โมโกจู (ตอนแรก)
“เพราะยอดดอยไม่สูงเกินเข่า”
คำพูดของชาวเขาที่ทำให้เราบากบั่นจนพิชิตยอด “โมโกจู”
ภาพโดย : วิษุวัส วัฒกวิฑูร นัฐวุฒิ ช้อยเครือ
เรื่องโดย : เชิญพร ชาคริยานุโยค
บ่ายวันพุธที่ 13 พ.ย. กับแสงแดดยามบ่ายที่แผดเผาอย่างไม่ปรานี ทำให้เราอดคิดอย่างฉุนๆ ไม่ได้ว่า นี่มันเดือนอะไรกันแน่ ตลอดเส้นทางเดินตามรอยเกลี่ยของรถแทรกเตอร์ร้อนระอุ ต้นไม้สองข้างทางไม่ช่วยแผ่กิ่งก้านสร้างร่มเงาต้อนรับการกลับมาของนักเดินทางอย่างเราแต่อย่างใด ทั้งแมลงหวี่ และยุงบินวนเวียนอยู่รอบๆ หู ตา สร้างความรำคาญเวลาเดิน แต่ก็ยังไม่เท่ากับข้อเท้าทั้งสองข้างที่ปวดระบม และกล้ามเนื้อบริเวณน่องที่แข็งเกร็ง
เราเดินทางมาตลอด 5 วันที่ผ่านมานี้ และตอนนี้เหลือเนินเขาเล็กๆ อีกเพียงเนินเดียวเท่านั้น เราผ่านป้ายบอกทางที่เขียนว่าสถานีที่ 1 อยู่ทางด้านซ้ายมือ เราจำได้ว่าตอนขามาเราพบป้ายนี้หลังจากเดินเข้าป่ามาได้อึดใจใหญ่ๆ อีกไม่นานเท่าไหร่เราจะได้กลับสู่เมือง พร้อมนำประสบการณ์ผจญภัยที่น่าประทับใจที่สุดในชีวิตมาเล่าสู่คนที่พลาดโอกาส
สำหรับนักเดินทางน้องใหม่ การเดินป่าระยะไกลเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง นับจากประสบการณ์เที่ยวธรรมชาติผ่านถ้ำเสาหินแห่งลำคลองงู น้ำตกนางนวลที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และทุ่งเขาแหลมในเขตเขาใหญ่ “โมโกจู” ก็ถูกบันทึกเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญต่อไปสำหรับนักนิยมไพรอย่างเรา
กิตติศัพท์แห่งความยากลำบาก และโหดหินของเส้นทางยาวไกลที่ต้องเดินเท้ากันหลายสิบกิโลเมตร ในผืนป่าตะวันตกที่ยังอุดมสมบูรณ์ ทำให้เราและเพื่อนๆ ร่วมผจญภัยชุดเดิมมุ่งมั่นที่จะจองทริป และใจจดใจจ่อรอวันแห่งการเดินทางที่จะมาถึง
เมื่อผ่านขั้นตอนของการขออนุญาตเจ้าหน้าที่และฟิตซ้อมร่างกายเป็นอย่างดีแล้ว พวกเราทั้ง 9 คนก็แบกสัมภาระขึ้นหลัง มุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อร่วมโปรแกรมการเดินป่าระยะไกล 5 วัน ในเย็นวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2545 สำหรับเรา นี่เป็นการกลับมาเยือนแม่วงก์เป็นครั้งที่สอง
เราไปถึงที่ทำการอุทยานฯ ค่อนข้างดึก ประมาณเที่ยงคืน อากาศเย็น หลังจากที่เราชำระค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน และได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่นำทางเป็นที่เรียบร้อย พวกเราต่างหลบเข้าเต็นท์ที่อุทยานฯ เตรียมไว้ให้ และหลับยาวเพื่อเก็บแรงเอาไว้เผชิญกับเส้นทางที่ท้าทายในวันรุ่งขึ้น
เช้าวันเสาร์ที่ 9 พ.ย. 2545 พวกเรา 9 คน กับเป้สัมภาระใบใหญ่ รวมตัวกันที่หน้าที่ทำการฯเพื่อรับฟังคำแนะนำจากตัวแทนของอุทยาน เราได้รู้จักกับเจ้าหน้าที่นำทางชาวเขาอีกหนึ่งท่านและเพื่อนนักเดินทางอีก 6 คน ที่จะร่วมทางไปกับเรา ตัวแทนของอุทยานอธิบายลักษณะภูมิประเทศของผืนป่าแม่วงก์ และเส้นทางที่เราจะเดินผ่านรวมถึงการปฏิบัติตัวขณะที่อยู่ในป่า และท้ายที่สุด อวยพรให้พวกเราทั้ง 15 ชีวิตโชคดีและสนุกกับการเดินทาง นับว่าเป็นการต้อนรับที่อบอุ่นอยู่ไม่น้อย
คณะเดินทางของเราแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดแรก (ที่เรียกว่าชุดแรกเพราะเดินนำ) คือเพื่อนๆ จาก มสธ. 6 คนกับ เจ้าหน้าที่ชาวเขาชื่อว่าลุงอภิวัฒน์ ส่วนชุดหลังคือชุดของพวกเรา 9 คนกับพี่โอ๋ (คุณอรรถพล ชุ่มชื่น) เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งที่มีอัธยาศัยดีมากและช่วยเหลือเราตลอดการเดินทาง ลุงอภิวัฒน์และพี่โอ๋นำพวกเราออกเดินจากที่ทำการอุทยานตอน 9 โมงเช้าผ่านเส้นทางรถแทรกเตอร์ที่เริ่มบุกเบิกสร้างทางรถให้แก่นักเดินป่าเพื่อช่วยย่นระยะในการเดินเท้าให้น้อยลงซัก 10 กม. แรกๆ เราเดินกันอย่างสบายๆไม่รีบ เพราะรู้ดีว่าหนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกล
การฟิตซ้อมร่างกายเพื่อให้เคยชินกับการเดินไกลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง พอเครื่องเริ่มร้อนเราก็เดินเร็วขึ้น เป้บนหลังถ่วงน้ำหนักและสร้างความลำบากมาก เพราะเราเตรียมเสบียงกรังมาเต็มอัตราศึกเพื่อดำรงชีวิตให้รอดในป่า พูดถึงตรงนี้ การกะจำนวนของกินของใช้ที่แบกมาก็สำคัญมากเช่นกัน เพราะครึ่งกิโลที่เพิ่มขึ้นมาโดยเปล่าประโยชน์อาจทำให้บ่าเราล้าได้โดยไม่จำเป็น เราเดิน เดิน เดินและเดินไปตามทางขึ้นและลง ชมทัศนียภาพ 2 ข้างทาง แวะถ่ายรูปวิวและบรรดาต้นไม้และต้นเห็ดหน้าตาแปลกๆ เมื่อเริ่มล้าเราก็พักจิบน้ำเป็นระยะ
เราไม่ได้เตรียมน้ำกันมามากกว่าคนละ 1 ขวดเล็ก เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าน้ำที่นี่สมบูรณ์ มีให้ดื่มให้ดำผุดดำว่ายตลอดเส้นทาง และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อน้ำที่เตรียมมาเริ่มหมด ก็พอดีกับที่เราเดินลงเขาและพบธารน้ำขวางอยู่เบื้องหน้า แรกๆเราลงทุนถอดรองเท้าถุงเท้าเดินข้ามน้ำ เพราะยังติดนิสัยสะอาดจากเมืองกรุง ไม่อยากให้เท้าเปียกโดยไม่จำเป็น จนมาหลังๆเราก็เริ่มใส่รองเท้าลุยน้ำโดยไม่คิดมาก
แรกๆเรานับจำนวนธารน้ำที่เราข้ามผ่าน แต่พอได้ซักธารที่ 7 เราก็เริ่มลืม เพราะธารน้ำมีมากเหลือเกิน ความเหนื่อยล้าทำให้เราละเลยกับสถิติ และรายละเอียดต่างๆที่ตั้งใจจะบันทึกไว้แต่แรก
หลายคนบอกว่า การเดินทางในวันแรกนี้ต้องอาศัยความอดทนอย่างเดียว เพราะหนึ่งเป็นการเดินทางวันแรกที่กล้ามเนื้อขา และบ่าต้องสร้างความเคยชิน และสอง ระยะทางวันแรกนี้จะยาวเป็นพิเศษ เพราะเราต้องข้ามเขาถึง 5 ลูก พวกเราแวะพักกลางทางเพื่อทานมื้อกลางวันกันอย่างไม่เร่งรีบ กล้องถ่ายรูป และวีดีโอถูกนำขึ้นมาเก็บภาพความเฮฮาของชาวคณะระหว่างมื้อเที่ยง บรรยากาศรอบข้างเต็มไปด้วยความชุ่มชื้น แสงแดดที่น่าจะแผดเผาอยู่กลางศีรษะของเวลาเที่ยงวัน กลับไม่สามารถชอนไชผ่านกิ่งใบของต้นไม้หนาทึบ พวกเราต่างพอใจกับช่วงเวลาแรกของการเดินทาง
หลังมื้อเที่ยง เราทั้ง 9 เดินฝ่าป่าดงไปตามเส้นทางที่พี่โอ๋นำเราไปอยู่ห่างๆ พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำบอกให้รู้ว่า เป็นเวลาบ่าย และเราต้องรีบเดินให้เร็วขึ้น เป้าหมายของวันนี้คือแค้มป์พักแรมที่คลองแม่กระสา และก่อนที่เรี่ยวแรงของวันนั้นจะหมดไป เราก็เดินลงหุบเขามาพบกับสะพาน-ไม้ไผ่ที่ทอดข้ามลำน้ำใหญ่ ที่นี่เราได้ยินมาว่า นักเดินทางทริปแรกที่มาถึงเมื่ออาทิตย์ก่อนจะต้องทูลสัมภาระไว้บนหัว และลอยคอผ่านลำน้ำไปเพื่อตั้งแค้มป์
แต่สำหรับทริปของเรานั้นโชคดีกว่ามาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำสะพานไม้ไผ่อย่างง่ายๆไว้ให้เดินข้ามสบายๆ จากที่ทำการถึงคลองแม่กระสานี้ รวมระยะทางเดินวัดทางอากาศได้ 15 กม. (ระยะเดินจริงๆต้องยาวกว่ามาก เพราะต้องขึ้นเขาลงเขาอยู่หลายลูก) เรามาถึงริมคลองตอน 4 โมงเย็น ตามเวลาที่คาดไว้พอดิบพอดี
เมื่อเราข้ามไปถึงฝั่งตรงข้ามก็พบกับเพื่อนร่วมทางชุดแรกซึ่งจัดที่ทางสำหรับค้างแรมไว้ค่อนข้างเรียบร้อยแล้ว คณะเรา 9 คนจึงอาศัยลานที่ว่างถัดไปเพื่อกางเต็นท์ 1 หลังสำหรับสาวๆอย่างเรา ส่วนเพื่อนผู้ชายอีก 5 คนต่างหาต้นไม้คู่ใหญ่เพื่อเล็งทำเลผูกเปลนอน และในขณะที่พวกหนุ่มๆกำลังวุ่นวายอยู่กับการปูเต็นท์ขึงเปล บรรดาสาวๆนักนิยมไพรก็เตรียมตัวลงอาบน้ำในคลองแม่กระสานั่นเอง น้ำในคลองที่เย็นฉ่ำทำให้เรารู้สึกหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง
เมื่อเราจัดการชำระล้างร่างกายเสร็จก็ขึ้นมาช่วยเพื่อนๆเตรียมอาหาร บ้างหาไม้แห้งมาทำฟืน บ้างก็หุงข้าวต้มแกงด้วยหม้อสนาม (และมีบ้างเหมือนกันที่ร้องหายาถูยานวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เจ็บระบม)
ในขณะที่พวกเรากำลังสนุกสนานอยู่กับการดำรงชีวิตแบบมือสมัครเล่นในป่า พี่โอ๋คนนำทางอารมณ์ดีของเรา ก็กลับมาพร้อมเห็ดโคนดอกใหญ่ถุงเบ้อเร่อเพื่อเอามาทำต้มยำ สร้างความตื่นเต้นให้กับคนเมืองอย่างเราไม่น้อยทีเดียว เพราะไม่นึกว่ามาไกลขนาดนี้จะมีโอกาสได้กินของหายากที่ราคาแสนแพงในตลาดบ้านเรา และเห็ดโคนมื้อนั้นไม่ใช่อาหารหรูมื้อเดียวของชาวคณะเราเสียด้วย
ระหว่างทานข้าวเย็น พี่โอ๋บอกโปรแกรมสำหรับวันรุ่งขึ้น คือเราจะต้องออกเดินทางไปยังแค้มป์น้ำตกแม่รีวาและพักที่นั่นเป็นคืนที่สอง ระยะทางเดินโดยประมาณคือ 1 ชั่วโมง พวกเราจึงค่อนข้างเบาใจที่การผจญภัยในวันรุ่งขึ้นเป็นเพียงการซ้อมย่อยก่อนไปเจอของจริงระหว่างขึ้นยอดดอยโมโกจู เราจัดการกับเสบียงและเห็ดโคนตรงหน้า และแยกย้ายเข้านอน อากาศคืนแรกเย็นสบายกำลังดี
ข้อมูลเพิ่มเติม
เขาโมโกจู ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอยู่ในพื้นที่ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ที่ตั้งของที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
การเดินทาง
เริ่มจาก จ.กำแพงเพชร ใช้เส้นทาง กำแพงเชร - นครสวรรค์ (ทางหลวงหมายเข 1) ถึง กม.ที่ 338 ให้เลี้ยวขวา ไปทาง อ.คลองลาน (ทางหลวงหมายเข 1117) ขับตรงไปเรื่อยๆ ถึง กม.ที่ 65 ใช้เส้นทางคลองลาน - อุ้มผาง ต่อไปอีกประมาณ 15 กม.
ติดต่ออุทยานแห่งชาติแม่วงก์ : โทร. 0 - 5571 - 9010 - 1