ชมขุนเขา เยื้องย่างกลางป่าทุ่งค่าย

ชมขุนเขา เยื้องย่างกลางป่าทุ่งค่าย

ชมขุนเขา เยื้องย่างกลางป่าทุ่งค่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมีเสียงบอกว่าจะพาไปเดินบนสะพานแขวนเรือนยอดไม้แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย หลายคนก็หันมาสนใจและกระตือรือร้นสะพานแขวนที่ว่านี้อยู่ใน สวนพฤกษศาสตร์สากลภาคใต้ (ทุ่งค่าย) หรือ สวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นสวนที่อนุรักษ์ผืนป่าอันกว้างขวางเกือบ 3,000 ไร่ไว้ ผืนป่านี้มีทั้งป่าดิบที่มีพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ ลำต้นสูงลิบลิ่ว ไปจนถึงป่าพรุในพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้รับการประกาศให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ในปี พ.ศ. 2536 ยุคที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี


ระหว่างทางจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวก่อนขึ้นสะพานแขวน เราได้เดินศึกษาป่าดิบชื้นซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของสวนพฤกษศาสตร์ฯ คือประมาณร้อยละ 61.5 ของพื้นที่ ในป่าดิบชื้นเราเห็นพันธุ์ไม้พื้นล่าง เช่น เฟิน เห็ด รา ขึ้นในที่ชื้นที่แทบไม่มีแสงแดดเล็ดลอดเข้าไปถึง เพราะมีพันธุ์ไม้อย่างเคี่ยม หูยาน พะยอม ปกคลุมอย่างหนาแน่น สะพานแขวนอยู่บนเส้นสลิงขนาดใหญ่ พาดผ่านบนเรือนยอดไม้เป็นระยะทางเกือบ 200 ม. ขณะเดินอยู่บนสะพานแขวนเสมือนกำลังก้าวย่างไปบนยอดไม้ที่สูงจากพื้นดินนับหลายสิบเมตร ได้ชมเรือนยอดไม้เขียวทึบอย่างป่าดิบชื้นเมืองใต้ ระหว่างแนวสะพานจะมีหอคอย 6 หอตั้งอยู่เป็นระยะๆ แต่ละหออยู่ที่ระดับความสูงต่างกันไป สูงที่สุดที่ 18 ม. นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปบนหอคอยเพื่อชมเรือนยอดไม้และดูนกได้ มีนกแต้วแล้วธรรมดา นกแซงแซว นกกะเต็น เป็นต้น หากโชคดีอาจได้เห็นสัตว์ป่าหายากอย่างพญากระรอกดำที่ในภาคใต้เรียกพะแมว เป็นสัตว์ในกลุ่มกระรอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในไทย มันจะกระโดดจากยอดไม้หนึ่งไปอีกยอดหนึ่งที่อยู่ไกลถึง 22 ฟุตได้ ถ้ามาในช่วงที่กล้วยไม้ป่าผลิดอก ก็จะได้พบความงามของกล้วยไม้ป่าหลากชนิดที่แต่งแต้มให้ป่ายิ่งงามน่าชม

ความประทับใจสุดๆ ในทริปเที่ยวชมธรรมชาติของเราครั้งนี้คือ การได้ชมดอกต้นหว้าที่บริเวณหอคอยที่ 4 ดอกเล็กๆ สีขาวนวลนั้นสะพรั่งเต็มต้น จากหอนี้หากมองไปยังหอคอยที่ ๕ จะเห็นต้นตะเคียนยักษ์ตั้งตระหง่านอยู่ ที่หอคอยที่ 5 เราได้พบสัจธรรมจากธรรมชาติของต้นไทร ต้นไทรเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่ามากมาย แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นฆาตกรเลือดเย็นสูบเลือดสูบเนื้อต้นไม้ใหญ่ที่มันเกาะอยู่จนไม้นั้นตายลงในที่สุด แล้วสะพานแขวนก็มาสิ้นสุดที่หอคอยที่ 6 ต้นหูยานขนาดใหญ่รออยู่ที่จุดนี้ หูยานต้นนี้แตกต่างจากหูยานทั่วไป เพราะลำต้นแยกออกเป็นห้ากิ่ง ขณะที่ต้นอื่นมีลำต้นเดียวไม่แตกแขนงลงจากสะพานแขวนเราก็เข้าสู่ดินแดนแห่งป่าพรุ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกว่า 1 กม. ถ้ามาเดินช่วงแดดร่มลมโชยจะน่ารื่นรมย์มาก นอกจากอากาศไม่ร้อนแล้วยังจะได้เห็นสิงสาราสัตว์กลับเข้าสู่รวงรังในช่วงเย็น

ป่าพรุเกิดในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีน้ำจืดท่วมขังตลอดทั้งปี และมีการสะสมของซากพืชและอินทรียวัตถุภายในสภาวะน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง พืชพรรณส่วนใหญ่จึงวิวัฒนาการส่วนของรากให้มีโครงสร้างพิเศษเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ ต้นไม้ขนาดใหญ่อย่างเทียะ กาแดะ อกกปลาช่อน หรือหว้าดิน มีพูพอนเป็นรากค้ำยันโดยยื่นออกนอกลำต้นบริเวณโคน แต่ต้นไม้บางชนิดก็มีระบบรากแก้วสั้น แต่รากแขนงจะแผ่กว้างอย่างแข็งแรง หรือมีระบบรากเสริมดังเช่นต้นตังหน ต้นขมิ้น ที่มีรากค้ำยันให้มั่นคงแข็งแรง ขณะที่ต้นสะเตียวและต้นเลือดควายใบใหญ่มีระบบรากหายใจโผล่ขึ้นมาเพื่อช่วยพยุงลำต้น บริเวณใกล้สุดเส้นทางป่าพรุมีของดีให้ดูคือหม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชเด่นอีกชนิดของป่าพรุ แต่ต้องตั้งใจมองหาสักหน่อยเพราะหญ้าขึ้นค่อนข้างรก ทั้งหากมองผ่านๆ มันจะดูกลืนไปกับหญ้าและพืชชนิดอื่นด้วย หม้อข้าวหม้อแกงลิงบริเวณนี้มีหลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กสีเขียวอ่อนไปจนถึงขนาดใหญ่สีชมพูและสีม่วง นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ดินอย่างยี่โถปีนังหรือหญ้าจิ้มฟันควายออกดอกน่ารักๆ แซมอยู่ตามพงหญ้าให้ชมเพลินตาด้วย

ระหว่างเดินทางกลับ ตามแนวไม้วงศ์ยางมีนกแซงแซวและนกอื่นอีกหลายชนิดบินอวดโฉมให้ดู จากนั้นก็มีเสียงส่งท้ายจากชะนีดังมาจากมุมหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์ฯ  สิ่งต่างๆ ประดามีที่ได้พบเห็นทำให้เรารู้สึกคุ้มเกินคุ้มสำหรับการเดินป่าครั้งนี้

เรื่อง : มธุกร ทองโสภา ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ชมขุนเขา เยื้องย่างกลางป่าทุ่งค่าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook