ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนที่สอง)

ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนที่สอง)

ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนที่สอง)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ร้านขายกาแฟ-ปาท่องโก๋ คนถีบสามล้อ คุณยายขายผัก คุณป้าขายข้าวจี่ และอีกหลายตัวละคร ยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนเรื่องราวของผู้คนในตลาดเป็นปกติ ตราบใดที่เรายังต้องพึ่งพาอาหาร ให้ร่างกายดำรงผ่านไปได้มื้อต่อมื้อ

     นอกเหนือหน้าที่หลัก ตลาดยังทำหน้าที่เสริมคือ เป็นสถานที่พบปะพูดคุย นินทา สอบถาม ส่งข่าว... พ่อตาตาย แม่ยายมีผัวใหม่ ลูกประกวดธิดาผ้าไหม ฯลฯ และเรื่องราวประเภท... “เห็นเขาว่า”... อันเป็นต้นทางของข่าวลือแพร่สะพัดออกไป

     เห็นเขาว่า... “ บักกิ้น ถูกหวยสามตัวบนได้ไปหลายแสน”...อันที่จริงมันถูกโต๊ดแค่สองพันเจ็ด แต่เฉลิมฉลองหมดไปสามพันห้า

     “พ่อเฒ่าสี กับ แม่ใหญ่สอย จะแต่งงานกัน... ดูมัน... แก่จนห้อยจนเหี่ยวแล้ว... ยังจะ...อีก... แหม” ... สองตายายอาจรักกันด้วยหัวใจ อวัยวะใดๆ ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการตัดสินใจ... และอื่นๆ อีกมายมาย

บ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธร

     ชุมชนต่างๆ มักเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ในขอบเขตไม่กว้างใหญ่นัก ทฤษฎีการแวงแผนครอบยังไม่เป็นที่รู้จัก ประกอบกับคนต่างถิ่นที่เข้ามาหาช่องทางประกอบอาชีพ กระทั่งตั้งหลักแหล่งถาวร จากรุ่นสู่รุ่น อาณาบริเวณเล็กๆ จึงค่อยๆ ขยายออกไปตามปริมาณสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ที่อยู่อาศัย แปลงนา ฯลฯ บางสถานที่จึงแค่ “เคย” เป็นเพียงอดีตแห่งความเจริญ เช่นเดียวกับ “บ้านสิงห์ท่า” ชุมชนแห่งแรกอันเป็นต้นกำเนิดของเมืองยโสธร

บ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธร

      เรื่องราวของบ้านสิงห์ท่า ปรากฎนามในประวัติศาสตร์ว่า ชุมชนแห่งนี้มีมานับแต่ครั้งกรุงธนบุรี การศึกภายในนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภูปัจจุบัน) ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแย่งชิงอำนาจ ผู้เพลี่ยงพล้ำก็ถอยร่นมาตั้งหลักลงฐานจนเกิดเป็นบ้านสิงห์ท่า กระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าฝ่ายหน้าผู้ปกครองบ้านสิงห์ท่า ได้สร้างคุณงามความดี โดยนำกำลังไปปราบขบถที่นครจำปาศักดิ์ได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงโปรดเกล้า ฯ สถาปนาขึ้นเป็น “เจ้าพระยาพิชัยราชขัตติยวงศา” เจ้าผู้ปกครองนครจำปาศักดิ์ ทางบ้านสิงห์ท่าจึงได้ให้ท้าวคำม่วงผู้เป็นน้องชายปกครองแทน

บ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธร

      เมื่อเจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศาถึงแก่พิราลัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์องค์เดิม ขึ้นเป็นผู้ครองนครจำปาศักดิ์สืบต่อไป เจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา จึงขอกลับไปอยู่บ้านสิงห์ท่า และได้ปรับปรุงบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้น

       พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองชื่อ ยศสุนทร ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมือง มีราชทินนามว่า พระสุนทรราชวงศา

       หากมีโอกาสเข้าไปท่องเที่ยวที่วัดมหาธาตุ จะสังเกตุว่าเจดีย์เล็กอีกหนึ่งองค์ อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ หลังพระธาตุอานนท์ ซึ่งเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของ เจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา โดยพระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรคนแรกผู้เป็นบุตร ได้นำอัฐิกลับมาจากนครจำปาศักดิ์ด้วยในคราวนั้น

      เมืองยศสุนทร ปรับเปลี่ยนสถานะ แบ่งเขตการปกครองไปตามยุคสมัย พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “ยโสธร” กระทั่งถูกยกสถานะเป็นจังหวัดที่ ๗๑ ของประเทศ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕

บ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธร

     ย้อนกลับไปห้าหกสิบปีก่อน บ้านสิงห์ท่าล้วนคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ที่เข้ามาค้าขาย ทั้งทางบกทางเรือ กระทั่งตลาดย่านการค้า แหล่งชุมชน ถูกขยายย้ายข้ามถนนแจ้งสนิท อันเป็นถนนสายหลักของจังหวัดยโสธร ไปอยู่อีกฝั่ง เมืองเก่าติดแม่น้ำชีอย่างบ้านสิงห์ท่า จึงดูเงียบเหงา แต่ยังแฝงด้วยเสน่ห์และเรื่องราวให้ติดตามค้นหาถึงที่มาที่ไป เรือนแถวไม้เก่า ตึกแถวโบราณ เฟรนซ์โคโลเนียลสไตล์ (French Colonial Style) สถาปัตยกรรมอันสื่อถึงการแผ่ขยายศิลปะการปลูกสร้างบ้านเรือนแบบตะวันตก ในยุคล่าอาณานิคม นำมาประยุกต์ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น โดยฝีมือช่างญวนซึ่งข้ามแม่น้ำโขงมาพึ่งพิงอาศัยแผ่นดินไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน แต่ยังยืนหยัดสู้ฝนแดดลมอวดโฉมอยู่จนทุกวันนี้

บ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธร

      บ้านสิงห์ท่า ยังเป็นแหล่งรวบรวมของดีพื้นถิ่น การทำบั้งไฟ การทำปลาส้ม ขนมลองช่องใบเตย อันเลื่องชื่อ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง วัดสิงห์ท่า วัดเก่าแก่นับแต่เริ่มตั้งชุมชน วัดศรีธรรมมาราม ซึ่งเคยเป็นที่จำพรรษาของ พระเทพสังวรญาณ (หลวงตาพวง สุขินทริโย) พระอริยสงฆ์แห่งเมืองยโสธร ซึ่งละสังขารและมีพิธีพระราชทานเพลิง ไปเมื่อไม่นานนี้

บ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธรบ้านสิงห์ท่า จ.ยโสธร   

     หากมีเวลาไม่มากหรือร่างกายไม่อำนวย พอจะเดินทอดน่องท่องเที่ยว ยังสามารถเดินทางแบบด่วน กว่า ในเวลาพอเหมาะ ด้วยรถเสมือนรถรางของเทศบาลเมืองยโสธร พร้อมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น โดยเริ่มต้นทางจากวัดมหาธาตุ มุ่งตามถนนซึ่งเชื่อมต่อภายในชุมชน แวะตามจุดสำคัญ ๆ ก่อนกลับไปเข้าเส้นชัยที่จุดเริ่มต้น
   
     ... บ้านสิงห์ท่า ยังคอยท่า อยู่ที่เดิม ...  

บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ

 ธนิสร หลักชัย...เรื่อง / ภาพ

ขอบขอบคุณ
งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โทร.1672 เว็บไซต์: www.tourismthailand.org
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี
โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714  อีเมล์ : tatubon@tat.or.th

ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนที่สอง)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook