความสูงไล่เลี่ยกันโดยยอดที่สูงสุดคือ 2,150 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ช่วงสุดท้ายก่อนตัดข้ามเขาเพื่อมายังอ่างสลุงนั้น จะเป็นทางลาดชันที่ให้ต้องไต่เดินฉุดเรี่ยวแรงไม่น้อย มองไปรอบๆ สภาพป่าเป็นทุ่งหญ้าซึ่งโอบล้อมด้วยภูเขาหินปูน ตามไหล่เขาลงมาโขดหินน้อยใหญ่สีดำเทาผุดขึ้นแทรกออกมาจากดงหญ้าเป็นหย่อมๆ เหมือนมีใครนำมาตั้งเอาไว้จนเกิดเป็นประติมากรรมแท่งหินหรือสวนหินธรรมชาติที่แปลกตาชวนมองและจินตนาการ หนทางชันที่พาข้ามกำแพงเข้ามายังบริเวณที่ราบซึ่งเรียกว่า ดงเย็น ลักษณะเป็นหย่อมป่าดิบเขาที่เหลือรอดจากการบุกรุกทำไร่ฝิ่นสมัยก่อน
บริเวณแถบนี้พบพันธุ์ไม้หลายชนิด ได้แก่ เอสเตอร์เชียงดาว กลีบดอกสีขาวเล็กๆ เรียงซ้อนกันมีเกสรสีเหลือง, บัวคำ หรือ บัวทอง ดอกสีเหลืองสด, เหยื่อจง ดอกมีสีขาวรูปร่างสั้นป้อม เมื่อก้าวออกป่าดิบเขาพื้นที่โล่งเตียนเดินไปตามทางตัดผ่านดงต้นสาบเสือ ที่โดนแม่คะนิ้งหรือน้ำค้างแข็งเมื่อคืนก่อนเกาะจนทำให้ตามใบปรากฏสีดำไหม้เป็นวงกว้าง เดินผ่านมาได้สักครู่เห็น ชมพูพิมพ์ใจ ออกดอกช่อใหญ่สีชมพูสดสะดุดตาตัดกับสีครามของท้องฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ไม้เด่นบนเชียงดาวนี้
3...
เรามาถึงอ่างสลุงเวลาบ่ายอ่อนๆ อ่างสลุงเป็นจุดแค้มป์ตีนดอยแห่งเดียวที่พักแรมได้ ซึ่งอยู่ใกล้กับยอดสูงสุดและยอดเขาสำคัญของดอยหลวงเชียงดาว คำว่า อ่างสลุง ภาษาถิ่นแปลว่า....
อำนวยพร บุญจำรัส...เรื่อง/ภาพ
ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต (ตอนจบ)
ผลงานเขียนของคุณอำนวยพร บุญจำรัส
- ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต (ตอนจบ)
- ปริตุ๊โกร ทีลอชู (ตอนจบ)
- ปริตุ๊โกร ทีลอชู (ตอนแรก)
- ปีนป่ายสู่ดอยสวรรค์ ลานพฤกษา…ภูสอยดาว (ตอนจบ)
- ปีนป่ายสู่ดอยสวรรค์ ลานพฤกษา…ภูสอยดาว (ตอนแรก)
- อุทยานแห่งชาติแม่เมย
- สาละวิน
**เปิดทริปสัมผัสทะเลหมอก 360 องศา กับป่ามหัศจรรย์..ดอยหลวงเชียงดาว..ด่วน
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ