ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนจบ)

ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนจบ)

ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนจบ)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      “เสียงข้าวเปลือกเหนียว แตก... เป๊าะ แป๊ะ... อยู่ในหม้อดินขนาดย่อม คุณป้าผู้ทำหน้าที่ควบคุม มีก้านกล้วยอยู่ในมือ คอยคนข้าวเปลือกซึ่งกำลังถูกความร้อนจากเตาถ่าน เพื่อให้ถูกความร้อนเสมอกัน ก่อนค่อยๆ แตกเป็นดอกแปรเปลี่ยนสถานะเป็นข้าวตอก จึงค่อยยกเทลงบนกระด้ง เพื่อนำไปฝัดหรือร่อน แยกเปลือกข้าวกับข้าวตอกออกจากกัน ข้าวตอกจะถูกคัดแยก เพื่อนำส่วนที่ดีมาร้อยเป็นมาลัย โดยใช้เข็มสอย แทงผ่านข้าวตอกทีละดอกทีละดอก ไปอยู่บนด้ายที่ร้อยรอไว้ด้านท้าย จนได้ขนาดตามต้องการ เพื่อนำมาประกอบเป็นรูปทรงต่อไป”

มาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอก

      ขั้นตอนโดยสังเขป ในการทำมาลัยข้าวตอก ซึ่งชาวบ้านในอำเภอมหาชนะชัย โดยเฉพาะที่ตำบลฟ้าหยาด แต่ละหมู่บ้านแต่ละคุ้มจะร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจทำ เพื่อแห่ไปถวายที่วัดหอก่อง ก่อนวันเพ็ญเดือน ๓ มาฆบูชาหนึ่งวัน ของทุกปี

      มาลัยข้าวตอก ที่ชาวบ้านร้อยเรียงเป็นสาย ถูกสมมุติแทน “ดอกมณฑารพ” ดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีความสวยงามและมีกลิ่นหอมพิเศษเหนือบุปผชาติใดๆ จะบานและร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ก็ต่อเมื่อถึงกาลสำคัญๆ คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จาตุรงคสันนิบาติและทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร

มาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอก

      ในพุทธประวัติกล่าวถึง ภายหลังพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๗ วัน พระสงฆ์ที่จาริกออกไปประกาศพระศาสนาตามเมืองต่างๆ เมื่อทราบข่าวต่างก็เร่งเดินทางมายังเมืองกุสินารา ที่อยู่ใกล้ก็มาทันเฝ้าพระองค์ ส่วนที่อยู่ไกลเกินไปก็มาไม่ทัน
พระมหากัสสปเถระ ผู้เป็นเลิศหรือเอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์ ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้เกียรติเทียบเท่าพระองค์

       ขณะพาพระสงฆ์แวะพักชั่วคราวภายใต้ร่มไม้แห่งหนึ่งที่เมืองปาวา หลังจากรีบเดินทางเพื่อให้ทันเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะนั้นเห็นอาชีวก นักบวชนอกศาสนาพุทธคนหนึ่ง เดินถือดอกมณฑารพ มาจากเส้นทางสู่เมืองกุสินารา ก็นึกสังหรณ์ใจ เพราะดอกมณฑารพเป็นดอกไม้ทิพย์ ที่ไม่มีในโลกมนุษย์ จะปรากฏเฉพาะกาลสำคัญที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าเท่านั้น จึงถามข่าวจากอาชีวก เมื่ออาชีวกตอบว่า พระสมณโคดมนั้นนิพพานได้เจ็ดวันแล้ว ตนเก็บดอกมณฑารพนี้มาจากสถานที่ที่พระพุทธเจ้านิพพาน จึงเร่งพาพระสงฆ์เดินทางเพื่อให้ทันถวายบังคมพระบรมศพพระพุทธเจ้า

       ผู้คนทั่วทุกชั้นวรรณะ ที่เดินทางมาถวายสักการะพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ต่างพากันเก็บดอกมณฑารพที่ร่วงหล่น กลับไปเพื่อสักการะบูชาและรำลึกถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกาลเวลาผ่านไป ดอกมณฑารพก็เหี่ยวแห้งและเสื่อมสลายไป จึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการะบูชา เพราะถือว่าข้าวเป็นของสูง การจัดข้าวตอกดอกไม้ถวายเป็นพุทธบูชานั้น ยังไม่แ่น่ชัดว่ามีจุดเริ่มต้นมาแต่เมื่อไหร่ แต่เชื่อกันว่า แรกๆ จะใส่พานไว้โปรยเวลาพระสงฆ์เทศนา เช่นเดียวกับ “ประเพณีแห่มาลัย” ซึ่งทำจากข้าวตอก แห่งเดียวในประเทศไทย ที่เรียกกันติดปากว่า “แห่มาลัยข้าวตอก” ที่ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร เริ่มมาแต่เมื่อไหร่ ไม่มีใครระบุได้แน่ชัด ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกได้แค่ว่ามีมานานแล้ว

มาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอก

      รูปทรงของมาลัยโดยทั่วไปมีอยู่สองประเภทคือ มาลัยสายฝน และ มาลัยผูกข้อ โดยจะเพิ่มรูปแบบและลวดลายตามจินตนาการของชาวบ้านผู้สร้างชิ้นงาน การร้อยมาลัยข้าวตอก หากร้อยด้านให้ด้านที่มีสีเหลืองขึ้นด้านบน จะทำให้มาลัยออกสีขาวอมเหลือง แต่ถ้าหากร้อยให้ด้านที่มีสีเหลืองคว่ำลง จะทำให้มาลัยเป็นสีขาว ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน และเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดในชุมชน ทั้งยังมีการถ่ายทอดให้เยาวชน ได้ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามนี้ด้วย

มาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอก  

      ถึงวันงาน มาลัยข้าวตอกจากคุ้มต่างๆ จะถูกจัดแต่งประดับประดา เพื่อร่วมประชันขันแข่งอันเป็นกิจกรรมที่ทางอำเภอได้จัดขึ้นเป็นประเพณีทุกๆ ปี มาลัยข้าวตอกที่ร้อยเป็นสายยาวสูงท่วมหัว จะถูกนำขึ้นรถ ประกอบเสียงพิณ แคน ซอ ส่งสำเนียงดนตรีพื้นถิ่นอีสาน แห่เคลื่อนไปรอบอำเภอ สร้างความครึกครื้นทั้งผู้ร่วมขบวนและผู้ชมสองฟากทาง กระทั่งไปสิ้นสุดขบวนที่วัดหอก่อง ก่อนนำมาลัยข้าวตอกถวายบูชา ผ่านทางพระภิกษุสงฆ์ เสร็จสิ้นพิธีก็รับศีลรับพร กลับบ้านกันไปด้วยความอิ่มเอมใจ

      การจัดประกวดมาลัยข้าวตอก เป็นเพียงแค่กุศโลบายในการอนุรักษ์ สร้างความสามัคคีในชุมชน ทั้งเผยแพร่ให้คนในพื้นที่และต่างถิ่น ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้มาเที่ยวชมประเพณีอันงดงามนี้ รางวัลอาจจะแทบไม่มีความหมาย สำหรับชาวบ้านเท่าใดนัก เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นทุกปีอยู่แล้ว

 

.

มาลัยข้าวตอกมาลัยข้าวตอก   

     ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อม ตลอดจนวิถีการดำเินินชีวิต ฯลฯ มักเป็นปัจจัยประกอบให้เกิดความเชื่อ ประเพณี อันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นๆ ความเชื่อเรื่องการนำข้าวมาถวายเป็นพุทธบูชา ได้ถูกประยุกต์ปรับเปลี่ยนจนมาเป็นมาลัยข้าวตอก ที่ใช้แขวนแทนเครื่องบูชาของชาวอำเภอมหาชนะชัย ซึ่งถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกไ้ด้ถึงรากเหง้าตัวตนของคนไทย ซึ่งผูกพันตัดไม่ขาดจากต้นข้าวในนา แต่ในสังคมปัจจุบัน ชาวนากลับถูกตั้งค่าให้เป็นกลุ่มคนขุมล่าง ที่ต้องหว่านไถ ปักดำ เก็บเกี่ยว ไปพร้อมๆ กับหนี้สิน ราคาข้าวที่ตกต่ำ ฯลฯ บนที่นาซึ่งเคยเป็นของตนเอง

     วันหนึ่งวันใด... หากคนขุมล่างนี้เลิกทำนา ประเพณีอันดีงาม อาจต้องสูญหายไปตามกาลนั้นก็เป็นได้

บุญรักษา... คุณพระคุ้มครอง... เจริญสุขทุกๆ ท่านครับ

 ธนิสร หลักชัย...เรื่อง / ภาพ

 

 

ขอบขอบคุณ
งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
โทร.1672 เว็บไซต์: www.tourismthailand.org
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี
โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714  อีเมล์ : tatubon@tat.or.th

ผลงานเขียนของคุณธนิสร หลักชัย

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ยโส(ธร)... เมื่อเดือน ๓ (ตอนจบ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook