เที่ยวตามประเพณี ไหว้พระธาตุปีเกิด 12 ปีนักษัตร

เที่ยวตามประเพณี ไหว้พระธาตุปีเกิด 12 ปีนักษัตร

เที่ยวตามประเพณี ไหว้พระธาตุปีเกิด 12 ปีนักษัตร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(ดาวน์โหลดหนังสือเที่ยวตามประเพณีไหว้พระธาตุปีเกิด)

คติการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด
     ในสังคมไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรที่สัมพันธ์กับปีเกิดและการนับอายุของแต่ละคนเป็น ที่รับรุ้กันแพร่หลาย ในแต่ละปีนักษัตรจึงกำหนดด้วยสัญลักษณ์เป็นสัตว์ประจำปีเกิด หรือที่เรียกว่า ๑๒ นักษัตร

     สำหรับในดินแดนภาคเหนือของไทย ความเชื่อเรื่องปีนักษัตรยังสัมพันธ์กับคติการบุชาพระบรมธาตุ ดังปรากฏเป็นประเพณีการชุธาตุหรือการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด โดยครั้งหนึ่งในชีวิตควรมีโอกาสเดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเพื่อความเป็นสิริมงคล ในคติล้านนาพระธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิดได้แก่

พระธาตุประจำปีชวด พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่
พระธาตุประจำปีฉลู พระธาตุลำปางหลวง ลำปาง
พระธาตุประจำปีขาล พระธาตุช่อแฮ แพร่
พระธาตุประจำปีเถาะ พระธาตุแช่แห้ง น่าน
พระธาตุประจำปีมะโรง พระพุทธสิหิงค์ เชียงใหม่
พระธาตุประจำปีมะเส็ง พระศรีมหาโพธิหรือต้นโพธิ์
พระธาตุประจำปีมะเมีย พระธาตุชเวดากอง พม่า
พระธาตุประจำปีมะแม พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
พระธาตุประจำปีวอก พระธาตุพนม นครพนม
พระธาตุประจำปีระกา พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน
พระธาตุประจำปีจอ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระธาตุประจำปีกุน พระธาตุดอยตุง เชียงราย
 
คำว่า พระธาตุ มีความหมายสองนัยคือ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถานที่หรือพระเจดีย์ที่มีพระบรมธาตุบรรจุ โดยแต่ละแห่งจะมีตำนานที่เล่ามูลเหตุการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งสัมพันธ์ กับการเสด็จโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าในดินแดนต่าง ๆ สถานที่ที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เหล่านี้มักจะกลายเป็นเมืองสำคัญในเวลาต่อมา
 
ลักษณะของพระธาตุ
     ลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุที่บรรยายไว้ในตำนานมีลักษณะเหมือนถั่ว แตก หรือข้าวสารหัก หรือเมล็ดพันธุ์ผักกาด กลมเกลี้ยงขนาดเท่าเม็ดพุทรา มีสีทองอุไร สีแก้วผลึก หรือแก้วมุกดา สีดอกพิกุล บางองค์มีรูทะลุได้

     ตามปกติจะบรรจุพระบรมธาตุไว้ใต้ฐานเจดีย์ หรือเรือนธาตุ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถนำออกมาได้ เว้นแต่พระธาตุศรีจอมทอง และนอกจากการบูชาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีการบูชาพระธาตุของพระอรหันต์หรือพระสาวกด้วย

การบูชาพระธาตุ
     สมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอมและข้าวตอกดอกไม้ ตามปกติแล้วจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาด อาจเจือด้วยน้ำหอม เนื่องจากองค์พระบรมธาตุส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใต้ฐานพระเจดีย์ การสรงน้ำจึงกระทำโดยการราดน้ำไปบนองค์พระเจดีย์ พระธาตุบางองค์จะต้องใช้น้ำจากแหล่งพิเศษอย่างเช่นการสรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง ใช้น้ำแม่กลางเจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทร์

     กล่าวได้ว่าคติการบูชาพระธาตุปีเกิดและตำนานที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงการแพร่กระจายของพุทธศาสนา ในดินแดนไทยมาแต่โบราณ นอกจากนี้การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ยังสัมพันธ์กับการเกิดชุมชนเมืองต่าง ๆ อันก่อให้เกิดคติความเชื่อและวัฒนธรรมร่วมกันของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในภาคเหนือของไทยที่มีกลุ่มชนมากมายอาศัยอยู่ โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์และสิ่งสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตใจ

     การเดินทางท่องเที่ยวไหว้พระธาตุปีเกิดมีความสะดวกเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระธาตุส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ จึงสามารถจัดเส้นทางสำหรับไหว้พระธาตุในจังหวัดใกล้เคียงได้ เช่น เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง หรือเชียงราย-น่าน-แพร่ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้อิ่มใจในบุญกุศล ทว่ายังได้ชมศิลปะและสถาปัตยกรรมอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook