แอ๋วนครพิงค์ สักการะพระธาตุเจดีย์หลวง

แอ๋วนครพิงค์ สักการะพระธาตุเจดีย์หลวง

แอ๋วนครพิงค์ สักการะพระธาตุเจดีย์หลวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันหยุดสุดสัปดาห์ทั้งที ก็เลยถือโอกาสเดินทางไปสัมผัส นครพิงค์ เพื่อสักการะพระธาตุเจดีย์หลวง ขึ้นดอยสุเทพ

วัดเจดีย์หลวง หรือ "โชติการาม" หรือ "ราชกูฏา" หรือ "กุฏาราม" ก็เรียก เป็นวัดที่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง

โบราณวัตถุสถานที่สำคัญภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวง

1. พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นพระธาตุเก่าแก่ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1934 สมัยพระเจ้าแสน เมืองมา นับเป็นพระธาตุที่มีความสูงใหญ่ที่สุดในอาณาจักรล้านนา คือ ประมาณ 80 เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 60 เมตร ปัจจุบันมีอายุกว่า 600 ปี

2. พระวิหาร พระอุโบสถ พระวิหารหลวง หรือพระวิหารกลาง ปัจจุบันเป็นทั้งพระอุโบสถ ด้วย ตั้งอยู่ห่างพระธาตุเจดีย์หลวงประมาณ 15.84 เมตร ไปทางทิศตะวันออก เป็นสถาปัตยกรรมทรงล้านนาประยุกต์ ส่วนอุโสถหลังเก่าศิลปะแบบล้านนาดั้งเดิมที่อยู่หลังวัด ด้านตะวันตกขององค์เจดีย์หลวงได้เลิกใช้งานตั้งแต่ปี 2522 เพราะคับแคบเกินไป วิหารที่วัดเจดีย์หลวงนี้หลังแรกซึ่งสร้างครั้งแรกโดยพระนางติโลกจุฑา พระราชมารดาของพระเจ้าสามฝั่งแกนเมื่อปี พ.ศ.1954 พร้อมทั้งได้หล่อพระอัฏฐารสพุทธปฏิมาประธานและพระอัครสาวกโมคคัลลาน์ สารีบุตร ไว้ในพระวิหาร ต่อมาในปี พ.ศ.2017 พระเจ้าติโลกราชให้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างวิหารหลังใหม่ มีขนาดกว้าง 9 วา ยาว 19 วา ขึ้นแทนมาในปี พ.ศ.2058 พระเมืองแก้วให้รื้อวิหารหลังเก่าแล้วสร้างขึ้นใหม่ในที่เก่าอีก ครั้นถึงสมัยพระเมกุฏิสุทธิวงศ์ไฟได้ไหม้วิหารเสียหายจึงต้องรื้อแล้วสร้างใหม่ทับที่เดิมอีกครั้ง

ต่อมาในยุคเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ราชวงศ์ทิพจักร ได้ รื้อวิหารหลังเดิม แล้วสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นที่เดิมอีก ซึ่งวิหารในยุคก่อน ๆ นั้นคงสร้างด้วยไม้ จึงมีการสร้างและรื้อถอนกันได้บ่อย ๆ ส่วนวิหารหลังปัจจุบันได้รับการสร้างขึ้นใหม่ในยุคเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 โดยสร้างขึ้นหลังปี พ.ศ.2471

3. พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปั้นขนาดใหญ่ปางห้ามญาติ สูง 18 ศอก หล่อด้วยทองสำริด มีพระอัครสาวก โมคคัลลาน์ สารีบุตร สร้างโดยพระนางติโลกะจุดา(ติโลกจุฑา) นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ หลายขนาดอีกจำนวนมากประดิษฐานอยู่รายล้อมพระอัฏฐารส +++

4. พระนอน หรือ พระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่คู่กับพระเจดีย์ แต่ไม่ปรากฏว่า สร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง พระนอนองค์นี้สร้างด้วยอิฐฉาบปูนปิดทอง เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2536 ได้บูรณะใหม่ทาสีทองสำเร็จแทน มีพุทธลักษณ์สวยงามมาก หันเศียรสู่ทิศใต้ พระพักตร์หันเข้าหาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง สูง 1.93 เมตร ยาว 8.70 เมตร อยู่ห่างจากพระเจดีย์หลวงไปทางทิศตะวันตก

5. เจดีย์ขนาดเล็ก เป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมแบบเชียงใหม่ มีอยู่ 2 องค์ ตั้งอยู่กระหนาบ พระวิหารด้านเหนือและด้านใต้ เยื้องไปทางด้านหน้าของวิหารหลวง

6. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของเจดีย์หลวงและวิหาร เป็นพระอุโบสถขนาดเล็ก แบบพื้นเมืองเชียงใหม่ ก่ออิฐฉาบปูน

7. เสาอินทขีล เชื่อกันว่าเป็นหลักเมืองเชียงใหม่ เดิมอยู่ที่วัดสะดือเมือง (วัดอินทขีล หรือวัดสะดือเมือง ข้างศาลากลางหลังเก่า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหอประชุมติโลกราช พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 1 (พ.ศ.2324 - 2358) ในราชวงศ์ทิพจักร โปรดให้ย้ายเสาอินทขีล จากวัดสะดือเมือง มาไว้ ณ วัดเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ.2343

8. บ่อเปิง เป็นบ่อน้ำใหญ่ ลึก ก่อด้วยอิฐกันดินพังไว้อย่างดี คำว่า "เปิง" แปลว่า คู่ควร-เหมาะสม เป็นบ่อใหญ่สมกับที่ขุดขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงซึ่งในสมัยที่พระเจ้าติโลกราช ทรงสร้างเสริม พระธาตุเจดีย์หลวง (พ.ศ.2022 - 2024) นั้น ทั่วทั้งวัดเจดีย์หลวงมีบ่อน้ำถึง 12 บ่อ ต่อมาถูกถมไปเพื่อเอาพื้นที่สร้างถาวรวัตถุ

9. พระมหาสังกัจจายน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลังเล็ก อยู่ห่างจากพระธาตุเจดีย์ไปทาง ทิศเหนือ เชื่อว่ามีความเก่าแก่พอ ๆ กับพระนอน ปัจจุบันพระสังกัจจายน์มี 2 องค์ องค์ใหม่อยู่ด้านหน้าวัด ติดกับวัดพันเตา สร้างเมื่อประมาณ 30 กว่าปีมานี้เอง

10. ต้นยางใหญ่ในวัดเจดีย์หลวงมีต้นยางใหญ่ 3 ต้น กล่าวกันว่าอายุกว่า 200 ปี

11. กุมภัณฑ์ มีอยู่ 2 ตน สร้างไว้เพื่อให้คอยรักษาเสาอินทขีล ตนหนึ่งอยู่ด้านหน้าวัด

12. หอธรรม เมื่อปี พ.ศ.2017 พระเจ้าติโลกราช ได้ทรงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นใหม่ พร้อมทั้งให้สร้างหอธรรม (หอพระไตรปิฏก) ไว้ทางด้านเหนือขององค์พระธาตุเจดีย์

13. กุฏิแก้วนวรัฐ เป็นกุฏิหลังแรกของวัด สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เจ้าแก้วนวรัฐสร้างถวาย เมื่อปี พ.ศ.2471 วัดเจดีย์หลวงทางกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2503

แอ๋วนครพิงค์ สักการะพระธาตุเจดีย์หลวง ขึ้นดอยสุเทพ

เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์มาถึง.......ผู้เขียน รีบตื่นแต่เช้ามืดพร้อมด้วยกระเป๋าสะพายคู่ใจที่มีอุปกรณ์สารพัดอย่างที่พร้อมบันทึกการเดินทาง อรุณสวัสดิ์ยามเช้ากับอากาศที่สดชื่นเย็นสบายออกเดินทางมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ด้วยรถโดยสารสองแถวคันเล็ก ขอบอกว่าสนุกและตื่นเต้นมากพบผู้คนที่หลากหลาย ทั้งภาษาเมือง ภาษาท้องถิ่น ฟังออกบ้างไม่ออกบ้างก็พยายามเดากันไป

ถึงกาดหลวงแต่เช้า ต่อด้วยรถรอบเมืองสีแดงในเชียงใหม่ ผู้เขียนฝึกพูดมาอย่างดี ซาวบาทกะเจ้า...รถรอบเมืองในเชียงใหม่ ใกล้ไกลแค่ไหน ก็ 20 บาท ถามเค้าก่อนนะคะว่าจะไปส่งเราถึงจุดมุ่งหมายได้หรือไม่

มาถึงเมืองนครพิงค์ อันดับแรกคือการได้เข้าสักการะ พระธาตุเจดีย์หลวง หรือเรียกชื่อว่า วัดโชติการาม ฟังแล้วรู้สึกดีจังเลยที่ชื่อตัวเองคล้องกับชื่อวัดนับว่าเป็นสิริมงคลยิ่งนัก นอกจากชื่อนี้แล้วยังมีชื่ออื่นอีก คือ ราชกูฏา, กฏาราม ที่ผู้ขียนให้ความสำคัญกับวัดแห่งนี้เป็นอย่างมาก เพราะในอดีตเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เรียกว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมืองเชียงใหม่ แม้ในปัจจุบันวัดนี้ก็ยังตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเชียงใหม่อยู่เช่นเดิม

ก้าวเดินเข้าสู่ภายในวัดจะพบกับเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านด้วยความสง่างาม สมคุณค่ากับอายุที่ผ่านมาแล้ว 620 ปี ถึงแม้จะมีร่องรอยของการชำรุดที่ผ่านไปตามกาลเวลา

แต่ยังคงมีพุทธศาสนิกชนให้ความศรัทธามิขาดสาย ภายในพระวิหาร ยังคงมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติหล่อด้วยทองสำริด ขนาดใหญ่ ส่วนพระอุโบสถ และหอพระไตรปิฏก ก็มีความงดงามตามแบบฉบับล้านนา ที่ฝีมือประณีตวิจิตรศิลปะเกินเหนือคำบรรยาย

ออกจากวัดแล้วยังสถานที่ท่องเที่ยวในใจที่ผู้เขียนอยากไปเที่ยวต่อ ส่วนจะเป็นที่ไหนนั้นติดตาม ตะลุยเที่ยวเมืองเชียงใหม่กับโชติกา ได้ที่นี้อีกหลายตอนคะ แต่วันนี้นั่งดูภาพสวยภายในวัดโชติการาม กันไปก่อนนะคะ


พาเที่ยวไปกับ....โชติกา วีรนะ

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ แอ๋วนครพิงค์ สักการะพระธาตุเจดีย์หลวง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook