ตะลุย ‘Little Yunnan’ ที่ ดอยแม่สลอง
ความทรงจำส่วนตัวของผู้เขียน จำได้ว่า แม่พาไป เที่ยวดอยแม่สลอง เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนประถม นั่งรถลัดเลาะไปตามถนนคดเคี้ยวเหมือนงูเลื้อยจนท้องไส้ปั่นป่วน ไม่มีอารมณ์ดูดอกซากุรงซากุระกับเขาสักเท่าไร ... สิ่งดีอย่างเดียวที่จำติดใจ คือ หมั่นโถ นุ่มๆ แสนอร่อย ในมื้อกลางวันวันนั้น
วันเวลาผ่านมาเกือบ 20 ปี เติบโตจากนักเรียนมาทำงานหนังสือ ครั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ชวนไปเยี่ยมยลดอยแม่สลองอีกครั้ง จึงสบโอกาสไป "แก้ตัว" ดูว่าดอยแห่งนี้มีอะไรดีมากกว่า ขาหมูหมั่นโถ นอกจากถนนหนทางที่ดีขึ้น ภาพที่เห็นชัดเจนคือชุมชนชาวจีนจากมณฑลยูนนาน กว่า 800 ครัวเรือน ที่มาตั้งรกรากที่นี่กว่า 40 ปีแล้ว และยังสืบสานประเพณีดั้งเดิมไว้ครบถ้วน พูดจากันส่งเสียงดังล้งเล้ง ค้าขายใบชาเต็มไปหมด อารมณ์อย่างกับไปเดินอยู่บนจีนแผ่นดินใหญ่ ...คิดเล่นๆ ว่า ถ้าเราให้สมญานามย่านพาหุรัดเป็น ‘Little India' แล้ว ไฉนจะเรียกดินแดนที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมจีนยูนนาน อย่างที่ดอยแม่สลองแห่งนี้ ว่าเป็น ‘Little Yunnan' บ้างมิได้เล่า
การเดินทางอันแสนยาวไกล...
ไม่บอกคงไม่รู้ว่า ชื่อ "แม่สลอง" กร่อนเสียงมาจากภาษาจีนว่า "เหมย ซือ เล่อ" แปลว่า "ดินแดนอันสวยงาม เรียบร้อย และสงบสุข" ต่อมาจึงตั้งชื่อชุมชนใหม่ เป็นภาษาไทยแต่ยังคงความหมายเดิมว่า "หมู่บ้านสันติคีรี" ชุมชนจีนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ อ. แม่ฟ้าหลวง จ. เชียงราย ใกล้ตะเข็บพรมแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับประเทศพม่า ห่างจาก อ. เมืองเชียงราย ราว 65 กม. หรือไกลจากกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ราว 903 กม. ทว่าที่จั่วหัวว่าไกลนั้น หาใช่การเดินทางของเรา แต่หมายถึงคนจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เดินทางไกลจากมณฑลยูนนานกว่าหลายพันกิโลเมตร มาตั้งรกรากบนดอยแห่งนี้ - - เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อยากได้คำตอบ ต้องไปที่ พิพิธภัณฑ์วีรชนอดีตทหารจีนคณะชาติ
อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเก๋งจีนโอ่อ่าคล้ายบ้านคหบดีจีนในภาพยนตร์กำลังภายใน จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวของกองพลที่ 93 ที่เดินทางไกลจากจากมณฑลยูนนานมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนแผ่นดินไทย โดยครั้งที่คณะสื่อมวลชนไปชมนั้น ได้รับเกียรติจาก "คุณเจิน" เลือดเนื้อเชื้อไขของทหารหาญในกองพลนี้ มาเป็นผู้นำชม กองพล 93 สังกัดพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็ค ได้ฉายา "กองทัพที่ถูกลืม" หรือ "กองทัพที่สาบสูญ" จากเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2492 เมื่อเจียงไคเช็ค พ่ายแพ้ต่อกองทัพคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง จึงลี้ภัยการเมืองไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ไต้หวัน ทำให้กองพล 93 ซึ่งประจำการบริเวณพรมแดนจีน-พม่า ต้องถอยร่นเข้ามาในประเทศพม่า และเกิดการปะทะกับกองทัพพม่าหลายครั้ง รัฐบาลพม่าไม่พอใจจึงร้องเรียนไปยังสหประชาชาติ ในที่สุดกองพล 93 ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กองพล 124 ตามไปสมทบกับเจียงไคเช็คที่ไต้หวัน และกองพล 365 นำโดยนายพล ต้วน ซี เหวิ่น และนายพลหลี่เหวินฝาน ซึ่งไม่แน่ใจในอนาคตที่ไต้หวัน จึงอพยพลงมายังตอนเหนือของประเทศไทย รัฐบาลไทยก็ช่วยเหลือด้วยการให้กองพลของนายพลหลี่ลี้ภัยอยู่ที่ อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ และให้กองพลของนายพลต้วน อาศัยอยู่ที่ดอยแม่สลองแห่งนี้
"เรามาอาศัยเพื่อรอคำสั่งจากเจียงไคเช็ค เมื่อไรจะเรียกเราไปต่อสู้คอมมิวนิสต์ที่จีนแดง รอแล้วรอเล่ามาถึงปัจจุบันก็ไม่มีการติดต่อกลับมาเลย เหมือนถูกลืมไปแล้ว มีนักเขียนคนหนึ่งชื่อ โก๋ หยัง เขียนไม่กี่คำแต่ด่าแสบว่า 'คนกลุ่มหนึ่งที่ถูกลืม พวกเขาสู้รบตายไปกลายเป็นดิน เป็นหญ้า เป็นผงธุลี เขารบชนะแต่ไม่มีที่อยู่ กลายเป็นผีไร้ศาล' เหมือนด่าเจียงไคเช็คทางอ้อมว่า พาออกมาแล้วทำไมลอยแพ สุดท้ายนักเขียนคนนี้ถูกนำไปขังไว้ที่เกาะไต้หวัน แต่คนไต้หวันที่รู้เรื่องราวก็ส่งความช่วยเหลือมาให้เราทุกอย่าง" คุณเจินอธิบาย
ในช่วงที่รัฐบาลไทยต่อสู้กับกองทัพคอมมิวนิสต์ กองพล 93 อยากตอบแทนที่รัฐบาลไทยให้ที่พักพิงจึงได้เข้าร่วมต่อสู้ด้วยในปี 2514 และ 2524 ซึ่งทำให้ทหารจีนคณะชาติเสียชีวิตจำนวนมาก หลักฐานที่แสดงถึงการตอบแทนคุณแผ่นดินครั้งนั้น คือ ป้ายวิญญาณนับร้อยป้ายของผู้เสียชีวิตในสนามรบ ที่จัดแสดงไว้ในอาคารโถงกลางของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยมีตัวอักษรจีนขนาดใหญ่ 4 ตัว ที่มีความหมายคมคายบาดลึก อยู่บนผนังด้านหลัง
"อักษร 4 ตัวนี่ แค่สั้นๆ แต่กินใจนะ อ่านจากขวามาซ้ายว่า จิง-จง-เป้า-กั๋ว แปลตามตัวว่า กำลัง-ซื่อสัตย์-ตอบแทน-ประเทศ โดยรวมแปลว่า 'ตอบแทนพระคุณของแผนดินด้วยกำลังอย่างซื่อสัตย์' เพราะรัฐบาลไทยให้เขาอยู่บนแผ่นดินนี้ เขาไม่สามารถตอบแทนอย่างอื่นได้ จึงเอาชีวิตและกำลังของตัวเองต่อสู้เพื่อตอบแทนประเทศไทย เห็นไหมว่าคนจีนรักประเทศไทยมากกว่าคนไทยแท้ๆ บางคนอีก มีนายทหารใหญ่คนหนึ่งมาดู เขาบอกว่าน่าจะเอาไปติดในทำเนียบรัฐบาลนะ เผื่อจะได้เตือนใจใครหลายคน" คุณเจินกล่าวตบท้ายเรียกเสียงฮาครืนใหญ่
จากพิพิธภัณฑ์ เราไปอีกจุดหนึ่งไม่ไกลกันที่เป็นอนุสรณ์กองพลที่ 93 คือ สุสานนายพลต้วน บนเนินเขาหลังหมู่บ้าน ภายในศาลาเก๋งจีนที่มีแท่นหินอ่อนบรรจุร่างของนายพลต้วนซีเหวิน ผู้นำกองพล 93 มายังดอยแม่สลอง บริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยต้นพญาเสือโคร่งที่ดอกกำลังโรยรา หลังบานอวดดอกสีชมพูสดมาตั้งแต่เดือนธันวาคมจนถึงปลายมกราคม ระหว่างทาง เราพบนักท่องเที่ยวจากไต้หวันจำนวนมาก นอกจากมาเที่ยวแล้ว คนไต้หวันยังบริจาคสิ่งของ ยา เสื้อผ้า หนังสือภาษาจีน รวมถึงความช่วยเหลืออื่นๆ มายังดอยแม่สลองโดยไม่ขาดสาย จะว่าไปพวกเขาไม่ต่างจากพี่น้องท้องเดียวกันที่ถูกชะตากรรมซัดไปคนละทิศละทาง วันหนึ่งจึงย้อนกลับมาพบกันอีกครั้ง ไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปสักเท่าไร การให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษ ความกตัญญู และคุณธรรมน้ำมิตรของคนจีนยังคงยิ่งใหญ่เสมอ จนต้องขอค้อมคารวะ
ขาหมูหมั่่นโถ และสำรับจีนยูนนาน
ว่ากันว่าอาหารพื้นถิ่นสามารถบ่งบอกตัวตนของเจ้าของตำรับได้เป็นอย่างดี ในถิ่น ‘Little Yunnan' จึงไม่มีอะไรน่าเรียนรู้และลิ้มลองเท่าอาหารจีนยูนนานแท้ๆ
ก่อนเดินทางไปดอยแม่สลอง คณะสื่อมวลชนมาพักที่ เลาลี รีสอร์ต บนดอยเลาลี ใน อ.แม่สรวย ดอยเลาลีแห่งนี้มีคนจากกองพล 93 มาบุกเบิกเช่นกัน มื้อเช้าจึงได้ชิมอาหารจีนฮ่อในบรรยากาศร้านแบบโรงเตี๊ยม หลังจิบชาอู่หลงร้อนๆ กลิ่นหอมละมุนช่วยให้อุณหภูมิกายอุ่นขึ้น เราเริ่มต้นจานแรกของวันด้วยเต้าซี่ผัดไข่กับข้าวต้มร้อนๆ เต้าซี่คือถั่วดำเด็ดจากต้นสดๆ นำไปหมักเกลือ เมื่อผัดกับไข่แล้วเคี้ยวกรุบ มีรสเค็มปะแล่มคล้ายเต้าหู้ยี้ กินกับข้าวต้มและผัดหัวไชโป้วดองเข้ากันดี กินไปสงสัยไปว่า เหตุใดอาหารจีนยูนนานถึงมีแต่เมนูผัก ไก่ หมู มาถึงบางอ้อเมื่อเจ้าของร้านบอกว่า "มณฑลยูนนาน อยู่ติดภูเขาและแม่น้ำ ไม่ได้อยู่ติดทะเล คนจีนยูนนานเลยไม่มีเมนูอาหารทะเลเหมือนคนจีนบางกลุ่ม"
ส่วนมื้อกลางวัน เราเติมพลังกันที่ร้าน แม่สลองวิลล่า ที่ย่านการค้าใจกลางดอยแม่สลอง ร้านนี้มีชื่อถึงขั้นเชลล์ชวนชิมมาขึ้นป้าย เมนูเด็ดคือขาหมูหมั่นโถ ที่ตุ๋นเนื้อจนยุ่ย ใช้ตะเกียบคีบแยกชิ้นได้ เคี้ยวแล้วสัมผัสถึงความนุ่ม กลิ่นเครื่องเทศหอมฉุยในปาก รสเค็มนิดๆ เข้ากันดีกับหมั่นโถที่นุ่มและหวาน ขอเดาว่าอาจเพราะอากาศเหน็บหนาวของประเทศจีน อาหารยูนนานส่วนใหญ่จึงให้พลังงานสูง นอกจากขาหมูยังมีเห็ดหอมอบซิ๊ว และไก่ตุ๋นยาจีน ที่รสชาติดีไม่แพ้กันด้วย กัดหมั่นโถวนุ่มๆ แล้วความทรงจำในอดีตก็ย้อนกลับมา เหมือนย้ำเตือนว่าได้มาเหยียบที่นี่อีกครั้งแล้ว ยิ่งเคี้ยวยิ่งอยากกินให้หนำใจ แต่เหลือบดูไขมันหน้าท้องตัวเองแล้วต้องเตือนสติด้วยคำพูดชาวจีนโบราณที่ว่า "กินน้อยๆ ค่อยๆ กลืน อายุยืนนาน" โดยเฉพาะวรรคแรกนั้นต้องท่องจำให้ขึ้นใจ ตักมาคำเล็กๆ พอลิ้มรส แล้วนั่งมองคนอื่นกินขาหมูหมั่นโถจานใหญ่ค่อยๆ หมดไป ด้วยความอาลัยอาวรณ์....
จากยอดอ่อน สู่เครื่องดื่มแห่งมวลมิตร
คนจีนไปที่ไหนต้องมีน้ำชาที่นั่น และด้วยบนดอยแม่สลองอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 1,200 กม. อากาศเย็นตลอดปี เหมาะสมกับการปลูกชา ที่นี่จึงมีไร่ชานับพันไร่ คณะสื่อแวะมาที่ ไร่ชาโชคจำเริญ อันกว้างใหญ่ มองไปเห็นต้นชาเป็นแถวเลี้ยวโค้งไปตามเหลี่ยมเขา ทอดยาวไกลสุดสายตา น่าเสียดายที่เรามาตอนบ่ายแก่จึงไม่ทันเห็นกระบวนการเก็บใบชา ที่ชาวไร่จะมาเด็ดยอดอ่อนตอนเช้าราว 9-10 โมง ปลิดยอดชาอ่อน 2-3 ใบบนสุดด้วยมือเท่านั้น เพื่อนำมาทำเป็นชาอู่หลง
"อู่-หลง" แปลว่า "มังกรดำ" คนจีนนำชื่อมาจากการเห็นต้นชาปลูกเป็นแถวยาวเหมือนงูดำขดตัว ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นมังกรดำให้ดูสง่างามขึ้น อู่หลงไม่ได้เป็นชื่อพันธุ์ชา แต่หมายถึงกรรมวิธีการหมักชา 1 ใน 3 ประเภท คือ ชาหมัก ชาไม่หมัก และชากึ่งหมัก เจ้ามังกรดำนี้คือชากึ่งหมัก ชงได้น้ำชาสีทอง มีวิธีดื่มเหมือนชาจีนอื่นๆ คือใบชาดั้งเดิมให้รสชาติดีที่สุด โดยไม่ต้องเติมนมและน้ำตาลแบบชาอังกฤษ ใบชาสดจากไร่จะผ่านการหมัก บรรจุหีบห่อ และนำมาวางขายเป็นล่ำเป็นสันในตลาดดอยแม่สลอง หากไปเดินจะพบว่า เจ้าของแต่ละร้านล้วนมีไมตรี ชวนเชิญให้นักท่องเที่ยวแวะเข้าไปชิมได้ฟรี ถูกอกถูกใจค่อยซื้อหาไม่ว่ากัน ราคาชาอยู่มีตั้งแต่หลักร้อยจนไปถึงหลักพัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพและชนิดใบชา ทั้งยังมีชุดน้ำชานานารูปแบบขาย ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากไต้หวัน
การชงชาที่แท้มีกรรมวิธีอันพิถีพิถัน ซึ่งจะขอกล่าวในวาระถัดไป แต่ถ้าชงตามฉบับแม่ค้าดอยแม่สลองที่ฉับไวทันใจลูกค้า คือ ใช้เครื่องชงแบบมีที่กรองสำเร็จ ขั้นแรกจะรินน้ำร้อนลวกใบชาแล้วเทน้ำแรกทิ้ง ภาษานักเลงชาว่า "ปลุกชาให้ตื่น" นัยว่าล้างคราบสกปรกที่ติดมาก่อน ต่อมารินน้ำร้อนใส่ให้ใบชาคลายตัวและคายกลิ่น ทิ้งไว้ราว 1-1.5 นาที จะได้อู่หลงสีทองกลิ่นหอมกรุ่นอยู่ในกา ข้อสำคัญคือต้องรินให้แขกเพียงครึ่งถ้วยเท่านั้น ดังคำจีนโบราณว่า "สุราเต็มแก้วคือการให้เกียรติแขก น้ำชาเต็มแก้วคือการรังแกคน" เพราะน้ำชาเต็มแก้วร้อนจับยาก บ้างกล่าวว่า เว้นอีกครึ่งแก้วไว้ให้กับมิตรภาพและความรักที่มีต่อกัน
น้ำชาถือเป็นเครื่องดื่มแห่งมวลมิตร ชาวจีนดื่มในชีวิตประจำวันและรับแขก เล่ากันว่าคนจีนมักเก็บใบชาที่ดีที่สุดไว้รับอาคันตุกะ และดื่มชาคุณภาพรองลงมา ปราชญ์จีนมักล้อมวงสนทนาปรัชญาในวงน้ำชา ความคิดดีๆ ผุดขึ้นมาระหว่างจอกนั่นเองเสน่ห์ของชาคือการดื่มและดม ...สูดกลิ่นหอมขึ้นสู่โพรงจมูก สัมผัสรสชาอันละมุนด้วยปลายลิ้น ชาจะทิ้งความชุ่มชื่นไว้ในลำคอ การดื่มชาจึงนับเป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่งในชีวิต ด้วยน้ำมิตรหรือหวังผลทางธุรกิจไม่อาจคาดเดา คุณพี่เจ้าของร้านจึงรินเจ้ามังกรดำให้เราลองชิมหลายต่อหลายชนิดชวนให้เพลิดเพลิน พร้อมอธิบายด้วยรอยยิ้มหวานๆ ว่าอู่หลงแต่ละชนิดมีบุคลิกเฉพาะตัว เช่น ก้านอ่อน มีรสนุ่มนวล กลิ่นหอมบางๆ ยอดน้ำค้าง จะหอมหวานเหมือนหยดน้ำผึ้งลงไป ต้งติ่ง จะหอมกลิ่นเฉพาะตัว ส่วนอู่หลงโสม จะหวานปลายลิ้น และหวานหลังกลืนน้ำลายเหมือนเวลากินมะขามป้อม ขณะที่อู่หลงหมื่นลี้ จะได้กลิ่นดอกหอมหมื่นลี้ที่ใช้อบ
คณะสื่อมวลชนจึงตอบแทนน้ำมิตรนั้น ด้วยการซื้อชาติดมือคนละห่อสองห่อ รวมๆ แล้วน่าจะเกือบยี่สิบห่อ แม่ค้าหน้าหมวยคิดเงินไปยิ้มแก้มปริไป ส่วนผู้เขียน จากที่ไม่คิดจะซื้อ แต่มาติดใจรสชาผสานกับรสมิตรภาพ จึงควักแบงค์สีม่วงแลกเจ้ามังกรดำยอดน้ำค้าง พร้อมเครื่องชง และจอกชา 1 ชุด ..พอเอ่ยขอต่อรองนิดหน่อย เจ้าของร้านยิ้มหวาน บอกว่า... คิดราคาแบบมิตรภาพแล้วนะคะ!
ไหว้พระธาตุ ก่อนกลับ
ก่อนลาจากดอยแม่สลอง คณะสื่อมวลชนเดินทางขึ้นมาสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ศรีนครินทรทราสถิตมหาสันติคีรี อีกสัญลักษณ์หนึ่งของดอยแห่งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต
พระบรมธาตุฯ แห่งนี้ สร้างแล้วเสร็จปี 2539 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นเจดีย์แบบล้านนาประยุกต์ที่สวยงามมาก ที่ตั้งของพระบรมธาตุฯ อยู่บนยอดดอยแม่สลอง สูงจากหมู่บ้านขึ้นไปราว 4 กม. ทางขึ้นเป็นถนนลาดยางที่ค่อนข้างคดเคี้ยวและสูงชัน จากตรงนี้มองเห็นชุมชนดอยแม่สลองทั้งเมือง โดยเฉพาะยามเย็นช่วงพระอาทิตย์ตกมีบรรยากาศที่งดงามมาก ในทางกลับกันกัน ถ้าเดินอยู่ในหมู่บ้าน ก็จะเห็นพระธาตุโดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดดอย
สำหรับผู้เขียน ภาพดอยแม่สลองจากมุมสูงที่เห็นเบื้องหน้า เป็นภาพประทับของความเป็น ‘Little Yunnan' อันน่าประทับใจ ที่เข้ามาแทนขาหมูหมั่นโถและประสบการณ์ขมปร่าในวัยเด็กเป็นอีกครั้งของการเดินทาง ที่มาที่ที่เคยมา แต่ไม่น่าเบื่อ เพราะได้เจอมุมมองใหม่ๆ หวังว่ามาคราวหน้า จะสนุกและเข้าใจดอยแม่สลองยิ่งขึ้นกว่าเดิม
เรื่องและภาพ : ปณัสย์ พุ่มริ้ว
(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!