ชมฮูปแต้ม "สินไซ"สุดยอดวรรณกรรมแดนอีสาน

ชมฮูปแต้ม "สินไซ"สุดยอดวรรณกรรมแดนอีสาน

ชมฮูปแต้ม "สินไซ"สุดยอดวรรณกรรมแดนอีสาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนคงคุ้นเคยกับภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามอ่อนช้อยที่ปรากฏอยู่ภายในโบสถ์วิหาร ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดก แล้วถ้าบอกว่าเราจะชวนไปดู "ฮูปแต้ม" คุณนึกออกไหมว่าคืออะไร

"ฮูปแต้ม" หรือ รูปแต้ม คือ จิตรกรรมฝาผนังของชาวอีสานที่นอกจากปรากฏบนผนังภายในสิมหรือโบสถ์แล้ว ช่างยังแต้มหรือวาดที่ผนังภายนอกสิม เนื่องจากสิมมีขนาดเล็ก ช่างแต้มไม่สามารถวาดได้จบเรื่อง จึงต้องวาดบนผนังภายนอกสิมด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องดีเพราะผู้ที่ไม่สามารถเข้าไปร่วมพิธีในสิม โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตามขนบอีสานไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในสิมซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบกิจของสงฆ์ จะได้มีโอกาสเรียนรู้หลักธรรมคำสอนจากฮูปแต้มภายนอกสิม

ฮูปแต้มมักเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนาหรือนิทานพื้นบ้านที่มุ่งเพาะบ่มขัดเกลาจิตใจ เรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากคนอีสานและช่างแต้มในแถบอีสานตอนล่างได้แก่ จ. ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด คือเรื่อง สินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย ดังเช่นฮูปแต้มที่สิมวัดไชยศรี อ. เมือง และฮูปแต้มที่สิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม อ. บ้านไผ่ จ. ขอนแก่น ฮูปแต้มที่สิมสองแห่งนี้เป็นฝีมือช่างพื้นบ้าน เขียนได้สนุกสนาน โดยเฉพาะที่วัดสนวนวารีฯ นั้นมีแผ่นป้ายข้อมูลประกอบการชมและเข้าชมได้อย่างสะดวกสบาย


ทำไมต้องเป็นเรื่อง สินไซ??

ภาคอีสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-23 อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรของชนชาติลาวแถบลุ่มน้ำโขง ต่อมาภายหลัง แม้สูญเสียเอกราชให้แก่สยาม แต่วัฒนธรรมทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี ยังคงมีอิทธิพลต่อคนในภาคอีสาน อีกทั้งคนอีสานในหลายพื้นที่ก็สืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบางของล้านช้าง

สินไซ เปรียบเสมือนมรดกทางวรรณกรรมอันล้ำค่าของชาวล้านช้าง เป็นวรรณกรรมเก่าแก่ซึ่งเดิมเป็นหนังสือเทศน์ แต่งเป็นคำกลอนโดยท้าวปางคำใน พ.ศ. 2192 ต่อมามีการพิมพ์เป็นภาษาไทยและลาวอย่างกว้างขวาง วรรณกรรมเรื่องนี้นอกจากมีความงดงามทางภาษาแล้ว เนื้อหายังสนุกสนานน่าติดตามด้วยการผจญภัย "หกย่านน้ำ เก้าด่านมหาภัย" ของสินไซ ทั้งยังสอดแทรกเรื่องคุณธรรมหลายอย่าง คนอีสานส่วนใหญ่เชื่อว่า สินไซเป็นอดีตชาติของพระพุทธเจ้า โดยเป็นแบบปัญญาสชาดกหรือชาดกนอกนิบาต จึงไม่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก

ขอขอบคุณ : อาจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น เอื้อเฟื้อข้อมูล


นิทานพื้นบ้าน สินไซ หรือ สังข์ศิลป์ชัย

นิทานพื้นบ้านแดนอีสานเรื่องนี้เริ่มจากพระนางสุมณฑา พระขนิษฐาของท้าวกุศราชผู้ครองเมืองเป็งจาล ถูกท้าวกุมภัณฑ์แห่งเมืองอโนราชลักพาตัวไป ท้าวกุศราชจึงออกตามหาพระขนิษฐา ระหว่างทางพบหญิงงามและได้พวกนางเป็นมเหสีอีก 7 องค์ นอกเหนือจากที่มีพระนางจันทาเป็นมเหสีเอกอยู่แล้ว

เมื่อมเหสีทั้งแปดตั้งครรภ์ โหรหลวงทำนายว่าจะมีผู้มีบุญญาธิการมาเกิดในครรภ์ของมเหสี 2 องค์ คือ พระนางจันทาและพระนางลุน มเหสีองค์อื่นริษยาจึงวางแผนให้สินบนโหรหลวงเพื่อกลับคำทำนาย ทั้งทำเสน่ห์ยาแฝดให้ท้าวกุศราชลุ่มหลง

พระนางลุนคลอดโอรส 2 องค์ องค์แรกเป็นหอยสังข์ พระนามว่าสังข์ องค์ที่ 2 เป็นมนุษย์ถือดาบและศรศิลป์ออกมาด้วย พระนามว่าสินไซ (ศิลป์ชัย) ส่วนพระนางจันทาคลอดโอรสเป็นคชสีห์ หัวเป็นช้าง ตัวเป็นราชสีห์ พระนามว่าสีหราช หรือสีโหที่คนขอนแก่นนิยมเรียกขาน ต่อมาโอรสทั้งสามมีวิชาอาคมแก่กล้าเรียกเนื้อเรียกปลาได้

ท้าวกุศราชทรงอับอายที่มเหสีมีประสูติการประหลาด จึงเนรเทศทั้งสองพระนางและโอรสออกจากเมือง พระอินทร์ล่วงรู้ก็เนรมิตปราสาทกลางป่าให้เป็นที่พำนัก

กาลผ่านไปท้าวกุศราชยังคงตามหาพระขนิษฐาไม่พบ จึงโปรดให้โอรสอีก 6 องค์ไปร่ำเรียนวิชาเพื่อจะได้ช่วยตามหา แต่ทั้งหกกลับไม่ใส่ใจศึกษา เป็นเหตุให้ต้องวางอุบายเพื่อโกหกพระบิดา

บังเอิญโอรสทั้งหกได้พบกับสีหราช สังข์ และสินไซ และรู้ว่าเป็นพี่น้องร่วมบิดา ก็วางอุบายว่าท้าวกุศราชให้ออกมาตามกลับเมืองและโปรดให้ทั้งสามเรียกฝูงสัตว์น้อยใหญ่เข้าไปในเมืองด้วย แต่เมื่อโอรสทั้งหกพบพระบิดาก็หลอกว่าฝูงสัตว์นั้นเกิดจากอาคมของพวกตน ท้าวกุศราชหลงเชื่อ จึงให้ทั้งหกออกช่วยตามหาพระขนิษฐา

โอรสทั้งหกออกมาบอกสินไซที่รออยู่นอกเมืองว่า พระบิดาเชื่อแล้วว่าพวกสินไซยังมีชีวิตอยู่และให้ออกตามหาพระนางสุมณฑา ระหว่างทางพบอุปสรรคต่างๆ นานา เช่น พบงูซวงงูตัวใหญ่ยาวพ่นพิษเป็นไฟ สินไซก็ฟันขาดเป็นสองท่อน พบแม่น้ำกว้าง 1 โยชน์ สินไซกับสังข์ก็เดินทางข้ามไป ให้สีหราชอยู่เฝ้าน้องทั้งหก สังข์กับสินไซฝ่าอันตรายไปอีก 8 ด่านจนถึงเมืองอโนราชและฆ่าท้าวกุมภัณฑ์ได้ พาพระนางสุมณฑาและธิดาคือนางสีดาจันกลับเมืองเป็งจาล

สังข์กับสีหราชกลับไปหาพระมารดา ส่วนสินไซพาพระนางสุมณฑากลับเมือง ระหว่างทางโอรสทั้งหกผลักสินไซตกเหว แต่พระนางสุมณฑาไม่เชื่อว่าสินไซสิ้นพระชนม์ จึงนำของ 3 สิ่ง คือ ปิ่น ซ้องประดับผม และสไบ ซ่อนไว้ที่หน้าผา พร้อมอธิษฐานว่า ถ้าสินไซยังมีชีวิต ขอให้มีผู้นำสิ่งของเหล่านี้กลับมาคืนพระนาง

สินไซไม่สิ้นพระชนม์เพราะพระอินทร์ช่วยเหลือ พระนางสุมณฑาเมื่อพบท้าวกุศราชก็เล่าเหตุการณ์ที่โอรสทั้งหกกำจัดสินไซให้ฟัง แต่ท้าวกุศราชไม่เชื่อ พระอินทร์จึงดลใจให้คนเดินเรือสำเภาเก็บของเสี่ยงทาย 3 สิ่งไปให้ท้าวกุศราช พระองค์จึงเชื่อพระขนิษฐาและสำเร็จโทษโอรสและมเหสีทั้งหกรวมถึงโหรและหมอเสน่ห์ แล้วเชิญพระนางจันทา พระนางลุน และสามโอรสกลับเมือง ทั้งโปรดให้สินไซครองเมืองเป็งจาลสืบไป

นอกจากเนื้อหาที่สนุกสนาน ตื่นเต้น มีครบทุกรสแล้ว สินไซ ยังให้แง่คิดหลายประการ เช่น การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การไม่เอาเปรียบ ไม่โกรธแค้น และที่โดดเด่นคือความกตัญญูรู้คุณบิดามารดาอันจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ตน

เรื่อง : มธุกร ทองโสภา / ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ชมฮูปแต้ม "สินไซ"สุดยอดวรรณกรรมแดนอีสาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook