ปั่นจักรยานเล่าเรื่องเมืองกรุงฯ
เพราะความอิจฉาประเทศต่าง ๆ อย่างญี่ปุ่น เกาหลี อเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ที่บ้านเขามีทางจักรยานและคนก็ปั่นจักรยานกันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะปั่นไปทำงานไปเที่ยว ไปกินข้าวไปดูหนัง...พอหันมามองเมืองไทย มีแต่คนบอกว่ากรุงเทพฯ ไม่เหมาะกับการปั่นจักรยาน ฉันน่ะไม่เชื่อกับคำพูดนี้ จึงอยากลองไปปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ ดูบ้าง...
ฉันเริ่มต้นที่ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เพราะที่นี่มีจักรยานให้คุณได้ยืมไปปั่นฟรี จักรยานที่นี่สภาพดีมาก ๆ ค่ะ ถือว่าเป็นการทุ่มงบของกทม. ที่ไม่เสียเปล่าเลย พนักงานของที่นี่ก็น่ารักให้ข้อมูลเราอย่างดีมาก การยืมจักรยานไม่ต้องยุ่งยากใช้แค่บัตรประชาชน 1 ใบ แล้วกรอกรายละเอียดในใบยืม เจ้าหน้าที่ก็จะเอากล้องมาถ่ายบัตร โดยไม่ได้เก็บบัตรของเราเอาไว้ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ยื่นเพียงพาสปอร์ต หลังจากนั้นไปเลือกจักรยานที่ถูกใจ เจ้าหน้าที่ก็จะถ่ายรูปเรากับจักรยานเอาไว้ เป็นขั้นตอนที่รัดกุมแต่สะดวกมาก ๆ แล้วก็เอาจักรยานไปปั่นได้เลยโดยบนรถจักรยานทุกคันเขาก็จะมีแผนที่บอกเส้นทางปั่นดูสถานที่สำคัญต่าง ๆ แต่สำหรับฉันขอเลือกเส้นทางที่อาจจะไม่ได้ปรากฏบนหนังสือท่องเที่ยวทั่วไป แต่เป็นเส้นทางที่จะทำให้ฉันได้เรียนรู้กรุงเทพฯ ได้อย่างดีเลยค่ะ
จากเสาชิงช้า เราปั่นไปตามถนนบำรุงเมืองมุ่งหน้าไปทางแยกสำราญราษฎร์ เมื่อข้ามสะพานสมมติอมรมารค เราก็จะเห็นป้ายทางขวามือเขียนว่า ชุมชนบ้านบาตร ก็ปั่นข้ามถนนเลี้ยวเข้าซอยไปเลยค่ะ คุณก็จะพบกับชุมชนบ้านบาตร ชุมชนเก่าแก่ที่สืบทอดอาชีพการตีบาตรมาถึง 200 ปี ภาพคุณลุงคุณป้ากำลังนั่งทำบาตรด้วยมือเป็นภาพที่ฉันไม่คิดว่าจะเห็นในกรุงเทพมหานคร พี่ ๆ ชาวชุมชนก็น่ารักให้ความรู้เราอย่างเต็มใจ พี่ ๆ บอกกับเราว่า คนที่ทำบาตรจะต้องมีใจรัก ความศรัทธา และความอดทน ทำให้ปัจจุบันคนที่ตีบาตรเริ่มลดจำนวนลง แต่ทางชุมชนก็พยายามถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่จึงมีคำกล่าวว่า เด็กบ้านบาตรทุกคนจะต้องมีบาตรเป็นของตัวเอง เพื่อให้เด็ก ๆ รักและหวงแหนความรู้ของปู่ย่าตายายไม่ให้เลือนหายไป
จากบ้านบาตร เราปั่นจักรยานไปต่อที่ ตรอกเซี่ยงไฮ้ ในชุมชนวัดสระเกศ คนแถวนี้เขาเรียกกันว่า ตรอกโลงศพ เพราะที่นี่เขาขึ้นชื่อเรื่องโลงศพ มีทั้งแบบไทย แบบจีน แบบฝรั่งใครอยากจะมาจับจองไว้ก่อนก็เชิญได้เลยนะคะ ที่นี่เขาไม่ห้าม แต่สำหรับฉันขอแค่ดูเฉย ๆ ละกัน เพราะยังไม่อยากมีเป็นของตัวเอง บรรยากาศที่นี่ก็ดูแปลกตา เพราะผสมผสานศิลปะทั้งไทยและจีน อย่างเช่นป้ายทางเข้าตรอกเซี่ยงไฮ้ และห้องแถวเก่า ๆ ที่ขับให้บรรยากาศยิ่งคลาสสิค แม้จะมีกลิ่นอายของความตายจากโลงศพที่วางอยู่แต่ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกกลัวเลยค่ะ เมื่อได้ชมบรรยากาศสุดคลาสสิคของตรอกเซี่ยงไฮ้กันแล้ว เราก็ปั่นมาที่ ชุมชนสิตาราม ซึ่งที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องศิลปะการละคร และยังมีโบสถ์คู่เก่าแก่ สมัยรัชกาลที่ 2 ให้เราได้ไปยลในความงดงาม โชคดีที่วันนี้มีการฝึกซ้อมการรำและการเล่นโขนของเด็ก ๆ ในชุมชน เราจึงได้เห็นภาพของเด็ก ๆ ตัวเล็กตัวน้อยนุ่งโจงกระเบนสีแดงมารำบริเวณหน้าโบสถ์เก่าแก่ ซึ่งครูสอนก็ไม่ใช่ใครเป็นบรรดาคุณลุงคุณป้าในชุมชนที่สืบทอดศิลปะการแสดงมาตั้งแต่โบราณ
บ่ายร่มลมตกเราปั่นต่อไปที่ ชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ที่นี่มีร้านกาแฟหน่ำเฮงหลี ร้านกาแฟโบราณที่อยู่มาถึง 70 ปี ภายในร้านยังคงสภาพเดิมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ และไฮไลท์คือ ตู้เย็นเก่ายี่ห้อ Kelvinator ที่เจ้าของร้านบอกเราว่าใช้มา 60 ปีแล้วยังไม่เคยเสียเลย กาแฟของที่นี่ก็เข้มข้น แต่สูตรเด็ดที่ต้องมาลองคือขนมปังปิ้งราดสังขยาที่ทางร้านเขาเคี่ยวเองถึง 4 ชั่วโมง เป็นสังขยาที่ไม่ใช้แป้ง ทำให้มีเนื้อเนียน หอม หวาน ส่วนด้านหลังร้านยังมีบ้านไม้สักทองโบราณอายุ 70 ปี ซึ่งทางเจ้าของร้านใจดีเปิดบ้านให้เราไปยลความสวยงาม ส่วนใครอยากมารู้ประวัติการพิมพ์แบบโบราณก็ไปเรียนรู้ที่รุ่งรัตน์การพิมพ์ ซึ่งมีเครื่องพิมพ์เก่าอายุ 40 กว่าปีที่ยังคงใช้ได้ดีมาถึงปัจจุบัน เปิดต้อนรับให้คนที่ถวิลหาความเก่ามาเยี่ยมเยียนได้
เราร่ำลาชาวชุมชนจักรพรรดิพงษ์ และมาเดินตามรอยอดีตนักแสดงชื่อดัง คุณมิตรชัย บัญชา ที่ชุมชนนางเลิ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่คุณมิตรเคยอาศัยและเป็นที่พักผ่อนสุดท้ายภายในวัดสุนทรธรรมทาน หรือวัดแคนางเลิ้ง ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของคุณมิตร และชุมชนแห่งนี้ยังเป็นที่รวมศิลปินมากมาย เช่น ที่ บ้านนราศิลป์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะนาฏศิลป์นราศิลป์ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่ปักสะดึงชุดละคร และทำชุดโขนอันงดงามปั่นกันมาทั้งวันความหิวก็เริ่มมาทักทาย เราเลือก ร้านครัวอัปษร ร้านอาหารไทยรสชาติจัดจ้านซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเป็นที่พักเหนื่อยและนั่งกินอาหารอร่อย ๆ เมนูเด็ดของที่นี่คือ ไข่เจียวฟูปู ไข่เจียวหนานุ่มที่มีเนื้อปูแบบจัดเต็ม และ แกงเหลืองไหลบัว รสชาติจัดจ้าน ตัวไหลบัวก็กรุบกรอบ กินกับข้าวสวยร้อน ๆ เป็นการปิดท้ายการเดินทางวันนี้อย่างมีความสุข
จากการเดินทางในวันนี้ฉันได้คำตอบกับคำถามตอนต้นที่ว่า "กรุงเทพฯ นั้นเหมาะกับการปั่นจักรยานไหม" ซึ่งคำตอบที่ฉันได้คือเหมาะ เพราะกรุงเทพฯ มีเรื่องราวมากมายที่การนั่งรถยนต์จะไม่ทำให้เราสามารถรับฟังเรื่องราวเหล่านั้นได้หมด แต่กระนั้นก็ต้องอยู่ที่หลายภาคส่วนจะร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐที่จะมาสนับสนุนอย่างจริงจัง ปรับปรุงเส้นทางต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการปั่น คนขับรถยนต์ก็ต้องเข้าใจและเอื้อเฟื้อเส้นทางกับนักปั่นเท่านี้เราก็สามารถประกาศได้แล้วว่ากรุงเทพฯ ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่ปั่นจักรยานได้ไม่แพ้โตเกียว โซล หรือนิวยอร์กเลยค่ะ