บูชาพญาแถน แห่แหนบั้งไฟโบราณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ จังหวัดยโสธร
ร่วมจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธร ประจำปี 2553
ภายใต้ชื่อ “บูชาพญาแถน แห่แหนบั้งไฟโบราณ สืบสานประเพณี ชมของดีเมืองยโสธร ประจำปี 2553”
ระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2553 ณ สวนสาธารณะพญาแถน และถนนภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร
งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และ ความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถน ซึ่งได้ชื่อ
ว่าเป็นเทพแห่งฝน ได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวีถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผู้คนบนผืนดินอีสาน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำใร่ทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวและพืชผลทางการเกษตรในการหล่อเลี้ยงดำรงชีวิตมาโดยตลอด น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คืองานประเพณีแห่ และจุดบั้งไฟจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวัง และกำลังใจ ของชาวอีสานมาโดยตลอด
งานประเพณีบุญบั้งไฟจังหวัดยโสธรในปีนี้ นอกจากกิจกรรมสำคัญ คือ การประกวดขบวนแห่บั้งไฟ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2553 และการแข่งขันการจุดบั้งไฟขึ้นสูง ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2553 แล้ว ตลอดช่วงเวลาของการจัดงาน 5 วัน คือ ระหว่างวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2553 ท่านจะได้ชื่นชม และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์โอทอปขึ้นชื่อของเมืองยโสธร เช่น หมอนขวานผ้าขิด , ปลาส้มยโสธร และสินค้าอื่นอีกมากมายรวมทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรมอีสาน การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การประกวดกองเชียร์ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ช่างทำบั้งไฟจากเมืองชิชิบุ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีงานประเพณีบุญบั้งไฟคล้ายกัน และยังเป็นเมืองคู่แฝดของยโสธร ได้ส่งช่างทำบั้งไฟ มาทำบั้งไฟแบบญี่ปุ่น โชว์ภายในงานอีกด้วย รวมทั้งการเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดยโสธร อาทิ เช่น เส้นทางเยือนชุมชนบ้านสิงห์ท่า ค้นหาอดีตเมืองยโสธร , หรือนมัสการรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทยโสธร แล้วแวะชมมาลัยข้าวตอกอันเลื่องชื่อที่วัดหอก่อง อ.มหาชนะชัย หรืออาจจะแวะไปเยือนวัดอัครเทวดามิคาอิล ที่บ้านซ่งแย้ ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้หลังใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen In Thailand อีกด้วย
และนี่คืออีกหนึ่งงานประเพณีแห่งอีสาน ที่ ททท. อยากเชิญชวนทุกท่านไปสัมผัสแล้วท่านจะรู้ว่า อีสาน คือ “แหล่งเรียนรู้ อู่อารยธรรม” ที่สำคัญของเมืองไทยจริงๆ
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ททท. สำนักงานอุบลราชธานี
โทร. 0-4524-3770 , 0-4525-0714
และ www.tatubon.org