คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนแรก)

คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนแรก)

คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนแรก)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

   เส้นทางที่คดโค้งไปตามขอบเขาลูกแล้วลูกเล่า ไม่ต่างจากการเสพของมึนเมา หากร่างกายทนสภาพไหวเราก็รอด ส่วนผู้แพ้อาจอาเจียนหรืออย่างแย่ก็แค่วิงเวียน คนเคยผ่านประสบการณ์ จึงมักบอกต่อๆ กันมาว่า จะนั่งรถไปแม่ฮ่องสอนอย่าลืมกินยาแก้เมารถเป็นภูมิคุ้มกัน แต่คุณอาจพลาดโอกาสเห็นป่าเขา นาข้าว และหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งอยู่ริมทาง ด้วยฤทธิ์ยาแก้เมารถซึ่งก็คือยานอนหลับดีๆ นี่เอง
.


บ้านเมืองปอน... สงบนิ่งในความเคลื่อนไหว

    หลังหลับมากกว่าตื่น โดยไม่ได้พึ่งพายา ก็มาฟื้นเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อเข้าเขตบ้านเมืองปอน ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

    “สงบนิ่ิง ดีจริงๆ”
    รู้สึกแรกเมื่อเข้ามาในเขตหมู่บ้าน ชุมชนชาวไตเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

    คนไทยรู้จักชาวไตในชื่อ “ไทยใหญ่” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ ชื่อใช้เรียกชาติพันธุ์นี้ มีทั้งชาวฉาน , ซาน ฯลฯ แต่พวกเค้าเรียกกลับพอใจที่จะเรียกขานตนเองว่า “ชาวไต”

    ตามจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ดินแดนพม่าส่วนบนปัจจุบัน คืออาณาเขตเก่าของพวกผิ่ว (Pyu) และฉาน ก่อนพระเจ้าอหน่อระถ่า (Anawratha) ของพม่า (ค.ศ.1044 -1077) จะสถาปนาราชอาณาจักรพุกามประเทศขึ้น ชาวไตซึ่งมีอาณาจักรของตนเองในมณฑลยูนนานปัจจุบัน เรียกว่า ราชอาณาจักรเมืองมาว (Mao kingdom), และได้ขยายอาณาเขตไปยังพม่าตอนบนและรัฐอัสสัม ทั้งยังมีเมืองขึ้นอีกหลายแห่ง ทางตอนใต้และตอนเหนือของรัฐฉาน, รัฐกะฉิ่่นในพม่าตอนบน ฯลฯ และได้ปกครองเขตพม่าตอนบนเกือบทั้งหมดในเวลาต่อมา

    ภายหลังเกิดสงครามและถูกปราบปรามอย่างหนักจากจีน จนราชอาณาจักรเมืองมาวในยูนนานล่มสลาย มีผลให้กำลังพลชาวไตในพม่าอ่อนแอลง แตกแยกเป็นแว่นแคว้นนครรัฐอันมีเจ้าฟ้าปกครอง กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค

    ผ่านมาถึงยุคล่าอาณานิคม พม่าได้ถูกอังกฤษปรับแบ่งพื้นที่ให้เป็นรัฐ , เขต ผนวกกับอุปสรรคเชิงภูมิศาสตร์ การสื่อสาร การคมนาคมที่ยากลำบาก และผลพวงจากระบบการเมืองการปกครองตั้งแต่ยุคก่อน ได้แบ่งแยกชาวไตออกจากกัน แต่ละกลุ่มจึงสร้างวัฒนธรรม จารีต ประเพณี แตกต่างกันไปตามแนวทางของกลุ่มตน หน่อกล้วยที่่แตกออกมาจากแม่ต้นเดียวกัน จึงถูกเรียกต่างไปตามพื้นที่ๆ ตนอยู่อาศัยทั้งกลุ่มใหญ่กลุ่มย่อย เช่น ไตมาว คือชาวไตที่ตั้งถิ่นฐานในหุบเขาแม่น้ำมาว , ไตสิบสองปันนา , ไตลื้อ , ไตเขิน , ไตอาหม ฯลฯ

    คือ... เรื่องราวของชาวไตพอสังเขป สำหรับในประเทศไทย การเข้ามาตั้งถิ่นฐานก็มีประวัติศาสตร์แตกต่างกันไป ทั้งเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน ฯลฯ

    บ้านเมืองปอน (ออกสำเนียงว่า“ป๋อน” มาจากคำว่า “พร”) ในเขต อ.ขุนยวม รายล้อมรอบด้านด้วยทุ่งนาและป่าเขา มีลำน้ำปอนเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงผ่านกลางแอ่งทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเพาะปลูก ทำไร่ทำสวน ปลูกพืชผักในที่นายามเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เช่น หอม กระเทียม ถั่วเหลือง ฯลฯ เป็นหนึ่งในชุมชนชาวไตที่ยังคงขนบธรรมเนียม ประเพณีและวิถีชีวิตในแบบเดิมๆ ไว้ไ้ด้อย่างเหนียวแน่น

 

    กลิ่นอายของชาวไต ทั้งการแต่งกาย ภาษา ยังคุกรุ่นไม่จางหายอยู่ภายในชุมชนแห่งนี้ เรือนพักอาศัยบางส่วนได้ถูกนำมาใช้เป็นโฮมสเตย์ ต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเรือนของชาวไตนั้นจะมี 2 ลักษณะคือ

    เฮินโหลงสองส่อง เรือนที่มีหลังคาสองหลังต่อเชื่อมกันด้วยรางรินตรงกลาง จาน(ชาน) ส่องไพ(ห้องครัว) อาจจะรวมกันอยู่ในเรือนหลังใดหลังหนึ่ง หรือแยกส่วนออกไปต่างหาก เป็นเรือนของครอบครัวใหญ่ที่มีผู้อาศัยอยู่หลายคน

    เฮินโหลงตอยเหลียว เรือนหลังคาเดียว ที่มีชานหรือครัวแยกต่างหากได้เช่นกัน เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกไม่มากนัก

     ครูแมว กัลยา ไชยรัตน์ อาจารย์โรงเรียนบ้านเมืองปอน และยังเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้าของชาวไตเป็นอย่างดี ซึ่งมีบทบาทในการผลักดันโฮมสเตย์เข้าสู่ชุมชน บอกว่า เริ่มศึกษาและเรียนรู้โดยเดินทางไปหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ โดยควักทุนรอนส่วนตัว ชักชวนชาวบ้านเข้าร่วมโครงการ ต้องใช้เวลาร่วมสามปี กว่าการตอบรับจากนักท่องเที่ยวจะสะท้อนกลับมาอัตราที่สูงขึ้น พร้อมความคิดเชิงบวกคนในชุมชน ที่เข้าใจแต่แรกว่าเป็นเรื่องราวที่ทำขึ้นมา หวังเพียงเอาหน้า หาได้มีความจริงใจกับชุมชนไม่

     พวกเราไปถึงบ้านเมืองปอนในช่วงงานทุงจ่ามไต (งานวัฒนธรรมไทยใหญ่) เป็นการจัดงานในช่วงออกพรรษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีของชาวไต วัฒนธรรมท้องถิ่นถูกฟื้นฟู จากผู้อาวุโสถ่ายทอดสู่เยาวชนในหมู่บ้าน ผ่านฐานการเรียนรู้ 11 ฐาน ทั้งการอ่านเขียนภาษาไต ประวัติหมู่บ้าน อาหาร ขนม นิทานพื้นบ้าน การละเล่น การแสดง การทำจองพาราและศิลปหัตถกรรม ฯลฯ เรื่องราวที่แสดงตัวตนของชาวไต ได้ถูกบรรจุเข้าไปโปรแกรมท่องเที่ยวบ้านเมืองปอน เป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนกำหนดทิศทาง หวังให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อะไรกลับไป มากกว่าจะจดจำแค่ว่าเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่สงบเงียบเหมาะแก่การพักแรมในราคาถูกเพียงเท่านั้น

     มาบ้านเมืองปอน ลองตื่นก่อนตะวัน ล้างหน้าสีฟัน หรือจะอาบน้ำด้วยในคราวเดียวก็ไม่ว่ากัน เดินทอดน่องไปดูตลาดเช้าในหมู่บ้าน ตลาดเล็กๆ ที่ดูอบอุ่นอ่อนโยน มาดูมาซื้อของกินที่พวกเราคุ้นตาคุ้นลิ้น กลับไปกินที่บ้านพัก ฟ้าสางได้ไม่นานเจ้าของบ้านก็จะมีข้าวต้มร้อนๆ พร้อมเครื่องดื่มชงก่อนจึงจะสำเร็จ มาให้เป็นมื้อเช้า จะนั่งย่อยอยู่ในบ้าน หรือไม่อยากปล่อยให้เวลาเสียไปโดยเปล่า ก็ออกมาเดินช้าๆ ไปตามตรอกซอกซอย ดูวิถีชีวิตที่ขับเคลื่อนไปแบบไม่เร่ิงร้อน สงบนิ่งในความเคลื่อนไหวของชาวไตเมืองปอน

     ...แต่ขอให้ดูแบบเป็นกลางๆ อย่าแทรกความรู้สึกอิจฉาเข้าไปด้วย ...

     การเดินทาง จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ตามทางหลวงหมายเลข 108 ถึง อ.ขุนยวม ระยะทาง 68 กิโลเมตร และเดินทางจากอำเภอขุนยวมถึงบ้านเมืองปอน ระยะทาง 12 กิโลเมตร

     โฮมสเตย์บ้านเมืองปอน ติดต่อ อาจารย์กัลยา ไชยรัตน์ (ครูแมว)  โทร.08 6189 8812   อีเมล์: kunlaya_cat@hotmail.com 

 




จองพารา... ปราสาทแห่งศรัทธา

     ชาวไตเป็นชนชาติหนึ่งที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ควบคู่ไปกับประเพณีที่สืบทอดปฏิบัติกันมา นับแต่เดือนอ้ายไปยันเดือนสิบสอง ผมไปบ้านเมืองปอนในช่วงออกพรรษาที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ชาวไตจัดงาน “ปอยเหลินสิบเอ็ด” หรือ ประเพณีออกพรรษา สาระสำคัญของงานคือการทำ “จองพารา หรือ ปราสาทพระ”


.
.
.
.
.

     คำว่า “จอง” แปลว่า วัดหรือปราสาท “พารา” แปลว่า พระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้า โดยมีความหมายถึงการสร้างปราสาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือน 11 (วันออกพรรษา) หลังทรงเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ช่วงในพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน

     พระมหาโมคคัลลานะเถระ ได้บอกข่าวไปทั่วทุกหนแห่ง พระอินทร์จึงเนรมิตบันไดทิพย์ทั้ง 3 คือ บันไดทองอยู่เบื้องขวาเป็นที่ลงแห่งหมู่เทวดา บันไดเงินอยู่เบื้องซ้ายเป็นที่ลงแห่งหมู่พรหม ที่ตามส่งเสด็จเป็นจำนวนมาก บันไดแก้วอยู่ท่ามกลาง เป็นที่เสด็จลงแห่งพระบรมศาสดา เชิงบันได้ทั้ง ๓ จรดพื้น ใกล้ประตูเมืองสั่งกะนะโก่ (สำเนียงชาวไต หมายถึง สังกัสสนคร)

     พวกที่ไม่ได้มารับเสด็จ ต่างก็จัดทำ “จองเข่งต่างส่างปุ๊ด” (ซุ้มปราสาทรับเสด็จ) ที่บ้านเรือนของตน เมื่อถึงเช้าวันเพ็ญเดือน 11 ชาวบ้านจัดอาหารไว้ถวายพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาประทับยืน ณ หัวบันไดแก้ว ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีกระจายสาดส่องไปถึงจองเข่งต่างส่างปุ๊ด ของทุกบ้านเรือน บรรดาพุทธบริษัทที่อยู่ในบ้านเรือนรู้สึกชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมกันถวายภัตตาหารและจุดธูปเทียนบูชาเป็นเวลา 7 วัน

     ด้วยเหตุที่มีบ่อเกิดประเพณีตามแนวพุทธประวัติ ตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ดังกล่าวนี้ พอถึงวันเพ็ญเดือน 11 ครั้งใด ชาวไตทุกบ้านเรือนจึงพากันทำจองเข่งต่างส่างปุ๊ดหรือจองพารา เป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก สำหรับชาวไตในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

    จองพาราเป็นศิลปะของชาวไทยใหญ่  ตัวโครงทำด้วยไม้ไผ่บุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสีเจาะเป็นช่องลวดลายสวยงาม ตั้งบนนั่งร้าน นำเครื่องห้อยซึ่งเป็นผลไม้ทุกชนิด ที่มีในท้องถิ่นมาแขวน ใช้ต้นกล้วยต้นอ้อยมาผูกที่เสานั่งร้านทั้ง 4 มุม ตกแต่งประดับไฟให้สว่างไสว ตามบ้านเรือนนิยมทำจองขนาดเล็ก ทั้ง จองสาน ที่ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นทรงปราสาทองค์เล็กๆ รวมถึง จองปิ้กต่านและจองตีนช้าง ซึ่งมีแบบวิจิตรและขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย ส่วนจองยอดหรือจองปราสาท เป็นจองขนาดใหญ่ที่เนรมิตด้านบนเป็นยอดปราสาท ยกฉัตรหลายชั้น ประดับไฟอร่ามเรือง นิยมทำถวายวัด ซึ่งต้องใช้ฝีมือสล่า (ช่าง) ผู้ชำนาญการระดับเทพ และทุนทรัพย์เป็นจำนวนสูงกว่าจองทั้งสามแบบหลายสิบเท่าตัว

     พิธีจองพารา จะตั้งบูชาในตอนหัวค่ำของวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 และทำพิธีอัญเชิญรับเสด็จตอนเช้ามืด ของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษา ชาวบ้านจะนำอาหารซึ่งประกอบด้วยข้าวสวย ขนม ผลไม้ใส่ใน ก๊อกซอมต่อ (กระทงใบตองสำหรับใส่เครื่องพุทธบูชา) วางไว้ในจอง จุดธูปเทียนบูชากล่าวอัญเชิญพระพุทธเจ้าให้เสด็จมาประทับที่จองพาราเพื่อเป็นสิริมงคล  ตั้งบูชาเครื่องไปจนครบ 7 วัน สิ้นสุดการบูชาก็จะนำจองพาราไป ทิ้งหรือเผา หรือ ไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลาน ไม่นิยมเก็บไว้ในบ้าน เมื่อถึงปีต่อไปก็จะทำขึ้นมาใหม่

    พวกเราได้มีโอกาสเข้าไปในบ้าน ลุงแหลงคำ คงมณี อายุ 76 ปี ซึ่งใต้ถุนบ้านคุณลุงมีจองพาราขนาดเล็กใหญ่ทั้งมียอดและไม่มี ตั้งเรียงรายอยู่มากเกินสิบชิ้น ลุงแหลงบอกว่า ทำจองพารามาตั้งแต่นมแตกพาน ที่เห็นอยู่นี้เป็นจองที่เค้าสั่งทำ โดยฝีมือของลุงคนเดียว เพราะลุงเป็นสล่าจองพาราคนเดียวที่เหลืออยู่แห่งบ้านเมืองปอน แต่ตอนนี้ก็ได้ไปสอนให้กับลูกหลาน ในโรงเรียนบ้านเมืองปอน ด้วยหวังว่าจะมีผู้สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมไม่ให้สูญหายไป

    ลุงแหลงยังมีความเชี่ยวชาญในการประดิษฐ์ตำข่อน(ตุง) ที่ใช้ในประเพณีแฮนโก่จ่า เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อันมีที่มาจากนิทานพื้นบ้านของชาวไตเรื่อง “อะลองก๋าเผือก”

    “อะลอง” หมายถึงพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นกาเผือก หนึ่งในสิบชาติ ก่อนมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ว่า มีกาเผือก 2 ตัวผัวเมีย อาศัยใต้ต้นมะเดื่อใหญ่อันร่มรื่นอยู่อย่างมีความสุขเรื่อยมา เมื่อกาตัวเมียเริ่มตั้งท้องใกล้จะออกไข่ กาตัวผู้รู้ด้วยญาณทิพย์ว่า ถึงคราวกาตัวเมียวางไข่ ตนอยู่อีกไม่นานก็ต้องตาย จึงได้สั่งสอนเมียว่า เมื่อตนตายไปเวลา ขอให้ออกไปหากินผลไม้ต้นไกลๆ และมีลูกสุกก่อน พอท้องแก่ฟักไข่จะได้ไม่ต้องเหนื่อยออกบินไปไกลๆ สั่งเสียได้ไม่นานก็สิ้นลมหายใจ  หลังกาตัวผู้จากไป กาตัวเมียได้ออกไข่ในท้องมา 5 ฟอง

     จวบจนเมื่อออกไปหากินในวันหนึ่ง เกิดพายุและมีฝนตกหนักพัดต้นไม้ล้มระเนนระนาด รวมทั้งต้นมะเดื่อที่อาศัยอยู่ ไข่ทั้ง 5  ฟอง หล่นจากรังหายไปในแม่น้ำอันเชี่ยวกราก ถูกพายุพัดกระจายไปยังที่ต่างๆ กัน โดยแม่ไก, วัว, เต่า, คนซักผ้า, พญานาค มาพบและเก็บไปฟัก

     ครบกำหนดไข่ทั้ง  5  ฟอง ฟักออกเป็นเด็กชาย เมื่อโตเป็นหนุ่มก็ขออนุญาตแม่ที่เก็บมาเลี้ยง ออกไปร่ำเรียนวิชา ทั้งห้าคนก็ได้ไปเรียนที่เดียวกัน พอเล่าเรียนเสร็จแล้วต่างก็ได้พูดคุยเล่าเรื่องของตนให้กันฟัง จากนั้นทั้งห้าก็ได้ตั้งจิตอธิฐาน โดยช่วยกันทำก๊อกซอมต่อใส่ข้าวมาวางไว้ เพื่อที่จะได้พบพ่อแม่ จนถึงวันออกพรรษาก็ได้มีนางกาเผือกมากินข้าวที่ทั้งห้าได้อธิษฐานไว้ จึงได้รู้ว่าพ่อแม่ของตนคือกาเผือก ทั้งห้าจึงได้ทำตำข่อนเพื่ออุทิศส่วนกุศลระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ตน และพ่อแม่บุญธรรมที่ได้เลี้ยงดูมา โดยทำสัญลักษณ์ไว้ที่บนตำข่อนของทุกคน ชาวไตจึงยึดถือเป็นประเพณีแฮนโก่จามาจนถึงวันนี้

     ชีวิตลุงแหลงคำในช่วงก่อนออกพรรษา ไม่ต่างอะไรจาก คุณลุงสมัคร สุขศรี หรือลุงซอน สล่าชั้นครูแห่งหมู่ 3 ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ขะมักเขม้นอยู่กับการทำจองพารา แต่ของลุงซอนมักถูกว่าจ้างให้ทำจองยอดหรือจองปราสาท มากกว่าจองขนาดเล็กของลุงแหลงคำ จึงต้องมีผู้ช่วยหลายคน แต่ละคนก็แยกย้ายแบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัด ขณะเดียวกันยังได้รวบรวมข้อมูลของศิลปะลายไตในแม่ฮ่องสอน ที่ปรากกฎอยู่ตามโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ซุ้มปราสาท จองพาราและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม จัดทำเป็นเอกสารไว้ โดยคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง ใช้เป็นแนวทางศึกษา ค้นคว้า ฝึกหัดได้ตามสมควร ทั้งเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมลายไตให้คงอยู่สืบต่อไป

      ประเพณีจองพาราเป็นงานบูชาพระพุทธเจ้า ครอบครัวและหมู่บ้านใดจัดทำจองพารา เชื่อว่าจะพบแต่ความสุขได้อานิสงส์อย่างสูง

     ในช่วงออกพรรษาหากใครไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะพบว่าแต่ละชุมชนทั้งเขตเืมืองและอำเภอต่างๆ ต่างก็ตระเตรียมจองพาราตั้งบูชาไว้เกือบทั่วทุกบ้าน สำหรับในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ได้จัดให้มีขบวนแห่จองพาราอันยิ่งใหญ่ตระการตา ที่น่าเฝ้าชมและติดตามเป็นอย่างยิ่ง

โปรดติดตามตอนจบ

ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย

 

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ คดโค้งข้างขอบเขา... จากบ้านเมืองปอนถึงแม่ละนา (ตอนแรก)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook