ไหว้สาแอ่วบุญเมืองลำพูน
ไหว้สาแอ่วบุญเมืองลำพูน
ทริปนี้เราเริ่ม พระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร พุทธสถานคู่เมืองหละปูน อันเป็นพระธาตุของคนเกิดปีระกา มาในจังหวะเวลาเดียวกับงานประเพณีสลากภัต สลากย้อม ภายในวัดจึงเนืองแน่นด้วยพุทธศาสนิกชนและต้นสลากย้อมอันสูงตระหง่านยิ่งใหญ่ตระการตาวัดมหาวันและวัดพระคงฤาษี ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระรอด-พระคง พระเครื่องเมืองลำพูนซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมในหมู่นักสะสม โดยเฉพาะพระรอดลำพูน ถูกจัดเป็นหนึ่งพุทธศิลป์เบญจภาคีของเมืองไทย อันมีที่มานับแต่ก่อร่างสร้างนครเพื่อเป็นพุทธบูชาและรักษาบ้านเมือง จึงมีการสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 แบบ แบบหนึ่งเรียกว่า "พระคง" เพื่อความมั่นคงของนครหริภุญไชย บรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี อีกแบบเรียกว่า "พระรอด" เพื่อความอยู่รอดจากภัยอันตราย บรรจุไว้ที่วัดมหาวัน ไหว้พระขอพร ส่องพระเครื่องกันพองาม เราเดินทางต่อไปวัดจามเทวี อันมีพระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระราชโอรสทั้งสอง สร้างเพื่อบรรจุอัฐิของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญไชยนคร ในเวลาต่อมาส่วนยอดของพระเจดีย์หายไป ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า "กู่กุด" สุดท้ายเราไปจบเส้นทางไหว้สาแอ่วบุญที่วัดพระยืน เพื่อขอพรให้อายุและความรักยั่งยืน หน้าที่การงานมั่งคง เป็นโชคดีมีโอกาสพบท่านเจ้าอาวาส ซึ่งจบถึงด็อกเตอร์ เลยได้พบธรรมะประสมวิชาการ อิ่มบุญเบิกบานกันถ้วนหน้า
สัมผัสประเพณีและวิถีคนยอง
เกินครึ่งของคนลำพูนเป็นชาวยอง ที่อพยพถิ่นฐานมาจากแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งยังคงรักษาขนบประเพณีวิถีชีวิตไว้ให้เห็นถึงปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่จะพบเห็นชุมชนชาวยองกระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอ เราตั้งต้นที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง วัดต้นแก้ว ตามเส้นทางถนนสายวัฒนธรรมบ้านเวียงยอง จัดแสดงเสื้อผ้าของแต่งกายไว้อย่างสวยงาม ใต้ถุนเป็นกลุ่มทอผ้าผู้สูงอายุ อันมีฝีมือในการทอผ้ายกเชิง ผ้าไหมแกมฝ้ายลายดอกพิกุล ลายผ้าเก่าแก่ของเมืองลำพูนได้อย่างงดงาม
ชาวยองมีประเพณีสลากย้อม ซึ่งแต่โบราณให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีและยังไม่แต่งงาน เหมือนลูกชายครบปีให้บวช ลูกหญิงต้องแต่งทานสลากย้อมไปถวายวัด แต่ปัจจุบันได้ปรับไปตามกาลเวลา กลายเป็นการร่วมกันของชุมชนและวัด จัดทำต้นสลากย้อมแทนวิถีเดิม วัดประตูป่า เป็นวัดซึ่งได้รวบรวมข้อมูล ข้าวของเครื่องใช้ในประเพณีสลากย้อม ซึ่งเราสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ ชมความงดงามของอุโบสถ วิหาร และหอพระธรรมไม้สักปิดทองอายุกว่า 200 ปี
ชุมชนเก่าและบ้านโบราณที่ป่าซาง
เราออกนอกเมืองไปวัดหนองเงือก ในเขต อ.ป่าซาง เพราะเป็นวัดพระจึงได้เห็นพ่ออุ้ยแม่อุ้ย มาถือศีลกินเพลฟังเทศน์สนทนาธรรมกันในพระอุโบสถ แรกเกรงว่าไม่ได้ห่มนุ่งสีขาวจะเข้าไปอย่างไร แต่คุณยายคุณตาเรียกหา ให้เข้าไปกราบพระขอพรเสียก่อนที่จะไปดูจิตรกรรมฝาผนังเก่า พวกเราจึงไม่รู้สึกเก้อเขินเป็นส่วนเกิน บอกเสียหน่อยว่าวัดนี้ เขาให้ถอดรองเท้าตั้งแต่ก่อนเข้าประตูวัด ไม่ได้ถอดหน้าโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญเช่นวัดอื่น
เข้าวัดมาเยอะแล้ว พวกเราขอเข้าบ้านบ้าง เป็นบ้านยองโบราณ ที่บ้านมะกอก ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2480 แต่ยังคงรักษาดูแลไว้เป็นอย่างดี โดยคุณยายบัวลา ใจจิตร หญิงวัย 78 ปี ที่ใจดีเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม พวกเราใช้เวลาอยู่ที่นี่นานกว่าที่ไหน ได้ฟังเรื่องราวหลายอย่าง ทั้งเรื่องบ้านและความงาม อดีตวัยละอ่อนคุณยายเคยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงนางงามมาก่อน พวกเรานั่งฟังอย่างตั้งใจ เฉพาะเรื่องการดูแลผิวหน้าให้ดูอ่อนวัยเช่นเดียวกับคุณยาย ที่ดูยังไงก็ไม่ใช่คนวัยเจ็ดสิบแปด
ถ้าอยากรู้ ต้องไปถามเอาเองที่เมืองหละปูนเน้อเจ้า
Fast Facts
ตัวเมืองลำพูนไม่กว้างใหญ่นัก สามารถเดินทอดน่อง-ปั่นรถถีบเที่ยวได้สบายๆ หรือจะใช้บริการรถรางนำเที่ยวที่จอดหน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ฯ ซึ่งให้บริการวันละ 2 รอบ 09.00-12.00 น. และ 13.30-16.30 น.
ไปลำพูนแบบได้ความรู้นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ลองโทรไปสอบถาม นเรนทร์ ปัญญาภู นักจดหมายเหตุลำพูน โทร. 08-4611-2260
ถนนสายวัฒนธรรมบ้านเวียงยอง เข้าไปดูรายละเอียดได้ใน www.wiangyong.org
สอบถามเส้นทางท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 053-248-604, 053-248-607 หรือ www.tourismthailand.org
ขอขอบคุณ งานสื่อมวลชนสัมพันธ์ภายในประเทศ กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อัพเดตเรื่องท่องเที่ยวสนุกๆ มากมาย (คลิก)
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)