ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่หลายคนอาจลืมเลือน

ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่หลายคนอาจลืมเลือน

ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่หลายคนอาจลืมเลือน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถนนราชดำเนิน บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศหาก ท่านทั้งหลายได้เคยเดินทางผ่านไปมาจะสังเกตเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริงประทับนั่งตรง มีแท่นฐานหินอ่อนรองรับ 2 ชั้น ด้านหลังพระบรมรูปเป็นฉากรูปพระวิมาน อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์และพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พื้นฉากด้านหน้าเป็นหินอ่อนเรียบ ฉากด้านหลังเป็นหินอ่อนจารึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ลวดลายพระวิมานเป็นกระเบื้องเคลือบ พื้นลานที่รองรับแท่นฐานรวมทั้งกระถางต้นไม้ตามมุมเป็นหินแกรนิต ตั้งเด่นเป็นสง่าให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เก็บภาพที่แวดล้อมด้วยทัศนียภาพอันงดงาม ไม่ว่าจะเป็น วัดภูเขาทอง โลหะปราสาท และสวนไม้ดอกไม้ประดับ ที่จัดไว้อย่างลงตัวยามเมื่อได้มาเยือน นั้นคือ "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์"


เป็นลานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ขอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรม ราชานุสาวรีย์ พร้อมสร้างพลับพลารับพระราชอาคันตุกะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ และเป็นที่ตั้งพลับพลารับแขกบ้านแขกเมืองได้รับพระราชทานนามว่า "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์" และกำหนดให้วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันมหาเจษฎาบดินทร์และเป็นงานรัฐพิธี

ในวโรกาสวันที่ 31 มีนาคม เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งที่ปวงชนชาวไทยเราจะได้แสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ตลอดรัชสมัยแห่งการครองราชได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญมั่นคงทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้านศาสนา และการบูรณะวัดสำคัญให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของแผ่นดินไทยเราสืบมาจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุราลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2330 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ชายทับ เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระยศเป็น " หม่อมเจ้า " ด้วยเวลานั้นพระราชบิดายังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าต่างกรม และพระราชมารดาเป็นเพียงสามัญชน จนเมื่อสมเด็จพระบิดาได้รับการสถาปนาเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงเลื่อนพระยศขึ้นเป็น " พระองค์เจ้า " ทุกพระองค์ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2356 ภายหลังที่พระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนา พระองค์เจ้าทับ ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เข้ารับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ ว่าความฎีกาทรงพระปรีชาสามารถในการศึกษาหลายแขนง อาทิ ในด้านอักษรศาสตร์ พุทธศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ จึงเป็นเหตุให้ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบรมชนกนาถให้ไปบังคับบัญชาหน่วยราชการอื่น ๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ

ขณะที่รัชการที่ 2 ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตนั้น มิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใด พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีได้ปรึกษากันเห็นควรถวายราชสมบัติแด่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แม้จะเป็นพระราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอม เนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุมากกว่าเจ้าฟ้ามงกุฏ พระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งขณะนั้นทรงพระเยาว์และทรงผนวชอยู่ ทั้งยังไม่เคยทรงงานใหญ่มาก่อนและช่วงนั้นบ้านเมืองยังมีข้าศึกมาประชิดติดพันอยู่เนื่องๆ จึงได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 โปรดให้จัดการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในเวลานั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่เพื่อสะดวกแก่การปกครองและเพื่อรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายกันให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกที่อาจจู่โจมเข้ามาทางเรือเพิ่มเติมขึ้นที่สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และที่จันทบุรี โปรดให้มีการปราบปรามโจรผู้ร้าย ซึ่งในเวลานั้นมี "พวกอั้งยี่" เข้ามาระรานปล้นสดมภ์จนราษฎรไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงโปรดให้ทหารเรือยกกำลังไปปราบปรามจนสงบราบคาบ ตลอดจนการลักลอบค้าฝิ่นและการสูบฝิ่นก็ให้ปราบปรามเช่นกัน พระราชกรณียกิจที่สำคัญได้แก่

ด้านเศรษฐกิจ มีการจัดเก็บรายได้ของประเทศ จัดระบบการเก็บภาษีอากรใหม่ ตั้งภาษีอากรใหม่ 38 ชนิด เช่น อากรบ่อนเบี้ยจีน หวย ก.ข. ภาษีเกลือ ภาษีกระทะ มีการค้าขายกับต่างประเทศส่วนใหญ่ค้าขายกับจีน

ด้านการทำนุบำรุงบ้านเมือง ทรงโปรดให้ตั้งเมืองใหม่ ได้แก่ บางตะพาน พนัสนิคม กบินทร์บุรี ประจันตคาม อรัญประเทศ วัฒนานคร เรณูนคร ศรีโสภณ อำนาจเจริญ เสนานิคม อากาศอำนวย หนองคาย โพนพิสัย ชัยบุรี และสร้างป้อมปราการอีกหลายแห่ง

ด้านศาสนา มีการตั้งธรรมยุตินิกาย สร้างและปฏิสังขรวัดวาอาราม รวม 53 วัด ได้แก่ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดราชนัดดาราม วัดเทพธิดา วัดอรุณราชวราราม วัดกลางเมือง วัดนางรอง วัดพระพุทธบาท วัดมหาธาตุ วัดโมลีโลกยาราม วัดโอรสาราม เจดีย์ภูเขาทอง พระสมุทรเจดีย์ ทรงสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและพระไตรปิฏก

ด้านวรรณคดี มีพระราชนิพนธ์ เสภาขุนช้างขุนแผน บทละครเรื่องสังข์ศิลปะไชย เพลงยาวรัชการที่ ๓ โคลงปราบดาภิเษก กวีสำคัญ คือ สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส มีพระนิพนธ์คือ ลิลิตตะเลงพ่าย พระปฐมสมโพธิกถา สรรพสิทธิ์คำฉันท์ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์

ด้านการศึกษา มีการแต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นใหม่ มีการรวบรวมตำราแขนงต่างๆจารึกลงในศาลารายรอบพระอารามต่างๆ จนวัดวิมลมังคลารามได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของกรุงสยาม ทรงโปรดให้หมอบรัดเลย์จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ด้านการต่างประเทศ มีการเซ็นสนธิสัญญาเบอร์นี่กับอังกฤษ สนธิสัญญากับอเมริกา เพื่อธำรงรักษาฐานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของไทยเอาไว้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 สิริพระชนมายุได้ 64 พรรษา รวมเวลาที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัตินาน 27 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 51 พระองค์ โดยประสูติก่อนที่จะทรงบรมราชาภิเษก 38 พระองค์ และประสูติหลังจากที่ทรงบรมราชาภิเษกแล้ว 11 พระองค์ พระองค์มิได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์ใดขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดั้งนั้นจึงไม่มีพระบรมราชินีในรัชกาลนี้ คงมีเพียงแต่เจ้าจอมมารดาและพระสนมเอกเท่านั้น เนื่องจากตั้งพระราชหฤทัยที่จะคืนราชสมบัติแก้เจ้าฟ้ามงกุฎ

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพสกนิกรชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการนำเอาความรู้ ความสามารถ ผนวกกับความสามัคคีของคนในชาติ มาช่วยเหลือ ประเทศไทยเราให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤติ ทั้งในด้านสงครามเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และความเสื่อมโทรมถดถอยทางสังคม โดยเฉพาะช่วยกันธำรงรักษาความเป็นไทยให้พ้นจากการถูกครอบงำผ่านความเจริญทางเทคโนโลยี เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง และมั่งคั่ง ได้อย่างสง่างามดังเช่นอดีตที่ผ่านมาสืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

บทความโดย ธนพร สิงห์นวล กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ขอบคุณข้อมูล: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 

อัพเดตเรื่องท่องเที่ยวสนุกๆ มากมาย (คลิก)

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่หลายคนอาจลืมเลือน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook