งานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พลังแห่งศรัทธา...ยิ่งใหญ่เหนือคำบรรยาย
ปัตตานี เป็นจังหวัดในดินแดน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝั่งตะวันออก ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมานับพันปี และมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลากหลายทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นมนต์เสน่ห์ที่โดดเด่นและงดงามตรึงใจไม่เหมือนใคร ...แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา เราจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อยู่เนืองๆ จนหลายคนหวั่นอกหวั่นใจถึงเรื่องความปลอดภัย เมื่อคิดจะเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะว่าไปแล้วคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากจะคิดเช่นนี้ เพราะ สนุก! ท่องเที่ยว ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มีความรู้สึกหวั่นๆ เมื่อนึกถึงภาพความรุนแรงที่ได้เห็นจากสื่อ ทั้งจากอินเตอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ หรือ จอทีวี
หลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา สนุก! ท่องเที่ยว ได้ยินเพื่อนชาว สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พบเจอกันตามโอกาสต่างๆ เล่าถึงความเป็นอยู่ของพวกเขาในพื้นที่ให้ฟังว่า แม้จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น และต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น แต่ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ ชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิมยังใช้ชีวิตเกื้อกูลกันเหมือนเดิม มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานจนเป็นเอกลักษณ์และมีเสน่ห์งดงามเฉพาะตัว
ในที่สุด สนุก! ท่องเที่ยว ได้มีโอกาสเดินทางไปเยือนจังหวัดปัตตานีให้ตื่นตาตื่นใจเล่นในรอบหลายปี ตามคำเชิญชวนของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคใต้ เพื่อพิสูจน์คำบอกเล่าของบรรดาเพื่อนฝูงเหล่านั้นว่าจริงหรือไม่? และที่น่าสนใจมากกว่านั้น ก็คือ ในครั้งนี้เราจะได้เดินทางไปร่วมงาน กตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภช เจ้าแม้ลิ้มกอเหนี่ยว ประจำปี 2555 งานประเพณีสำคัญของจังหวัดปัตตานี ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ท่ามกลางความศรัทธาของพี่น้องประชาชนผู้เลื่อมใสใน องค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นจำนวนมาก ทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน เป็นต้น
งานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสากล โดยในปีนี้ได้จัดงานยิ่งใหญ่กว่าทุกปี และมีพิธีเปิดก่อนหนึ่งวัน เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 444 ปี เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ตามตำนาน (อ่านตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวฉบับเต็ม คลิกที่นี่) เล่าว่า สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระธรรมราชาแห่งสมัยกรุงศรีอยุธยา ขณะเดียวกันยังเป็นงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 84 พรรษา เนื่องจากซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงได้เสด็จเยี่ยมและถวายกระถางธูปแก่ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอีกด้วย
ในช่วงเช้าวันแรกมีการทำพิธีเบิกเนตรพระ ณ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จากนั้นได้มีการอัญเชิญองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวองค์จริงขึ้นประทับเกี้ยวมหามงคลขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่แหนไปรอบๆ เมืองปัตตานีให้ประชาชนได้มีโอกาสหามเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสักครั้งหนึ่งในชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยขบวนเกี้ยวมหามงคลประกอบด้วยวงมโหรีจีน ขบวนสิงโตและมังกรทอง ขบวนธงชัยมหามงคล ธงอำนวยพร และรถบุปผาชาติ รวมระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมหามเกี้ยวชุดละ 100 คน ส่งต่อกัน 7 ช่วง แต่ละชุดห่างกันประมาณ 20-30 เมตร ซึ่งทำให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันห้ามเกี้ยวมหามงคลได้มากถึง 8, 400 คน ก่อนอัญเชิญองค์ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ลงจากเกี้ยวเข้าสู่ศาลเจ้าเล่งจูเกียง ก่อนชมแสดงมหรสพ อุปรากรจีน และมโนราห์ในยามค่ำคืน
แล้วเช้าวันที่นักท่องเที่ยวทุกคนตั้งตาคอยก็มาถึง ทางศาลเจ้ามีพิธีสมโภชกันตั้งแต่เช้าตรู่ ก่อนจะมีการอัญเชิญองค์ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว องค์ประธานพระหมอ พร้อมด้วยพระอีกหลายองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้า แห่ไปตามถนนต่างๆ รอบเมือง พร้อมกับมีการเชิดสิงโต แห่ธงทิว คณะดนตรีบรรเลงตลอดทาง มีประชาชนเดินตามขบวนเป็นทิวแถว ชาวบ้านตามทางผ่านที่เป็นร้านค้า หรือทำธุรกิจ ก็จะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้หน้าบ้านเพื่อให้เจ้าเข้ามาโปรด ตลอดทางนั้นอื้ออึ้งไปด้วยประทัดที่ถูกจุดอย่างไม่ขาดสายสนั่นหวั่นไหวคละคลุ้งไปหมด กว่าขบวนจะลาลับ เศษประทัดสีแดงก็เกลื่อนจนแทบมองไม่เห็นพื้นถนน ส่วนผู้ที่หามเกี้ยวที่ประทับของเจ้าแม่ และเทพเจ้าองค์อื่นๆ ก็จะมีผู้มาผลัดหามตลอดทาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม ที่มีร่างกายแข็งแรง นัยว่า หากใครได้หามเกี้ยวในงานงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะถือว่าได้บุญเป็นพิเศษ
เมื่อขบวนแห่ไปเชิง สะพานเดชานุชิต (สะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี) ก็มีพิธีลุยน้ำข้ามแม่น้ำปัตตานี ท่ามกลางสายตาประชาชนนับร้อยนับพันคู่ เพื่อระลึกถึงเจ้าแม่ในอดีตที่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลด้วยความลำบาก ตามหาพี่ชายถึงเมืองปัตตานี
เมื่อแห่รอบเมืองเรียบร้อยแล้ว ก็จะกลับไปทำ พิธีลุยไฟ ที่ลานกว้างหน้าศาลเจ้า ซึ่งปัจจุบันได้สร้างอัฒจันทร์ให้นักท่องเที่ยวนั่งชมได้สะดวก พิธีลุยไฟ นี้ได้สร้างความน่าทึ่ง และตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเป็นอย่างมาก
คนแห่จะหามเกี้ยวเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทพเจ้าองค์อื่นๆ ลุยไปบนกองถ่านร้อนๆ มีเปลวไฟแดงวาบ กองเป็นทางยาวเกือบสองเมตร โดยไม่ได้รับความเจ็บปวดหรือไหม้พองแต่ประการใด มีเพียงเครื่องรางศักดิ์สิทธ์ หรือฮู้ ที่ทางศาลเจ้าปลุกเสกมอบให้กับผู้ที่จะทำพิธีลุยไฟและน้ำมนต์ที่ใช้อาบก่อนและหลังทำพิธีลุยไฟเสร็จเท่านั้นที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้มีความมั่นใจในการทำพิธีลุยไฟครั้งนี้ ซึ่งผู้เขียนก็ออกจะพิศวงอยู่เหมือนกันเมื่อได้เข้าไปดูใกล้ๆ หลังจากเสร็จพิธีก็ไม่สามารถอธิบายได้เหมือนกันว่าทำไมพลังแห่งความศรัทธาจึงมีความยิ่งใหญ่ได้เช่นนี้....ใครไม่เชื่อก็ต้องลองไปดูด้วยตาตัวเองกันสักครั้ง
สำหรับ งานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ปี 2555 ได้จัดผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับผู้สนใจอยากไปเที่ยวชมเหมือนกับเราบ้างก็สามารถไปกันได้ในต้นปีหน้า รับรองว่างานนี้สนุกและประทับใจไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน
ที่สำคัญ บรรยากาศการท่องเที่ยวไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คาดคิด (คอนเฟิร์มได้จาก สนุก! ท่องเที่ยว กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย) และยิ่งกว่านั้น คือรอยยิ้มและมิตรไมตรีจากผู้คนเมือง ปัตตานี ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอิ่มเอมใจ และหากมีโอกาสจะขอกลับไปเยือนอีกครั้งอย่างแน่นอน...
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานนราธิวาส โทร 0 7352 2411
ขอขอบคุณ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคใต้ www.ชวนกันเที่ยวใต้.com
เรื่องและภาพ: ธนปกรณ์ สุขสาลี
อัพเดตเรื่องท่องเที่ยวสนุกๆ มากมาย (คลิก)
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
อัลบั้มภาพ 31 ภาพ