เยือนตึกเก่าสไตล์บารอค “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร”
ตึกสีเหลืองสด ตัดกับสีเขียวของต้นไม้บริเวณโดยรอบ บวกกับความสวยงามทางสถาปัตยกรรมที่มีอายุกว่า 100 ปี เสน่ห์มนต์ขลังของตึกที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทย ด้วยการดำรงเรื่องของการแพทย์แผนไทย ยาสมุนไพรไทยเก่าแก่ที่นอนนิ่งอยู่ในเก๊ะยาโบราณ กลิ่นน้ำมันไพลที่ลอยอยู่ทั่วตึก ภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรียงรายอยู่มากมาย ความอบอุ่นของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เมื่อเดินเข้าไปด้านในแล้ว มีความรู้สึกว่า ตึกเก่านี้ยังมีชีวิต
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร - ร้านยาไทยต้นแบบโพธิ์เงิน-อภัยภูเบศร โอสถ
สิ่งที่ดึงดูดให้ฉันเดินทางมาที่จังหวัดปราจีนบุรี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอยากมาเห็น มาสัมผัส และมาทำความรู้จักกับตึกเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมสไตล์บารอค รวมทั้งเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพรไทย พร้อมชมร้านขายยาโบราณ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 60 ปี ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สถานที่ตั้งของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย ทั้งเจ้าหน้าที่ประจำของโรงพยาบาล คุณหมอแผนปัจจุบัน คุณหมอแผนไทยประยุกต์ คนไข้ รวมทั้งนักท่องเที่ยว ที่เดินปะปนกันอยู่ภายในอาณาบริเวณของโรงพยาบาล ทำให้สถานที่แห่งนี้ดูไม่เงียบเหงาและหดหู่เหมือนโรงพยาบาลอื่นๆ
ฉันเดินมายังตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทางด้านขวาของโรงพยาบาล ผ่านประตูไม้โค้งสูง เข้าสู่ห้องโถงขนาดใหญ่ ที่มีชุดรับแขกลายดอกไม้สวยงามวางไว้กลางห้อง มีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิทยุโบราณ นาฬิกาตั้งพื้นโบราณที่ยังคงทำงานอยู่ทุกวัน เครื่องเสียงโบราณ มองที่พื้นก็ปูด้วยกระเบื้องลายสวยงาม พอเงยหน้ามองบนเพดาน ก็เห็นภาพเขียนสีปูนเปียกที่มีสีสันสวยงาม
ด้านซ้ายมือของห้องโถง เป็นประวัติเรื่องราวของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และห้องด้านหลังของโซนนี้จะเป็นห้องตรวจของแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร ซึ่งมีตู้โชว์อุปกรณ์บดยาโบราณและอุปกรณ์ปรุงยาโบราณให้ได้ชม เช่น ครกบดยา รางบดยา หินฝนยา ตำรายาไทย และมีส่วนสาธิตให้ได้เห็นอีกด้วย
ส่วนด้านขวามือ จะเป็นร้านยาไทยต้นแบบโพธิ์เงิน-อภัยภูเบศร โอสถ ซึ่งเป็นร้านยาของโรงพยาบาลที่ได้รับบริจาคตู้ยาโบราณมาจากร้านโพธิ์เงินโอสถ เครื่องหมายการค้า "ตรานางกินนร" ย่านตลาดพลู ที่มีความเก่าแก่และมีความชำนาญเรื่องยาสมุนไพรมาอย่างยาวนาน พร้อมได้รับตำราและเครื่องยาต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้จะมีเก๊ะยาโบราณขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์จ่ายยา มีตู้ยาตัวอย่างสมุนไพรแห้งตั้งอยู่กลางห้อง พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างยาสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ ไว้มากมาย ซึ่งร้านยาแห่งนี้ยังคงเป็นสถานที่จ่ายยาลูกกลอน ยาต้ม และยาแค็ปซูลสมุนไพรที่ผลิตจากโรงงานของที่นี่ สำหรับการรักษาแบบแพทย์แผนไทยประยุกต์ จะมีแพทย์เฉพาะทางดูแลอย่างใกล้ชิด จากนั้นเดินขึ้นบันไดไม้วน ไปยังชั้น 2 ซึ่งมีห้องที่แสดงภาพถ่ายเก่าจำนวนมากให้ชม
เดินลงมาด้านล่าง เจ้าหน้าที่บอกว่า ด้านหลังของตึก มีสวนสมุนไพรให้ชมด้วย ซึ่งเป็นสวนสมุนไพรขนาดย่อมๆ ร่มรื่นไปด้วยไม้ใหญ่และสมุนไพรนานาชนิด ที่มีชื่อเรียกไม่คุ้นหูหลายต้น กลางสวนมีบ่อน้ำพุให้ความสดชื่น มีชุดโต๊ะเก้าอี้ดัดสีขาวให้นั่งกินลมชมสมุนไพร จิบน้ำสมุนไพรอย่าง น้ำดอกอัญชันเย็น กับบรรยากาศยามบ่าย แดดร้อน แต่มีลมเย็นเอื่อยๆ ชวนหลับมาก
นวดแผนไทยอภัยภูเบศร
หลังจากที่อ้อยอิ่งอยู่ในสวน และเดินชมตึกทุกซอกทุกมุมจนเมื่อยขาแล้ว ก็แวะมานวดตัวที่งานแพทย์แผนไทย พอเปิดประตูเข้าไปด้านใน กลิ่นน้ำมันไพล กลิ่นยาหม่องหอมๆ และกลิ่นสมุนไพรมากมายลอยมาเตะจมูก รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ห้องนวดต่างๆ แบ่งเป็นสัดส่วนอย่างสะอาด มีแพทย์แผนไทยประยุกต์ดูแลอย่างใกล้ชิด แถมไม่ต้องกังวลเรื่องการนวดจะไม่ถูกต้อง เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนจบหลักสูตรการนวด 430 ชั่วโมง และขั้นกว่ามาแล้วทั้งสิ้น ฉันเลือกนวดตัว เพราะดูท่าแล้วไหล่กับต้นคอตึงๆ จนแข็ง ต้องได้รับการบีบนวดอย่างถูกต้อง อาการเมื่อยล้าคงดีขึ้น ซึ่งก็ดีขึ้นจริงๆ สบายตัวมากๆ กับการนวดที่ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ก็เสร็จสิ้นการนวดตัว ตัวเบาๆ สบายๆ อย่างบอกไม่ถูก พร้อมลุยทำงานอีกครั้ง
หมู่บ้านดงบัง
ก่อนที่จะกลับกรุงเทพฯ อดไม่ได้ที่จะแวะไปหมู่บ้านดงบัง แค่ชื่อก็อินเทรนด์แล้ว ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในอ.เมือง จ.ปราจีนบุรีนี่เอง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็น "หมู่บ้านสมุนไพร" แห่งหนึ่งที่ปลูกสมุนไพรสำหรับการทำยาแบบเกษตรอินทรีย์ คือ ไม่ใช่สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังมีแนวคิดอยู่อย่างพอเพียง
เราแวะไปชมการปลูกสมุนไพรแบบเกษตรอินทรีย์ ชมโรงตากแห้งแบบชาวบ้าน ดูคุณป้านั่งปลูกต้นไม้จำหน่ายภายในหมู่บ้าน ซึ่งมีให้เลือกหลายชนิด ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก แต่ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกหญ้าปักกิ่ง ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ เสลดพังพอน ที่นำไปทำเป็นยารักษาโรคต่างๆ ได้ และวัตถุดิบต่างๆ เหล่านี้จะถูกส่งไปจำหน่ายยังมูลนิธิโรงพยาบาลอภัยภูเบศร สร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้าน ครอบครัวละหลักหมื่นบาทต่อเดือนเลยทีเดียว นับว่าเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรที่สามารถรองรับผู้ศึกษาดูงานที่มาเป็นคณะได้ด้วย ทั้งยังเปิดเป็นโฮมสเตย์ให้มานอนท่ามกลางสวนสมุนไพรอีกด้วย
วันนี้เราโชคดีได้กินผักทอด แอบเรียกว่า "ใบไม้ทอด" ที่เด็ดจากสวนนำไปล้างให้สะอาด แล้วชุบแป้งทอด กรุบกรอบ เคี้ยวเพลินดีเหมือนกัน ตามด้วยน้ำสมุนไพรสีแดงสด อย่างน้ำฝาง หอมและหวานกำลังดี มาลดความเลี่ยนของผักทอดได้เป็นอย่างดี การมาเที่ยวชมที่นี่ถือว่าเป็นการปิด One day Trip แบบครบเครื่องเรื่องสมุนไพรจริงๆ
บอกลาจ.ปราจีนบุรี ด้วยของฝากแบบสมุนไพร ที่นำไปฝากคนที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นสบู่สมุนไพร ผงขัดหน้าขมิ้น น้ำตะไคร้ไล่ยุง ชาชงสมุนไพร ยาสมุนไพรบำรุงร่างกาย และผักปลอดสารพิษอีกถุงใหญ่ พร้อมภาพถ่ายตึกสวยๆ อีกชุดใหญ่ให้คนที่ไม่ได้ไปอิจฉาเล่น
ข้อมูลท่องเที่ยว
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร : ไม่เสียค่าเข้าชม สามารถไปได้ทุกวัน เปิดตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.
โทร. 0 3721 2716
หมู่บ้านดงบัง : หมู่คณะเสียค่าวิทยากรและค่าศึกษาดูงาน โทร. 089 269 2643
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพ : นวมินทร์ กุลประดิษฐ์
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)