เบื้องหลังเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องลาออกจากงานหลังมีลูก
ในปัจจุบันที่ประเทศญี่ปุ่นต้องประสบกับปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดต่ำ ทำให้ขาดแคลนแรงงาน รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซจึงมีนโนบายกระตุ้นให้เกิด “สังคมที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิง” และตั้งเป้าที่จะทำให้เกิดสังคมที่เมื่อผู้หญิงมีลูกแล้วก็ยังสามารถที่จะทำงานต่อไปได้ พูดง่ายๆก็คือ เป็นนโยบายที่จะผลักดันให้กลุ่มแม่บ้านที่เคยอยู่บ้านเลี้ยงลูกทำงานบ้านเพียงอย่างเดียวออกมาทำงานนอกบ้านนั่นเอง
แต่ก่อนอื่นเรามามองย้อนกลับไปกันดีกว่าว่าที่ผ่านมาอะไรทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต้องลาออกจากงานหลังจากมีลูก เพราะจำเป็นต้องรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงเสียก่อนจึงจะแก้ปัญหาในจุดนั้นได้ ครั้งนี้เราจึงนำบทสัมภาษณ์ของนักเขียนที่ตีแผ่เรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่นอย่างคุณ Tachibana Akira กับบทความ “ชีวิตแม่บ้านมืออาชีพกับการขาดทุน 200 ล้านเยน” ที่พูดถึงต้นตอของการที่ผู้หญิงญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องลาออกจากงานหลังมีลูกมาฝากกันนะคะ
คุณ Tachibana เปิดเผยว่าผู้หญิงญี่ปุ่นนั้นจะกลายมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวหลังจากที่มีลูก เพราะต้องออกมาเพื่อเลี้ยงลูก และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นที่จะต้องดูแลลูกเท่าไหร่แล้วก็จะเริ่มทำงานพาร์ทไทม์ แต่สำหรับผู้หญิงทางฝั่งยุโรปและอเมริกานั้นพวกเธอจะทำงานต่อไปเรื่อยๆ แม้แต่ในช่วงที่ลูกยังเล็กอยู่ ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ถือว่ามีเพียงแต่ประเทศญี่ปุ่นที่ผู้หญิงต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้
หากพูดถึงสาเหตุที่ผู้หญิงญี่ปุ่นจำเป็นต้องลาออกมาเพื่อเลี้ยงลูกแล้วละก็ นั่นเป็นเพราะถึงแม้หลายๆ บริษัทจะเตรียมระบบการทำงานสำหรับผู้หญิงหลังมีลูกไว้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีจุดตกหล่นอยู่ เพราะทุกวันนี้คนญี่ปุ่นยังมองว่าผู้หญิงที่ต้องทำงานแม้จะมีลูกเล็กที่ต้องเลี้ยงนั้นน่าสงสาร จึงได้สร้างงานสำหรับคุณแม่เอาไว้ แต่ในสังคมการทำงานของคนญี่ปุ่นยังคาดหวังให้คนที่เติบโตในหน้าที่การงานต้องเป็นพนักงานประจำที่ทุ่มเทให้กับการทำงาน ต้องทำงานวันหยุด ทำงานล่วงเวลา ทำงานอย่างหนัก หรือไม่ก็ไม่สามารถปฏิเสธที่จะถูกโยกย้ายไปสาขาอื่นๆ หรือไปต่างประเทศ
เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณแม่ที่ถูกผลักในไปทำงานเฉพาะสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน หรือแม่ที่ต้องทุ่มเทให้เวลากับการเลี้ยงลูกน้อยด้วย จึงไม่ได้รับการประเมินในแนวโน้มที่ดี เงินเดือนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น การเลื่อนตำแหน่งก็ดูเป็นเหมือนเรื่องที่ห่างไกล เมื่อเห็นเพื่อนร่วมรุ่นหรือรุ่นน้องที่เป็นโสดหรือเป็นผู้ชายเติบโตในหน้าที่การงานเหนือตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ คุณแม่ที่มุ่งมั่นในการทำงานหลายคนก็เกิดความรู้สึกเครียดหรือท้อแท้เอาได้ไม่ยากเลย ซึ่งจากผลสำรวจก็พบว่า ผู้หญิงหลายๆคนที่ลาออกจากงานหลังมีลูกนั้น ไม่ได้ลาออกเพียงแค่เพราะจะต้องการออกมาเลี้ยงดูเท่านั้น แต่เป็นเพราะความไม่พอใจต่อที่ทำงาน หรือการขาดแรงบันดาลใจต่อการทำงานนั่นเอง
ไม่ใช่แค่ฝั่งภรรยาเท่านั้น แต่ฝั่งสามีก็ต้องปรับตัวหลังจากการมีลูกด้วยเช่นกัน ในยุคนี้หลายๆ คนอาจพูดถึงหรือรณรงค์ให้ผู้ชายหันมาช่วยภรรยาเลี้ยงลูกด้วย แต่การจะทำเช่นนั้นได้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะผู้ชายญี่ปุ่นหลายคนก็ถูกคาดหวังจากบริษัทให้ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ตัวเองเติบโตในหน้าที่การงานให้ได้ เมื่อต้องทำงานล่วงเวลาหลายๆชั่วโมงต่อวัน การกลับบ้านมาช่วยทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ชายหลายๆคน จนเกิดเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวญี่ปุ่นเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตก็คือ “สามีทำงานนอกบ้าน ภรรยาดูแลเรื่องภายในบ้าน”
ในที่สุด Working woman ญี่ปุ่นหลายๆ คนก็เข้าใจดีถึงสังคมการทำงานของญี่ปุ่น ถึงจะอยากรีบกลับมาทำงานยังไง แต่ถ้ากลับมาทุ่มเทให้กับการทำงาน แล้วสามีต้องมาช่วยเลี้ยงลูกและดูแลบ้าน นั่นก็อาจเป็นการลดโอกาสในการเติบโตในหน้าที่การงานของสามีได้ ผลสุดท้ายผู้หญิงหลายๆ คนก็เลือกที่จะแบกรับภาระในการเลี้ยงลูกทั้งหมดเอาไว้คนเดียว และกลายเป็นความโดดเดี่ยวแบบที่ไม่รู้จะทำยังไงได้ในที่สุด
เห็นความลำบากและต้นตอของปัญหาที่ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องเจอแบบนี้ก็น่าเห็นใจเหมือนกันนะคะ หากการปฎิวัติรูปแบบการทำงานของสังคมญี่ปุ่นยังไม่เปลี่ยนไป หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติหลายๆอย่าง ปัญหาที่คุณแม่ชาวญี่ปุ่นต้องเจอก็คงจะไม่หายไปอย่างง่ายๆแน่นอน