สัมผัสเสน่ห์เมือง(มอญ) สังขละบุรี ในวันฉ่ำฝน
เมื่อหน้าหนาวที่แล้วได้มาเยือนสังขละบุรี ดินแดนที่ใครบางคนเปรียบเปรยว่าเป็น "สวรรค์ที่สุดแดนตะวันตก" มาวันนี้โชคชะตาก็นำพาให้มาเยือนอีกครั้งในช่วงฤดูฝน
สังขละบุรีในยามหนาวครั้งนั้น
ภาพสะพานไม้ที่ทอดตัวคดโค้งหายเข้าไปในม่านหมอก พอหมอกจางในยามสาย พระอาทิตย์ส่องแสงเป็นประกายแสงสีทองทาบทาไปทั่วพื้นผิวสะพาน ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ แต่บรรยากาศในช่วงฤดูฝนเช่นครั้งนี้ กลับเห็นความเขียวขจีของต้นไม้ เห็นสะพานทอดตัวคดโค้งไปยังฝั่งมอญได้อย่างชัดเจน
จากกรุงเทพฯ แหวกป่าคอนกรีตตึกสูงใหญ่ กว่าจะถึงสังขละบุรีเป็นระยะทางกว่า 350 กม. ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ฟังดูแล้วน่าจะหลับได้หลายตื่นกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ทัศนียภาพของธรรมชาติสองข้างทางไม่อาจทำให้หลับตาลงได้ โดยเฉพาะยิ่งเข้าสู่เขตเมืองกาญจน์ ต้องตื่นตาตื่นใจกับความงามของขุนเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อนที่เห็นไกลอยู่ลิบๆ ยิ่งใกล้สู่จุดหมาย อ. สังขละบุรี ขุนเขาตะนาวศรีพรมแดนด้านตะวันตกของไทย ยิ่งเผยโฉมให้เห็นอย่างชัดเจน เส้นทางอันคดเคี้ยวไต่ไปตามขุนเขา ตัดผ่านผืนป่าใหญ่ ที่เขียวขจีด้วยสายฝนที่โปรยปรายลงมา
ถึงแล้ว! สังขละบุรี
สังขละบุรี--เมืองเล็กๆ แสนสงบท่ามกลางขุนเขาตะนาวศรี ที่มีชนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งไทย มอญ กะเหรี่ยง แม้วัฒนธรรม ภาษา อาหารการกิน การแต่งกายจะแตกต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความศรัทธาในพุทธศาสนา อันเป็นพลังขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ ก่อเกิดเป็นสะพานไม้สังขละบุรี หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ โดยมีหลวงพ่ออุตตมะแห่งวัดวังก์วิเวการามเป็นผู้นำในการสร้างสะพานไม้นี้ขึ้น
ความสามัคคีของชาวสังขละครั้งนั้น น่าจะเป็นแบบอย่างของคนไทยในปัจจุบันที่กำลังแตกแยก บางทีความสามัคคี ความสมัครสมานอาจขจัดปัญหาความวุ่นวายที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ก็ได้
ใครบางคนที่เดินทางมากับเราได้สะกิดให้ออกจากพะวัง "ถึงแล้ววัดวังก์วิเวการาม" สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจและเปรียบเป็นจุดนัดพบของคนสังขละฯ โดยเฉพาะในช่วงวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนา จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ รวมไปถึงคนหนุ่มสาว นุ่งโสร่ง ห่มสไบ พากันมาตักบาตรทำบุญโดยพร้อมเพรียงกัน
วัดวังก์วิเวการามเป็นวัดใหม่ที่สร้างขึ้นแทนวัดเก่าที่จมอยู่ในเขื่อนเขาแหลม หลวงพ่ออุตตมะเป็นอดีตเจ้าอาวาส ที่มีบารมีเป็นที่เคารพนับถือของชาวสังขละฯ โดยเฉพาะชนชาวมอญ วัดวังก์วิเวการามเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พุทธคยาจำลององค์ขนาดใหญ่สีทองอร่าม ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดเจดีย์ เป็นที่สะดุดตาแก่ผู้มาเยือน
ไปดูวัดจมน้ำ วัดวังก์ฯ ของชาวมอญสังขละฯ
ระหว่างทางที่เราเคลื่อนไปสู่จุดหมายถัดไป ภาพเด็กชายนุ่งโสร่งกับเด็กหญิงนุ่งผ้าถุงมอญเดินชักแถวหยอกล้อเริงร่ากันบนถนนเล็กๆ ในหมู่บ้าน เป็นภาพที่น่ารักงดงามอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ราวกับฉากละครที่ถูกเซ็ทขึ้นในจอทีวี ...วันนี้เป็นวันศุกร์เป็นวันที่ทางโรงเรียนในหมู่บ้านประกาศให้นักเรียนแต่งชุดพื้นถิ่นไปเรียน
ขอบคุณ... ที่ทำให้ได้เห็นภาพงดงามภาพนี้
ความแล้งทำให้น้ำในเขื่อนที่เคยเปี่ยมฝั่งเกือบแห้งขอด เรือนแพที่เคยลอยเท้งเต้งริมตลิ่งก็ไหลเกือบไปกระจุกรวมกันที่ก้นเขื่อน และด้วยความแล้งน้ำแห้งขอดลดระดับนี้เอง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการลงเรือไปชมโบสถ์วัดวังฯ หลังเดิมที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ
"มะเงยระอาว" สำเนียงไม่คุ้นหู แว่วดังมาจากกลางสะพาน ภาพเด็กชายในชุดม่อฮ่อม วัย 10 ขวบ ที่รอต้อนรับผู้มาเยือนกล่าวทักทายด้วยภาษามอญแปลว่า สวัสดี
"ผมชื่อสุรศักดิ์ ชื่อเล่นเอี้ยครับ" เด็กชายแนะนำตัวเอง พร้อมกับถามไถ่ว่าเรามีเรือไปดูวัดจมน้ำหรือยัง
แม้เราจะลงแพที่จองไว้แล้ว แต่น้องเอี้ยก็ร่วมเดินทางไปกับเรา ทำหน้าที่อธิบายในสิ่งที่เขารู้ในหมู่บ้านของเขา กว่าครึ่งชั่วโมงในการนั่งแพที่มีเรือลากจูงไปตามสายน้ำในวันน้ำลดแห้งขอด ทำให้เห็นตอไม้น้อยใหญ่ที่เคยเป็นป่าดิบก่อนสร้างเขื่อนกระจัดกระจายไปทั่วผืนน้ำ ว่ากันว่าตอไม้เหล่านี้ถูกนำไปซ่อมแซมสะพานไม้ที่ค่อยๆ พุพังไปตามกาลเวลา แสงทองอร่ามส่องประกายมาจากยอดเจดีย์พุทธคยาบนฝั่ง เป็นฉากที่สวยงามให้ชมตลอดที่อยู่ในแพ
ไม่นาน...ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าเป็นเนินดินขนาดใหญ่คล้ายเกาะที่โผล่พ้นน้ำ บนเนินดินนั้นมีซากโบสถ์ตั้งตระหง่าน นี่คือวัดวังก์วิเวการามเก่าที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนเขาแหลมเมื่อปี พ.ศ. 2527 ทั้งวัดและหมู่บ้านชาวสังขละบุรีหายวับไปกับสายน้ำ ก่อนที่มาสร้างวัดและหมู่บ้านใหม่ในที่ปัจจุบัน
การมีอยู่และหายไปของวัดวังก์ฯ และหมู่บ้านเดิมของชาวมอญสังขละบุรี อาจเปรียบได้กับชีวิตมนุษย์ที่มีขึ้นมีลง แต่สิ่งที่จะไม่น้อยลงไป คือความรักที่มีต่อสังขละบุรี เมืองมอญเล็กๆ และสงบงามแห่งนี้
เรื่องและภาพ: พรเพ็ญ วงศ์ศุภชัยนิมิต