ตลาดสามชุกร้อยปี...ความทรงจำที่สีไม่เคยจาง
"สามชุก" ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2437 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เดิมชื่ออำเภอ "นางบวช" ตั้งอยู่บริเวณตำบลนางบวช ต่อมาในปี 2457 ต้นรัชกาลที่ 6 ได้ย้ายอำเภอมาตั้งที่บ้าน "สำเพ็ง" ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญในสมัยนั้น จนกระทั่งปี 2481 สมัยรัชกาลที่ 8 ได้เปลี่ยนชื่อจาก "อำเภอนางบวช" มาเป็น "อำเภอสามชุก" และย้ายมาตั้ง อยู่ริมลำน้ำสุพรรณบุรี (ท่าจีน) ซึ่งแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านคลอง มะขามเฒ่า แต่เดิมบริเวณที่ตั้งอำเภอสามชุกเรียกว่า "ท่ายาง" มีชาวบ้านนำของป่าจากทิศตะวันตกมาค้าขายให้กับพ่อค้าที่เป็นชาวเรือ บ้างก็มาจากทางเหนือ บ้างก็มาจากทางใต้ เป็น 3 สาย จึงเรียกบริเวณที่ค้าขายนี้ว่า " สามแพร่ง " ต่อมาได้เพี้ยน เป็น สามเพ็ง และสำเพ็งในที่สุด ดังปรากฏหลักฐานกล่าวไว้ในนิทานพื้นบ้านย่านสุพรรณมีเรื่องกล่าวต่อไปว่า ในระหว่างที่คนมารอขายสินค้าก็ได้ตัดไม้ไผ่มาสานเป็นภาชนะสำหรับใส่ของขาย เรียกว่า "กระชุก" ชาวบ้านจึงเรียกว่า "สามชุก" มาถึงปัจจุบัน
ตลาดร้อยปีสามชุก นับเป็นตลาดที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง มีอายุกว่า 100 ปี เป็นตลาดที่อยู่ในความสนใจขอนักเดินทางอย่างเราๆ ไม่แพ้ตลาดอื่นเลยทีเดียว ลักษณะโดยทั่วไปเป็นห้องแถวไม้ริมแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) มีความเป็นอยู่ในลักษณะผสมผสานระหว่างไทย-จีน ลักษณะการก่อสร้างเป็นแนวตั้งฉากกับแม่น้ำ ซึ่งเป็นลักษณะของตลาดจีนโบราณ ในยุคที่ตลาดสามชุกเฟื่องฟูชาวบ้านจะนำสินค้าพื้นเมืองมาแลกเปลี่ยนซื้อขายให้กับพ่อค้าชาวเรือ ต่อมาเมื่อบริเวณริมแม่น้ำสุพรรณบุรีมีการทำนากันมากขึ้น ตลาดสามชุกจึงกลายเป็นตลาดข้าวที่สำคัญมีโรงสีไฟเกิดขึ้นหลายแห่ง การค้าขายเริ่มคึกคักและมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติม ทำให้ในแต่ละปีมีการเก็บภาษีได้เป็นจำนวนมาก และมีนายอากรคนแรกชื่อ ขุนจำนง จีนารักษ์ (ซึ่งปัจจุบันบ้านของท่านได้เปิดเป็น พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนงจีนารักษ์ ให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมกัน บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 เป็นบ้านไม้ขนาด 3 ชั้น มีการสร้างอย่างประณีตงดงาม แกะสลักไม้ด้วยลวดลายที่อ่อนช้อย ภายในมีรูปภาพเก่าๆ ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาของชุมชนสามชุก รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ โบราณที่หาดูได้ยาก เช่น หมอนรองสูบฝิ่น, ตู้เย็น, โต๊ะ, เก้าอี้ เป็นต้น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม หากแต่เพียงบริจาคทรัพย์คนละเล็กคนละน้อยตามกำลังศรัทธาช่วยในการดูแลรักษาเท่านั้นพอ) ภายหลังได้มีการตัดถนนผ่านสามชุก ส่งผลให้ตลาดเริ่มซบเซา และเมื่อต้องแข่งขันกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และตลาดนัดภายนอก ทำให้ร้านค้าภายในตลาดต้องหาทางปรับตัว และเมื่อราชพัสดุ เจ้าของที่ดินที่ชาวบ้านเช่าที่ดินมายาวนาน ดำริจะรื้ออาคารตลาดเก่า สร้างตลาดใหม่ จึงทำให้ชาวบ้านพ่อค้าที่อยู่ในตลาดสามชุก ครูอาจารย์ที่เห็นคุณค่าตลาดเก่า รวมตัวเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิงอนุรักษ์ระดมความคิด หาทางอนุรักษ์ตลาดและที่อยู่ของตนไว้ และหาทางฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เป็นที่มาของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ใช้การท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นเครื่องมือการพัฒนาอาคารไม้เก่าแก่ ในตลาดสามชุก
จากสถาปัตยกรรม อาคารไม้โบราณที่พบเห็นได้ตลอดแนวทางเดิน 2 ข้างทางเดินในตลาดแล้ว วิถีชีวิตบรรยากาศภายในตลาดการค้าขายที่ยังคงรักษาวิถีแบบดั้งเดิมเช่นในอดีต บรรยากาศเป็นแบบตลาดเก่ามีข้าวของเครื่องใช้แบบเก่าๆ ที่ยังคงสภาพดีที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันแล้ว เช่น ของเล่นไขลาน, ตุ๊กตาไม้ไผ่, โมเดลรถและเครื่องบิน เป็นต้น ส่วนร้านค้าหลายร้านในตลาดสามชุกยังคงเอกลักษณ์บ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้ แม้จะดูเก่าแก่นับร้อยปีแต่ก็เป็นความเก่าที่ดูไม่น่าเบื่อ เช่น โรงแรมอุดมโชค ที่ตอนนี้ไม่ได้เปิดให้บริการแล้ว แต่สามารถเดินเยี่ยมชมได้ ชั้นล่างถูกดัดแปลงให้เป็นร้านกาแฟร่วมสมัย ส่วนชั้นบนถูกจำลองให้เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก มีห้องขายตั๋ว และห้องฉายภาพยนตร์สมัยก่อนให้ได้ชมกัน, ร้านศิลป์ธรรมชาติ เป็นร้านถ่ายรูปโบราณและมีกล้องถ่ายรูปโบราณหลากหลายชนิดให้เลือกชมกัน การจัดตกแต่งร้านยังเป็นแบบสมัยก่อน และหากท่านใดสนใจถ่ายภาพย้อนยุคเป็นที่ระลึกทางร้านเค้าก็มีชุดแบบย้อนยุคไว้บริการให้เปลี่ยน ภาพออกมาสวยจนคุณรู้สึกว่าได้ย้อนกลับไปอยู่ในยุคนั้นจริงๆ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี , อีกร้านนึงที่ไม่ควรพลาดคือ ร้านฮกอันโอสถสถาน เป็นสถานที่ขายยาแผนโบราณเก่าแก่ของที่นี่ ทุกวันนี้ยังคงใช้เครื่องหั่นยาและเครื่องบดยาแบบโบราณในการจ่ายยาให้กับลูกค้า คุณยายเจ้าของร้านก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดี
นอกจากบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้แล้วเรื่องอาหารการกินก็ไม่น้อยหน้ากัน ที่นี่มีของให้เลือกทานเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น ร้านหรั่ง ศรีโรจน์ (ข้าวห่อใบบัว ก๋วยเตี๋ยวยำบก ฯลฯ) , ร้านห่อหมกยกหม้อ, ร้านกาแฟท่าเรือส่ง, ร้านเป็ดย่างป้าเจิด, ร้านหมี่กรอบ รสชาติดี มีพรีเซ็นเตอร์หน้าร้านเป็น "หมี" ที่ทำมาจากหมี่กรอบอัดแน่นเป็นกาละมังเลยก็ว่าได้ สนนราคาอยู่ที่ตัวละ 1,500 บาท ใครสนใจติดต่อทางเจ้าของร้านได้ แต่ต้องรอหน่อยนะเพราะต้องสั่งทำกันล่วงหน้า และมีอีกอย่างหนึ่งที่จะมีขายกันแทบทุกซอยก็คือ "ลูกลานลอยแก้ว" ลูกลานก็คือ ลูกของต้นลาน (ต้นไม้ที่ใช้ใบมาทำพัดเรียกว่า ใบลาน) 40-50 ปีจะออกลูกครั้งนึง พออกลูกมาแล้วต้นก็จะตาย เม็ดเล็กเหมือนไข่มุก มีรสชาติคล้ายๆ กับลูกตาล แต่จะนุ่มและร่วนกว่า
อีกสถานที่หนึ่งที่เราอยากจะแนะนำก็คือ เรือนไทยสาคร เป็นเรือนไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ที่ตกทอดกันมาจนถึงรุ่นลูก การเดินทางต้องล่องเรือจากท่าด้านหลังตลาดตรงซอยขายห่อหมกยกหม้อไปยัง บ้านเรือนไทยสาคร ผ่านโรงสี บ้านไม้เก่า วัดสามชุก ดูวิถีชีวิตชาวบ้านในอดีตผ่านคุณลุงเช็งเจ้าของบ้านและเจ้าของเรือ ที่บ้านมีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่คุณลุงได้เก็บรักษาของเก่าๆ เอาไว้ตั้งแต่ในสมัยเด็ก เช่น เสื้อตัวแรกที่แม่ตัดให้คุณลุง โต๊ะ เก้าอี้ เปลญวน และภาพเก่าๆ ในสมัยก่อน ของคุณลุงและครอบครัว ในตัวเรือนหลังแรกจัดให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ มีการจัดข้าวของห้องครัวเป็นแบบโบราณ ส่วนในเรือนด้านหลังจัดให้เป็นห้องภาพถ่าย ฉายหนังกลางแปลงแบบมินิ โดยใช้เครื่องฉายแบบโบราณ และมีร้านตัดผมบาร์เบอร์รวมอยู่ด้วย เรือนถัดไปด้านขวามีเรือขายกาแฟของคุณพ่อคุณลุงจอดไว้บนบกเป็นอีกมุมหนึ่งที่มีไว้สำหรับถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน ด้านในจัดเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวสาคร ซึ่งเป็นร้านของคุณแม่คุณลุง มีร้านขายกาแฟโบราณและร้านขายของชำในอดีต ค่าโดยสารเรือและค่าเยี่ยมชมเพียงคนละ 59 บาทเท่านั้น คุ้มคะได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น หรือเห็นบางสิ่งที่เคยเห็นแต่เป็นเพียงความทรงจำที่จางๆ และกลับมาชัดอีกครั้งหนึ่งกับที่นี่ "เรือนไทยสาคร"
ไม่เพียงแต่ร้านที่กล่าวมาว่าต้องไปชมและไปชิมกันเท่านั้นนะคะ หากมาถึงตลาดสามชุกแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหารคาวหวาน ที่ทำให้คุณอิ่มตา...อิ่มใจ... และอิ่มท้องกันอีกมาก รวมไปถึงอัธยาศัยไมตรีของชาวชุมชนตลาดสามชุก ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส พร้อมใจต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาชมตลาด จนทำให้คุณไม่อยากกลับเลยก็เป็นได้
การเดินทาง : สำหรับเส้นทางที่สะดวกที่สุดในการไปตลาดสามชุก จ.สุพรรณบุรี คือ เส้นออกตลิ่งชัน-บางบัวทอง ไปจนถึง ตัวจังหวัดสุรรณบุรีขับตรงตลอด จากนั้นแยกเข้าถนนเส้นทาง 340 แยกเข้า อำเภอสามชุก ตัวตลาดอยู่ริมแม่น้ำสุพรรณติดกับที่ว่าการอำเภอสามชุก เปิดขายทุกวัน ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกเชิง อนุรักษ์ โทร 035-504498, 081-6403327, 081-1946708 หรือที่ www.samchuk.in.th
ไม่ควรพลาด
• เรือนไทยสาคร ขึ้นเรือที่ท่าเรือหลังตลาด ใช้เวลาเดินทางไป-กลับ ประมาณ 1 ชั่วโมง
ติดต่อคุณเช็ง-คุณเข็ม โทร. 08-1303-3674, 08-6751-2686
• ร้านบ้านจักรยาน จำหน่ายจักรยานโบราณ และของเก่ามากมาย อยู่ติดลานจอดรถสามชุกตลาดร้อยปี
ติดต่อเจ้าของร้าน คุณเอ๋ โทร. 08-7161-8915, 08-0302-4102
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)