กลุ่มโบราณสถานพระราชวังโปตาลา แหล่งมรดกโลกบนหลังคาโลก
หลายต่อหลายครั้งที่เราได้ยินข่าวคราวความไม่สงบจากเขตปกครองตนเองทิเบต ประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน การใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้เรียกร้อง ฯลฯ มองจากสายตาคนภายนอก ทิเบตเมืองนี้ช่างเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทว่าท่ามกลางปัญหาและเหตุรุนแรงที่ปะทุขึ้นเป็นระยะๆ นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยก็ยังใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งจะได้ขึ้นไปเหยียบย่างบนดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้
หนึ่งในสถานที่ๆนักท่องเที่ยวอยากไปเยือน เห็นจะหนีไม่พ้น กลุ่มโบราณสถานพระราชวังโปตาลา ในนครลาซา พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ราบสูงทิเบต เหนือเนินเขาศักดิ์สิทธิ์ฟูโท (Putuo Hill) ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,700 เมตร
เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่คริสศตวรรษที่ 7ในสมัยพระเจ้าซงเซิน กัมโป (Songsten Gampo) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของทิเบต เมื่อแรกเริ่มพระองค์ต้องการสร้างพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นป้อมปราการ และตำหนักสำหรับพระมเหสีชาวจีน และพระมเหสีชาวเนปาลเท่านั้น
กาลต่อมาเมื่อพระองค์ทรงเปลี่ยนความเชื่อจากลัทธิบอน ซึ่งเป็นลัทธิเก่าแก่ของทิเบตมานับถือศาสนาพุทธตามพระมเหสีทั้งสองพระองค์ จึงทรงใช้ป้อมปราการแห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวได้ว่าศาสนาพุทธได้ลงหลักปักฐานบนแผ่นดินทิเบตในสมัยของพระองค์นั่นเอง
พระราชวังโปตาลาได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยทะไลลามะองค์ที่ 5 (ผู้ปกครองทิเบตซึ่งมีฐานะเป็นผู้นำทางศาสนา) ราว ค.ศ. 1645 เพื่อใช้เป็นพระราชวังฤดูหนาว โดยมีบัญชาให้สร้างในลักษณะวังซ้อนวัง
พระราชวังชั้นนอกเรียกว่า วังขาว เพราะทาสีขาว สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1648 ขณะที่พระราชวังชั้นในเรียกว่า วังแดง ตามผนังที่ทาสีแดง สร้างเสร็จหลังจากวังขาวเกือบ 50 ปี ลักษณะเด่นของพระราชวังโปตาลา คือ ระเบียงที่มีภาพเขียนสีเรียงราย มีรูปเคารพต่างๆ จำนวนนับแสนองค์ มีห้องมากกว่าหนึ่งพันห้อง และมีห้องสวดมนต์ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม
โปตาลา มาจากคำสันสกฤต แปลว่า ภูผาแห่งพระอวโลกิเตศวร พระราชวังแห่งนี้นับเป็นสถาปัตยกรรมทิเบตชิ้นโบว์แดงมาจนถึงทุกวันนี้ ว่ากันว่าในช่วงหลายศตวรรษที่มีการก่อสร้างพระราชวังแห่งนี้ ใช้คนงานมากกว่า 7000 คน
ทิเบตปกครองในระบอบเทวาธิปไตย โดยมีองค์ทาไลลามะสืบต่อมาจนถึงองค์ที่ 14 จีนบุกยึดทิเบตในปี ค.ศ 1950 ซึ่งขณะนั้นองค์ทาไลลามะมีพระชนม์เพียง 15 พรรษาเท่านั้น กระทั่ง ค.ศ.1959 องค์ทาไลลามะพยายามเรียกร้องเอกราชแต่ไม่สำเร็จ จึงต้องลี้ภัยไปอยู่อินเดีย จากนั้นมา ทิเบตตกอยู่ใต้อาณัติของจีน และกลายเป็นเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ๋าง) ของจีนตั้งแต่ ค.ศ.1965
ปัจจุบันพระราชวังโปตาลากลายเป็นพิพิธภัณฑ์และสถานสักการะวังขาว เป็นที่อยู่อาศัยของพระ รวมถึงโรงเรียน และโรงพิมพ์ วังแดง เป็นที่สำหรับปฏิบัติกิจของสงฆ์ และเป็นที่ตั้งของสถูปทองซึ่งบรรจุพระศพขององค์ดาไลลามะในอดีต รวมถึงห้องสมุดที่ใช้เก็บพระไตรปิฏก
กลุ่มโบราณสถานพระราชวังโปตาลา ได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี ค.ศ. 1994 และมีการลงทะเบียนสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องข้างเคียงอีกในปี ค.ศ. 2000 และ 2001
Heritage by siriporn / เรื่อง Siriporn
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร weekend