หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนจบ)

หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนจบ)

หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนจบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

๔... หนองหาร

     พระอาทิตย์ค่อยๆ ลอยขึ้น แผ่นน้ำราบเรียบ...เทียมกระจก ถูกแสงสีส้มทองฉาบเคลือบจนทั่ว ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มติดเครื่องท้ายเรือ พาแล่นออกจากฝั่ง ระลอกคลื่นทำลายความนิ่งไปชั่วขณะ แต่ก็งดงามในอีกมิติ ไ่ม่เคยคิดว่า “หนองหาร” ยามเช้า... จะโรแมนติกปานนี้

     กิจกรรม ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านท่าวัด” เริ่มแต่เช้าตรู่ที่ท่าน้ำวัดมหาพรหมโพธิราช หรือวัดเหนือ อาบวิตามินดีจากแสงตะวันในปริมาณที่พอเหมาะ พอให้ร่างกายได้ปรับเปลี่ยนเป็นแคลเซี่ยม เสริมสร้างกระดูก เสร็จแล้วมาตักบาตรยามเช้ากับผู้เฒ่าผู้แก่ รับพระจากพระสงฆ์

     หลังอาหารเช้าในแบบเรียบง่าย ตบท้ายด้วยกาแฟสำเร็จรูป จึงค่อยไปเดินชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่รวบรวมโบราณวัตถุ โครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ที่ชาวบ้านนำมามอบให้ทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดง บอกเล่าเรื่องราวอารยธรรมของชุมชนบ้านท่าวัด 

     เข้าห้องน้ำจัดการเรื่องที่ค้างคากันเรียบร้อย พวกเราก็ทยอยลงเรือ ซึ่งแต่ละลำจะรับได้ประมาณ 5-6 คน รวมนายท้าย ข้อสำคัญก่อนออกเรือผุ้โดยสารต้องสวมชูชีพให้เรียบร้อย จากท่าวัดเหนือไปอีกราว 10 นาที เรือจะพาแวะ “วัดกลางศรีเชียงใหม่ หรือ “วัดใต้” ซึ่งมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุหลายประเภท อายุราว 3,500 – 5,500 ปี รวมถึงแผ่นศิลาจารึก ที่บันทึกเรื่องราวการสร้างวัดแห่งนี้ เมื่อศักราช 998 ปี ตรงกับ พ.ศ.2175 ภายในบริเวณวัดยังเป็นแหล่งกลุ่มใบเสมาหิน สมัยทวาราวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 อีกด้วย

     เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จนำคณะนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อทอดพระเนตร ทัศนศึกษา แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี โบราณวัตถุ ณ วัดกลางศรีเชียงใหม่แห่งนี้ ต่อมาภายหลังจึงได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นภายในวัด

     หนองหาร เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งการสร้างบ้านเมืองในสมัยก่อน มักเลือกทำเลที่ตั้งใกล้แหล่งน้ำ จึงมักมีการค้นพบสถานที่ สิ่งของและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ในชุมชนโดยรอบพื้นที่หนองหาร 

     หนองหาร มีเกาะหรือดอน อยู่หลายแห่ง บางแห่งชาวบ้านจะนำสัตว์เลี้ยงเช่น หมูป่า แพะ ไปปล่อยให้อยู่ตามธรรมชาติ ถึงเวลาจะเีรียกสัตว์เลี้ยงของตนเอง เจ้าของสัตว์แต่ละฝูงจะใช้แหล่งกำเนิดเสียงที่ต่างกัน เช่นกะลาบ้าง กระป๋องบ้าง สัตว์ที่เลี้ยงไว้จะจดจำเสียงใครเสียงมัน เจ้าของใครเจ้าของมัน ไม่มาปะปนกัน 

     “เกาะดอนสวรรค์” เป็นเกาะที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด บนเกาะมีวัดดอนสวรรค์ ซึ่งสงบเงียบร่มเย็น ต้นไม้หลายต้นมีอายุเกินร้อยปี ชาวบ้านจึงมักขับเรือมาที่วัด เพื่อทำบุญปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ

     ชาวเรือพื้นบ้าน ที่หากินกับการประมงน้ำจืด จะร่วมกันอนุรักษ์สินในน้ำ ด้วยการหยุดจับปลาในช่วงวันที่ 16 พฤษภาคม – 16 กันยายน ของทุกปี เพื่อให้แหล่งอาหาร ได้มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ เติบโตเป็นห่วงโซ่อาหารที่อุดมสมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป 

     กิจกรรมท่องเีที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านท่าวัด ติดต่อผู้ใหญ่ชำนาญ ดาบสีพลาย โทร.08 7221 2501 , 08 7972 9366

๕... ท่าแร่ แห่ดาว

     สำหรับคนรักสัตว์ “บ้านท่าแร่” อาจมีชื่อเสียงในทางลบ หากแต่เราศึกษาและทำความเข้าใจในขนบความเชื่อของแต่ละชาติพันธุ์ ความรู้สึกบางอย่างอาจถูกปล่อยวางและขจัดออกไปได้ไม่มากก็น้อย 

     เรื่องราวของบ้านท่าแร่ เกิดขึ้นประมาณประมาณ ปี พ.ศ. 2427 เมื่อบาทหลวงเกโก (มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส ) ได้พาคริตชน(ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์) ชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงานทาส และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบประมาณ 40 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในตัวเมืองสกลนคร ออกเดินทางหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านคริตชนใหม่ ทำแพขนาดใหญ่โดยนำเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกัน บรรทุกทั้งคนและสัมภาระ ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบ ปล่อยให้ลมพัดไปในทิศทางที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์  พวกเขาสามารถข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของหนองหารได้อย่างปลอดภัย ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นชุมชนชาวคริสต์ ในบริเวณที่เต็มไปด้วยป่าไม้ มีหินลูกรังอยู่ทั่วไป ซึ่งคนพื้นเมืองเรียก “หินแฮ่” จนต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อบ้านท่าแฮ่ หรือ ท่าแร่ในปัจจุบัน

     ความน่าสนใจของชุมชนคาทอลิกท่าแร่ อยู่ตรงที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมตารางหมากรุก คล้ายกับบ้านเมืองในแถบประเทศตะวันตก มีบ้านเรือนเก่า ในแบบสถาปัตยกรรมทรงฝรั่งเศสที่งดงาม เรียงรายให้เห็นสองข้างทางในถนนสายหลักของหมู่บ้าน และอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล โบสถ์คริสต์ที่มีรูปทรงคล้ายเรือ สื่อถึงการอพยพมาทางน้ำของชุมชน ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในชุมชนแห่งนี้

     ในช่วงวันคริสต์มาส ของชุมชนชาวคริสต์ในเขตอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดคือ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์และมุกดาหาร ดูจะแตกต่างจากคริสตชนทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตจังหวัดสกลนคร เพราะจะมีการเฉลิมฉลองด้วยการทำดาวและถ้ำพระกุมาร ประดับตามบ้านเรือน ศาสนสถาน เพื่อเฉลิมฉลองการประสูติของพระเยซูเจ้า พร้อมทั้งมีขบวนแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน 

     “ดาว” ในคริสต์ศาสนา เป็นสัญลักษณ์หมายถึง การมาบังเกิดของพระเยซูเจ้า เป็นสื่อนำทางให้พวกโหราจารย์ได้พบกับพระกุมารเยซู ในถ้ำเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮม ประเทศปาเลสไตน์ ประเพณีการแห่ดาวไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ เข้าในว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์เข้ามาภาคอีสานในปี พ.ศ.2424 ซึ่งมีการสอนให้คริสตชนทำดาวประดับในเทศกาลคริสต์มาส แต่ได้มีประยุกต์มาเป็นประเพณีแห่ดาวรอบศาสนสถานหรือชุมชน ตามนิสัยร่าเริงสนุกสนานอันเป็นธรรมชาติของชาวอีสานในเวลาต่อมา

     ประเพณีการแห่ดาวที่สกลนคร เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2525 เมื่อพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน อดีตผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง มีความประสงค์จะให้หมู่บ้านคริสตชนในเขตปกครอง ได้นำดาวที่ใช้แห่ในคืนวันที่ 24 ธันวาคม มาร่วมแห่อีกครั้งในตัวเมืองสกลนคร ในวันที่ 25 ธันวาคม โดยมอบหมายให้ชุมชนท่าแร่ หมู่บ้านคริสตชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นศูนย์กลางของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นผู้นำ โดยเริ่มแห่จากศาลากลางจังหวัดไปยังบริเวณโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร ก่อนจะมีพิธีเฉลิมฉลองคริสต์มาส เหมือนที่ทำกันในแต่ละชุมชน

     จนกระทั่ง พ.ศ.2546 นายปรานชัย บวรรัตนปราน ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้บรรจุประเพณีแห่ดาว ให้เป็นงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด เพื่อดึงดูดนักท่องเี่ที่ยวให้มาเที่ยวชมและร่วมงานคริสต์มาสที่จังหวัดสกลนคร จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในเวลาต่อมา

     หมู่บ้านท่าแร่ ตั้งอยู่ริมหนองหารฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองสกลนคร จากตัวเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 (อุดรธานี-สกลนคร-นครพนม) ห่างจากตัวเมืองทางรถยนต์ประมาณ 21 กิโลเมตร และ 6 กิโลเมตร โดยทางน้ำ ปัจจุบันได้รับการยกฐานะให้เป็นเทศบาลตำบล ในคืนวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี จะมีการแห่ดาวรอบชุมชน ที่คนมักเรียกว่าแห่ดาวเล็ก ก่อนจะร่วมกับชุมชนคริสต์อื่นๆ แห่ดาวรอบเมืองสกลนครในวันถัดมาอีกครั้ง

 

หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนแรก)

บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ

 ธนิสร หลักชัย

ขอขอบคุณ 
- งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  โทร.1672 เว็บไซต์:
www.tourismthailand.org
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครพนม โทร.0 4251 3490-1


ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย 


อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ หลากอารมณ์ที่...สกลนคร (ตอนจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook