ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต (ตอนจบ)

ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต (ตอนจบ)

ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต (ตอนจบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

3...

     เรามาถึงอ่างสลุงเวลาบ่ายอ่อนๆ  อ่างสลุง เป็นจุดแค้มป์ตีนดอยแห่งเดียวที่พักแรมได้ ซึ่งอยู่ใกล้กับยอดสูงสุดและยอดเขาสำคัญของดอยหลวงเชียงดาว  คำว่าอ่างสลุง ภาษาถิ่นแปลว่าแอ่งรับน้ำ ในลักษณะทางธรณีวิทยา คือ หลุมยุบเกิดจากการที่น้ำฝนละลายหินปูนไหลซึมผ่านลงไปใต้ดิน กัดกร่อนนานวันเข้าจนเกิดเป็นช่องว่างใต้ดินไหลเป็นทางน้ำธรรมชาติ ต่อมาเมื่อผุกร่อนมากขึ้นก็ยุบตัวลงเป็นอ่างใหญ่ แม้จะเป็นอ่างใหญ่แต่ก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ เพราะบริเวณนี้และทั่วไปเป็นพื้นดินซึ่งมีชั้นหินปูนที่ผุกร่อน ฝนที่ตกลงมาไม่นานก็ซึมหายลงไปอย่างรวดเร็ว  ทำให้ไม่มีแหล่งน้ำใดๆ เลย คนที่ขึ้นมาบนนี้จึงต้องตระเตรียมน้ำกันเอง

     อ่างสลุง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,950 เมตร จากตรงนี้มีทางเดินเชื่อมต่อไปยังดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นยอดสูงสุด และอีกทางหนึ่งไปยังดอยกิ่วลมใช้เวลาเดินประมาณ 40 นาที ส่วนการขึ้นยอดดอยหลวงใช้เวลาเดินประมาณ 30 นาที ผมมีเวลาอยู่บนนี้ 2 คืนในการวางแผนสำรวจถ่ายภาพ โดยช่วงอาทิตย์ตกซึ่งกำลังใกล้เข้ามานี้ จะขึ้นไปยังยอดดอยหลวงเชียงดาว  เช้าวันรุ่งขึ้นไปชมอาทิตย์ขึ้นยังดอยกิ่วลม อยู่จนสายๆ เพื่อเก็บภาพพันธุ์ไม้ให้ทั่วถึงโดยกิ่วลมแบ่งออกเป็น กิ่วลมเหนือ และกิ่วลมใต้ ตกเย็นถ้าไม่ขี้เกียจก็อาจขึ้นยอดดอยหลวงอีกทีหรือไม่ก็กิ่วลมใต้เพราะมีจุดให้ชมทิวทัศน์ด้านทิศตะวันตกได้เหมือนกัน พอถึงวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับเลือกเดินขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาวถ่ายภาพอาทิตย์และบริเวณโดยรอบ เป็นโปรแกรมปิดท้ายการเยือนดอยหลวงเชียงดาวอย่างสมบูรณ์แบบ 


     ดอยหลวงเชียงดาวถือเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย ตามลักษณะภูมิประเทศของดอยหลวงเชียงดาวถ้ามองมุมสูงหรือมุมนกมองจะเห็นเป็นรูปเกือกม้าหันหน้าไปทิศตะวันออก ปลายเกือกม้าหันสู่ทิศตะวันตก ความกว้างอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร ความยาวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตกประมาณ 24 กิโลเมตร และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่าง 350-2,225 เมตร ด้านบนมียอดเขาแหลมที่มีความสูงใกล้เคียงกันวางตัวเรียงรายไปตามแนวเกือกม้า  คือ ดอยพีระมิด ซึ่งสูง 2,175 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยสามพี่น้อง สูง 2,150 เมตร 2,080 เมตร 2,060 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดดอยหนอก 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยกิ่วลม 2,140 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยอดดอยหลวงเชียงดาว สูง 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  โดยยอดดอยพีระมิด และดอยสามพี่น้อง ทางเขตรักษาพันธุ์ฯ  ไม่อนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวเพราะเป็นพื้นที่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะ กวางผา สัตว์ป่าสงวนของไทย สัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์     แต่กระนั้นการได้ชมทิวทัศน์ความงามเหนือหุบผาทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตกของทั้งสองยอด ยากที่ใครจะปฏิเสธในการขึ้นมาสัมผัสด้วยตาตนเองสักครั้ง

     บนยอดดอยหลวงเชียงดาว หรือเรียกสั้นๆ ว่า ดอยหลวง ซึ่งเป็นยอดสูงที่สุดและเป็นตัวเลขสถิติความสูงเป็นอันดับสามของประเทศไทย ถ้ามองในด้านความงามของทัศนียภาพข้างบนนี้ สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทุกทิศทุกทางเลยทีเดียว ทิศตะวันออกเห็นที่ราบในเขตอำเภอเชียงดาวจรดแนวเทือกเขาฝั่งตะวันออก หากมองเยื้องไปทางใต้จะเห็นทิวเขายอดลังกาหลวง ซึ่งมีความสูง 2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงเป็นอันดับห้าของประเทศ ส่วนทางด้านใต้เห็นยอดกิ่วลมและไกลออกไปลิบๆ คือดอยอินทนนท์ เจ้าแห่งความสูงที่สุดของเมืองไทย  (2,565 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง)

     ย้อนกลับไปทางทิศเหนือ มองเห็นแนวภูเขาสลับซับซ้อนจรดเขตอำเภอฝาง ปรากฏยอดดอยสูงอันดับสองของประเทศ คือดอยผ้าห่มปก (2,285 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) และในทิศตะวันตกซึ่งเป็นไฮไลท์ประจำดอย ประมาณว่ามุมทิวทัศน์ด้านนี้เสมือนสัญลักษณ์ของเชียงดาว ข้างหนึ่งคือภูเขารูปหยึกหยักของดอยสามพี่น้อง อีกด้านหนึ่งภูเขาที่งอกเด่นตะหง่านเงื้อมของดอยพีระมิด เป็นสองผู้ยิ่งใหญ่ที่สเมือนเผชิญหน้ากัน ขณะที่ตรงช่องระหว่างเขามองลอดผ่านไปพบคลื่นทะเลภูเขาทอดยาวสลับซับซ้อนเป็นอาณาบริเวณกว้าง เวลาพระอาทิตย์อัสดงแสงสีเหลืองแดงผสมผสานทาทาบไปทั่วผืนฟ้าและทิวเขา มันจะเป็นภาพที่สะกดตาและใจใครๆ ที่พบเห็นได้เสมอ และเช่นเดียวกันหากมุมนี้เวลาเช้ามืดของวันช่วงที่มีทะเลหมอก ปรากฏการณ์อัศจรรย์แห่งธรรมชาติ คนที่มองผ่านมาจากทางห้วยน้ำดัง จะเห็นทะเลหมอกคลอเคลียอยู่กับยอดดอยสามพี่น้อง ครั้งหนึ่งผมก็เคยมองมาจากที่นั่น หากวันนี้ผมยืนอยู่บนยอดดอยหลวง มองย้อนกลับไปยังห้วยน้ำดัง ความรู้สึกจึงเป็นความหมายพิเศษ เช่นเดียวกับการได้มองยอดเชียงดาวจากหลายๆ ที่ และกลับมามองจากยอดนี้  ... ผมกำลังคิดถึงห้วงเวลาการเดินทางบนดอยนั้นๆ  “ดอยลังกาหลวง ดอยลังกาน้อย ดอยผ้าห่มปก และห้วยน้ำดัง”   

     ฉากแสงสุดท้ายกำลังสิ้นลงไปเรื่อยๆ พวกเราจึงชวนกันกลับเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ที่ทยอยลงจากดอยเพื่อไปจุดแค้มป์พักแรมด้านล่าง ขณะที่อุณหภูมิลดต่ำลง สัญญาณแห่งความหนาวผสมผสานกับสายลมระลอกแล้วระลอกเล่าที่พัดพาเอาความเย็นยะเยือกให้เพิ่มเป็นทวีจนผมไม่อาจทานทนความหนาวนี้ได้นาน เสื้อกันหนาวเป็นทางเดียวที่จะทำให้อบอุ่นขึ้นไป เหล่านี้เป็นตัวเร่งให้เรารีบกลับลงยังแค้มป์ที่พัก พร้อมกับช่วยกันประกอบอาหารในมื้อค่ำ 

     ค่ำคืนนี้เป็นเดือนสว่างพระจันทร์เต็มดวง แต่ก็มองเห็นหมู่ดาวเกลื่อนกระจายสุกสกาว จนเห็นดาวตกวาบแสงกลางฟ้า แม้จะอยู่ในหุบแอ่งแต่ความหนาวก็ไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย บนนี้มีกฎห้ามก่อกองไฟเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดไม้ อีกอย่างหนึ่ง ควันไฟอาจส่งผลร้ายกับพันธุ์ไม้อันบอบบาง หลังอาหารมื้อค่ำเราจึงได้แต่นั่งจับกลุ่มสนทนากลางผืนฟ้า ไม่นานต่างคนก็ต้องกล่าวราตรีสวัสดิ์ เพราะไม่อาจทนความหนาวเหน็บและความอ่อนล้าจากการเดินทางตลอดวันไปได้ 

4....     

     ความหนาวแบบสุดขั้วทำให้ผมหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืนแม้ว่าเราจะอยู่ในชุดเสื้อกันหนาวหลายชั้นและชุกตัวอยู่ในถุงนอนก็ไม่อาจต้านความหนาวระดับอุณหภูมิ 1-2 องศาไปได้ ใกล้รุ่งเช้าราวตีสี่จึงลุกขึ้นมาแบบไม่ขี้เกียจ เตรียมออกเดินมุ่งหน้าไปยังดอยกิ่วลมซึ่งตั้งตระหง่านเป็นเงาตะคุ่มไม่ไกลจากแค้มป์   ทางเดินที่เปิดรับด้วยความชันที่แฝงตัวอยู่ในความมืด มีหยาดหยดน้ำค้างใสๆ จับเกาะอยู่ตามยอดหญ้า บางช่วงในแอ่งที่ราบก่อนเดินขึ้นทางชัน เมื่อส่องไฟฉายไปตามใบไม้ใบหญ้า จะพบน้ำค้างแข็งเกาะอยู่ประกายแวววาวสะท้อนกับแสงไฟ ขณะที่ไต่ทางชันหยาดหยดน้ำค้างใสๆ ซึ่งจับตัวอยู่ตามยอดหญ้าสองข้างทางจะทำให้ชายกางเกงเปียกฉ่ำเมื่อต้องลุยผ่านอย่างไม่มีทางเลือก ผสานผสมกับอุณหภูมิเลขตัวเดียวที่สร้างความหนาวเหน็บสุดขั้ว

     ยิ่งสูงขึ้นก็รับสายลมหนาวที่พัดแรงมากขึ้น แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความพยายามมาชมภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าบนยอดกิ่วลมในระดับความสูง 2,140 เมตร ลดลงไปเลยแม้แต่น้อย ทะเลหมอกที่ดูหนาแน่นไหลเลื่อนปกคลุมแอ่งเชียงดาว และทั่วทิศในที่ราบแอ่งหุบเขาใกล้-ไกล ขณะแสงสีส้มแดงตรงปลายขอบฟ้าค่อยๆ สว่างขึ้นพร้อมกับอาทิตย์ดวงกลมโผล่พ้นขึ้นมาให้เห็น ภาพบรรยากาศเช่นนี้คือวัฏจักรธรรมดาของธรรมชาติ แต่ในแง่ของนักเดินทางด้วยกันแล้ว นี่คือการแสวงหาหนึ่งที่รอคอยเสมอกับการก้าวสู่ดินแดนแห่งนี้   

     

      หลังจากใช้เวลากับภาพประทับใจอยู่นานพอสมควร ฟ้าเริ่มเปิดสว่างจ้า หลังจากกระตุ้นสมองและสร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับร่างกายด้วยกาแฟร้อนๆ ที่เตรียมเตาแก๊สสนามและกาน้ำร้อนมาต้มชงดื่มกันบนยอดดอยแห่งนี้ ต่อจากนั้นจึงค่อยออกสำรวจถ่ายภาพพันธุ์ไม้และทิวทัศน์โดยรอบอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่กิ่วลมเหนือ-ใต้ และรวมถึงยอดดอยหลวงเชียงดาวที่จะขึ้นไปอีกทีช่วงบ่ายๆ ไล่เรียงกันตั้งแต่ตามซอกหินปูนก็จะพบ “ฟองหินเหลือง” ( Sedum sarmentosum ) พืชต้นเล็กๆ ชูช่อดอกเหลืองเป็นกลุ่มแน่นขนัด เป็นพืชต้นเล็กๆ 


     แล้วจากนั้นตามพื้นดินก็จะได้พบพืชพันธุ์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น “หญ้าดอกลาย”  ( Swertia stiata )  ดอกสีขาวและเส้นขีดสีม่วงเข้มลากไปตามความยาวของกลีบ  “หรีดเลื้อยเชียงดาว” (Gentiana leptoclada ssp. Australis) และ “หรีดศรีเชียงดาว”  ( Swertia chiangdaoensis ) โดยทั้งหรีดเลื้อยเชียงดาวและหรีดศรีเชียงดาว เป็นพืชถิ่นเดียวที่ไม่พบที่อื่นใดในโลก

     เหนือยอดหญ้าจะพบ “ชมพูเชียงดาว” ( Pedicularis siamensis ) แทงช่อดอกสีชมพูเข้มขึ้นมาอย่างโดดเด่น ไม้ล้มลุกชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่มันเป็นพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นบนดอยหลวงเชียงดาวหรือมีแห่งเดียวในโลก  อีกชนิดหนึ่งที่สวยงามไม่น้อยไปกว่ากัน คือ “ชมพูพิมพ์ใจ”  ( Luculia gratissima ) เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง นี่ก็เป็นอีกชนิดที่พบเฉพาะดอยหลวงเชียงดาว 

     “คำขาวเชียงดาว” หรือกุหลาบพันปีดอยเชียงดาว ( Rhododendron ludwigianum ) ก็เป็นอีกชนิดหนึ่งที่เป็นพืชถิ่นเดียว และมีความโดดเด่นไม่แพ้พืชชนิดอื่นๆ เป็นกุหลาบพันปีที่มีดอกใหญ่ที่สุดในบรรดากุหลาบพันปีท้องถิ่นของไทยทั้งหมด แต่ตอนนี้มันยังไม่ออกดอก ถ้าใครอยากเห็นก็ต้องมาราวเดือนมีนาคมนั่นแหละครับ นอกจากนี้ยังมี “ขาวปั้น” ( Scabiosa siamensis ) ลักษณะดอกสีขาวบานรวมกลุ่มเป็นช่อกลมอยู่บนก้านเดี่ยว นับเป็นอีกพรรณพืชเฉพาะถิ่น  “ฟ้าคราม” ( Ceratostigma stafiana ) ชูช่อดอกสีฟ้าอ่อนดูสบายตา และ “แสงแดง” ( Colquhounia coccinea  ) ลักษณะดอกเป็นหลอดมีสีแดงอมส้ม 

     ...นอกจากที่กล่าวมา ทั่วดงดอยก็ยังพบเห็นพันธุ์ไม้สำคัญอีกมากมายหลายชนิด ทั้งที่ผมได้พบออกดอกและไม่ได้พบเจอก็อีกมาก แต่แค่นี้ก็ดูจะเพียงพอที่ทำให้การเดินทางช่างน่าจดจำ สามวันบนดอยหลวงเชียงดาวแม้ดูเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งน่าประทับใจเป็นประสบการณ์ดีๆ บนดินแดนโลกธรรมชาติแห่งนี้

     ดอยหลวงเชียงดาว แหล่งรวมพันธุ์ไม้ถิ่นเดียวและเป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพล์แห่งเดียวของประเทศไทย  เป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก สิ่งต่างๆ บนนี้ล้วนมีคุณค่า  ดังนั้นทุกย่างก้าวที่เราเหยียบย่ำ จึงควรตระหนักให้ดีว่า เราอาจกลายเป็นผู้ทำลาย ทำให้เกิดการสูญเสียไม่มากก็น้อย และสิ่งที่ถูกทำลายนั้นอาจจะเป็นการสูญเสียอย่างไม่มีวันกลับคืนมา  ไม่มีใครปฏิเสธถึงผลกระทบจากการเดินทางเข้าไปของมนุษย์ แต่เราก็มีทางเลือกที่จะรักษาหรือทำลายให้น้อยที่สุดได้เช่นกัน  ซึ่งทำไม่ยากเลย คำตอบนั้นก็อยู่ที่พวกเราทุกคน ... “ ดอยหลวงเชียงดาว จึงมีคุณค่ามากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต  และไม่ว่าจะมองจากภายนอกและสัมผัสจากภายใน มันช่างวิเศษจริงๆ ครับ. ”

อำนวยพร บุญจำรัส...เรื่อง/ภาพ

      ผลงานเขียนของคุณอำนวยพร บุญจำรัส

 

อัลบั้มภาพ 28 ภาพ

อัลบั้มภาพ 28 ภาพ ของ ทางฝัน ดอยหลวงเชียงดาว... มากกว่าความหมายแห่งผู้พิชิต (ตอนจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook