สมุทรปราการ เมืองกำแพงชายทะเล

สมุทรปราการ เมืองกำแพงชายทะเล

สมุทรปราการ เมืองกำแพงชายทะเล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(ภาพประกอบ : paknam.com)

คำขวัญประจำจังหวัด
ป้อมยุทธนาวี พระเจดีย์กลางน้ำ ฟาร์มจระเข้ใหญ่ งามวิไลเมืองโบราณ
สงกรานต์พระประแดง ปลาสลิดแห้งรสดี ประเพณีรับบัว ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม

“ป้อมยุทธนาวี”

ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือสุดของอ่าวไทย สมุทรปราการจึงเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญมาทุกยุคทุกสมัย มีการสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกไว้หลายแห่ง

อนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ บริเวณป้อมพระจุลฯอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ บริเวณป้อมพระจุลฯ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ (อ. พระประแดงในปัจจุบัน) เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกที่จะรุกเข้ากรุงเทพฯ จากทางอ่าวไทย มีการสร้างป้อมปราการหรือป้อมยุทธนาวีขึ้นภายในเมืองหลายป้อม ป้อมแรกคือป้อมวิทยาคม และทยอยสร้างต่อเนื่องมาอีก จำนวนรวมทั้งสิ้น 24 ป้อม

กระทั่งในยุคล่าอาณานิคม มีกรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าขึ้นที่ปากน้ำบริเวณ อ. พระสมุทรเจดีย์ในปัจจุบัน เป็นป้อมที่ทันสมัย มั่นคงแข็งแรง พร้อมกันนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะจากเมืองขึ้นเป็นจังหวัด เมืองนครเขื่อนขันธ์จึงเปลี่ยนเป็น จ. พระประแดง ก่อนจะถูกลดฐานะเป็น อ. พระประแดง อำเภอหนึ่งของ จ. สมุทรปราการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

“พระเจดีย์กลางน้ำ”

พระเจดีย์กลางน้ำนี้คือพระสมุทรเจดีย์ ปูชนียสถานสำคัญซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวสมุทรปราการ ทางราชการถือเอาพระเจดีย์นี้เป็นตราจังหวัดด้วย

พระสมุทรเจดีย์ มุมมองจากแม่น้ำเจ้าพระยาพระสมุทรเจดีย์ มุมมองจากแม่น้ำเจ้าพระยา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสมุทรเจดีย์ขึ้น และแล้วเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อแรกสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังย่อมุมไม้สิบสอง สูง 27.75 ม. เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ต่อมาถูกคนร้ายขโมยไป ล่วงถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สร้างเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพื่อความสง่างามและเป็นจุดหมายตาสำหรับเรือสินค้าของชาวต่างชาติว่ามาถึงสยามแล้ว จึงมีการสร้างเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ สูง 39.75 ม. ครอบทับพระเจดีย์องค์เดิม ดังที่เห็นในปัจจุบัน

พระสมุทรเจดีย์ตั้งอยู่ในวัดพระสมุทรเจดีย์ ต. ปากคลองบางปลากด อ. พระสมุทรเจดีย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คำเรียก “พระเจดีย์กลางน้ำ” นั้นมาจากเดิมพระเจดีย์ตั้งอยู่บนเกาะกลางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาชายตลิ่งตื้นเขินงอกเป็นแผ่นดินออกมาเชื่อมกับเกาะอันเป็นที่ตั้งของพระสมุทรเจดีย์ เกาะดังกล่าวจึงไม่มีสภาพเป็นเกาะอีกต่อไป แต่ชาวบ้านก็ยังคงเรียกขานชื่อพระเจดีย์กลางน้ำดังเดิม

“ฟาร์มจระเข้ใหญ่”

ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการนับเป็นฟาร์มจระเข้แห่งแรก และขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งมีจระเข้ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจนได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก

บ่อเลี้ยงจระเข้ ในฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการบ่อเลี้ยงจระเข้ ในฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ

นายอุทัย ยังประภากร เป็นผู้ก่อตั้งฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 ขณะนั้นนายอุทัยทำธุรกิจกระเป๋าหนังจระเข้ ต้องซื้อหนังจระเข้จากแหล่งอื่นในราคาแพง เขาจึงเกิดความคิดที่จะทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้เอง เริ่มแรกฟาร์มมีเนื้อที่เพียง 1 ไร่ แล้วได้ขยายพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีเนื้อที่ราว 400 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งจัดเป็นสวนสัตว์ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมด้วย

ภายในฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้หลากขนาดจำนวนหลายหมื่นตัว ในปี พ.ศ. 2532 จระเข้ของฟาร์มชื่อ “เจ้าใหญ่” ได้รับการบันทึกลงในกินเนสส์บุ๊ก เวิลด์ออฟเร็กคอร์ด ในฐานะจระเข้ตัวใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวถึง 6 ม. และหนักกว่า 1,000 กก. ปัจจุบันเจ้าใหญ่มีอายุถึง 35 ปีแล้ว

“งามวิไลเมืองโบราณ”

เมืองโบราณได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดแสดงโบราณวัตถุสถานของไทยทั้งที่เป็นของจริงและจำลองขึ้นใหม่ อาจกล่าวได้ว่า หากอยากรู้จักเมืองไทย ต้องมาที่เมืองโบราณ

 

ประตูทางเข้าเมืองโบราณ จำลองแบบจากประตูเมืองเชลียงที่สุโขทัยประตูทางเข้าเมืองโบราณ จำลองแบบจากประตูเมืองเชลียงที่สุโขทัย

นายเล็ก วิริยะพันธุ์ นักธุรกิจผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้ริเริ่มรังสรรค์เมืองโบราณขึ้นบนพื้นที่ราว 800 ไร่ในเขต ต. บางปูใหม่ อ. เมืองสมุทรปราการ ด้วยงบประมาณส่วนตัวและความสนใจด้านศิลปวัฒนธรรมไทยและโบราณคดี โดยรวบรวมศิลปกรรมอันงดงามจากทุกภูมิภาคของไทย มีทั้งที่ผาติกรรม คือรื้อจากสถานที่เดิมแล้วนำมาปลูกสร้างในเมืองโบราณ และสร้างขึ้นใหม่โดยจำลองจากสถานที่จริงหรือการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

นอกจากนี้ นายเล็ก วิริยะพันธุ์ ยังเป็นผู้ริเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณที่ปากน้ำสมุทรปราการ และปราสาทไม้สัจธรรมที่พัทยา จ. ชลบุรี ซึ่งล้วนเป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปกรรมที่สำคัญของประเทศ

“สงกรานต์พระประแดง”

เป็นงานประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญใน อ. พระประแดง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

ขบวนแห่สงกรานต์ในตัวเมืองพระประแดงขบวนแห่สงกรานต์ในตัวเมืองพระประแดง

อ. พระประแดงที่บางคนเรียกกว่าปากลัดนั้น เป็นชุมชนชาวมอญขนาดใหญ่และเก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย คนมอญกลุ่มนี้อพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีและช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ชาวมอญได้ชื่อว่าเป็นผู้เคร่งครัดในพุทธศาสนา ทั้งยังคงสืบทอดภาษาพูดและประเพณีสำคัญต่างๆ ไว้ได้อย่างเข้มข้น ดังเช่นประเพณีสงกรานต์ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับชาวมอญ เพราะเป็นการเปลี่ยนศักราชใหม่ มีการทำบุญและงานรื่นเริงต่างๆ ในหมู่บ้าน มีขบวนแห่หงส์และธงตะขาบเพื่อเป็นการรับขวัญปีใหม่ (หงส์เป็นสัตว์ในตำนานของชนชาติมอญ ตะขาบเป็นสัตว์ตามคติความเชื่อทางโลกและทางธรรมของชาวมอญ)

ถัดจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ (โดยมากจะกำหนดให้ตรงกับวันอาทิตย์) จะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่บริเวณหน้าที่ว่าการ อ. พระประแดง ช่วงบ่ายมีการปล่อยนกปล่อยปลาและเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน

“ปลาสลิดแห้งรสดี”

ปลาสลิดแห้งของ อ. บางบ่อ เป็นของดีชื่อดังของ จ. สมุทรปราการ นำรายได้มาสู่ชาวบางบ่อเป็นจำนวนไม่น้อย

ปลาสลิดบางบ่อปลาสลิดบางบ่อ

เดิมชาวบ้านแถบ อ. บางบ่อ มีอาชีพทำนาข้าว ต่อมามีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นและรุกพื้นที่นา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูง น้ำจืดที่ใช้ในการทำนาจึงกลายเป็นน้ำกร่อยค่อนข้างเค็ม ส่งผลให้ได้ผลผลิตข้าวไม่ดี ชาวบ้านจึงหันมาขุดบ่อเลี้ยงปลาสลิด โดยใช้น้ำกร่อยนั้นเองเลี้ยงปลา น้ำกร่อยเป็นแหล่งที่ไรแดงซึ่งเป็นอาหารชั้นยอดของปลาสลิดเจริญเติบโตได้ดี ปลาสลิดจึงมีความสมบูรณ์ เมื่อชาวบ้านนำมาแปรรูปโดยการหมักเกลือแล้วตากแดดจึงได้ปลาสลิดแห้งเนื้อนุ่มเหนียวอร่อย เกษตรกรจะทำการวิดบ่อปลาสลิดปีละครั้งในช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งจะได้ปลามาตากแห้งขายตลอดทั้งปี

ปลาสลิดบางบ่อมี 2 ชนิด คือ ปลาหอม มีราคาแพงถึงกิโลกรัมละเกือบ 300 บาท ด้วยกรรมวิธีค่อนข้างพิถีพิถัน ต้องนำปลาสลิดที่ขอดเกล็ดและผ่าไส้ออกแล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นใส่ลงในกะละมังและโรยเกลือ แล้วค่อยๆ ฝัดเกลือคลุกเคล้าให้ทั่วตัวปลา ทิ้งไว้ให้เกลือซึมเข้าเนื้อปลาก่อนนำใส่เข่งให้เลือดปลาไหลออกจนแห้ง เนื้อปลาจะพอง ท้ายสุดจึงนำปลาไปตากแดดสองแดด ได้ปลาสลิดแห้งที่มีกลิ่นหอม เนื้อปลาแน่นแต่นุ่ม

ส่วนอีกชนิดเป็นปลาน้ำแข็ง ใช้น้ำแข็งกับเกลืออัดลงไปบนปลาสลิดที่เคล้าเกลือแล้วสลับกันเป็นชั้นๆ ให้ความเย็นทำให้เนื้อปลาแข็ง จากนั้นนำมาตากแดดครึ่งวันแล้วนำออกขาย ปลาน้ำแข็งจึงมีน้ำหนักมากกว่าปลาหอม แต่ราคาก็ถูกกว่า

“ประเพณีรับบัว”

เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญในย่าน อ. บางพลี นับเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เพราะมีประเพณีนี้ที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศ

ผู้ศรัทธากำลังโยนบัวไปยังเรือ ซึ่งกำลังประดิษฐานหลวงพ่อโตจำลองผู้ศรัทธากำลังโยนบัวไปยังเรือ ซึ่งกำลังประดิษฐานหลวงพ่อโตจำลอง

อดีตในคลองสำโรงช่วง อ. บางพลี มีบัวหลวงอยู่มาก เมื่อใกล้งานบุญวันออกพรรษา คนในละแวกใกล้เคียงจะพากันมาเก็บดอกบัวไปไหว้พระ ชาวบางพลีเห็นดังนั้นบ่อยครั้งเข้า ด้วยความมีน้ำใจจึงไปหาเก็บดอกบัวไว้ให้ ส่งและรับบัวกันมือต่อมือ จนกลายเป็นประเพณีในเวลาต่อมา

คลองสำโรงขุดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา มีความยาวประมาณ 80 กม. แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต. สำโรงใต้ อ. พระประแดง ผ่าน อ. บางพลีและอีกหลายอำเภอของสมุทรปราการ จนไปสิ้นสุดที่ท่าสะอ้าน อ. บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา

ในอดีตวัน “รับบัว” คือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 (ราวเดือน ต.ค.) ในช่วงเช้า แต่คนต่างถิ่นจะพายเรือมาตามลำคลองสำโรงตั้งแต่เย็นวันขึ้น 13 ค่ำ ขณะพายเรือก็ร้องรำทำเพลงเล่นดนตรีไปด้วย ทั่วทั้งท้องน้ำจึงมีบรรยากาศครื้นเครง จนถึงยามเช้าก็ได้เวลาพายเรือไปรับบัวเพื่อนำกลับไปบูชาพระยังท้องถิ่นของตน

ประเพณีรับบัวเลือนหายไปตามกาลเวลา กระทั่งสมัยที่นายชื้น วรศิริ เป็นนายอำเภอ อ. บางพลี ช่วงปี พ.ศ. 2478-2481 ได้รื้อฟื้นประเพณีรับบัวขึ้นมาใหม่ ครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากเดิม คือมีการประกวดเรือสวยงาม โดยทำรูปหลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ในที่ชาวบางพลีให้ความเคารพนับถือประดิษฐานไว้ในเรือด้วย ทางราชการได้ความคิดจากจุดนี้ จึงอัญเชิญหลวงพ่อโตองค์จำลองประดิษฐานบนเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้นมัสการด้วยการโยนดอกบัวไปยังเรือนั้น ประเพณี “รับบัว” จึงเปลี่ยนเป็น “โยนบัว” ในเวลาต่อมา

“ครบถ้วนทั่วอุตสาหกรรม”

ด้วยตำแหน่งที่อยู่ตรงศูนย์กลางของประเทศ มีเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สะดวกและรวดเร็ว จ. สมุทรปราการจึงมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่มากเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ

ข้อมูลสถิติของสำนักงานอุตสาหกรรม จ. สมุทรปราการ ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรปราการมากกว่า 6,000 โรง มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ถึงสองแห่ง คือนิคมอุตสาหกรรมบางปูและนิคมอุตสาหกรรมบางพลี และไม่มีอำเภอไหนในสมุทรปราการที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม อ. เมืองมีโรงงานมากที่สุด โดยมี 1,876 โรง อ. บางบ่อมีน้อยที่สุด คือมี 213 โรง เนื่องจากอำเภอนี้เป็นเขตเกษตรกรรมเลี้ยงปลาสลิดอันเลื่องชื่อของจังหวัด อุตสาหกรรมในโรงงานเหล่านี้มีหลากหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมผลิตอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น

จ. สมุทรปราการมีเส้นทางสำหรับลำเลียงสินค้าครบทุกทาง ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ ทางอากาศมีสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในเขต อ. บางพลี ทางบกมี ถ. วงแหวนอุตสาหกรรมซึ่งเชื่อมต่อกับภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังใน จ. ชลบุรี ทางน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สะดวกและค่าใช้จ่ายไม่สูง ด้วยปัจจัยส่งเสริมดังนี้ สมุทรปราการจึงเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook