เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่าน "เมืองกาญจนบุรี"

เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่าน "เมืองกาญจนบุรี"

เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่าน "เมืองกาญจนบุรี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่เราได้มีโอกาสมาเยือนยัง จังหวัดกาญจนบุรี กันอีกครั้ง ด้วยเพราะจังหวัดนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า มีผู้คนหลากเชื้อชาติที่มาอาศัยอยู่ร่วมกัน ทั้งไทย พม่า มอญ ปากะญอ (กะเหรี่ยง) ฯลฯ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 19,473 ตารางกิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 129 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งชุมชนมาตั้งแต่ครั้งก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองกาญจนบุรีได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดในปี พ.ศ. 2467 สถานที่แรกที่เราอยากจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับความทรงจำในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอเมือง คือ สะพานข้ามแม่น้ำแคว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดกาญจนบุรี

 ทางรถไฟสายมรณะ (ถ้ำกระแซ) จุดที่น่าสนใจของทางรถไฟสายมรณะอยู่ที่ช่วงโค้งมรณะ ซึ่งเป็นช่วงที่สะพานด้านหนึ่งเลียบไปตามโค้งขอบหินผาสูงส่วนอีกด้านเป็นแม่น้ำแควน้อยที่อยู่ลึกลงไปดังหุบเหว เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร ทิวทัศน์ตลอดเส้นทางมีความสวยงามและน่าหวาดเสียว เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของนักท่องเที่ยวอย่างมาก เส้นทางนี้สร้างขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดีย จำนวนมาก มาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์นี้ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่พม่า ในสมัยนั้นมีความทุรกันดาน ขาดแคลนอาหารและเต็มไปด้วยความยากลำบาก โรคภัยชุกชุม อีกทั้งความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่นที่คอยเร่งรัดเชลยศึกให้โหมงานการก่อสร้างอย่างหามรุ่งหามค่ำ ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายลงที่นี่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อทางรถไฟสายมรณะ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานแห่งนี้ถูกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดเพื่อตัดเส้นทางการลำเรียงยุทโธปกรณ์ของกองทัพญี่ปุ่นไปสู่พม่า ทำให้สะพานได้รับความเสียหาย ต่อมาเมื่อสงครามฯ สิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมจนสะพานสามารถกลับมาใช้งานได้ดังเดิม ปัจจุบันสะพานแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพ และมีการจัดงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแควในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี มีการแสดงนิทรรศการทางประวัติศาสตร์ การแสดงพื้นบ้าน การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และการแสดง แสง สี เสียง

มีบริการนั่งรถรางเที่ยวชมทุกวัน วันธรรมดา เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 - 10.30 น., 11.20 - 14.00 น., 15.00 - 16.00 น. และ 18.00 - 18.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 08.00 - 09.30 น., 11.20 - 14.00 น., และ 18.00 - 18.30 น.



อีกหนึ่งแห่งที่เป็นสถานที่แห่งความทรงจำที่เจ็บปวดที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกันก็คือ สุสานทหารสัมพันธมิตร(ดอนรัก) ตั้งอยู่บนถนนแสงชูโต เยื้องสถานีรถไฟกาญจนบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 323 ไปทางอ.ไทรโยค ผ่าน รพ.แสงชูโต ตรงไปไม่ไกลจะเห็นสุสานอยู่ทางด้านซ้ายมือ "สุสานดอนรัก" หรือ "สุสานสหประชาชาติ" ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ป่าช้าอังกฤษ" เป็นสุสานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 17 ไร่ เป็นอนุสรณ์สถานฝังศพเชลยศึกที่เสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ 6,982 หลุม โดยเชลยศึก 300 คนเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคและฝังไว้ที่ค่ายนิเกะ (ประมาณ 15 กิโลเมตร ก่อนถึงด่านเจดีย์สามองค์) ส่วนที่เหลือได้จากหลุมฝังศพเชลยศึกตามค่ายต่างๆ และยังมีสุสานช่องไก่ ซึ่งรัฐบาลไทยและฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เพื่อสร้างสุสานสองแห่งนี้ขึ้น บรรยากาศในสุสานเงียบสงบและร่มรื่น พื้นที่ภายในได้รับการตกแต่งไว้อย่างเป็นระเบียบสวยงาม เหนือหลุมฝังศพทุกหลุมมีแผ่นทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต บรรทัดสุดท้ายเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า ทุกปีจะมีวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่างๆ ได้แก่ วัน Anzac Day 25 เมษายน ของชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ วัน Armistice Day 5 พฤษภาคม ของชาวเนเธอร์แลนด์ และ วัน Remembrance Day 11 พฤศจิกายน ของชาวอังกฤษ การมาเที่ยวยังสถานที่แห่งนี้ควรอยู่ในอาการสงบ ไม่ควรวิ่งเล่นหรือเดินข้ามหลุมฝังศพ ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้ามารับประทาน และห้ามจัดกิจกรรมทุกประเภท เพื่อเป็นการเคารพต่อสถานที่และผู้เสียชีวิต

 

จากนั้นมาต่อกันที่ชุมชนเก่าแก่ที่มีอดีตความทรงจำที่น่าสนใจมากมาย ชุมชนปากแพรก อยู่ใกล้ๆ กับศาลหลักเมือง

 

อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 และ แนวกำแพงเมืองเก่า เป็นประตูเมืองก่ออิฐถือปูนยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ครั้งย้ายเมืองกาญจนบุรีเก่า จากตำบลลาดหญ้ามาสู่ปากแพรก เนื่องด้วยยุทธศาสตร์การรบ เพราะมีชัยภูมิในการตั้งรับข้าศึกได้ดีกว่าเก่า อีกทั้งยังสะดวกในการค้าขายกับเมืองต่างๆ อีกด้วย ลักษณะตัวกำแพงด้านบนมีใบเสมา ผังกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 210 เมตร ยาว 480 เมตร มีป้อมประจำมุม 4 ป้อม ป้อมกลางกำแพงด้านหน้า 1 ป้อม และป้อมเล็กกลางกำแพงด้านหลัง 1 ป้อม มีประตู 8 ประตู ประกอบด้วย ประตูเมือง 6 ประตู และประตูช่องกุด 2 ประตู ซึ่งได้ชำรุดลงเกือบทั้งสิ้น คงเหลือเฉพาะประตูเมืองด้านหน้า ซึ่งหันหน้าสู่แม่น้ำแควใหญ่ และกำแพงเมืองบางส่วนที่อยู่ติดกัน โดยได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2549 ส่วนบริเวณด้านหลังประตูเมืองเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ที่นี่เป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของเมืองกาญจน์ เป็นถนนสายเก่าของเมืองในอดีต ที่มีสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ทั้งโบราณสถาน บ้านเรือนร้านค้าแบบไม้และตึก ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงแบบจีนผสมตะวันตก ที่เรียกว่าชิโน-โปรตุกีส ตลอดเส้นทางสายนี้ระยะทางกว่า 1 กม. อาคารแต่ละหลังที่มีความสำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้ผู้ที่มาเยือนได้ชม อาทิ บ้านแต้มทอง อาคารตึกหลังแรกของกาญจนบุรี มีลักษณะภายนอกดูเหมือนศาลเจ้า บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น อายุประมาณ 142 ปี ปัจจุบันยังคงเป็นที่พักอาศัยของคนในตระกูลมาถึง 5 รุ่นแล้ว, บ้านสิทธิสังข์ สร้างขึ้นในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส มีจุดเด่นอยู่ที่ปูนปั้นลายก้านขดเหนือป้ายชื่อบ้าน รวมทั้งประตูบานเฟี้ยมใช้สีทาบ้านที่ทำจากดิน ปัจจุบันบ้านนี้ถูกเปลี่ยนเป็น ร้านกาแฟร่วมสมัยเก๋ไก๋น่านั่งดื่มกาแฟและถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก โรงแรมสุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของกาญจนบุรี เลิกกิจการไปเมื่อปี 2522 ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 เคยมีทหารญี่ปุ่นมาเช่าพักค้างคืน ในราคา 1 บาทต่อคืน ปัจจุบันอาคารหลังนี้กลายเป็นบ้าน ร้านค้า และยังคงอยู่ในสภาพเดิมคือ เป็นตึกแถวสองชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ ฉาบปูนและคร่าวผนังเป็น โครงไม้รวก นอกจากนี้ยังมีอาคารเก่าแก่ที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บ้านฮั้วฮง, บ้านอำนวยโชค, บ้านชิ้นปิ่นเกลียว, นิวาสแสนสุข เรือนหอของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย และใกล้ๆ กันยังมีบ้านเรือนไม้ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ปัจจุบันไม่ได้เปิดเป็นถนนคนเดินแล้ว แต่เราก็ยังสามารถแวะเวียนไปเดินเที่ยวถ่ายรูป หรือเดินชมสถาปัตยกรรมความงดงามของบ้านเรือนในสมัยเมื่อครั้งอดีตได้

 

เลยมาทางอำเภอไทรโยคเราก็จะได้พบกับโบราณสถานอันเก่าแก่ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางทิศเหนือ แวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ ลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลง กว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 850 เมตร และกำแพงสูง 7 เมตร มีประตูเข้าออก 4 ด้าน มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ภายในเมืองมีสระน้ำ 6 สระ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถาน นิกายมหายาน จากการขุดค้นตกแต่งของกรมศิลปากรไปตั้งแต่ พ.ศ. 2478 จนแล้วเสร็จเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2530

ปราสาทเมืองสิงห์ มีศิลปกรรมคล้ายคลึงกับของศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1720 - 1780) แห่งอาณาจักรขอม ศิลปกรรมที่สำคัญที่พบคือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และ
นางปรัชญาปารมิตา และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครแล้ว คงเหลือแต่องค์จำลองไว้ โดยโบราณสถานสำคัญที่น่าสนใจมีด้วยกัน 5 จุด คือ โบราณสถานหมายเลข 1ตั้งอยู่บริเวณใจกลางกลุ่มโบราณสถานทั้งหมด มีด้านหน้าอยู่ทางทิศตะวันออกและประกอบด้วยปรางค์ประธาน ระเบียงคด โคปุระ บรรณศาลา และกำแพงแก้ว โบราณสถานหมายเลข 2 หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานหมายเลข1 และมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า มีปรางค์ประธาน โคปุระ 4 ด้าน แต่พังลงมามาก บูรณะได้น้อย โบราณสถานหมายเลข 3ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโบราณสถานหมายเลข 1 เป็นโบราณสถานขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐศิลาแลง ซึ่งอาจจะเป็นฐานของเจดีย์ สภาพชำรุดมากจึงไม่สามารถบอกขนาดและลักษณะที่แน่นอนได้ โบราณสถานหมายเลข 4 อยู่ใกล้หมายเลข 3 เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็นส่วนเรียงเป็นแถวแนวเหนือใต้ สร้างด้วยศิลาแลง และจุดสุดท้าย หลุมขุดค้นทางโบราณคดี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งขุดค้นพบทั้งโครงกระดูก เครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะสำริด ดินเผา เครื่องมือเหล็ก สร้อยคอทำด้วยลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว ซึ่งชี้ชัดว่าชุมชนเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่จะสร้างเมืองสิงห์ เพราะศพของคนที่ตายมีประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าอาจเป็นคนในยุคเดียวกับคนในชุมชนบ้านเก่า

จริงๆ แล้วจุดหมายหลักในการมาเที่ยวของเราครั้งนี้คือ การไปเที่ยวยัง "เมืองบาดาล วัดวังก์วิเวการาม" ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.สังขละบุรี อยู่ห่างจากตัวเมืองไปอีกเกือบ 200 กิโลเมตร โดยส่วนตัวแล้วเรามาเที่ยวที่สังขละบุรีนี้บ่อยมาก มาเกือบจะ 10 ครั้งแล้ว แต่ทุกครั้งที่เรามาจะเป็นช่วงอากาศหนาวปลายปี น้ำในเขื่อนก็จะเยอะและท่วมบริเวณเมืองบาดาล วัดวังก์วิเวการามแล้วทุกครั้ง การมาเที่ยวชมจึงทำได้เพียงก้มมองลงไปดูความงดงามแบบอ้างว้างผ่านสายน้ำเพียงเท่านั้น แต่ครั้งนี้เราตั้งใจที่จะลงไปเดินสัมผัสถึงความเจริญรุ่งเรืองและความงดงามของสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างขึ้นและต้องถูกทิ้งล้างให้จมน้ำมากว่ายี่สิบปีแล้ว

วัดวังก์วิเวการาม เดิมเป็นวัดที่หลวงพ่ออุตตมะ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังซึ่งประชาชนชาวไทยและชาวมอญรวมทั้งกระเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2496 ในบริเวณที่เรียกว่า "สามประสบ" คือมี แม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ และแม่น้ำรันตี 3 สายไหลมารวมกัน ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอสังขละบุรีประมาณ 3 กม. มีวิหารริมแม่น้ำ ที่เคยประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงามและเคยเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่ออุตตมะ ต่อมาในปี 2527 มีการก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม ทำให้น้ำเข้าท่วมอำเภอสังขละบุรีเก่า รวมทั้งวัดนี้ด้วย หลวงพ่ออุตตมะจึงได้ย้ายวัดมาอยู่บนเนินเขา โดยในช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม น้ำจะลด ทำให้สามารถมองเห็นโบสถ์ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปเที่ยวชมได้ แต่ในช่วงน้ำขึ้นน้ำจะท่วมสูงเกือบทั้งหมด เหลือเพียงยอดโบสถ์ให้เห็นเท่านั้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว UNSEEN ที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรี

ของแถมสำหรับปิดท้ายทริปนี้ที่สวยงามและน่าประทับใจของเราก็คือ สายหมอกที่ทอดยาวปกคลุม สะพานมอญ หรือ สะพานไม้อุตตมานุสรณ์ ด้วยเพราะในช่วงเย็นที่เราเดินทางมาถึงที่นี่ มีฝนตกจึงทำให้ในช่วงเช้าเกิดสายหมอกเหมือนกับในช่วงฤดูหนาวที่เราได้เห็นกันเป็นเรื่องปกติ อากาศสดชื่นเย็นสบาย สะพานนี้ สร้างโดยหลวงพ่ออุตตมะและคณะศิษย์ จึงมีอีกชื่อเรียกว่า "สะพานอุตตมานุสรณ์" เป็นสะพานไม้ที่มีชื่อเสียงและเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของอำเภอสังขละบุรี มีความยาวถึง 850 เมตร นับเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทยและยาวเป็นลำดับ 2 ของโลก บริเวณสะพานเป็นจุดชมวิวทะเลสาบเขื่อนวชิราลงกรณที่สวยงาม สามารถมองเห็นลำน้ำสามสาย คือ ซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ที่ไหลมาบรรจบกันเป็นสามประสบ อันเป็นจุดกำเนิดแม่น้ำแควน้อย นักท่องเที่ยวนิยมมาเดินเยี่ยมชมสะพานเพื่อชมแสงสีทองของพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้า และชมวิถีชีวิตของชาวไทยและมอญที่เดินข้ามไปมาหากันบนสะพานแห่งนี้ ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 06.00 น.จะมีพระสงฆ์มาบิณฑบาตบนสะพานไม้แห่งนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย

ครั้งนี้เราขอจบทริป "เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่านเมืองกาญจนบุรี" แต่เพียงเท่านี้ก่อน แต่อยากจะบอกท่านผู้อ่านทุกคนว่า ทุกเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตเรานั้น อดีตเป็นเพียงความทรงจำที่มีเรื่องราวทั้งร้ายและดี ทั้งสุขและทุกข์ แล้วทุกอย่างก็จะผ่านไป กลายเป็นประสบการณ์และครูชั้นเยี่ยมที่จะคอยย้ำเตือนเราไม่ให้มีปัจจุบันและอนาคตที่ผิดพลาด!

TIPS : การเดินทาง

อำเภอเมืองกาญจนบุรี

รถยนต์ส่วนตัว - ออกจากกรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทาง ถ.ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งหน้าไปยัง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 323 (ถ.แสงชูโต) เข้าสู่ จ.กาญจนบุรี ที่ อ.มะกา อ.ท่าท่วง ไปจนถึง อ.เมือง รวมระยะทาง 129 กม.

รถโดยสารประจำทาง - มีรถโดยสารปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้บรมราชชนนีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center โทร.1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

อำเภอสังขละบุรี

รถยนต์ส่วนตัว - จากตัว อ.เมือง กาญจนบุรี ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ถึงทางแยกก่อนเข้าตัว อ.ทองผาภูมิเลี้ยวขวาแล้วไปอีก 74 ก.ม. ถึง อ.สังขละบุรี การขับรถไป อ.สังขละบุรี ผู้ขับจะต้องตรวจสอบสภาพรถให้ดีก่อนการเดินทาง และควรขับรถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเส้นทางที่คดเคี้ยวและลาดชัน โดยเฉพาะช่วง อ.ทองผาภูมิ มุ่งหน้า อ.สังขละบุรี และควรตรวจดูน้ำมันเชื้อเพลิงให้พร้อมเพราะจากทางแยกแล้วจะมีปั้มน้ำมันเพียงปั้มเดียวบริเวณทางแยกด่านเจดีย์สามองค์เท่านั้น

รถโดยสารประจำทาง จากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) - สังขละบุรี เส้นทางกรุงเทพฯ-ด่านเจดีย์สามองค์ ของ บริษัทขนส่ง จำกัด เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด ใช้เวลาเดินทางโดยประมาณ 6-7 ชั่วโมง มีรถออกวันละ 4 รอบ (05.00 น. , 06.00 น. , 09.30 น. , 12.30 น.) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและตารางเดินรถได้ที่ Call Center โทร.1490 เรียก บขส. หรือ www.transport.co.th

 

(คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขนาดใหญ่)

 

อัพเดตเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวสนุกๆ มากมายได้ที่ http://travel.sanook.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

อัลบั้มภาพ 48 ภาพ

อัลบั้มภาพ 48 ภาพ ของ เที่ยวย้อนอดีตวันวานผ่าน "เมืองกาญจนบุรี"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook